Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

ปวดขาตอนกลางคืน จนนอนไม่หลับ อาจเสี่ยงโรค มีวิธีแก้อย่างไรบ้าง

ปวดขาตอนกลางคืน

หากคุณมีอาการนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นตอนกลางคืนบ่อยๆ เพราะปวดน่อง ปวดขาตอนกลางคืน จนทำให้ไม่สามารถนอนหลับต่อได้ นั้นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างจากร่างกายที่กำลังบอกว่าคุณกำลังเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคอันตรายร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้าม 

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดขา ปวดน่องตอนกลางคืน จนทำให้ต้องลุกขึ้นมารับประทานยาแก้ปวด หรือ ยาคลายกล้ามเนื้อ บทความนี้จะพาคุณไปหาสาเหตุของอาการปวดขาตอนกลางคืนเกิดจากอะไร ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิด อาการปวดขาตอนกลางคืนอันตรายแค่ไหน วิธีแก้และแนวทางในการป้องกันไม่ให้อาการปวดขาตอนกลางคืนกลับมารบกวนเวลาพักผ่อนอีก ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการปวดขาตอนกลางคืนมีคำตอบในบทความนี้


สารบัญบทความ
 


ปวดขาตอนกลางคืน

อาการปวดขาตอนกลางคืน หรือ เมื่อยขาตอนกลางคืน ผู้ป่วยใหญ่มักพบอาการปวดบริเวณขาหรือน่อง เมื่อเอนหลังลงนอนหรือหลับไปแล้ว แต่สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะอาการปวดที่รุนแรง แม้ว่าจะนวดบริเวณที่ปวดก็ไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยบางคนที่มีอาการปวดรุนแรงอาจต้องกินยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้อาการปวดบรรเทาลง บางคนอาจจะมองว่าอาการปวดขาตอนกลางคืน นั้นมีสาเหตุมาจากความชราภาพ การเสื่อมสภาพของข้อและกระดูก แต่ถ้าหากอาการปวดขานั้นรุนแรงถึงขั้นรบกวนการพักผ่อนนั้นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะเข้าข่ายโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (PAD) 

เนื่องจากเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงที่ขาและน่องทำให้ขาขาดออกซิเจนและเจ็บขึ้นมาในที่สุด ทางที่จะช่วยให้มั่นใจว่าอาการปวดขาตอนกลางคืนมีสาเหตุมาจากอะไร ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 


อาการปวดขาตอนกลางคืนมีอะไรบ้าง

กลุ่มเสี่ยงที่ปวดขาตอนกลางคืน

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยขาตอนกลางคืน อาจจะมีอาการอื่นๆ นอกจากอาการปวดขาตอนกลางคืน ร่วมด้วย ดังนี้ 
 

  • ปวดขามาก ไม่สามารถขยับได้เพราะอาการปวดที่รุนแรง 
  • ขาอ่อนแรง
  • ตรึงที่น่อง ขยับขาไม่ได้ 
  • รู้สึกชาบริเวณขาหรือที่น่อง
  • รู้สึกหนาวที่ขา เย็นเข้ากระดูก 
  • มีรอยช้ำบริเวณขาหรือน่อง 
  • แผลที่ขาหายช้า หรือ รักษาไม่หายสักที 

สำหรับผู้ที่มีอาการที่ได้กล่าวมาข้างต้นร่วมกับอาการปวดแขนปวดขาตอนกลางคืน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและรักษาทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดขารุนแรงไปมากกว่าเดิม 


ปวดขาตอนกลางคืนเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุที่ทำให้ปวดขาตอนกลางคืน

อาการปวดขาตอนกลางคืนสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการปวดจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและการบาดเจ็บที่ได้รับของแต่ละคน โดยสาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดขาตอนกลางคืน มีดังนี้
 

1.กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ

เมื่อเกิดอาการปวดขาตอนกลางคืน แนะนำให้สังเกตพฤติกรรมการใช้งานขาของตนเอง ว่าใช้งานหนักหรือใช้งานขาผิดท่าหรือไม่ หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่ใช้งานขาหนัก ยืนบนส้นสูงตลอดทั้งวัน ออกกำลังกายอย่างหักโหม รวมไปถึงการนั่งทำงานผิดท่า ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณขาและน่องเกิดความเมื่อยล้า จึงทำให้เกิดอาการปวดขาตอนกลางคืนและปวดน่องในขณะที่กำลังนอนพักผ่อนได้ 

ทั้งนี้แม้ว่าอาการปวดขาตอนกลางคืนที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากใช้งานหนักจะไม่ได้อันตรายร้ายแรง แต่ไม่ควรมองข้าม หากปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษาจะทำให้เกิดการสะสมจนกลายเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้รักษายากขึ้นมากกว่าเดิม และเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ตามมา ได้แก่ เส้นเอ็นอักเสบ เอ็นร้อยหวานอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม ข้อเท้าเสื่อม โรคข้ออักเสบ และกล้ามเนื้อน่องอักเสบ 
 

2.โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

อาการปวดขาตอนกลางคืนที่มีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ มักมีต้นเหตุมาจากการที่ร่างกายมีแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือดมากเกินไป ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงบริเวณขาและปลายเท้าไม่สะดวก ทำให้มีอาการปวดขาและแผลหายยาก มักพบในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคประตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น 

ซึ่งอาการของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบมักจะมีอาการปวดขา เมื่อนั่งห้อยขาและขณะที่นอน เนื่องจากแรงโน้มถ่วงไม่สามารถช่วยให้เลือดไหลเวียน ทำให้บริเวณขาเกิดการขาดออกซิเจน จนเกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นมา 
 

3.โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากกระดูกอ่อนของข้อเข่าหรือผิวข้อที่เสื่อมสภาพลง โดยมีปัจจัยมาจากการใช้งานและการเสื่อมสภาพที่มีสาเหตุมาจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ข้อเข่าเสื่อมสภาพตามไปด้วย มักพบในผู้ป่วยที่สูงอายุและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ทั้งนี้อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม จะรู้สึกปวดเข่าเมื่อนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ เดินขึ้นลงบันได และปวดขา เป็นต้น 
 

4.หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

อาการของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักมีอาการปวดตั้งแต่บริเวณสะโพกและร้าวลงมาถึงน่องหรือขา โดยจะรู้สึกปวดแบบเสียวแปล๊บๆ โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่นไหวร่างกาย เช่น ไอ จาม ก้มตัว เป็นต้น และจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเอนตัวไปข้างหลังหรือนอน 
 

5.การติดเชื้อในกระดูก

การติดเชื้อในกระดูก (Osteomyelitis) มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคหลายชนิด ได้แก่ เชื้อวัณโรค เชื้อสแตฟีย์โลค็อกคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) และ เชื้อรา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดขาตลอดเวลา ร่วมกับมีไข้และหนาวสั่น ทั้งนี้สาเหตุของอาการปวดขาตอนกลางคืนมีหลายสาเหตุ ซึ่งทางที่จะทำให้มั่นใจว่าอาการปวดขาตอนกลางคืนของคุณมีสาเหตุมาจากอะไร จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดขาตอนกลางคืน 


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ปวดขาตอนกลางคืน

นอกจากพฤติกรรมการใช้งานขาและโรคบางชนิดแล้ว ยังมีปัจจัยอย่างอื่นที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดขาตอนกลางคืน ดังนี้
 

  • ความผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดขาตอนกลางคืนคล้ายกับอาการเป็นตะคริว 
  • อายุที่มากขึ้นส่งผลให้กล้ามเนื้อขาตึงง่าย
  • สภาพอาการที่หนาวเย็นและการนอนในห้องแอร์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดกระดูกขาตอนกลางคืน 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ทำให้ขาต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ปวดขาได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 
  • ภาวะขาดแคลเซียมและแมกนีเซียม ส่งผลให้การหกตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อขาไม่สมดุล ทำให้เกิดอาการปวดขาตอนกลางคืน
  • ใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับรูปเท้า ทำให้กล้ามเนื้อขาเกร็งตัวเป็นระยะเวลานาน 
  • ไม่ยืดเส้นและกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย 
  • การทานยาบางชนิด สามารถทำให้เกิดอาการปวดขาตอนกลางคืนได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ และกลุ่มยาสแตติน เป็นต้น 

ปวดขาตอนกลางคืน..เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ปวดขาตอนกลางคืนไปพบแพทย์ตอนไหน

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนรุนแรง เป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ และไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้จากการนวด หรือทานยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อแล้ว แต่อาการปวดกลับไม่ดีขึ้น 

รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ตัวร้อน และปวดบริเวณสะโพกร้าวลงไปบริเวณขา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องทันที  ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจจะทำให้อาการปวดขาตอนกลางคืนแย่ลงมากกว่าเดิม 


กลุ่มเสี่ยงที่เฝ้าควรระวัง

สำหรับอาการปวดขามีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีโอกาสเกิดอาการปวดขาตอนกลางคืน มีดังนี้ 
 

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ขาดแคลเซียมและแมกนีเซียม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และโรคไต
  • ผู้ที่ทานยาขับปัสสาวะ 
  • คนที่นอนในห้องแอร์หรือที่ที่มีอากาศเย็น
  • คนที่ใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับรูปเท้า ใส่รองเท้าที่คับ ไม่พอดีกับเท้าของตนเอง 
  • คนที่กำลังตั้งครรภ์เพราะต้องรองรับน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
  • คนที่ระบบไหลเวียนไม่ดี 

ทั้งนี้เป็นเพียงกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสปวดขาตอนกลางคืนมากกว่าคนทั่วไปเท่านั้น ไม่ใช่การยืนยันว่าทุกคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเกิดอาการปวดขาตอนกลางคืนแต่อย่างใด 


การตรวจวินิจฉัยอาการปวดขาตอนกลางคืน

วินิจฉัยอาการปวดขาตอนกลางคืน

การตรวจวินิจฉัยอาการปวดขาตอนกลางคืน แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ดังนี้ 
 

ตรวจดูอาการลักษณะภายนอก 

ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยโรคส่วนใหญ่ แพทย์มักจะทำการซักประวัติเบื้องต้นของผู้ป่วย เช่น ปวดขาตอนกลางคืนมานานแค่ไหนแล้ว อาการปวดเป็นลักษณะแบบไหน มีประวัติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับขาก่อนหน้านี้หรือไม่ พร้อมทั้งประวัติการใช้งานขาของผู้ป่วยว่ามีการใช้งานขาหนักหรือไม่ และลักษณะภายนอกของขา เช่น อาการบวม แดง เปรียบเทียบขาและแขนทุกข้าง ถ้าหากมีอาการปวดที่รุนแรงแพทย์อาจจะใช้การตรวจด้วยเครื่องมือการแพทย์อื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
 

ตรวจเอกซเรย์

การตรวจเอกซเรย์ส่วนใหญ่เป็นการตรวจเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ โดยที่การเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์เห็นจุดผิดปกติที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ เช่น กระดูกร้าว กระดูกหัก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บหรือเสีย เป็นต้น ซึ่งการเอกซเรย์ที่นิยมในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 แบบ ดังนี้ 

 

  • ฉายภาพเอกซเรย์ (X-ray) เป็นการใช้เครื่องฉายรังสีไปยังบริเวณขาหรือน่องที่มีอาการปวด เพื่อดูโครงสร้างของขาและน่อง พร้อมทั้งนำมาประกอบการวินิจฉัยโรค 
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่า TC Scan วิธีนี้จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของกระดูก เนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นต่างๆที่ขามากกว่าวิธีแรก 
  • การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วยเครื่อง MRI วิธีนี้เป็นการหาจุดที่เกิดความเสียหายที่กระดูก เนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นต่างๆ โดยเครื่อง MRI จะฉายภาพโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆ 

การวินิจฉัยอาการปวดขาตอนกลางคืนจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ 


วิธีแก้ปวดขาตอนกลางคืน

ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดขาตอนกลางคืนได้ด้วยตนเอง หากอาการปวดไม่รุนแรง แต่ผู้ที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนรุนแรงจำเป็นต้องบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยวิธีแก้อาการปวดขาตอนกลางคืน มีดังนี้ 
 

1. ใช้หมอนรองขาเวลานอน

ใช้หมอนรองขา แก้ปวดขา

ท่านอนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามกันได้ โดยเวลานอนให้ใช้หมอนมารองไว้บริเวณขาใต้ข้อพับ การนอนท่านี้จะช่วยให้กระดูกสันหลังและกระดูกเอวราบลง ทำให้ไม่เกินอาการแอ่นหลังในขณะที่นอนหลับ ไม่ทำให้หลังเกร็ง เมื่อกระดูกสันหลังไม่เกร็งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อที่ขาผ่อนคลายลงด้วย  นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีนิสัยการนอนชอบนอนตะแคงสามารถใช้หมอนรองขาวางแล้วใช้ขาอีกข้างพาดหมอนไว้ การนอนท่านี้จะช่วยให้กระดูกเอวและกระดูกสันหลังไม่บิด อยู่ในมุมที่พอดี สำหรับผู้ที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนสามารถลองทำปฏิบัติตามเพื่อบรรเทาอาการปวดขาได้ 
 

2. ประคบร้อนแก้อาการปวดเข่า

 ประคบร้อนแก้ปวดขาตอนกลางคืน

การปวดขาตอนกลางคืนอาจจะมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนของโลหิตในร่างกายไม่ดี ทำให้เกิดอาการปวดขาขณะที่นอนหลับอยู่ ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนไม่รุนแรงอาจจะใช้วิธีประคบร้อนเพื่อช่วยให้เลือดสามารถหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นผ่อนคลาย และช่วยบรรเทาอาการปวดขา โดยสามารถใช้ถุงน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำอุ่นในการประคบ 
 

3. บรรเทาอาการด้วยยาแก้ปวด

ยาแก้ปวดขาตอนกลางคืน

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนจนไม่สามารถนอนหลับต่อได้ สามารถรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือที่หลายคนเรียกว่า ยาแก้ปวดเข่า ได้แก่ Ibuprofen และ Naproxen เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด โดยยาทั้งสองชนิด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนไม่หาย ทานยาแล้วไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขาและเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดเพื่อบรรเทาอาการ 
 

4. ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

การผ่าตัดมักเป็นวิธีและทางเลือกสุดท้าย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาแบบอื่นหรือใช้วิธีอื่นรักษาแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น โดยปัจจุบันการรักษาอาการบาดเจ็บที่ขาและข้อเข่า มีการผ่าตัดหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้การผ่าตัดในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นานเท่าเมื่อก่อน 

ทั้งนี้การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดขาจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง และไม่สามารถใช้วิธีการรักษาแบบอื่นได้ โดยจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลด้วย 


แนวทางป้องกันอาการปวดเข่าตอนกลางคืน

อาการปวดขาตอนกลางคืนนอกจากปวดแล้ว ยังรบกวนเวลาพักผ่อนทำให้นอนไม่หลับ ตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกไม่สดชื่น แต่รู้หรือไม่ ว่าทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงอาการปวดขาตอนกลางคืนได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

 

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน

ของเหลวสามารถช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อเป็นปกติได้ ดังนั้นการดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันจะช่วยให้ไม่เกิดเหตุการณ์ปวดขาตอนกลางคืน ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น 

 

  • ยืดกล้ามเนื้อขาก่อนนอน

การยืดกล้ามเนื้อก่อนนอนสามารถลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดขาตอนกลางคืนได้ สามารถยืดกล้ามเนื้อขาด้วยวิธีการปั่นจักรยานอากาศเบาๆประมาณ 2 - 3 นาที ก่อนที่จะเข้านอน 

 

  • ปรับท่านอนให้ถูกต้อง

ท่านอนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปวดขาตอนกลางคืน สำหรับผู้ที่มีอาการปวดขาตอนกลางคืนแนะนำให้ใช้หมอนรองบริเวณใต้ขอพับขา เพื่อให้กระดูกสันหลังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง

 

  • เลือกรองเท้าที่เหมาะกับรูปเท้าของตนเอง

รองเท้าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยรองรับน้ำหนักตัวทั้งร่าง หากรองเท้าไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพไม่ดี สามารถทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาปวดได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีรูปเท้าแบน ดังนั้นควรเลือกใช้รองเท้าที่ได้มาตรฐานและเหมาะกับตนเอง แนะนำเป็นรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้ากีฬา 


ข้อสรุป

อาการปวดขาตอนกลางคืนจน มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานขาหนัก การได้รับบาดเจ็บเวลากล้ามเนื้อและกระดูก หรืออาจจะเป็นสัญญาเตือนจากโรคร้ายแรงอย่างโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ทางที่ดีที่สุด หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่ปวดขาตอนกลางคืนรุนแรงจนนอนไม่หลับ ลองกายภาพและทานยาแก้อักเสบ แก้ปวดแล้ว แต่อาการไ่ดีขึ้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี 

หากผู้ป่วยมีอาการปวดขาตอนกลางคืน รุนแรงไม่สามารถนอนหลับได้ สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 
แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

References

 

Carly, V. (209, Jun 03). What’s causing your leg cramps at night? Treatment and prevention tips. Healthline. https://www.healthline.com/health/leg-cramps-at-night

Dipan, P. (2019, Jul 05). Why your leg pain feels worse when lying down. Spine-health. https://www.spine-health.com/blog/why-your-leg-pain-feels-worse-when-lying-down


 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม