อาการบาดเจ็บช่วงข้อต่อเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากอุบัติเหตุ อายุที่มากขึ้น หรือปัจจัยอื่นซึ่งส่งผลให้อาการเจ็บรุนแรงขึ้น ข้อต่ออาจจะอักเสบและเสื่อมสภาพ กระดูกข้อต่อจะถูกทำลายมากขึ้นจนผิดรูปหรือปวดรุนแรงจนไม่สามารถใช้งานได้ ควรเข้าพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นเพื่อหาวิธีการรักษาและป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนัก
อาการบาดเจ็บบริเวณช่วงข้อต่อต่อมีวิธีการรักษาอยู่หลายแบบ หากคนไข้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือกายภาพ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า แม้จะเป็นวิธีการที่สะดวกและดูเรียบง่าย ฟื้นตัวได้ไว ก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เนื่องจากการใช้ข้อเข่าเทียมนั้นมีปัจจัยหลายอย่างให้คำนึง ไม่ว่าจะเป็น อายุ น้ำหนัก ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน และสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล รวมไปถึงเทคนิคการผ่าตัดซึ่งสามารถส่งผลต่ออายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมด้วย
สารบัญบทความ
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทำในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมาก เจ็บข้อเข่ามากและไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีเข่าโก่ง หรือเหยียด-งอได้ไม่สุด และอาการจากโรคข้อเสื่อมส่งผลรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมาก
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ศัลยแพทย์จะทำการตัดเฉพาะผิวข้อเข่าที่มีความสึกหรอและเสียหายออกเพียงประมาณ 1 เซนติเมตรทั้งฝั่งกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง หลังจากนั้นจะมีการเตรียมผิวกระดูกให้พอดีสำหรับการฝังข้อเทียม
ข้อเข่า คือ หนึ่งในข้อต่อร่างกายที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อระหว่างกระดูกต้นขาส่วนปลาย(Femur) กับกระดูกหน้าแข้งส่วนต้น(Tibia) อีกทั้งยังมีกระดูกสะบ้า(Patella) อยู่บริเวณด้านหน้าของข้อเข่าอีกด้วย ซึ่งทั้ง 3 ส่วนเป็นองค์ประกอบของข้อเข่าที่มีความสำคัญอย่างมาก
โดยลักษณะของข้อเข่ามีความคล้ายคลึงกับบานพับ และกระดูกสะบ้าจะเป็นส่วนที่เสมือนกับคานคอยส่งถ่ายแรง ทำให้เราสามารถงอเข่า เหยียดขา หรือเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกสบาย
ข้อเข่าเสื่อม(Knee Osteoarthritis) เกิดจากการใช้ข้อเข่ามาเป็นระยะเวลานาน จนเสื่อมสภาพหรือสึกหรอไป ซึ่งการเสื่อมสภาพนี้ไม่สามารถฟื้นฟูหรือสร้างทดแทนได้ มีแต่เพียงการเสื่อมลงไปเรื่อยๆ เท่านั้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อกระดูกที่อยู่ข้างเคียงและโครงสร้างการทำงานอย่างมาก
โดยปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม ได้แก่
น้ำหนักตัวมากจนเกินไป หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
ทำพฤติกรรมที่มีผลต่อแรงกดบริเวณข้อเข่าบ่อยๆ เช่น การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การนั่งคุกเข่า พับเพียบ
พันธุกรรม
อายุที่มากขึ้น หากอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ จะเรียกว่า “โรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ”
อุบัติเหตุ
โรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบติดเชื้อ
ข้อเข่าอักเสบ เกิดจากการที่ใช้ข้อเข่าอย่างหนักเป็นเวลานาน จนมีการบาดเจ็บที่บริเวณกระดูกอ่อนในข้อเข่า เมื่อการบาดเจ็บเกิดขึ้น ร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการอักเสบ เพื่อฟื้นฟูตนเอง ทำให้ในพาร์ทนี้ มีลักษณะตึง บวมแดง
ปัจจัยที่มีผลต่อข้อเข่าอักเสบ ได้แก่
อุบัติเหตุ
การติดเชื้อ
โรคต่างๆ เช่น โรคเก๊าท์ โรคภูมิแพ้ตนเอง
การอักเสบขององค์ประกอบข้างเคียง เช่น เส้นเอ็นกล้ามเนื้อเข่าอักเสบ หมอนรองกระดูกอักเสบ ฯลฯ
ข้อเข่าเทียม เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้อเข่าจริงที่เสื่อมสภาพไป มักใช้ในการรักษาด้วยการผ่าเข่าเสื่อม ซึ่งข้อเข่าเทียมจะมีลักษณะดังนี้
ข้อเทียมนี้จะมีลักษณะเป็นโลหะผสมไทเทเนียมและโคบอลต์โครเมียม (titanium + cobalt chromium) มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร และครอบฝังลงไปยังผิวกระดูกที่ถูกตระเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ ระหว่างผิวข้อเทียมที่ถูกครอบฝังทั้งสองฝั่ง แพทย์จะใส่พลาสติกชนิดพิเศษ (Polyethelene) พลาสติกนี้มีลักษณะกลม ทำหน้าที่เป็นตัวที่ทำให้ข้อเกิดความเคลื่อนไหวที่เรียบ ลื่น และเป็นธรรมชาติ ขนาดเท่ากับข้อเข่าของผู้ป่วย
วัสดุดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อร่างกาย มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญและแม่นยำของแพทย์ในการผ่าตัดด้วย การผ่าตัดข้อเข่าเทียมจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัย อีกทั้งผู้ป่วยใช้ระยะเวลาฟื้นตัวไม่นานด้วย
การผ่าตัดข้อเข่าเทียมในปัจจุบันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total Knee Replacement) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทุกส่วน เหมาะกับข้อเข่าที่เสียหายและมีรอยโรคอยู่มาก เนื่องจากเป็นการผ่าที่แก้ได้ทุกความผิดปกติของข้อ นอกจากการผ่านี้จะช่วยรักษาอาการอักเสบของข้อแล้ว ยังสามารถทำให้ข้อเข่าที่ผิดรูปกลับมาตรงตามแบบที่ควร ไม่โก่งงอ ป้องกันการเสื่อมของข้อเข่าส่วนที่เหลือในอนาคต
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมทั้งข้อจะเป็นผู้ป่วยที่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป
การผ่าตัดข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน (Unicompartmental Knee Replacement) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าบางส่วน โรคข้อเข่าเสื่อมในบางผู้ป่วย อาการเสียหายจะจำกัดอยู่บริเวณบางส่วนโดยมักจะเริ่มที่บริเวณด้านในของข้อเข่า มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่การเสื่อมของข้อเข่าจะเริ่มที่ผิวกระดูกด้านนอก อาจทำให้ขาโก่งเข้าด้านในได้
การผ่าตัดข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนโดยเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ดีไว้ จะมีขนาดเล็กกว่า การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจะน้อยกว่าเปลี่ยนทั้งข้อเข่า รวมถึงขนาดแผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่า สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนทั้งข้อเข่าด้วย
ป้องกันอาการเสื่อม/อักเสบที่อาจทรุดตัวในระยะยาวและทำลายข้อต่อเพิ่ม
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากกระดูกข้อเสื่อม เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม หรือข้อเสื่อมในบริเวณอื่น
ป้องกันการทรุดของกระดูกที่อาจทำให้ขามีลักษณะโก่งงอจากการกระจายน้ำหนักตัวได้ไม่ดี
ป้องกันการกระจายตัวของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในบริเวณข้อต่อ
อำนวยความสะดวกสบายในการขยับตัว เนื่องจากข้อต่อใช้งานได้เป็นปกติ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “อาการข้อเข่าเสื่อมแบบไหนที่ควรเข้ารับการผ่าตัด?” ผู้ที่ควรเข้ารับการผ่าตัดข้อเสื่อม คือผู้ที่มีอาการโรคข้อเสื่อมระยะรุนแรง มักเป็นผู้สูงอายุ และมีอาการดังต่อไปนี้
มีอาการปวดข้อมาก
ข้อโก่ง ผิดรูป
เคลื่อนไหวได้ติดขัด สามารถเหยียด-งอข้อได้น้อยมาก
มีคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงจากข้อเสื่อม เช่น มีความยากลำบากในการ ลุก นั่ง เดิน ขึ้นลงบันได หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
การใช้ยา หรือ กายภาพบำบัด ได้ผลน้อยมากตลอดจนถึงไม่ได้ผลเลย
สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการสำหรับการผ่าตัด
แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งอาการของการปวดข้อ ไปจนถึงความสามารถในการขยับข้อ
นอกจากการสอบถามแล้วผู้ป่วยจะเข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบการทำงานของข้อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อ ไปจนถึงอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเสื่อม
เอกซเรย์เพื่อดูสภาพกระดูกข้อ
ในบางกรณีอาจมี MRI เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบข้อด้วย
ก่อนเข้าผ่าตัด ผู้ป่วยควรเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมอำนวยความสะดวกหลังการผ่าตัดด้วย
ดูแลสุขภาพตนเองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ให้มีการติดเชื้อตามบาดแผลบนร่างกาย หรือบริเวณช่องปาก เช่น ฟันผุ หากมีแล้วควรรักษาให้เรียบร้อยก่อนการผ่าตัด
หากมีการรับประทานอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร เช่น ยาต้ม ยาลูกกลอน โสม แปะก้วย หรือยาอื่นๆเช่นยารักษาโรครูมาตอยด์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการหยุดยา
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
งดสูบบุหรี่
ในวันผ่าตัด งดน้ำและอาหารตามเวลาแพทย์กำหนด
นอกจากการเตรียมตัวเองข้างต้น การจัดการสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเพื่อพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเองก็เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากในช่วงแรกผู้ป่วยอาจต้องการความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การอาบน้ำ ทำอาหาร ซักผ้า ถือของ
จัดทางเดินบริเวณที่อยู่อาศัยให้โปร่งสบาย ไม่เสี่ยงต่อการสะดุดล้ม
ตรวจสอบความคงทนของราวบันได ไม่มีผุพังหรือโยกคลอน
ควรติดตั้งราวจับตามขอบในห้องน้ำและบริเวณส้วมชักโครกเพื่อช่วยในการพยุงตัวและการลุก
มีเก้าอี้พลาสติกในห้องน้ำเวลาอาบน้ำ
หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดในระยะแรก โดยจัดแจงห้องต่างๆให้อยู่ในชั้นเดียวกัน
ขั้นตอนการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เพื่อทำการเปลี่ยนเป็นข้อเข่าเทียม มีดังนี้
ใช้ยาดมสลบ หรือยาชาที่บริเวณไขสันหลัง เพื่อป้องกันความเจ็บปวดและอำนวยความสะดวกในการผ่าตัด
เมื่อยาออกฤทธิ์แล้ว แพทย์ผ่าตัดเปิดแผลบริเวณข้อเข่า ขนาด 8-10 เซนติเมตร
นำผิวกระดูกส่วนที่มีการเสื่อมสภาพออก โดยแต่ละบริเวณอาจมีความหนาที่แตกต่างกัน เช่น กระดูกส่วนต้น ความหนาประมาณไม่เกิน 9-10 มิลลิเมตร กระดูกหน้าแข้ง ไม่เกิน 10 มิลลิเมตร และกระดูกสะบ้า ไม่เกิน 8 มิลลิเมตร
จากนั้นนำวัสดุข้อเข่าเทียมฝังเข้าไปแทนที่บริเวณที่มีการเสื่อมสภาพ
ในขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับแต่งเส้นเอ็นบริเวณรอบข้อเข่า เพื่อให้มีความตึงที่เหมาะสม ข้อเข่าอยู่แนวตรง ไม่โก่งงอ
ขั้นตอนการผ่าตัดทั้งหมด ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง - 1 ชั่วโมง 15 นาที
หลังการผ่าตัด หากยาที่ใช้ในการผ่าตัดหมดฤทธิ์แล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถขยับข้อเข่า หรือใช้งานข้อเข่าได้ทันทีในวันแรก
เทคโนโลยีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมได้พัฒนามาตลอดในระยะเวลา 30 ปี ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ผ่าตัดที่แม่นยำ ขนาดเล็กลง ส่งผลให้แผลผ่าตัดเข่าเล็กลง เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยลง ข้อเข่าเทียมที่มีรูปแบบที่ดีขึ้น ทนทานขึ้น และออกแบบให้สามารถงอเข่าหลังผ่าตัดได้มากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนั้นเทคนิคทางการแพทย์ในการระงับปวดก็ถูกพัฒนาดีขึ้นจนความเจ็บปวดจากการผ่าตัดลดลงมากจากอดีต ผู้ป่วยสามารถยืนเดินได้หลังผ่าตัดภายใน 1 วัน และสามารถกลับบ้านได้ภายใน 3-5 วัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังส่งผลให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง มีภาวะแทรกซ้อนต่ำอีกด้วย
หลังผ่าตัด มีความเป็นไปค่อนข้างน้อยที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าที่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดได้ ได้แก่อาการดังต่อไปนี้
เลือดคั่งบริเวณที่ผ่า สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเลือดออก
แผลแยก แผลผ่าตัดเข่าฉีกขาด
ข้อเข่าไม่มั่นคง
การติดเชื้อ มีความเป็นไปได้อยู่ประมาณ 2%
ภาวะแทรกซ้อนด้านหัวใจ เกิดได้จากการเสียเลือดและการให้เลือดจำนวนมาก อาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหัวใจวาย
ภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน เกิดจากลิ่มเลือดไปติดที่กล้ามเนื้อหัวใจและปอด ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว พบได้ในคนผิวขาวมากกว่าผิวเหลือง แต่สามารถป้องกันได้โดยเริ่มขยับขาสองข้างให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดโอกาสการเกิดการอุดตัน รวมถึงการใช้ยาเพื่อป้องกันการอุดตันโดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มให้ยาวันที่ 1-2 หลังการผ่าตัดยาวประมาณ 1-2 สัปดาห์
ประคบเจลเย็นบริเวณแผลผ่าตัดได้ตามความต้องการ
ใช้หมอนหนุนขาข้างที่ผ่า ยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม และขยับปลายเท้าขึ้นลงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การฝึกงอและเหยียดขา ไปจนถึงการฝึกยืนลงน้ำหนัก
ระมัดระวังการเข้าห้องน้ำโดยเฉพาะในการนั่งชักโครก
พยายามฝึกการเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน หากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยเครื่องช่วยพยุงได้ดี มั่นคง สามารถกลับบ้านได้ตามดุลพินิจของแพทย์ มักเป็นระยะเวลา 5-10 วันหลังผ่าตัด
เมื่อกลับบ้านได้แล้ว คนไข้ต้องบริหารข้อให้สม่ำเสมอเป็นกิจลักษณะ โดยปกติจะสามารถเดินด้วยไม้เท้าได้ 6 สัปดาห์หลังการผ่า และขับรถได้ 7-8 สัปดาห์หลังการผ่า
นอกจากข้อปฏิบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้ว หากคนไข้มีคำถามหรืออาการที่ข้องใจ สามารถสอบถามแพทย์หรือพยาบาลได้เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
แพ็กเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 1 ข้าง |
|
---|---|
ค่าข้อเข่าเทียม |
Implant |
ค่าห้องพักแบบมาตราฐาน 4 คืน ,รวมค่าการพยาบาล,บริการห้องพัก,ค่าอาหาร,ค่าเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้อง(ตามกำหนด) |
Standard Room 4 Nights, Nursing, Room Service and Medical Equipment. The package includes 3 meals per day |
ค่ายาผู้ป่วยใน,ค่าเวชภัณฑ์,ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์,ค่ายากลับบ้าน ขณะนอนพักในรพ. (ตามที่กำหนด) |
Medicine, Medical Equipment/Supplies at Ward |
ค่าห้องผ่าตัด ค่าหอฟักฟื้น รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ในการผ่าตัด (ตามกำหนด) |
Operating Room, Recovery Room, Medicine, Medical Equipment and supplies in OR |
ค่าบริการการทำกายภาพบำบัด |
Rehabilitation Service |
ค่าแพทย์ผ่าตัดและแพทย์วิสัญญี |
Surgeon and Anesthesiologist Fee |
ราคา 220,000 บาท |
ศูนย์ผ่าตัดข้อเข่าเทียมสมิติเวช ไชน่าทาวน์
เราเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ ประกอบด้วยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ทั้งข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ ข้อศอก ตั้งแต่ระดับการตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษาโดยใช้ยา การกายภาพบำบัด และมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผ่าตัดหัวเข่า เมื่อเกิดข้อเข่าเสื่อม
ผู้ป่วยหลายๆ ท่านอาจมีคำถามก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมนั้นว่าจะไปรักษาข้อเข่าเสื่อมที่ไหนดี ที่นี่เรามอบประสบการณ์ในการรักษาโรคข้อเสื่อมและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งให้แก่ท่าน โดยมีหัวใจในการดูแลรักษา คือ
Safety: การดูแลรักษาที่มีความปลอดภัยสูงสุด
Multidisciplinary: การดูแลรักษาที่สอดประสานกันของผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน
Advance: เทคโนโลยีการรักษาขั้นสูง ดูแลทุกความซับซ้อนของปัญหา
Rehabitation: ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
Total Joint Care: การดูแลโรคข้อแบบรอบด้าน ทั้งการให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การผสมผสานการรักษาแบบต่างๆ เข้าด้วยกันทั้งการใช้ยา และไม่ใช้ยา
“แนวทางการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าของศูนย์ผ่าตัดข้อเทียมสมิติเวช ไชน่าทาวน์ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ที่นี่เรามุ่งหวังที่จะมอบประสบการณ์การรักษาโรคข้อเสื่อมที่ดีที่สุดให้แก่คนไข้ของเรา”
คุณหมอกีรติเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียม มีวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์จากแพทยสภารับรองและมีผลงานมากมาย
การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผู้สูงอายุ ราคาเท่าไหร่? ผ่าเข่ากี่วันเดินได้? มาถึงในพาร์ทสุดท้าย ที่ทางเราจะมาตอบคำถามยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่อยากรู้กันมากที่สุด โดยคำถามที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้
โดนส่วนมาก ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานหลายสิบปีด้วยวัสดุที่ทนทาน ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ แต่มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมด้วย เช่น ลักษณะร่างกายของผู้ป่วย น้ำหนัก ลักษณะกิจกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน ความแม่นยำของการผ่าตัด
ผ่าเข่า นอนโรงพยาบาลกี่วัน? สำหรับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่ต้องผ่าหัวเข่า พักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 4 - 5 วัน เพื่อให้แพทย์สังเกตอาการ และให้นักกายภาพบำบัดช่วยฝึกบริหารกล้ามเนื้อขา ให้เหยียด งอขา และฝึกเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุง (walker) หากไม่พบอาการผิดปกติแพทย์จึงอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
ผ่าตัดเข่ากี่วันเดินได้? ผู้ป่วยจะสามารถลุกขึ้นได้ภายใน 3 วันหลังผ่าตัด แต่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยพยุง 4 ขาก่อนและฝึกเดินภายใต้ความดูแลของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในระยะเวลา 3-10 วันหลังผ่าตัดก่อนกลับบ้านได้
แต่หลังจากผ่าตัดเข่าไปแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกเดินไม่ได้ เดินไม่ค่อยสะดวก เนื่องด้วยอาการปวด ตึง และบวมช้ำ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด ให้ผู้ป่วยฝึกทำกายภาพกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง และใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวังก็เพียงพอ แต่หากผู้ป่วยรู้สึกกังวลใจ สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการได้
ผ่าตัดหัวเข่า พักฟื้นกี่วัน? ระยะแรกของการผ่าตัดข้อเข่าจะยังบวมและอุ่น อาการบวมจะหายภายในระยะเวลา 3 เดือนแรก อาการอุ่นรวมถึงความรู้สึกชาอื่นๆจะหายภายในระยะเวลา 6-12 เดือนหลังผ่าตัด
เสียงคลิกที่อาจเกิดได้ในขณะเหยียดหรืองอข้อเข่าถือว่าเป็นเสียงปกติ แต่สามารถปรึกษาแพทย์ได้เพื่อความมั่นใจ
การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเป็นวิธีการรักษาข้อเข่าที่ได้ประสิทธิภาพโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อาการอักเสบและความเสียหายบริเวณข้อต่อค่อนข้างกว้างและครอบคลุมผิวหน้าข้อเข่าไปมาก แม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นการผ่าตัดแล้ว แผลที่ได้ค่อนข้างเล็กและข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน การผ่าเข่าจึงเป็นวิธีที่ใช้รักษาข้อเข่าได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เหมาะกับระยะยาว
สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @samitivejchinatown
สนใจปรึกษา ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช รักษาข้อเข่าเสื่อมกว่า 30 ปี ด้วยประสบการณ์การรักษาผ่าตัดเปลี่ยนเข่ากว่า 10,000 เคส
References
Hoffman, M. (2021, June 22). Picture of the Knee. WebMD. https://www.webmd.com/pain-management/knee-pain/picture-of-the-knee
Cleveland Clinic medical professional. (2021, August 09). Osteoarthritis of the Knee. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21750-osteoarthritis-knee