Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

เจ็บข้อเข่า ปวดเข่า ส่งสัญญาณอะไรได้บ้าง? มีสาเหตุและวิธีรักษาอย่างไร?

เจ็บข้อเข่า

อาการเจ็บข้อเข่า หรือปวดเข่า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาจเกิดจากสาเหตุเล็กๆอย่างอาการแพลง เคล็ด ที่เกิดจากอุบัติเหตุ ไปจนถึงอาการเสื่อมสภาพของข้อเข่าจากการใช้งานที่เรียกว่าโรคข้อเข่าเสื่อม หรืออาจเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกับระบบภูมิคุ้มกันเลยก็ได้

เจ็บข้อเข่า ปวดเข่า ด้านใน ด้านนอก ปวดโดยรวม เกิดจากอะไรได้บ้าง มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมแบบไหน ต้องรักษาอย่างไร ในบทความนี้ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีคำตอบ
 


สารบัญบทความ
 


เจ็บข้อเข่า

อย่างที่พวกเราพอจะทราบกันอยู่แล้วว่า “ข้อเข่า” เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ต้องรับน้ำหนักตัวมากที่สุด ซึ่งบริเวณข้อเข่าก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น เส้นเอ็น กระดูกต้นขา กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก ฯลฯ เมื่อใช้งานร่างกายไปจนถึงระยะเวลาหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการข้อเข่าเสื่อม เจ็บเข่าจี๊ดๆ หรือหัวเข่ามีเสียงกรอบแกร๊บได้

นอกจากความเสื่อมตามกาลเวลา การงอเข่าแล้วเจ็บ หรือปวดเข่าด้านใน บางครั้งอาจมาจากอุบัติเหตุในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรม หรือการเล่นกีฬาต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน
 


ทำความรู้จัก ‘ข้อเข่า’

อาการเจ็บข้อ ปวดข้อเข่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้นกับอวัยวะภายในข้อเข่า ดังนั้นก่อนที่จะพูดถึงอาการเจ็บข้อเข่า ก็ควรทำความรู้จักกับส่วนประกอบภายในข้อเข่าเสียก่อน
 

ส่วนประกอบของเข่า


ส่วนประกอบของเข่า เรื่องควรรู้ก่อนรู้จักอาการเจ็บข้อเข่า

หลายๆ คน อาจคิดว่าข้อเข่าเป็นเพียงกระดูกที่เอาไว้เชื่อมต่อกับกระดูกอื่นๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ภายในเข่าของเรา มีส่วนประกอบมากกว่าที่คิด ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ส่วนปลายกระดูกต้นขา (Femur) เป็นกระดูกที่อยู่บนสุดของข้อเข่า น้ำหนักของร่างกายคนเราจะกดผ่านกระดูกต้นขา ทับลงบนกระดูกหน้าแข้งอีกที ทำให้ปลายกระดูกต้นขาบริเวณข้อต่อมีกระดูกอ่อน (Articular cartilage) ไว้เพื่อป้องกันการเสียดสีกับกระดูกส่วนล่าง
2. ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) เป็นกระดูกที่อยู่ส่วนล่าง มีหน้าที่รับน้ำหนักที่กดลงมา ทำให้ด้านบนของกระดูกหน้าแข้งมีกระดูกอ่อนที่เป็นมีหมอนรองกระดูก (Meniscus Cartilage) รูปเกือกม้ารองรับน้ำหนักไว้อยู่
3. ลูกสะบ้า (Patella) เป็นกระดูกหนาทรงสามเหลี่ยม อยู่ด้านหน้าของเข่า เชื่อมอยู่กับเอ็นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่ปกป้องข้อเข่าทางด้านหน้า และเพิ่มกำลังให้ขาเมื่อเหยียดขาออก
4. ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เส้นเอ็นกระดูก (Ligament) เยื่อหุ้มข้อเข่า (Synovial membrane) ที่มีน้ำเลี้ยงข้อเข่าอยู่ด้านใน 

อวัยวะทั้งหมดมีผลต่อการเคลื่อนไว้ งอพับ หรือเหยียดตรงของข้อเข่าทั้งสิ้น เมื่อเกิดความเสียหาย การอักเสบ หรือระคายเคืองที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือหลายส่วน จะทำให้รู้สึกเจ็บข้อเข่าได้​​
 


เจ็บข้อเข่า ปวดเข่า เกิดจากสาเหตุใด

เจ็บข้อเข่า เกิดจากอะไร? อาการเจ็บข้อเข่า ทั้งเจ็บข้อเข่าด้านใน เจ็บข้อเข่าด้านนอก อาการอักเสบที่ข้อเข่า สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่อไปนี้
 

1. เจ็บข้อเข่าจากความเสียหายจากอวัยวะที่หัวเข่า

ความเสียหายจากอวัยวะภายในข้อเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้เข่ามากเกินไป น้ำหนักตัวมากจนเข่าทำงานหนัก เล่นกีฬาที่กระแทกน้ำหนักตัวลงไปที่เข่าบ่อยๆ อายุมากจนร่างกายเสื่อมสภาพไปตามวัย หรืออาจจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดก็ได้

ซึ่งสาเหตุต่างๆ สามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่อวัยวะในข้อเข่าได้ดังนี้

1. เส้นเอ็น

เส้นเอ็นมีหน้าที่ประคองข้อเข่า และทำให้ข้อเข่าทำงานได้ตามปกติ แต่หากใช้งานซ้ำๆ ใช้ข้อเขาอย่างหนักเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบ หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้ขาบิดผิดรูป จะทำให้เส้นเอ็นเข่าอักเสบ หรือฉีกขาดได้

2. หมอนรองข้อเข่า

หมอนรองข้อเข่าสามารถฉีกขาดได้เช่นกัน เกิดจากการที่ขาบิดผิดรูปหรืออุบัติเหตุ จนทำให้หมอนรองกระดูกเหนือกระดูกหน้าแข้งเสียหาย หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจจะทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ และโรคข้อเข่าเสื่อมตามวัยเอง ก็เกิดจากการสึกหรอของหมอนรองกระดูก และกระดูกอ่อนต่างๆในข้อเข่าเช่นกัน หากไม่มีหมอนรองกระดูก หรือเกิดความเสียหายที่หมอนรองกระดูก จะทำให้ปวดเข่า ลงน้ำหนักที่ขาไม่ได้ ข้อเข่าติด ฝืด พับขาหรือเหยียดขาได้ลำบาก

3. กระดูกลูกสะบ้า

อาการที่เจ็บข้อเข่าที่เกิดจากความเสียหายของกระดูกลูกสะบ้า มักเกิดจากโรคที่เรียกว่า “Runner’s knee” เป็นอาการเจ็บข้อเข่าจากการวิ่ง เพราะเมื่อวิ่งมากๆ กระดูกลูกสะบ้าจะไปเสียดสีกับกระดูกส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดการอักเสบ หรือกระดูกอ่อนที่ลูกสะบ้าสึกจนทำให้เจ็บข้อเข่าด้านหน้าอย่างเรื้อรัง

4. ถุงน้ำในข้อเข่า

ถุงน้ำในเข่าอักเสบ เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บข้อเข่าได้เช่นกัน โดยปกติในเข่าของคนเราจะมีถุงน้ำอยู่ เพื่อลดแรงกระแทกและลดการเสียดสีลง ถ้าถุงน้ำดังกล่าวเกิดการอักเสบจะทำให้เยื่อหุ้มถุงน้ำ สร้างน้ำในเข่าเพิ่มจนในเข่ามีน้ำมากกว่าปกติ ทำให้เข่าร้อน เข่าบวม และรู้สึกเจ็บ

5. กระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง

อาการบาดเจ็บที่กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งจนทำให้เจ็บข้อเข่ามักเกิดจากอุบัติเหตุ ที่ส่งผลให้กระดูกแตกร้าว แต่นอกจากอุบัติเหตุแล้ว ภาวะข้อเข่าเสื่อมก็ทำให้กระดูกบางส่วนของกระดูกหน้าแข้งเสียหายจนเกิดกระดูกงอกได้เช่นกัน
 

2. เจ็บข้อเข่าจากโรคที่ส่งผลกับข้อเข่า

โรคที่ส่งผลกับข้อเข่า เช่น โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ ทั้งสองโรคทำให้เกิดการอักเสบที่ข้อเข่าจากสาเหตุที่ต่างกัน อาการอักเสบที่เกิดจากโรคดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการเจ็บข้อเข่าได้ โรคทั้งสองสามารถบรรเทาอาการของโรคลงได้หากได้รับการรักษาจากแพทย์
 

3. เจ็บข้อเข่าจากเหตุผลด้านสรีระจากความเสียหายของอวัยวะส่วนอื่นๆ

ผู้ป่วยที่ปวดข้อเข่าบางคนไม่ได้ปวดแค่ที่ข้อเข่า แต่จะมีอาการปวดร้าวตั้งแต่ที่หลังลงไปจนถึงข้อเข่า หรือขาในส่วนที่ต่ำลงไปกว่าเข่าด้วย โดยอาการนี้เป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้น หากต้องการแก้ไขต้องแก้ที่อาการปวดหลัง แล้วอาการเจ็บข้อเข่าจะหายไปเอง
 


วิธีสังเกตอาการเจ็บข้อเข่า ปวดเข่า

รู้ที่มีอาการเจ็บข้อเข่าหรือปวดข้อส่วนใหญ่จะไม่สามารถบอกได้ว่าปวดส่วนใดของข้อเข่า ส่วนใหญ่จะปวดรวมๆกัน บางรายปวดเฉพาะเวลาขยับข้อเข่า บางรายปวดตลอดเวลา อาจจะมีหรือไม่มีอาการอื่นๆด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ข้อเข่าฝืด เหยียดหรืองอได้ไม่สุด หรือเข่าบวมร้อนจากการอักเสบ
 

อาการเจ็บข้อเข่าที่ควรพบแพทย์

บางครั้งอาการปวดข้อเข่าเป็นเพียงการใช้งานเข่ามากเกินไป หากหยุดใช้เข่าหรือใช้ยาแก้ปวดเข่าร่วมด้วย อาการเหล่านั้นก็จะหายไปเอง ถ้าปวดเข่าในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์

แต่ในกรณีที่ต้องพบแพทย์ จะมีอาการดังต่อไปนี้
 

  • ปวดเข่าหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย
  • เจ็บข้อเข่ามากจนทนไม่ได้ แม้ใช้ยาแก้ปวดแล้วอาการก็ไม่บรรเทาลง
  • ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขาได้จนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ
  • เขาปวด บวม แดง ร้อนจากการอักเสบหรือติดเชื้อ
  • เข่าฝืด งอหรือเหยียดจนสุดไม่ได้ เมื่อขยับเข่าจะรู้สึกเจ็บ

หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบเข้าพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาที่สาเหตุต่อไป
 


ปวดเข่า เจ็บข้อเข่า พบในใครได้บ้าง

เจ็บข้อเข่าด้านนอก

ปวดหัวเข่าข้างขวาหรือข้างซ้ายเพียงอย่างเดียว จู่ๆ ก็เจ็บจี๊ดๆ ที่ข้อ อาการเจ็บข้อเข่าทั้งหลายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนเหล่านี้
 
  • ผู้สูงอายุ เป็นการเสื่อมของอวัยวะข้อเข่าตามวัย ซึ่งที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมาก แรงกดที่ข้อเข่าก็จะยิ่งมากตาม ทำให้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเจ็บข้อเข่าได้ง่ายกว่าผู้อื่น
  • ผู้ออกกำลังกายที่ลงน้ำหนักกับเข่ามากๆ เช่น ผู้ที่วิ่งบ่อยๆ มักมีปัญหาที่กระดูกลูกสะบ้า (Runner’s knee)
  • ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุกับข้อเข่า ทั้งอาการเคล็ด ระคายเคือง อักเสบชั่วคราว และการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เข่าเสียอย่าถาวร
  • คนอายุน้อยที่ใช้เข่ามาก ยืนนาน นั่งที่พื้นนาน หรือใส่ส้นสูงเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่เป็นโรคข้อ เช่น รูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบอื่นๆ
 

ปวดเข่า เจ็บข้อเข่า เป็นโรคอะไรได้บ้าง

อาการเจ็บข้อสามารถเกิดได้จากโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้
 

1. โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะกรดยูริคในร่างกายสูง กรดยูริคส่วนเกินเหล่านี้จะไปรวมตัวกันเป็นผลึกสะสมอยู่ตามข้อต่างๆของร่างกายจนเกิดการอักเสบ แดง ร้อน และปวดบวมอย่างรุนแรงแบบฉับพลัน พบมากในเพศชายช่วงวัยกลางคน และเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน

อาการเจ็บข้อเข่าจากโรคเก๊าท์สามารถรักษาได้โดยควบคุมระดับกรดยูริคในเลือดให้ต่ำลงเพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่ข้อเข่า แต่ถ้าระดับกรดยูริคกลับมาสูงอีก ก็สามารถเจ็บข้อเข่าขึ้นมาได้อีกเช่นกัน
 

2. โรครูมาตอยด์


เจ็บข้อเข่า จากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

รูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเนื้อเยื่อตนเอง เมื่อระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเยื่อหุ้มที่ข้อต่างๆ จะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวม และเจ็บข้อเข่า ข้อเท้า รวมถึงข้อในส่วนอื่นๆ ในเวลาใกล้เคียงกัน

ตัวโรคจะไม่ได้หยุดแค่นั้น สุดท้ายภูมิคุ้มกันจะทำลายกระดูกอ่อน และเส้นเอ็นต่างๆจนทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง ข้อติด ฝืดแข็ง และทำให้ข้อบิดงอจนผิดรูปในที่สุด

โรครูมาตอยด์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการของโรค ด้วยการใช้ยาลดการอักเสบ ผ่าตัดซ่อมแซมข้อต่อ หรือทำกายภาพบำบัดให้ข้อต่างๆสามารถใช้งานได้ดีขึ้น
 

3. อาการข้ออักเสบจากโรคอื่นๆ

อาการข้ออักเสบเป็นสาเหตุให้เจ็บข้อเข่า เข่าบวม นอกจากโรคเก๊าท์และรูมาตอยด์แล้ว โรคข้ออักเสบสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้เช่นกัน

ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่ใช่ยาสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิ ดังนั้นหากมีอาการเจ็บข้อเข่า หรือข้อต่อต่างๆอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบมาพบแพทย์ก่อนการติดเชื้อจะลุกลามและอันตรายถึงชีวิต

โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ก็สามารถทำให้ข้ออักเสบได้โดยการทำลายเนื้อเยื่อของตัวเอง นอกจากโรครูมาตอยด์แล้วก็ยังมีโรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus หรือ SLE) หรือที่เรียกว่าโรคลูปัสด้วย
 

4. โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าจากการใช้งานตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จึงพบในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้งานเข่าเป็นประจำจากการออกกำลังกายหรือการทำงาน

โรคข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดจากอุบัติเหตุได้เช่นกัน หากเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า ทำให้อวัยวะในเข่าเสียหายแล้วไม่ได้รับการรักษา ส่วนต่างๆของเข่าก็จะถูกทำลายได้เร็วขึ้นจากการใช้งาน ทำให้เกิดโรคข้อเ

ข่าเสื่อมในที่สุด โรคข้อเข่าเสื่อมทำให้เจ็บข้อเข่าได้จากการเสียดสีกันของกระดูก เดิมทีเมื่อขยับข้อเข่า กระดูกอ่อนที่นิ่มกว่า จะเป็นตัวรับแรงกระแทกและการเสียดสี ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อขยับข้อ แต่เมื่อกระดูกอ่อนเหล่านี้เสื่อมลงไป กระดูกที่แข็งกว่าจะเสียดสีกันแทน ทำให้เจ็บข้อเข่า เข่าติด ฝืด ไม่สามารถเหยียดหรืองอได้เต็มที่

นอกจากนี้ การเสียดสีกันของกระดูกสามารถทำให้ระคายเคืองจนเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ ทำให้รู้สึกเจ็บข้อเข่าได้แม้ไม่ได้ใช้งานเข่าเลยก็ตาม

โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลายระยะ และมีการรักษาที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นโรคนี้ในระยะหลังๆ แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นการรักษาที่เห็นผลชัดเจนหลังผ่าตัด สามารถกลับมาเดินได้ปกติ ลงน้ำหนักที่ขอได้ เหยียดงอข้อเข่าได้ตามปกติ สามารถรักษาอาการขาโก่งจากข้อเข่าเสื่อมได้ด้วย

 


การตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บข้อเข่า

การตรวจวินิจฉัยมีหลายอย่าง เนื่องจากอาการเจ็บข้อเข่า ปวดเข่า สาเหตุเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง แพทย์ผู้รักษาจะต้องดูปัจจัยต่างๆประกอบกัน ทั้งการสังเกตุเข่าภายนอก การทดสอบการเคลื่อนไหวทั่วไป ไปจนถึงการดูภาพถ่ายภายในข้อเข่าจากเครื่องมือต่างๆ และการตรวจเลือดหรือน้ำในข้อเข่าเมื่อสงสัยว่ามีอาการอักเสบหรือติดเชื้อ

การสังเกตข้อเข่าจากภายนอก และการทดสอบทั่วไป จะดูว่า
 

  • ลักษณะอาการของเข่าโดยทั่วไปเป็นอย่างไร เจ็บไหม เจ็บตอนไหนบ้าง หากไม่ขยับจะยังเจ็บข้อเข่าอยู่หรือไม่ มีอาการปวดบวมแดงร้อนร่วมด้วยไหม เหยียดงอได้สุดแค่ไหน อาการภายนอกโดยรวมเป็นอย่างไร มีรอยช้ำ หรือข้อเข่าผิดรูปหรือเปล่า
  • ขยับขาส่วนล่างได้แค่ไหน ขยับไปทิศไหนได้บ้าง
  • ข้อเข่าหลวมหรือเปล่า มั่นคงแค่ไหน ทดสอบโดยการดึงหรือดันข้อต่อเข่า

การดูภาพถ่ายภายในข้อเข่ามีหลายแบบ
 

  • เอกซเรย์ (X-ray) เป็นรูปฟิล์มสองมิติ แพทย์จะใช้ดูความเสียหายที่กระดูกและข้อต่อเข่า
  • CT scan (Computerized tomography scan) เป็นภาพคล้ายเอกซเรย์แต่ละเอียดกว่า สามารถดูภาพตัดขวางได้ หากเป็นโรคเก๊าท์ สามารถตรวจพบโดย CT scan ได้ด้วย
  • อุลตราซาวด์ (Ultrasound) ใช้ดูความเสียหายที่เนื้อเยื่อรอบข้อเข่า สามารถแสดงผลขณะใช้งานได้เลย
  • MRI (Magnetic resonance imaging) เป็นภาพสามมิติ ใช้เพื่อดูรูปโครงสร้างข้อเข่าโดยละเอียด ทำให้แพทย์ตรวจสอบเนื้อเยื่อและกระดูกได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
 

แนวทางการรักษาอาการเจ็บข้อเข่า


เจ็บข้อเข่าด้านใน
 

หากเจ็บข้อเข่า ควรทำอย่างไร? วิธีแก้อาการปวดเข่าหรืออาการเจ็บข้อเข่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะการรักษาอาการเจ็บข้อเข่าต้องรักษาที่สาเหตุ

หากอาการเจ็บข้อเข่าเกิดจากโรค อย่างเช่นโรคเก๊าท์ โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน โรคเบาหวาน จะต้องรักษาที่ตัวโรค หรือควบคุมอาการของโรคไม่ให้ส่งผลกับข้อเข่ามากเกินไป

ถ้าเจ็บข้อเข่าจากอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุก็ต้องรักษาที่อวัยวะนั้นๆ อาจจะต้องพักการใช้งาน ทานยา ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet Rich Plasma หรือ PRP) หรือถ้ารุนแรงก็ต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม เปลี่ยนเป็นอวัยวะเทียม หรือใช้เหล็กดาม แล้วแต่อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น

ถ้าเจ็บข้อเข่าจากการใช้งานมากเกินไป ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการใช้ข้อเข่า ออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาเพื่อลดภาระให้เข่า ควบคุมน้ำหนัก ทำกายภาพเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้ข่อเข่าได้ดีขึ้น ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า หรือถ้าอาการหนักมาก อาจจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

 


วิธีป้องกันอาการเจ็บข้อเข่า

อาการเจ็บข้อเข่าสามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
 

  • ควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อลดภาระให้ข้อเข่า
  • ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้ข้อเข่าเยอะเกินไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น การขึ้นลงบันได นั่งยอง นั่งพื้น นั่งเก้าอี้ที่เตี้ยเกินไป หรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้เข่ามากเกินไป
  • ออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อให้ต้นขาและสะโพก รวมทั้งการบริหารเข่าเท่าที่ทำได้
  • หากมีอาการป่วดเข่าขึ้นมาอย่างผิดปกติ หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย อย่างเข่าบวมร้อน มีรอยช้ำ หรือไม่สามารถเหยียดงอขาได้จนสุด ให้รีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาต่อไป ยิ่งพบปัญหาเร็ว ยิ่งรักษาง่าย
 

รักษาอาการปวดเข่า เจ็บข้อเข่า ที่ไหนดี

อาการเจ็บข้อเข่า ปวดเข่าที่เป็นอย่างเรื้อรังหรือเกิดจากอาการบาดเจ็บมาก ควรรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ เพราะข้อเข่าเป็นอวัยวะสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่หากเสียหายไปจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

ที่ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลผู้เข้ารับการรักษาทุกคนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ทั้งยังทำกายภาพโดยผู้ชำนาญการ หากมีปัญหาอาการเจ็บปวดที่ข้อเข่า ให้โรงพยาบาลของเรา เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของคุณ

 


FAQs เจ็บข้อเข่า ปวดเข่า

เจ็บข้อเข่า ปวดเข่า ออกกำลังกายแบบไหนดี

หากมีอาการปวดเข่าข้างเดียว ปวดหัวเข่าเวลานอน และปวดเข่ารูปแบบอื่นๆ สามารถใช้วิธีแก้เจ็บเข่าด้วยการออกกำลังกายที่จะช่วยบริหารเข่า หรือเพิ่มกล้ามเนื้อต้นขาและสะโพกได้ แต่แน่นอนว่า ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรออกกำลังกายในท่าที่ลงน้ำหนักกับข้อเข่ามากเกินไป โดยการออกกำลังกายทั่วไปที่สามารถทำได้คือการว่ายน้ำ เดิน หรือเดินในน้ำก็ได้

แต่ถ้าอยู่ที่บ้าน ต้องการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาเพื่อลดอาการเจ็บเข่าสามารถทำได้ดังนี้

1. ท่านั่งเหยียดขา (Knee Full Extension Exercise)

เจ็บข้อเข่า เกิดจาก

ท่านี้เป็นการบริหารกล้ามเนื้อต้นขา สามารถทำได้โดยนั่งลงบนเก้าอี้ เก้าอี้จะต้องมีความสูงเท่ากับขาส่วนล่าง เมื่อนั่งจะทำให้ต้นขาขนานกับพื้น ให้นั่งตัวตรงที่ขอบเก้าอี้ วางขาบนพื้นให้ขาส่วนล่างตั้งฉากกับพื้น

จากนั้นให้เริ่มเหยียดขาให้ตรง โดยยกขาส่วนล่างให้ขนานกับพื้นให้ได้มากที่สุด ทำค้างไว้ประมาณ 5 - 10 วินาทีต่อเซ็ต ทำประมาณ 10 เซ็ตต่อครั้ง หากทำไม่ไหวสามารถลดจำนวนเช็ตได้ เมื่อทำจนคล่องแล้วจึงค่อยๆเพิ่มจำนวนเซ็ตขึ้น

2. การปั่นจักรยานอากาศ (Leg Cycle Exercise)

เจ็บข้อเข่า จากการวิ่ง

ท่านี้จะช่วยบริหารเข่า สามารถทำได้โดยการนอนหงายบนเตียง แล้วกางแขนทั้งสองข้างออกดันเตียงไว้ เพื่อการทรงตัว จากนั้นยกขาขึ้นทำท่าเหมือนกำลังปั่นจักรยาน ขณะออกกำลังกายควรเน้นให้ขาทั้งสองข้างได้ยืดจนสุด และงอเข้ามาประมาณ 90 องศา เพื่อเป็นการบริหารเข่า

เจ็บข้อเข่า ข้อเท้า

หากทำท่านี้ไม่ไหว สามารถทดแทนด้วยการนอนหายแล้วนำผ้าหรือหมอนรองไว้ใต้เข่า จากนั้นขยับขาส่วนล่างให้ขึ้นและลง จากนั้นจึงนอนคว่ำ แล้วพับขาส่วนล่างขึ้น พับให้ได้มากที่สุด หรือถ้าไม่ไหวก็พับเพียง 90 องศา ท่านี้จะช่วยบริหารเข่าได้โดยไม่ต้องออกแรงมากเท่าการปั่นจักรยานอากาศ
 

หากเกิดอาการเจ็บข้อเข่า ปวดเข่า ควรประคบร้อนหรือประคบเย็น


การประคบเย็นเหมาะกับอาการเคล็ด อาการฟกช้ำ หรืออาการปวดแบบเฉียบพลันทันที ส่วนการประคบร้อนเหมาะกับอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการฟกช้ำที่ผ่านมาแล้วเกิน 48 ชั่วโมง หรืออาการบวมปวดตึงอย่างเรื้อรัง

หากเจ็บข้อเข่า ปวดเข่า ให้พิจารณาดูก่อนว่าเกิดจากอะไร หากเกิดจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ก็จะต้องประคบเย็น หากเป็นอาการที่เป็นบ่อยๆ เกิดอย่างเรื้อรัง ก็ควรประคบร้อนเพื่อบรรเทา

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการปวดเข่าที่มากเกินไป ประคบร้อนเย็นแล้วไม่ดีขึ้น ทานยาแก้ปวดไม่หาย มีรอยฟกช้ำ บวมร้อน มีอาการปวดเรื้อรัง ควรมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุของอาการต่อไป
 


ข้อสรุป

อาการปวดข้อ เจ็บข้อเข่า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจจะเกิดจากโรค การเสื่อมตามวัย หรืออาการบาดเจ็บที่เข่า ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นควรสังเกตตัวเอง และรีบไปพบแพทย์ เพราะหากเกิดจากโรค หรือเป็นอาการเรื้อรังที่มีผลเสียรุนแรง จะสามารถรักษาได้ทัน

หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับเข่า ไม่ว่าจะเป็นจู่ๆ ก็ปวดหัวเข่าข้างซ้ายอย่างเดียว ปวดขาตอนกลางคืน เจ็บข้อเข่า เอ็นไขว้หน้าขาด สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดเวลากับแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line@samitivejchinatown
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 


เอกสารอ้างอิง

Mayo Clinic. (2017, October 7). Knee pain. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/knee-pain/diagnosis-treatment/drc-20350855
Meyler, Z. (2018, November 21). Knee Anatomy. Arthritis-health. https://www.arthritis-health.com/types/joint-anatomy/knee-anatomy

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม