Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

รู้จักภาวะมิสซี (MIS-C) อาการลองโควิดในเด็กที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

ภาวะ mis-c

แม้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กจะมีความเสี่ยง และอาการความรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ผู้ป่วยเด็กที่เคยติดเชื้อโควิด-19 สามารถมีภาวะลองโควิด (Long COVID) ซึ่งอาการลองโควิดในเด็กและวัยรุ่นสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดเป็นภาวะ MIS-C (โรคมิสซี)หรืออาการอักเสบทั่วร่างกายหลายระบบ ซึ่งบางรายมีแทรกซ้อนอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต 

ทั้งนี้ภาวะมิสซี จะมีความรุนแรงกว่าภาวะลองโควิดในเด็ก จนอาจจะทำให้ต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้หากลูกหลานของคุณเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน เนื่องจากภาวะ MIS-C มักพบหลังจากรักษาโรคโควิด-19 หายแล้ว 

บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ MIS-C คืออะไร สาเหตุการเกิด อาการ ลักษณะ พร้อมวิธีป้องกันและวิธีรักษา เพื่อให้ลูกหลานของคุณห่างไกลจากภาวะ MIS-C หาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่บทความนี้ 


สารบัญบทความ
 


ภาวะ MIS-C ลองโควิดในเด็ก

ภาวะมิสซี (MIS-C : Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) คือ กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอาการอักเสบหลายระบบทั่วร่างกาย โดยภาวะมิสซีจะเกิดการอักเสบระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป และมีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ที่มีอาการไข้สูง ตาแดง ผื่นขึ้นตามลำตัว ปากแห้งแตก ลิ้นบวม ปวดท้อง อาเจียน หรือต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอ 

นอกจากนี้ภาวะ MIS-C หากมีอาการรุนแรงสามารถเกิดอาการแทรกซ้อนและอาจจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ซึ่งภาวะ MIS-C สามารถพบได้ในเด็กที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 ที่มีภาวะลองโควิดในเด็ก ประมาณ 25 - 45 % ส่วนใหญ่มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง อายุโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยภาวะ MIS-C คือ 8 - 10 ปีภาวะ MIS-C อาการที่พบบ่อย ได้แก่
 

  • ไข้สูง เกิน38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ผื่นแดงโควิดขึ้นตามตัว 
  • ปากแดง ตาแดง 
  • ต่อมน้ำเหลืองโต 
  • อาเจียน ถ่ายเหลว 
  • หอบเหนื่อย ปอดอักเสบในบางราย

ผู้ป่วยบางรายมีภาวะช็อคเนื่องจากความดันต่ำ และเสียชีวิต ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของภาวะ MIS-C อยู่ที่ประมาณ 0.3% โดยปกติของภาวะ MIS-C มีระบบผิดปกติในร่างกายที่พบได้บ่อย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท เป็นต้น 


ภาวะมิสซี (MIS-C) เกิดจากสาเหตุใด

ภาวะมิสซี

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดของภาวะMIS-C มีเพียงข้อสันนิษฐาน ที่คาดว่าภาวะ MIS-C อาจจะเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของเชื้อโควิด ซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อ แต่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆของร่างกาย 

ส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 กักตัว 14 วัน หรือเกิดเมื่อรักษาโรคโควิด-19 หายดีแล้ว ภาวะ MIS-C มักเกิดตามมาภายใน 2 - 6 สัปดาห์ หลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายคนเรียกภาวะมิสซีว่า ลองโควิดในเด็ก 

ทั้งนี้ภาวะ MIS-C ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก ภาวะ MIS-C มักเกิดความผิดปกติระบบภายในร่างกายหลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่ ระบบผิวหนังและเยื่อบุทำให้เกิดเป็นผื่นแดงโควิดขึ้นตามมา หรือระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียนได้


MIS-C พบได้ในเด็กกลุ่มใดบ้าง

ภาวะ MIS-C หรือที่คนเรียกว่า ภาวะลองโควิดในเด็ก เป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในร่างกายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในเด็กที่เป็นลองโควิด โดยมีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) โดยภาวะ MIS-C มักพบเด็กโดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 
 

  • สามารถพบได้ในเด็กอายุเฉลี่ย 8-11 ขวบขึ้นไป
  • พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง 
  • มักพบแถบประเทศยุโรป อเมริกา และอินเดีย 

ทั้งนี้ภาวะมิสซี ยังพบได้น้อยในประเทศไทย และถึงแม้จะยังพบได้น้อยในประเทศแต่ผู้ปกครองไม่ควรละเลยหากลูกหลานของคุณมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาทันที


สังเกตอาการภาวะ MIS-C ในเด็ก

อาการลองโควิดในเด็ก

ภาวะ MIS-C เป็นภาวะที่ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย พร้อมกันมากกว่า 2 ระบบขึ้นไป โดยมักเกิดหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ สามารถสังเกตอาการมิสซีได้ ดังนี้  
 

  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • พบอาการต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ คล้ายกับโรคคาวาซากิ
  • แน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว 
  • ผื่นขึ้นตามลำตัว แขนขา ข้อศอก หน้าอก และแผ่นหลัง
  • ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน
  • ความดันต่ำ 
  • อาการอักเสบที่ระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบไต 
  • หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะช็อค ซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


เปรียบเทียบอาการของภาวะ MIS-C กับโรคคาวาซากิ

บางคนอาจเกิดความสับสนระหว่างภาวะมิสซี หรือที่เรียกกันว่า “ลองโควิดในเด็ก” กับโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) เนื่องจากมีอาการผิดปกติที่แสดงออกคล้ายกัน ทั้งไข้สูง ตาแดง ผื่นขึ้นตามลำตัว ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต 

ทั้งนี้ภาวะมิสซีมักจะเกิดในเด็กที่มีอายุประมาณ 8-11 ขวบ แต่โรคคาวาซากิมักเกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งภาวะมิสซีค่อนข้างรุนแรงและอันตรายมากกว่า เนื่องจากภาวะมิสซีมีผลกระทบกับการทำงานของหัวใจ และระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ภาวะมิสซีหากมีอาการรุนแรงมีโอกาสช็อคและเสียชีวิตได้มากกว่าโรคคาวาซากิ 

ทั้งนี้หากจะแยกภาวะ MIS-C และโรคคาวาซากิอย่างชัดเจนจำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจและประเมินอาการ โดยแพทย์จะทำการตรวจเลือด และอัลตร้าซาวน์หัวใจ เป็นวิธีการแยกโรคและอาการมิสซีที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุด


ความรุนแรงของภาวะมิสซี (MIS-C) 

mis-c

เนื่องจากภาวะ MIS-C เป็นอาการอักเสบหลายระบบในร่างกาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อหลายระบบที่เกิดความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งทั่วไปแล้วภาวะ MIS-C มักเกิดการอักเสบระบบในร่างกายมากกว่า 2 ระบบ ได้แก่
 

  • ระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ส่งผลให้หายใจลำบาก หายใจได้ไม่เต็มปอดรู้สึกแน่นหน้าอกเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • ระบบทางเดินอาหาร ตับอักเสบ ส่งผลให้ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาการคล้ายกับไส้ติ่งอักเสบ
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้เหนื่อยง่าย หายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดอุดตัน หัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ ความดันต่ำ ทำให้เกิดอาการช็อค และเกิดการแข็งตัวผิดปกติของเลือด
  • ระบบประสาท เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้ปวดศีรษะ รวมถึงมีอาการชักได้
  • ระบบผิวหนัง ส่งผลให้ผื่นขึ้น ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ
  • ระบบไต ส่งผลให้ไตวายฉับพลัน

ภาวะ MIS-C (ลองโควิดในเด็ก) แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยให้ดี เนื่องจากภาวะมิสซีหากมีความรุนแรงอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


การตรวจวินิจฉัยภาวะมิสซี (MIS-C) 

มิสซี

หากเข้าข่ายภาวะ MIS-C (ลองโควิดในเด็ก) แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรค ดังนี้ 
 

  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสี่ยงความถี่สูง หรือที่เรียกว่าการทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogogram) 
  • ประเมินการทำงานของหัวใจ
  • การประเมิน Volume Status ว่ามีภาวะการโป่งพองของหลอดเลือดร่วมด้วยหรือไม่ 
  • เจาะเลือดเพื่อตรวจดูค่าการอักเสบของร่างกาย 
  • ตรวจอวัยวะที่อาจจะเกิดการอักเสบ 

ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยภาวะมิสซีขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 


แนวทางการรักษาภาวะมิสซี (MIS-C)

mis-c คือ

เนื่องจากภาวะ MIS-C ยังไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่นอน เพราะเป็นโรคที่พบใหม่ แพทย์ส่วนใหญ่จึงใช้แนวทางในการรักษาภาวะ MIS-C ดังนี้
 

การรักษาแบบประคับประคองอาการ

การรักษาแบบประคับประคองอาการ (Palliative care) หรือ การรักษาตามอาการ (Supportive care) แพทย์จะเน้นรักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการรักษาแบบประคับประคองอาการนอกจากจะใช้รักษาลองโควิดในเด็ก (MIS-C) แล้ว ยังนิยมใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย
 

การรักษาภาวะมิสซีด้วยกลุ่มยาต้านการอักเสบ 

การรักษาภาวะมิสซีด้วยกลุ่มยาต้านการอักเสบ แพทย์ส่วนใหญ่มักใช้ยาอิมมูโนกลอบูลิน (Human normal immunoglobulin, intravenous: IVIG) ที่มักใช้รักษาในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเอง และสเตรียรอยด์ เนื่องจากผู้ป่วยภาวะ MIS-C ส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี 

อย่าลืมว่าภาวะ MIS-C ที่มาจากภาวะ Long COVID ในเด็ก ถือเป็นภาวะที่อาจจะมีอาการรุนแรงและอันตรายถึงแก่ชีวิต นั้นดังหากเข้าข่ายที่จะเป็นภาวะ MIS-C โดยสังเกตจากอาการเริ่มต้นที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินร่างกายและเข้ารับการรักษาโดยทันที 


วิธีป้องกัน MIS-C ภาวะลองโควิดในเด็ก

โรคมิสซี

วิธีป้องกันภาวะ MIS-C ที่ดีที่สุดคือการป้องกันเชื้อโควิด-19 หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย เว้นระยะห่างจากสังคม 1.5 - 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากโรคโควิด-19 นับเป็นสาเหตุหลักที่อาจจะนำไปสู่ภาวะมิสซี หรือ ลองโควิดในเด็ก 

ทั้งนี้ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไฟเซอร์ ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ขวบ โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันเช่นเดียวกับของผู้ใหญ่ แต่ปริมาณในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 ที่ฉีดให้ผู้ใหญ่เท่านั้น 


คำถามที่พบบ่อย

หลังติดโควิด พบภาวะ MIS-C ในเด็กได้เมื่อไหร่

สามารถพบภาวะ MIS-C ในเด็กได้ตั้งแต่หายจากโรคโควิด-19 ประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ โดยมักพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 8 - 11 ขวบ ที่มีภาวะลองโควิด และสามารถพบภาวะ MIS-C ได้ในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ทั้งนี้ภาวะ MIS-C ที่เกิดจากลองโควิดในเด็กมักพบในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และอินเดีย 
 

ภาวะ MIS-C เป็นโรคติดเชื้อหรือไม่

ภาวะมิสซี (MIS-C) ไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อ เนื่องจากไม่ได้ติดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เกิดจากความผิดปกติระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งมักมีความผิดปกติพร้อมกันมากกว่า 2 ระบบขึ้นไป 


ข้อสรุป

ภาวะมิสซี (MIS-C) เป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบทั่วร่างกาย ตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป มีอาการคล้ายกับโรคคาวาซากิ คือ ไข้สูง ผื่นขึ้นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอ ท้องเสีย หายใจลำบาก หอบเวลาหายใจ แต่ภาวะมิสซีมีอาการรุนแรงและอันตรายกว่าโรคคาวาซากิ เนื่องจากภาวะ MIS-C สามารถทำให้เกิดอาการช็อคและอาจจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะมักเกิดหลังจากการรักษาโรคโควิดหายดีแล้ว 2 - 6 สัปดาห์ บางคนจึงเรียกว่า ภาวะลองโควิดในเด็ก 

แม้ว่าภาวะ MIS-C จะพบได้น้อยในประเทศไทย และมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 0.3% แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ และปล่อยทิ้งไว้ หากมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายภาวะ MIS-C ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินร่างกาย และรับการรักษาโดยทันที 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางร่างกายสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม