รู้ทัน โรคข้อเข่าเสื่อม สาเหตุ อาการ วิธีรักษา วิธีป้องกัน

อาการปวดเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ในวัย 50 ปีขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคข้อเข่าเสื่อม แม้อาการเบื้องต้นจะไม่รุนแรงแต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการทรุดและรุนแรงขึ้นตามลำดับ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้
ดังนั้นผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานควรสังเกตอาการ และไปโรงพยาบาลในกรณีที่อาการเจ็บปวดไม่มีท่าทีจะดีขึ้น เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและหาหนทางการรักษาต่อไปให้ทันท่วงที
สารบัญบทความ

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือ การที่กระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมในด้านของรูปร่างและโครงสร้าง ส่งผลต่อการทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ และอาจเสื่อมสภาพ อาการรุนแรงกว่าเดิมตามลำดับ
อาการปวดมักสัมพันธ์กับอิริยาบถที่ส่งแรงกดทับข้อเข่า เช่น การนั่งงอเข่า การย่อตัว การเดินเป็นระยะเวลานาน การกระโดด หากปล่อยไว้โดนไม่มีการบรรเทาใดใด อาจทำให้อาการทรุดและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตได้ เช่น เข่าโก่ง เดินลำบาก ไม่สามารถงอหรือยืดเข่าได้สุด
ทำความรู้จักข้อเข่า
ข้อเข่า (Knee joint) เป็นตัวเชื่อมเหมือนบานพับระหว่างกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง โดยบริเวณปลายกระดูกต้นขาจะมีลักษณะกลม และในส่วนต้นกระดูกหน้าแข้งจะเป็นแอ่งรับกับกระดูกส่วนปลายของกระดูกต้นขา บริเวณรอบ ๆ จะมีเส้นเอ็น 4 เส้นคอยค้ำจุน ให้แข็งแรง และกระดูกอ่อนมาครอบคลุม เพื่อช่วยลดแรงกระแทก บริเวณข้อเข่าด้านหน้าจะมีกระดูกลูกสะบ้า ทำให้เหยียด งอเข่าได้สะดวก
ข้อเข่าหรือกระดูกเข่าประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
- ส่วนปลายกระดูกต้นขา (Femur)
- ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia)
- ลูกสะบ้า (Patella)
โรคข้อเข่าเสื่อมมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อเข่าที่ถูกใช้งานเป็นระยะเวลานาน จนทำให้บริเวณนั้นเกิดการสึกหรอ เมื่อไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ จึงส่งผลให้โครงสร้างการทำงานของกระดูก รวมไปจนถึงกระดูกใกล้ๆ ข้อเข่าเปลี่ยนแปลงไป จนความเสื่อมทวีคูณความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด
การเสื่อมสภาพจากการถูกใช้งานเป็นระยะเวลานาน เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่พบได้บ่อยเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถส่งผลต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมจะค่อยๆเกิดและสะสมเรื่อยๆ ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นตามเวลาและอายุ แต่ว่าอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง สาเหตุแบ่งออกเป็น 2 หลัก
1. การเสื่อมแบบปฐมภูมิ คือการเสื่อมของกระดูกอ่อนตามวัย โดยมักจะเริ่มพบในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้วก็มีปัจจัยอื่นที่อาจเร่งให้กระดูกข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นได้
- ปัจจัยเรื่องเพศ เพศหญิงมีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย อาจเกี่ยวกับระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อของร่างกาย
- น้ำหนักตัว โดยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม และเซลล์ไขมันที่มากเกินไปมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนรวมถึงเซลล์กระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
- พฤติกรรมบางแบบทำให้มีแรงกดต่อข้อเข่าที่มากกว่าเดิม เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งพับเพียบ-ขัดสมาธิ การขึ้นลงบันไดบ่อย
- ความบกพร่องในส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อต่อหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
- กรรมพันธุ์ โดยมีหลักฐานพบว่าโรคข้อเข่าเสื่อมถ่ายทอดทางพันธุกรรมน้อยกว่าข้อนิ้วมือเสื่อม
2. ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ คือการเสื่อมที่เกิดจากการกระทบอื่น เช่น อุบัติเหตุ หรือ อาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ เส้นเอ็น จากกีฬาหรือการทำงาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ กระดูกรอบหัวเข่าแตกหัก การติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน ฯลฯ
เมื่อพูดถึงเรื่อง อาการเข่าเสื่อม ข้อเข่าอักเสบ
หัวเข่ามีเสียงกรอบแกรบ หรืออาการ
ปวดขาตอนกลางคืน หลายๆ คนคงคิดว่าจะมีเพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้นที่เป็นอาการเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริง อย่างโรคข้อเข่าเสื่อม ก็มีโอกาสที่บุคคลวัยอื่นๆ เป็นด้วยได้เช่นเดียวกัน โดยรายละเอียดมีดังนี้
ข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปบุคคลที่มีความเสี่ยงจะอยู่ในผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในเพศหญิงเนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน กระดูก และกล้ามเนื้อ
ข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่อายุน้อย
แต่ในคนอายุน้อยกว่า 40-50 ก็สามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้เช่นกัน
- กลุ่มคนที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อ ข้อเข่าได้รับแรงกระแทกจากการออกกำลังกายหรืออุบัติเหตุ
- คนที่รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการจนส่งผลต่อสุขภาพอย่าง โรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวมากเกินไป พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักที่มากยิ่งขึ้น
- คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไขข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ อาจส่งผลให้กระดูกอ่อนโดนทำลายเรื่อยๆ ทำให้ข้อเข่าเกิดการปวดบวมและติดแข็งในที่สุด
โดยปกติร่างกายของเราจะส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมก็เช่นกัน โดยสัญญาณเหล่านี้จะแสดงออกมาเป็นอาการข้อเข่าเสื่อม ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงของอาการหลายระยะ ได้แก่…
ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก
อาการข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก
- มีอาการปวดเข่า เจ็บข้อเข่า ในท่าทางที่มีแรงกดต่อผิวข้อเข่าเยอะ เช่น การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ-ขัดสมาธิ การนั่งงอเข่า การขึ้นลงบันได การเดินเป็นระยะเวลานาน
- อาจมีอาการข้อเข่าติด ฝืดตึงร่วมด้วย เช่น การขยับเข่าได้ลำบากในช่วงหลังตื่นนอน หรืองอเข่าได้ไม่สุด
- ในระยะแรก อาการปวดตึงจะอยู่ไม่นานและหายได้เอง หากอาการเริ่มเรื้อรังและไม่หายขาดเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน อาจหมายถึงอาการข้อเข่าเสื่อมปานกลาง
ข้อเข่าเสื่อมระยะปานกลาง
- นอกจากการปวดและรู้สึกตึงแล้ว ข้อเข่าจะมีเสียงดังกรอบแกรบในขณะที่ขยับบริเวณข้อเข่า
- เริ่มลุกจากเก้าอี้ได้ลำบาก งอเข่าแทบไม่ได้
- หากใช้มือกดแล้วจะมีความรู้สึกเจ็บ และบริเวณข้อเข่าจะบวม หากสัมผัสแล้วจะรู้สึกว่าเข่าอุ่น เป็นอาการอักเสบ
ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง
- มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น ปวดตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอิริยาบถที่มีแรงกดผิวต่อข้อเข่า
- หากสัมผัสบริเวณข้อจะมีอาการบวม ร้อน หรือมีส่วนกระดูกงอ
- มีการตรวจพบน้ำในช่องข้อ ข้อเข่าโก่ง หลวม บิดเบี้ยวผิดรูป
- อาการจะไม่ได้อยู่แค่บริเวณเข่า อาการปวดสามารถแล่นไปถึงกระดูกสะบ้าได้เมื่อเกร็งช่วงต้นขา และกล้ามเนื้อต้นขาลีบ ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก
หากมีอาการปวดเป็นๆ หายๆ รับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ และรับการรักษาให้รวดเร็วและเหมาะสมที่สุด หากไม่ใช่โรคข้อเข่าเสื่อม จะได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุและระบุโรคได้เพื่อการรักษาในอนาคต
ก่อนที่จะยืนยันได้ว่าบุคคลนั้นเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจริง แพทย์จะต้องทำการตรวจประเมิน รวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยแยกโรคว่าใช่โรคข้อเข่าเสื่อมจริงหรือไม่ โดยแนวทางการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม มีดังนี้
- การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะทำการประเมินเบื้องต้นก่อนสำหรับผู้เข้ารักษาทั่วไปที่อาจไม่แน่ใจว่าจนมีอาการข้อเข่าเสื่อมหรือไม่
- การส่งตรวจเอกซเรย์ แพทย์อาจส่งผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมตรวจเอกซเรย์เพื่อหาช่องว่างระหว่างกระดูกบริเวณข้อเข่าว่ามีช่องว่างมากเพียงใด และหาแนวโน้มปุ่มกระดูกที่อาจเกิดบริเวณรอบข้อเข่า ซึ่งนอกจากการเอกซเรย์แล้วอาจมีสั่งให้ทำ MRI ด้วยหากต้องการภาพของกระดูก เนื้อเยื่อ และกระดูกอ่อนรอบข้อเข่าที่ชัดขึ้น เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆออกไป
- การเจาะเลือด โดยการเจาะเลือดช่วยให้แยกสาเหตุอื่นออกจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เช่น โรคข้ออักเสบ
- ในการประเมินระดับความรุนแรงของโรค แพทย์จะใช้ระบบให้คะแนนที่เหมาะสมเป็นการประเมิน
เมื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เนื่องจากแต่ละบุคคลอาจมีอาการและข้อจำกัดทางร่างกายที่แตกต่างกัน
1. การออกกำลังกาย บริหารข้อเข่า
การออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อต้นขาและบริเวณรอบข้อเข่า ทำให้พยุงข้อเข่าได้ดีขึ้น ถ่ายเทน้ำหนักไปที่กล้ามเนื้อได้ดี ทำให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป
2. การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการใช้ยา
การรักษาโดยการใช้ยา ใช้
ยาแก้ปวดเข่าเพื่อลดอาการปวดข้อ ช่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นยาแบบรับประทานหรือฉีดก็ได้
3. การทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัด ช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเช่น การทำอัลตราซาวน์ การใช้เลเซอร์รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายผู้ป่วยช่วงก่อนและหลังการผ่าตัด
4. การรักษาแบบชีวภาพ
การรักษาทางชีวภาพ (Biological Therapy) เป็นวิธีการรักษาอาการผิดปกติของกระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงข้อเข่า โดยฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Hyaluronic Acid) หรือ สารสกัดจากเลือดที่มีความเข้มข้นของเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติของผู้ป่วย (Platelet Rich Plasma หรือ PRP) เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดอาการฝืดตึงของข้อเข่า
สำหรับบุคคลที่มีระดับความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อมมาก แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม จะมีอยู่ 2 วิธีการหลักๆ ดังนี้
1. การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง
การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery) คือการผ่าตัดรูปแบบใหม่โดยการสอดกล้องวิดีโอขนาดเล็กเข้าไปในข้อเข่าและเชื่อมสัญญาณเข้ากับจอภาพทีวี ทำให้เห็นส่วนต่างๆภายในข้อเข่าได้อย่างชัดเจน มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองข้อเข่าขาด เอ็นข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก ข้อเข่าล็อค โดยดูอาการประกอบกับการพิจารณาของแพทย์
2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Arthroplasty) เป็นการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมที่ช่วยลดอาการปวดของเข่า และเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวให้ข้อเข่าได้ ทำให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมใช้ชีวิตได้ง่ายดายขึ้น โดยปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด และ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วน โดยแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน
หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสร็จสิ้นแล้ว คุณสามารถดูแลรักษาข้อเข่าเทียมด้วยวิธีการที่คล้ายกับการดูแลข้อเข่าปกติได้ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถไม่ให้มีแรงกดลงบริเวณข้อ เช่น ไม่ยกของหนักเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้หมอนรองใต้เข่าเป็นระยะเวลานาน หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง คุกเข่า พับเพียบ ฯลฯ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวและอาจมีแรงกระแทกเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ได้
- จัดที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ได้แก่ จัดของให้เป็นระเบียบไม่วางขวางทางเดิน มีวัสดุกันลื่นภายในห้องน้ำ ติดราวจับที่แข็งแรงบริเวณบันไดหรือห้องน้ำ งดการใช้อ่างอาบน้ำ
หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- ดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกาย เพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่งดกิจกรรมที่ต้องมีแรงกระแทกบริเวณข้อเข่า เช่น การกระโดด
- หมั่นทำท่าทางบริหารข้อเข่าด้วยหลักของการกายภาพบำบัดอยู่เสมอ
อ่านมาถึงตรงนี้กันแล้ว หากใครไม่อยากเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ทางสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เรามีวิธีป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อถนอมให้ข้อเข่าเสื่อมช้าลงและอยู่กับเราไปนานๆ ดังนี้
ปรับพฤติกรรม
- หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง/ไขว้ขา
- หลีกเลี่ยงการหมุนเข่า
- หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- หลีกเลี่ยงการใช้หมอนรองใต้เข่าเวลานอน เนื่องจากวิธีนี้ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดบริเวณข้อพับเข่า ส่งผลให้ข้อเข่าตึงเอ็นที่หนาขึ้น ตลอดจนความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัวกระดูก
จัดปัจจัยภายนอก
- จัดบ้านให้โล่ง ทางสะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพื่อให้เดินได้อย่างสะดวกไม่กลัวสะดุดล้ม
- หากเลี่ยงการขึ้นบันไดไม่ได้ ควรมีราวจับบริเวณทั้ง 2 ด้านของบันได
- ใช้ส้วมแบบชักโครก นั่งได้สะดวก ในห้องน้ำควรมีแผ่นกันลื่นและราวจับ
- การจัดเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการอาบน้ำ
- เลี่ยงการลงไปอาบในอ่างอาบน้ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อการลื่นล้ม
ศูนย์ผ่าตัดข้อเข่าเทียมโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในการรักษาผู้ป่วย ครอบคลุมทั้งดูแลช่วงข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ ข้อศอก ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยตลอดจนถึงการดูแลรักษาโดยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด รวมถึงการผ่าตัดรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

ข้อเข่าเสื่อม รักษาหายได้ด้วยตัวเองไหม
โรคข้อเข่าเสื่อม สามารถรักษาให้หายด้วยตัวเองได้หรือไม่
หากข้อเข่าเริ่มมีอาการเสื่อมแล้วจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด หรือประคบร้อน เพื่อบรรเทาอาการปวด และเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้อาการเสื่อมรุนแรงกว่าเดิม
ข้อเข่าเสื่อม รักษาหายไหม
ในปัจจุบันอาการข้อเข่าเสื่อมยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการ และควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นไปอีกได้ หัวใจรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม คือ แพทย์จะพยายามรักษาให้การใช้งานข้อเข่าของผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติมากที่สุด และป้องกันไม่ให้เกิดข้อเข่าผิดรูปขึ้น
อาหารช่วยบำรุงข้อเข่า มีอะไรบ้าง
อาหารประเภทไหนช่วยบำรุงอาการข้อเข่าเสื่อม
- อาหารประเภทไหนช่วยบำรุงอาการข้อเข่าเสื่อม
- อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างอาหารทะเล จะช่วยบำรุงข้อต่อกระดูกให้แข็งแรง ลดอาการปวด อักเสบ และติดแข็งในข้อต่อได้
- อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก เช่น อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง งาดำ ปลาตัวเล็ก
- อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ควรรับประทานควบคู่กันกับอาหารแคลเซียมสูง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซับแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น
- อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือเบต้าแคโรทีน มักพบในผัก ควรรับประทานให้หลากสีเพื่อวิตามินหลากหลาย และผักใบเขียวมักมีวิตามินเค ช่วยบำรุงกระดูกได้
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่อาการในระยะแรกไม่รุนแรงมาก และสามารถป้องกันให้อาการไม่รุนแรงกว่าเดิมได้หากดูแลรักษาสุขภาพและปรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อแรงกดข้อเข่าได้
หากมีอาการที่คล้ายกับโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถประเมินอาการเบื้องต้นเองได้ที่บ้าน และเข้าพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและหาหนทางการรักษา ยับยั้งการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นบริเวณข้อต่อได้อย่างทันท่วงที หากต้องการสอบถามเพิ่มเติมหรือเข้ารับการปรึกษาแพทย์ สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้ที่เบอร์โทร 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอดไลน์โรงพยาบาล Line: @samitivejchinatown
สมิติเวช ไชน่าทาวน์..มั่นใจมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน
สนใจปรึกษา ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช รักษาข้อเข่าเสื่อมกว่า 30 ปี ด้วยประสบการณ์การรักษาผ่าตัดเปลี่ยนเข่ากว่า 10,000 เคส