บทความสุขภาพ

อาการปวดไหล่ ปวดบ่า ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ปวดไหล่

อาการปวดไหล่ ปวดบ่า หรือ ปวดไหล่ร้าวลงมาแขน เป็นอาการที่ทำให้คนไข้หลายคนเกิดความรู้สึกหงุดหงิดอยู่บ่อยครั้ง เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามใจนึก โดยไหล่เป็นอวัยวะหรือข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวมากเป็นอันดับต้นๆ ของร่างกาย ดังนั้นถ้าหากหัวไหล่เกิดอาการผิดปกติ หรือ ปวดไหล่ มักจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการปวดไหล่เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย ทั้งในรูปแบบปวดไหล่เป็นครั้งคราว หรือ อาการปวดไหล่เรื้อรังรู้สึกปวดตลอดเวลา 

บทความนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบของสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอาการปวดไหล่ แขนชา อาการปวดไหล่แบบใดที่จำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษ พร้อมทั้งแนะนำวิธีรักษาและแนวทางการป้องกันที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการปวดไหล่ ถ้าพร้อมแล้ว ลองไปหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้! 


สารบัญบทความ

 


ปวดไหล่

อาการปวดไหล่ ไม่ว่าจะ ปวดไหล่ขวา หรือ ปวดไหล่ซ้าย เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย และ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยอาการปวดไหล่ส่วนใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน หรือ การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นกีฬา การทำความสะอาดร่างกาย การใส่เสื้อผ้า หรือ การทำงาน เพราะหัวไหล่เป็นข้อต่อในร่างกายที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด 

ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดที่บริเวณหัวไหล่และอาจจะร้าวลงไปที่แขน ปวดไหล่ขวาจี๊ดๆ หรือ ปวดไหล่ซ้ายจี๊ดๆ บางคนอาจจะมีอาการปวดไหล่เป็นครั้งเป็นคราว แต่อาการปวดไหล่ในคนไข้บางคนอาจจะเป็นอาการปวดเรื้อรังทำให้รู้สึกปวดอยู่ตลอดเวลา 

ทั้งนี้ถ้าหากมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง ร่วมกับการบวม ปวดรุนแรงจนไม่สามารถขยับได้ หรือ ปวดไหล่เป็นระยะเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด 


ปวดไหล่เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของอาการปวดไหล่

อาการปวดไหล่เป็นปัญหาที่พบได้มากและมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัวไหล่ โดยสาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดอาการปวดไหล่ ยกแขนไม่ขึ้น มีดังนี้ 

 

1. อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

อาการปวดไหล่ที่เกิดจากอาการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุเป็นสาเหตุที่สามารถพบได้บ่อยๆ โดยการประสบอุบัติเหตุอาจจะทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และ เนื้อเยื่อ บริเวณหัวไหล่เกิดการฉีกขาด ข้อเคลื่อน หรือ กระดูกหัก จนทำไปสู่อาการเจ็บไหล่ ปวดไหล่หลังประสบอุบัติเหตุ

ทั้งนี้ในกรณีที่อาการปวดไหล่ที่มีสาเหตุจากการประสบอุบัติเหตุ แนะนำให้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที 

 

2. การใช้งานข้อไหล่ผิดลักษณะ

การใช้งานข้อไหล่ผิดลักษณะ หรือ ใช้ข้อไหล่ทำงานหนักมาก เป็นสาเหตุที่มักในคนไข้วัยหนุ่มสาว ซึ่งการใช้งานข้อไหล่ผิดลักษณะทำให้เกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ข้อไหล่ เกิดการเสียดสี และ เกิดการอักเสบ ซึ่งอาจจะรุนแรงถึงขั้นทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาดจนนำไปสู่อาการปวดไหล่

 

3. ภาวะข้อไหล่เสื่อมตามวัย

ภาวะข้อไหล่เสื่อมตามวัย หรือ ภาวะกระดูกเสื่อมตามธรรมชาติ เป็นภาวะที่มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายทรุดโทรมตามวัย ส่งผลให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และ เนื้อเยื่อต่างๆ เกิดการอักเสบและบาดเจ็บได้ง่ายกว่าวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ทำให้บางครั้งอาจจะเห็นผู้สูงอายุหลายคนมีอาการปวดไหล่

 

4. กลุ่มโรคข้ออักเสบ

บางครั้งสาเหตุของอาการปวดไหล่ก็เป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่เกี่ยวข้องกับโรคร้าย เช่น อาการปวดไหล่ที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มโรคข้ออักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบและอื่นๆ ซึ่งมักจะมีอาการปวดบ่า ปวดไหล่ร่วมด้วย 

อ่านบทความ “รูมาตอยด์” เพิ่มเติมได้ที่นี่ 

 

5. เส้นเอ็นอักเสบ

การที่เส้นเอ็นบริเวณรอบข้อต่อหัวไหล่เกิดการอักเสบและมีแคลเซียมเกาะเป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อย ในคนไข้ที่มีอาการปวดไหล่ ซึ่งเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายด้วยเครื่อง X-ray จะสามารถเห็นหินปูนสีขาวบริเวณรอบข้อไหล่ได้ 

 

6. ภาวะข้อไหล่ติด

ภาวะไหล่ติด หรือ Frozen Shoulder สามารถพบได้บ่อยในคนไข้สูงอายุ โดยคนไข้ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถขยับแขนได้เต็มที่ ไม่สามารถยืดแขนได้สุดเพราะรู้สึกเจ็บ โดยอาการเริ่มแรกมักจะเริ่มจากไม่สามารถยกไหล่ได้สุด หรือ ไม่สามารถใช้แขนไขว่หลังได้ จนไปถึงอาการรุนแรงคือไม่สามารถขยับแขนได้ เนื่องจากอาการปวดไหล่ที่รุนแรง 


ใครเสี่ยงพบอาการปวดไหล่

ผู้ที่เสี่ยงปวดไหล่

แม้ว่าอาการปวดไหล่จะเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และ ผู้สูงอายุ แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะพบอาการปวดไหล่ได้มากกว่าคนอื่น ได้แก่ 

 

  • เด็กที่กระดูกและข้อต่อยังเชื่อมต่อไม่สนิท ทำให้ไหล่หลุดได้ง่าย
  • ผู้ที่เล่นกีฬา หรือ ออกกำลังที่หักโหม 
  • ผู้ที่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้หัวไหล่ซ้ำๆ 
  • ผู้ที่มีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณหัวไหล่มาก่อน
  • ผู้สูงอายุที่เสี่ยงกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ และ เส้นเอ็นเสื่อมตามวัย 

ปวดไหล่เรื้อรัง ระวังอย่าละเลย

ในบางครั้งอาการปวดไหล่ กล้ามเนื้อไหล่อักเสบสามารถบรรเทาได้ปวดการทานยา หรือ พักผ่อนร่างกาย หลีกเลี่ยงการใช้งานหัวไหล่ข้างที่ปวด 

แต่ในกรณีที่เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรัง ปวดไหล่รุนแรง ไม่หายสักที่เป็นเวลานานเกิน 4 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดไหล่ เพราะบางครั้งอาการปวดไหล่ที่คุณมองข้าม อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากโรคร้าย เช่น โรคมารูตอยด์ โรคข้ออักเสบ หรือ โรคเก๊าท์ เป็นต้น

นอกจากนี้การปล่อยอาการปวดไหล่ทิ้งไว้ ไม่พยายามรักษาอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้มีพังผืดมาเกาะบริเวณรอบข้อต่อหัวไหล่ทำให้เกิดภาวะข้อไหล่ติด ไม่สามารถขยับแขน หรือ ยกแขนได้สุด 


อาการปวดไหล่ที่ควรพบแพทย์

อาการปวดไหล่

สำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดไหล่ร่วมกับอาการผิดปกติต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็น 

 

  • ข้อไหล่ หัวไหล่บวม
  • ปวดไหล่นานกว่า 4 สัปดาห์
  • อาการปวดไหล่รบกวนการทำกิจวัตรประวันและการทำงาน 
  • ปวดไหล่จนไม่สามารถยกแขนเกินระดับไหล่ได้ 
  • ปวดไหล่มากเวลานอน จนทำให้ตื่นกลางดึกบ่อยๆ 
  • มีเสียงเวลาขยับแขนร่วมกับอาการปวดมาก 
  • มีอาการปวดไหล่ชาลงแขน หรือ เย็นที่แขน
  • ผิวหนังที่แขนเปลี่ยนสี 
  • มีไข้ เบื่ออาหาร และ น้ำหนักลดลง

ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจร่างกายและรักษาอาการอย่างตรงจุดและถูกวิธีทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดไหล่รุนแรงมากกว่าเดิม 


การวินิจฉัยอาการปวดไหล่

วินิจฉัยอาการปวดไหล่ 

มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถก่อให้เกิดอาการปวดไหล่ได้ ทำให้นอกเหนือจากการตรวจร่างกายลักษณะภายนอก และ สอบถามสาเหตุที่อาจจะก่อให้เกิดอาการปวดไหล่ เช่น กิจวัตรประจำวัน กิจกรรม และ การเล่นกีฬาแล้ว แพทย์อาจจะพิจารณาให้ตรวจร่วมกับวิธีอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากยิ่ง ได้แก่ 

 

1. การส่องกล้องในข้อกระดูก

การส่องกล้องในข้อกระดูกเป็นการตรวจหาอาการผิดปกติของเนื้ออ่อนที่มักจะไม่ปรากฏชัดเจน โดยแพทย์จะใช้กล้องที่มีขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อเพื่อนำภาพภายในข้อต่อมานังจอรับภาพ เพื่อดูภายในข้อต่อว่ามีเส้นเอ็น เนื้อเยื่อเสียหายมากน้อยเพียงใด  

 

2. การตรวจพิเศษทางรังสีของข้อต่อ

วิธีการตรวจพิเศษทางรังสีของข้อต่อแพทย์มักจะใช้เพื่อดูรูปร่างและลักษณะของกระดูก พร้อมทั้งหาความผิดปกติของข้อกระดูก ไม่ว่าจะเป็น การฉีกขาดของเอ็นและข้อ หรือ การอักเสบ โดยวิธีนี้จะไม่สามารถแสดงความผิดปกติของเยื่อหุ้มข้อ (Synovial Membrane) กระดูกอ่อนผิวข้อ (Articula Cartilage) และเนื้อเยื่ออ่อนได้ พร้อมทั้งไม่วินิจฉัยโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกบางอย่างได้ 

 

3. การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า 

ในกรณีที่แพทย์พิจารณาว่าคนไข้ที่มีอาการปวดไหล่ ร่วมกับอาการแขนชา อ่อนแรง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคทางเส้นประสาทและกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดต่างๆ แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า โดยวิธีนี้สามารถบอกสาเหตุของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย และ สามารถบ่งบอกความรุนแรงและระยะเวลาในการเกิดของโรคที่พบได้ 

 

4. การตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

เป็นการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยคอมพิวเตอร์จะสามารถสร้างภาพ 3 มิติ ทำให้แพทย์สามารถเห็นอวัยวะภายในร่างกายของคนไข้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคของแพทย์แม่นยำมากยิ่งขึ้น และวิธีนี้ใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น

 

5. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นการสร้างภาพ 3 มิติ ด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีรายละเอียดและความคมชัดสูงกว่าการตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยวิธีนี้จะสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ กระดูก กล้ามเนื้อ และส่วนที่เป็นมะเร็ง และที่สำคัญการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูงและไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากรังสีตกค้าง 

ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคของคนไข้ที่มีอาการปวดไหล่ ปวดบ่า ไหล่ติด ไม่สามารถขยับได้แต่ละคนจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ 


วิธีรักษาอาการปวดไหล่

วิธีรักษาอาการปวดไหล่
 

1. ประคบร้อน-เย็น

หากคุณมีอาการปวดไหล่เล็กน้อย อาการไม่ได้รุนแรง และ ไม่ได้มีอาการปวดไหล่เรื้อรัง สามารถบรรเทาอาการปวดไหล่ได้ด้วยการประคบร้อน-เย็น โดยให้ประคบเย็น 15-20 นาทีต่อครั้ง ภายในหนึ่งวันอาจจะประคบประมาณ 3-4 ครั้ง ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ทั้งนี้แนะนำให้หากผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง หลีกเลี่ยงการประคบน้ำแข็งกับผิวโดยตรงเพราะอาจจะทำให้น้ำแข็งกัดผิวได้ 

 

2. ใช้ยาบรรเทาอาการปวด

คนไข้ที่มีอาการปวดไหล่อย่างเฉียบพลัน หรือ ปวดไหล่กลางดึก ไม่สะดวกไปพบแพทย์ทันที ในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรงมากสามารถรับประทานยาแก้ปวดไหล่ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ได้ (NSAIDs) ได้ ซึ่งเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น แอสไพริน ไดโคลฟีแน็ก ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน ไพร็อกซิแคม เซเลค็อกสิบ และเมล็อกซิแคม เป็นต้น ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรก่อนรับประทานยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของตนเอง 

 

3. ทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดไหล่ได้ดี แต่ก่อนที่จะทำกายภาพบำบัดคนไข้ควรปรึกษาแพทย์ หรือ นักกายภาพก่อน เพราะการทำกายภาพบำบัดโดยไม่คำนึงถึงอาการเจ็บปวดอาจจะทำให้อาการปวดไหล่แย่ลงได้ ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดควรอยู่ภายใต้การดูแลและแนะนำของแพทย์ 

 

4. ฉีดยารักษาอาการปวด

ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดไหล่รุนแรง จนไม่สามารถทนความเจ็บปวดได้แพทย์อาจจะพิจารณาการฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการปวดชั่วคราวให้ โดยเป็นการฉีดสเตียรอยด์ แต่เป็นวิธีที่สามารถระงับอาการปวดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น 

 

5. ผ่าตัดส่องกล้อง

คนไข้ที่มีอาการปวดไหล่รุนแรง ปวดไหล่เรื้อรัง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาอาการปวดไหล่ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ แผลเล็ก และโอกาสที่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ เกิดอาการบาดเจ็บน้อย ทำให้คนไข้ที่ผ่าตัดส่องกล้องร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดทั่วไป 

 

6. ทำ Shockwave Therapy

การทำ Shockwave Therapy เป็นการรักษาอาการปวดไหล่ด้วยการส่งผ่านคลื่นกระแทกไปยังบริเวณที่มีอาการปวด ซึ่งคลื่นที่ส่งไปจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกานเกิดอาการบาดเจ็บใหม่ ทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมแซมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ส่งผลให้อาการปวดบรรเทาลง 

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาอาการปวดด้วย Shockwave ได้ที่นี่ 


ท่าบริหารบรรเทาอาการปวดไหล่

บริหารร่างกายแก้ปวดไหล่ 

สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการปวดไหล่ หัวไหล่อักเสบ เนื่องจากการใช้งานข้อไหล่หนักเกินไป หรือ วัยหนุ่มสาวที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ สามารถบริหารร่างกายเพื่อแก้อาการปวดไหล่ขวา-ซ้ายได้ โดยสามารถทำตามท่าบริหารบรรเทาอาการปวดไหล่ได้ ดังนี้ 

 

  1. ท่าที่ 1 บริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ด้วยการยืนหรือนั่งหลังตรงและยักไหล่สองข้างขึ้นพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงกดไหล่ทั้งสองข้างลงและดึงสะบักลงเข้าหากัน ควรทำซ้ำประมาณ 10 ครั้งต่อเซท
     
  2. ท่าที่ 2 มือจับที่ข้างศีรษะบริเวณใกล้บนใบหู หายใจเข้า แล้วเอียงคอไปด้านทางขวาหายใจออกช้าๆ แล้วกดลงข้างไว้ 10 วินาที ควรทำสลับซ้าย-ขวาข้างละ 3 เซต
     
  3. ท่าที่ 3 ประสานมือทั้งสองไว้ที่ด้านหลังแล้วจึงเหยียดแขนให้ตรง ค่อยๆ ยกแขนขึ้นจนรู้สึกตึงที่บริเวณหัวไหล่ ค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที แล้วค่อยๆ ลดแขนลงกลับมาในท่าเตรียม ควรทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง 

แนวทางการป้องกันอาการปวดไหล่

อาการปวดไหล่จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่คุณสามารถป้องกันไม่ให้เกิดกับตนเองได้ด้วยออกกำลังกายเป็นประจำวัน ยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และพักระหว่างวันเมื่อใช้งานหัวไหล่หนักเกินไป ในกรณีที่เกิดอาการบาดเจ็บของข้อไหล่ควรหลีกเลี่ยงการนวดเพราะอาจจะทำให้อาการปวดไหล่รุนแรงมากกว่าเดิม


ข้อสรุป

แม้ว่าอาการปวดไหล่จะเป็นอาการที่ดูเหมือนจะไม่รุนแรงหรือไม่อันตราย แต่ผู้ที่มีอาการปวดไหล่ทุกคนไม่ควรละเลยหรือมองข้ามอาการปวด เพราะบางครั้งอาการปวดไหล่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายถึงโรคร้าย ซึ่งผู้ที่มีอาการปวดไหล่ควรหมั่นสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย 

โดยถ้าหากมีอาการบวมผิดปกติ ชาตามแขน ปวดไหล่รุนแรง ปวดไหล่ตอนกลางคืนจนต้องตื่นกลางดึก และอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีทันที เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รักษาจะยิ่งทำให้อาการปวดไหล่รุนแรงมากขึ้นและทำให้การรักษายากขึ้น 

หากผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่ ปวดบ่าสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


เอกสารอ้างอิง

Ann, P. (2019, Apr 26). Why does my shoulder hurt?. Healthline. https://www.healthline.com/health/chronic-pain/shoulder-pain 

Stuart, F. (2018, Mar). Shoulder pain and common shoulder problems. OrthoInfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/shoulder-pain-and-common-shoulder-problems/

N.D. (n.d.). Shoulder Pain. PennMedicine. https://www.pennmedicine.org/for-patients-and-visitors/patient-information/conditions-treated-a-to-z/shoulder-pain


 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ