Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

แนะนำวิธีดูแลตัวเองหลังติดโควิด พึ่งหายจากโควิด ควรดูแลตัวเองอย่างไร

การดูแลตัวเองหลังติดโควิด

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงจะเคยติดเชื้อโควิด (COVID - 19) หรือกำลังรักษาตัวพึ่งหายจากโควิดแล้ว แต่ถึงแม้ว่าเมื่อลองตรวจโควิดแล้วจะแสดงผลแค่ขีดเดียวก็ไม่ได้หมายความว่า เชื้อโควิดหมดไปแล้ว สุขภาพของคุณจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

ดังนั้นบทความนี้จะมาบอกถึงวิธีการดูแลตัวเองหลังติดโควิดว่า จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้ร่างกายอย่างไร และฟื้นฟูสุขภาพให้กลับคืนมาแข็งแรงอย่างไร เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะอาการหลังหายจากโควิดหรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า อาการลองโควิด (Long COVID) ได้ และไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นโควิดซ้ำได้อีก 


สารบัญบทความ
 


หลังหายโควิด..ยังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพ

ลองโควิด

หลังรักษาโควิดหายด้วยการพักฟื้นที่โรงพยาบาล หรือ Home isolation แล้ว ในบางครั้งอาจจะรู้สึกว่าร่างกายยังไม่กับมาแข็งแรงเหมือนเดิม 

ดังนั้นในระหว่างช่วงที่ร่างกายยังไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม จำเป็นต้องใส่ใจดูแลตัวเองหลังโควิด ดูแลสุขภาพให้ดีมากกว่าปกติ เพราะช่วงนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังต่ำ สามารถรับเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย อาจจะทำให้ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ท้องร่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางคนอาจจะยังมีอาการจากการเป็นโควิดหลงเหลืออยู่ ทำให้สุขภาพยังไม่กลับมาเต็มที่ 100% ทำให้ยังต้องคอยใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง หลายคนคงจะสงสัยว่าภาวะอาการป่วยที่หลงเหลือจากการเป็นโควิด หรือที่เรียกว่า ลองโควิด เป็นอย่างไร? เราไปทำความรู้จักกัน


รู้จักภาวะลองโควิด Long COVID

ลองโควิด (Long COVID) เป็นอาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยหลังจากรักษาโควิดหาย แต่ยังมีอาการผิดปกติอยู่ 

ซึ่งอาการผิดปกติที่หลงเหลืออยู่นี้จะคงอยู่นานถึง 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป ตั้งแต่ได้รับเชื้อมา และส่งผลต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อ แม้จะรักษาหายจากโควิดแล้วก็ตาม

อาการลองโควิดมักพบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดถึงร้อยละ 30 50 และยังพบมากในผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิดลงปอด และมีโรคประจำตัว หรือกลุ่มอาการผิดปกติเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจร่วมด้วย โดยมักพบอาการส่วนใหญ่ ดังต่อไปนี้
 

  • อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เหนื่อยง่าย
  • ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ปวดตามตัว ตามข้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง
  • ไอเรื้อรังหลัง
  • นอนไม่หลับ 
  • สมองไม่สดชื่น หลงลืมบ่อย 
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • รู้สึกมีไข้ตลอดเวลา 
  • ท้องเสีย ท้องอืด
  • ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล

วิธีดูแลตัวเองหลังโควิด

หลังจากครบกำหนดการกักตัว 14 วันหรือหลังหายจากโควิดแล้ว อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจ และทางด้านสุขภาพร่างกาย ทำให้ทำการต้องฟื้นฟูสุขภาพกาย และสุขภาพใจไปพร้อม ๆ กัน โดยการดูแลตัวเองหลังโควิดนั้นก็เป็นวิธีง่าย ๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจมากขึ้น พร้อมทั้งสังเกตอาการ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของตนเองว่ามีอะไรผิดปกติไปจากเดิมรึเปล่า 

หากมีอะไรผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะทางจิตใจ หรือว่าร่างกาย แนะนำให้เข้าไปรักการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที และถูกวิธี


1. ออกกำลังกายเป็นประจำ

ออกกำลังกาย

แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการศึกษาที่ออกมาเป็นเกณฑ์มาตรฐานว่าผู้ติดเชื้อโควิดไปแล้ว จะสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ในระดับไหน แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสมว่ามีอาการรุนแรงระดับใด แล้วจึงเลือกออกกำลังในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่าปอดเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิดมากที่สุด ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังโควิด จึงเน้นไปที่การฟื้นฟูปอด เพราะระหว่างที่ติดเชื้อโควิดปอดจะถูกทำร้ายจากเชื้อโควิด แต่ถ้าหากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ปอดจะสามารถฟื้นตัวได้ แต่ก็อาจจะเหลือรอยโรคที่ปอดอยู่ ทำให้ยังหายใจได้ไม่ค่อยเต็มอิ่ม จึงเริ่มจากการฟื้นฟูปอด ด้วยการออกกำลังปอดง่าย ๆ ดังนี้
 

  • ฝึกหายใจเข้า - ออกช้า ๆ ด้วยการเป่ากระดาษ โดยขณะหายใจออก ให้ห่อปากไว้ แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ ควบคุมกระดาษให้ปลิวได้นานที่สุด
  • ฝึกหายใจโดยใช้อุปกรณ์ Triflow (Triball incentive spirometer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการไหลเข้าออกของอากาศ โดยให้ผู้ป่วยในช่วงพักฟื้น 2 สัปดาห์แรก สูดหายใจเข้าแรง ๆ ให้ลูกบอลในอุปกรณ์ลอยขึ้นสูงสุด และค้างไว้นานที่สุด เป็นวิธีช่วยให้ปอดได้ขยายเต็มที่
  • ในสัปดาห์พักฟื้นที่ 3 - 4 ปอดเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง แนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ เน้นไปที่การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การลุกเดินบ่อย ๆ เดินช้า ๆ จนค่อย ๆ ไล่ระดับไปเริ่มวิ่งเหยาะ ๆ

2. ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

อาหารมีประโยชน์

วิธีดูแลตัวเองหลังติดโควิดอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย ๆ  ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุเหล่านี้ จะเข้าไปฟื้นบำรุงร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดให้กับมาแข็งแรงอีกครั้งแต่ถ้าหากรู้สึกว่าอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน อาจจะให้สารอาหารในการเสริมสร้างร่างกายไม่เพียงพอ อาจจะเลือกรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินหลังติดโควิดเพิ่มเป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้ แต่ที่สำคัญไม่แพ้การเลือกรับประทานอาหารเลยก็คือ การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
 

หลังหายโควิด ควรทานอะไร

หลังหายจากโควิด ควรกินอะไร ในผู้ป่วยที่พึ่งหายจากโควิดนั้นควรจะรับประทานอาหารอะไรถึงจะเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ไม่กลับไปเป็นโควิดซ้ำอีก นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แนะนำให้ผู้ป่วยโควิด รวมถึงผู้ที่เผชิญอยู่กับอาการหลังเป็นโควิด ให้เน้นรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารที่ย่อยง่าย เลือกกินอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน รวมถึงจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

เพราะโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง เต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) อย่างนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และจะดียิ่งขึ้นหากรับประทานอาหารประเภทที่มีใยอาหารสูง เพื่อเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์สุขภาพ (Prebiotics)

นอกจากนี้วิตามิน แร่ธาตุ ทั้งจากอาหารตามธรรมชาติ และยาบำรุงหลังติดโควิดที่ควรได้รับในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ได้แก่
 

  • วิตามินเอ (Vitamin A) พบในผัก ผลไม้สีเหลือง และสีส้ม อย่างตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง และในเครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม โดยวิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีความสำคัญในการดูแลผิวพรรณ ดวงตา การเจริญเติบโตของร่างกาย รวมไปถึงกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงอีกด้วย
  • วิตามินซี (Vitamin C) พบมากในผักสดและผลไม้สด เช่น มะเขือเทศ มะนาว มะละกอ เป็นต้น โดยควรได้รับวิตามินซี ขนาด 500 - 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากวิตามินซีมีส่วนช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาว และช่วยในกระบวนการทำลายเชื้อโรค
  • วิตามินดี (Vitamin D) ได้จากปลาต่าง ๆ นม ไข่แดง ชีส ตับปลา ตับสัตว์ เห็ด วิตามินดีไม่ได้มีเพียงสรรพคุณในการดูดซึมแคลเซียมเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ และมาโครฟาจที่เป็นสำคัญในการลดการอักเสบ และต่อสู้กับเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
  • แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) อุดมมากในเนื้อสัตว์ และเครื่องใน รวมถึงหอยนางรม ปลา ไข่ นม เมล็ดฟักทอง ธัญพืชต่าง ๆ ด้วย แนะนำให้รับประทานในปริมาณ 15 - 45 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยเสริมสร้างและมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังช่วยดูแลสุขภาพผิวพรรณ ผม ขน เล็บ และระบบสืบพันธุ์อีกด้วย

หลังหายจากโควิดห้ามกินอะไรนั้น พิจารณาได้จากอาการของแต่ละบุคคลว่ามีอาการเป็นอย่างไร โดยเลือกอาหารที่จะไม่ทำให้มีอาการแย่ลง ไม่เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

โดยแบ่งเป็นประเภทอาหารที่ห้ามรับประทานตามกลุ่มอาการ ดังนี้
 

  • ผู้ที่มีอาการไอ คัดจมูก คันคอ มีเสมหะ ควรเลี่ยงอาหารที่มีความหวานและเย็น เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มเย็น น้ำหวานต่าง ๆ ไม่เพียงแค่นั้นแม้แต่อาหารรสจัด อาหารที่มีน้ำมันเยอะ รวมถึงขนมกินเล่นขบเคี้ยวต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการคันภายในลำคอเพิ่มมากขึ้นได้
  • ผู้ป่วยที่พึ่งหายจากอาการโควิดนั้นยังมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ ง่ายต่อการติดเชื้อภายในร่างกายได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่าง อาหารหมักดอง ปลาร้า อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรืออาหารที่ปรุงไม่สะอาด ปนเปื้อนสิ่งสกปรก มลภาวะต่าง ๆ 
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์ ไม่ควรรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดยูริกในร่างกายสูง เช่น ยอดผัก เครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก หรือผู้ที่มีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ควรงดรับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารค้างคืน เพราะจะยิ่งทำให้อาการทวีคูณรุนแรงมากขึ้น

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

นอนหลับ

วิธีรักษาสุขภาพหลังจากรักษาโควิดหายอีกวิธีหนึ่งที่แนะนำก็คือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข แนะนำว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และตื่นในเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน

ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อยก่อน 4 ทุ่ม ไม่ควรเกินเที่ยงคืน และนอนให้ครบอย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน มีเวลาซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และ สร้างสารต่าง  ๆ ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายให้สมดุล ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง พร้อมเป็นเกราะป้องกันต้านอาการโควิดรอบใหม่


4. หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนสุขภาพ

หลังจากรักษาโควิดหาย

ถึงแม้หายจากโควิดแล้ว เราก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะในหลาย ๆ คนยังมีอาการจากรอยโรคทิ้งเอาไว้อยู่ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ว่าหากมีอาการผิดแปลกไป หรือมีอาการอะไรที่รุนแรง ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์โดยทันที เพราะในบางกลุ่มคนนั้นอาจจะมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำ ทำให้อาจมีอาการที่น่าเป็นห่วงได้
 

อาการหลังโควิดที่น่าเป็นห่วง ควรพบแพทย์

กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการน่าเป็นห่วง คือผู้ที่มีอาการที่มีอาการเชื้อลงปอดแล้ว เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง ทำให้มีรอยโรคทิ้งเอาไว้ที่ปอดได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่า ทำให้ยังมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลงเหลืออยู่ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจถี่ หอบเหนื่อย ใจสั่น แน่นหน้าอก หากอาการรุนแรงอาจจะแนะนำให้เข้าไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คร่างกาย และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองหลังเป็นโควิด

และอีกกลุ่มเสี่ยงที่ควรติดตามอาการสุขภาพของตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้เป็นโรคเบาหวาน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้สภาพร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นเข้ามาร่วมด้วยได้ง่าย

ส่วนในเด็กอายุยังน้อยหลังติดโควิด หากมีอาการที่น่าเป็นห่วง ก็คือภาวะ Mis-c (Multisystem inflammatory syndrome in children) ซึ่งเป็นภาวะที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในทั่วร่างกายเกิดการอักเสบ เกิดจากการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงผิดปกติ

มีอาการคล้ายกับโรคคาวะซากิ (Kawasaki disease) ที่เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวหนัง หลอดเลือดและต่อมน้ำเหลือง โดยมีอาการที่คล้ายกัน เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 


5. ใช้มาตรการป้องกันโควิดอยู่เสมอ

หลังหายจากโควิด

ผู้ป่วยที่เป็นโควิดแล้วเป็นอีกได้ไหม ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก จากการเก็บข้อมูล พบว่า ภายในระยะ 1 เดือน หลังจากรับเชื้อมาแล้วผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมาแล้วสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก ในระยะหลังจาก 1 เดือน โดยความเสี่ยงในการติดเชื้อมีเทียบเท่ากับผู้ที่ยังไม่เคยติดซ้ำมาก่อน

แต่ในการติดโควิดรอบ 2 รอบ 3 สามารถมีความเสี่ยงลดลงได้หาก รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จากข้อมูลในวารสารทางการแพทย์นิว อิงแลนด์ เจอรัล ออฟ เมดิซิน ประเทศอิสราเอล มีข้อมูลว่าในผู้ที่ได้รับเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 ช่วยลดความเสียหายจากโควิดลงไปได้ 2 - 3 เท่า

วิธีการตรวจการติดเชื้อซ้ำ ดูได้จากค่า CT (Cycle threshold) หรือ ค่าการเพิ่มของสารพันธุกรรมไวรัสโควิดโดยจากการศึกษา พบว่ามีการติดเชื้อซ้ำได้ภายใน 1 - 2 เดือนแรก สูงถึง 10 - 20%


6. เข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพหลังโควิด

ตรวจสุขภาพ

ตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิดเป็นอีกวิธีที่ทำให้สามารถตรวจดูอาการที่เปลี่ยนไปของร่างกายได้ ว่ามีความเสี่ยงที่จะติดโควิดซ้ำอีกหรือไหม หรือตรวจดูสุขภาพอาการที่ยังหลงเหลือจากการติดโควิดได้ ว่ามีอาการใด ๆ น่ากังวลหรือไม่ จะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ในการตรวจสุขภาพหลังโควิดนั้น นอกจากการเลือกดูโปรแกรมตรวจสุขภาพแล้ว การเลือกสถานพยาบาทที่มีคุณภาพ เชี่ยวชาญ และมีมาตรฐาน โรงพยาบาลสมิติเวช  ไชน่าทาวน์ เป็นโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ  และเทคโนโลยี พร้อมด้วยเครื่องมีแพทย์ที่ทันสมัย ได้คุณภาพ 

ทางโรงพยาบาลมีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่ตรงจุด คือ โปรแกรมตรวจสุขภาพ Long COVID 2022 สำหรับผู้ที่พึ่งหายจากโควิด แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย ไอ หายใจไม่ทั่ว แน่นหน้าอก หรือรวมถึงอาการอื่น ๆ นอกจากอาการทางระบบหายใจ เช่น สมาธิสั้น ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย เป็นต้น

โปรแกรมตรวจสุขภาพ Long  COVID 2022 ของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ครอบคลุมการตรวจสุขภาพตั้งแต่การตรวจวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายอย่างสังกะสี วิตามินบี12 แมกนีเซียม เป็นต้น รวมถึงมีการตรวจสุขภาพของอวัยวะต่าง ๆ ทั้ง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  เอกซเรย์ปอดและหัวใจ ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด (PFT) และอื่น ๆ ทำให้ผู้ตรวจสามารถรับการตรวจสุขภาพที่คลอบคลุมได้ในทุกส่วน


สิ่งที่ควรเลี่ยงหลังหายโควิด

วิธีดูแลตัวเองหลังติดโควิด

ในการดูแลตัวเองหลังเป็นโควิด เพื่อไม่ให้อาการที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากโควิดทวีความรุนแรงมากขึ้น และบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ให้ทุเลาลง ผู้ป่วยที่พึ่งหายจากโควิดควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
 

หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด

หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด คนหนาแน่น พื้นที่ปิด ที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิดมากขึ้น พยายามออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น หากออกจากบ้านให้เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น ๆ อย่างน้อย 1 - 2 เมตร หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกครั้งที่อยู่ในพื้นที่แออัดควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดการรับเชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยการเลือกหน้ากากอนามัยนั้น ควรเป็นหน้ากากอนามัยไม่มีตำหนิ ไม่มีกลิ่นสารเคมีหรือกลิ่นพลาสติกเจือปน  และบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ชำรุด ระบุวันเดือนปีผลิต และวันเดือนปีหมดอายุอย่างชัดเจน

ภายในของหน้ากากอนามัยต้องมีแผ่นกรองบรรจุอยู่ และสามารถกันน้ำ หยดน้ำ และละอองน้ำซึมเข้าหน้ากากได้ 
และที่สำคัญต้องมีเอกสารรับรองมาตรฐาน เช่น ISO 13485 ที่เป็นระบบมาตรฐานการจัดการด้านคุณภาพครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ พัฒนา ผลิต และขายเครื่องมือทางการแพทย์
 

หลีกเลี่ยงการสัมผัส

ลดการสัมผัสวัตถุต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัสโดนกับเชื้อโรค แบคทีเรีย เชื้อไวรัสต่าง ๆ แและหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสกับใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย

ดังนั้นควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นอย่างน้อย 70 -90 % ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังไอ จาม หรือสัมผัสจุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีการใช้ร่วมกัน อย่างกลอนประตู ลูกบิดประตู ราวจับ ราวบันได เพื่อสามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อโรคไดด้ดี ทำให้โปรตีนเสียสภาพ เยื่อหุ้มเซลล์แตก และเข้าไปรบกวนระบบของเชื้อโรค ส่งผลทำให้เชื้อโรคตายได้
 

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ

การเลือกรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ การเลี่ยงอาหารที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการที่หลงเหลือจากโควิดให้รุนแรงขึ้นนั้น มีดังนี้
 

  • เลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มเย็น ทั้ง น้ำเปล่าเย็น น้ำหวานเย็น น้ำอัดลม ไอศกรีม เพราะความเย็นจะทำให้ภายในจมูกบวม ระคายเคือง กระตุ้นให้หลอดลมหดตัส กระตุ้นการหลั่งน้ำมูกและเสมหะ ทำให้อาการไอยิ่งแย่ลง
  • เลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีลดหวาน เพราะรสหวานต่าง ๆ จากอาหารจะทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ง่าย สร้างความระคายเคือง กระตุ้นให้มีเสมหะ น้ำมูกมากกว่าเดิม ทำให้มีอาการไอเพิ่มขึ้นด้วย
  • เลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน ขนมขบเคี้ยว เพราะของทอด ขนมขบเคี้ยวมีลักษณะเป็นผงแห้ง ๆ ทำให้เมื่อรับประทานระคายเคืองคอ ทำให้คันคอได้ง่าย กระตุ้นให้เกิดอาการไอ และสำลักได้ รวมถึงอาหารทอดนั้น ทั้งอมน้ำมัน กระตุ้นให้เกิดอาการคันคอ กระตุ้นการอักเสบในร่างกายมากขึ้น ทำให้ยิ่งไอหนักมากขึ้น

ข้อสรุป

หลังจากที่อ่านบทความจบกันไปแล้ว คงพอจะทราบแล้วว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรร่างกายถึงกลับมาแข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน พร้อมต้านโรคโควิดอีกครั้ง โดยควรเน้นวิธีดูแลตัวเองหลังติดโควิดไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ อย่างการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ

แต่หากท่านใดยังมีอาการลองโควิดที่รุนแรงผิดปกติ ยังอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสมองล้า ภาวะซึมเศร้าหลังจากติดเชื้อโควิด หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมในการดูแลตัวเองหลังโควิด สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 
แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม