Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

อาการข้อไหล่ติด ยกแขนไม่ขึ้น เกิดจากสาเหตุใด รักษาอย่างไรได้บ้าง

 ไหล่ติด

คุณกำลังเข้าข่ายข้อไหล่ติดหรือไม่ ? หากคุณมีอาการปวดไหล่ ไหล่ติดยกแขนไม่ขึ้น หรือ ไม่สามารถเหยียดแขนตรงได้ เนื่องจากรู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างจากร่างกายว่าคุณกำลังสุ่มเสี่ยงเป็นข้อไหล่ติด แม้ว่าอาการข้อไหล่ติดจะไม่ใช่โรคร้ายแรง อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาการข้อไหล่ติดนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้คุณภาพชีวิตของคุณลดลง

 

อาการข้อไหล่ติดที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถเอื้อมหยิบวัตถุบริเวณที่สูงได้ การอาบน้ำ แต่งตัวสวมเสื้อผ้า หรือ การเล่นกีฬาบางชนิด แต่อาการไหล่ติดเป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

 

บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจอาการข้อไหล่ติดคืออะไร สาเหตุการเกิด ของโรค วิธีรักษาไหล่ติดทำต้องยังไงถึงจะหาย พร้อมทั้งแนะนำท่ากายบริหารที่ช่วยบรรเทาอาการข้อไหล่ติดให้กลับมาดีขึ้น

 


สารบัญบทความ
 

 


ข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder)

ภาวะข้อไหล่ติด หรือ Frozen Shoulder คืออาการปวดบริเวณหัวไหล่ ไม่สามารถยกแขนได้สุด เพราะรู้สึกสะดุด ติดขัด ร่วมด้วยกับอาการปวด อาการของโรคคล้ายๆ กับนิ้วล็อค 

 

ซึ่งอาการข้อไหล่ติดส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้เกิดความลำบากในการสวมเสื้อผ้า หยิบวัตถุสิ่งของ หรือ ไม่สามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมบางชนิดได้ อาการไหล่ติดเป็นภาวะที่พบได้บ่อยประมาณ 2 - 3% ของประชากร พบในคนไข้ตั้งแต่อายุ 40 - 60 ปี และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 

 

หัวไหล่นับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย โดยหัวไหล่ประกอบไปด้วยกระดูก 3 ส่วน ได้แก่ กระดูกท่อนแขนด้านบน (Humerus), กระดูกสะบัก (Scapular) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) และบริเวณข้อไหล่จะมีเส้นเอ็นกล้ามเนื้อไหล่พาดผ่านข้อไหล่อยู่ ซึ่งเส้นเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ ทำหน้าที่ในการขยับแขน 

 

ถ้าหากเส้นเอ็นกล้ามเนื้อไหล่เกิดอาการอักเสบจะทำให้เกิดการปวดบริเวณหัวไหล่นั้นเอง ลักษณะของการอักเสบขึ้นอยู่กับความรุนแรง คนไข้บางรายอาจจะมีเพียงแค่อาการปวด และอาการไหล่ติดยกแขนไม่ขึ้น หรือ บางรายอาจจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อนร่วมด้วย 

 


ข้อไหล่ติดเกิดจากสาเหตุใด

ไหล่ติดเกิดจากอะไร

 

ในปัจจุบันโรคไหล่ติด (Frozen Shoulder) ยังไม่มีวิจัยหรือการยืนยันสาเหตุที่แน่ชัดของอาการไหล่ติดเกิดจากสาเหตุใด แต่ในทางทฤษฎี สามารถแบ่งสาเหตุอาการไหล่ติดได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ ดังนี้ 

ข้อไหล่ติดแบบปฐมภูมิ

ในทางการแพทย์เชื่อว่าสาเหตุข้อไหล่ติดแบบปฐมภูมิ เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

ของมนุษย์ (Autoimmune Reaction) เป็นปฏิกิริยาหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายจากเชื้อโรคหรือความผิดปกติ โดยจะโจมตีเนื้อเยื่อตนเองจนทำให้เกิดการอักเสบบริเวณนั้น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำหน้าผิดปกติ 

ข้อไหล่ติดแบบทุติยภูมิ

สาเหตุของอาการข้อไหล่ติดแบบทุติยภูมิ หรือ หัวไหล่ติดที่มีสาเหตุ มักเกิดจากการกระแทกแรงๆ บริเวณหัวไหล่ ที่มักมีสาเหตุมาจากการประสบอุบัติเหตุจนทำให้เอ็นหัวไหล่ฉีกอักเสบ (Rotator cuff tendinitis) ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด หรือ อาการไหล่ติดที่เกิดจากโรคประจำตัวของคนไข้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ และ โรคพาร์กินสัน (Pakinson’s disease) โดยโรคข้อไหล่ติดสามารถพบได้บ่อยมากถึง 20 - 30% ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

ทั้งนี้หากมีอาการข้อไหล่ติดเส้นเอ็นหุ้มบริเวณหัวไหล่มักจะมีอาการอักเสบ ทำให้เส้นเอ็นมีความหนาตัวขึ้น เมื่อยกแขนสุดจะทำให้เส้นเอ็นถูกยืดและทำให้เกิดความเจ็บปวด ส่งผลให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวแทนได้ตามปกติ ในคนไข้ข้อไหล่ติดส่วนใหญ่มักจะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานไหล่ข้างที่มีอาการเนื่องจากรู้สึกปวดเวลาขยับ

 

ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ยกแขนจะยิ่งทำให้เส้นเอ็นข้อไหล่หนาตัวมากขึ้น และสามารถกลายเป็นอาการไหล่ติดเรื้อรังได้ ทั้งนี้หากคุณมีปัญหาอาการไหล่ติดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาที่ตรงจุด เพื่อบรรเทาอาการความรุนแรงของโรค 

 


3 ระยะอาการข้อไหล่ติด

 
ระยะอาการไหล่ติด
 

 

อาการของโรคข้อไหล่ติดในทางการแพทย์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 

1. ระยะอักเสบ (Freezing stage)

ระยะการอักเสบในข้อไหล่ติด เป็นระยะที่มีอาการปวดหัวไหล่มากที่สุด คนไข้บางรายอาจจะมีความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อไหล่ แม้ว่าจะไม่ได้ขยับใช้งานก็ตาม 

 

โดยความรู้สึกปวดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมักรู้สึกปวดมากเวลานอนทับไหล่ หรือในช่วงตอนกลางคืน ซึ่งในระยะอักเสบของไหล่ติดมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะลดลงเรื่อยๆ และในระยะนี้สามารถเป็นได้นานถึง 2 - 9 เดือน 

2. ระยะข้อยึด (Frozen stage)

ในระยะข้อยึดอาการปวดจะลดลง แต่อาการปวดยังคงอยู่ไม่ได้หายขาด ในระยะนี้นอกจากอาการปวดแล้ว อาการข้อไหล่ติดจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถไขว้แขนไปด้านหลังได้ และบางครั้งอาจจะมีอาการปวดแปล็บขึ้นมาเมื่อขยับข้อไหล่ ทั้งนี้คนไข้ส่วนใหญ่มักจะมีอาการข้อไหล่ติดระยะข้อยึดประมาณ 4 - 12 เดือน 

3. ระยะฟื้นตัว (Thawing stage)

อาการข้อไหล่ติดในระยะฟื้นตัว อาการปวดหัวไหล่เวลาขยับตัวหรือเคลื่อนไหวจะลดลง คนไข้ส่วนใหญ่จะสามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้มากขึ้น และอาการข้อไหล่ติดจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 12 - 42 เดือน
 

ทั้งนี้หากคนไข้ไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ตามปกติ แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาอาการไหล่ติดด้วยวิธีการดัดข้อไหล่ หรือ การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อสลายพังผืดที่ยึดบริเวณหัวไหล่ทำให้ไหล่ติด ช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวหัวไหล่ได้ดีมากขึ้น  

 

 


กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคไหล่ติด

แม้ว่าอาการไหล่ติดสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปที่มีโอกาสเป็นโรคไหล่ติด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคไหล่ติดมาจากพฤติกรรมประจำวัน อุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมไปถึงโรคประจำตัวบางโรค กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไหล่ติด ได้แก่ 

 
  • กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น และอื่น เริ่มเสื่อมสภาพตามอายุและเวลา
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคไทรอยด์ และโรคที่เกี่ยวกับความอ้วน ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถมีอาการไหล่ติดรุนแรงและรักษาได้ยากมากว่าคนทั่วไป
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่ เช่น หินปูนเกาะกระดูกไหล่หรือเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด
  • ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุที่เกิดการกระแทกแรงๆ บริเวณข้อไหล่
  • ผู้ที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวบริเวณไหล่ หรือ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการไหล่ติดมากกว่าคนทั่วไป
 

ทั้งนี้สำหรับโรคไหล่ติดแม้ว่ามักพบในผู้ป่วยวัยกลางคน แต่ในปัจจุบันสามารถพบอาการไหล่ติดได้ในผู้ป่วยวัยทำงานเช่นเดียวกัน เนื่องจากการนั่งทำงานท่าเดิมนานๆตลอดทั้งวัน ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือยืดกล้ามเนื้อ อาจจะทำให้เสี่ยงมีอาการไหล่ติดได้เช่นเดียวกัน หากมีอาการไหล่ติด ปวดไหล่ไม่สามารถเหยียดแขน หรือ ยกแขนสุดได้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที 

 


การวินิจฉัยโรคไหล่ติด

วินิจฉัยอาการไหล่ติด
 

 

สำหรับคนไข้ที่มีภาวะไหล่ติด ปวดไหล่ไม่สามารถยกไหล่ได้ ขั้นแรกของการตรวจวินิจฉัยโรคแพทย์จะทำการซักประวัติเบื้องต้น พร้อมทั้งตรวจร่างกายภายนอก ทั้งนี้สำหรับภาวะไหล่ติดจำเป็นต้องมีการ X-ray, การทำ

อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือ การทำ MRI เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และสาเหตุที่แน่ชัดของอาการ

ไหล่ติด เพื่อที่แพทย์จะทำการวางแผนการรักษาได้ตรงจุดมากที่สุด 

 

ทั้งนี้การ X-ray, การทำอัลตร้าซาวด์ และการทำ MRI จะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์แต่ละคน ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด 

 


วิธีรักษาไหล่ติด

ในปัจจุบันมีวิธีแก้ รักษา และบรรเทาอาการไหล่ติดหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความเหมาะสมสำหรับระยะอาการไหล่ติดแตกต่างกันออกไป คนไข้ที่มีอาการไหล่ติดสามารถรักษาและบรรเทาอาการไหล่ติดได้ ดังนี้ 

วิธีแก้ไหล่ติดแบบไม่ผ่าตัด

 

  1. การทานยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs
 
สำหรับคนไข้ไหล่ติดในระยะอักเสบ หรือ ไหล่ติดระยะแรก แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non - Steroidal Antinnflammatory Drugs) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ยาแก้ปวดข้อ  เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ หรือ บรรเทาอาการเจ็บปวด ทั้งนี้ยาแก้ปวดข้อสามารถใช้เป็นยาแก้ปวดเข่า ปวดข้อมือ และยาแก้ปวดไหล่ติดได้เช่นเดียวกัน

และในระยะแรกของข้อไหล่ติดแพทย์จะยังไม่อนุญาตให้คนไข้ไปนวดหรือทำกายบริหาร เพราะอาจจะทำให้การอักเสบรุนแรงกว่าเดิม

 
  1. การฉีดยาสเตียรอยด์แก้ไหล่ติด

สำหรับคนไข้ที่ข้อไหล่ติดอยู่ในระยะแรก ไม่สามารถทำกายบริหารได้เนื่องจากจะทำให้อาการอักเสบรุนแรงกว่าเดิม และลองรับประทานยาแก้อักเสบแล้วแต่ยังรู้สึกปวดบริเวณข้อไหล่อยู่ แพทย์จะแนะนำการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในข้อไหล่ เพื่อลดอาการอักเสบของเยื่อบุข้อไหล่ ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และบรรเทาอาการไหล่ติด

 

ทั้งนี้การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อแก้ไหล่ติด มีข้อดี คือ สามารถช่วยให้การทำกายภาพบำบัดดัดหัวไหล่ ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 
  1. การทำกายภาพบำบัด 

การทำกายภาพบำบัดของคนไข้ไหล่ติดจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือ นักกายภาพบำบัดเท่านั้น คนไข้ที่มีอาการไหล่ติดไม่ควรทำเองเด็ดขาด เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดสามารถทำให้อาการอักเสบบริเวณข้อไหล่รุนแรงขึ้นได้  

 

การทำกายภาพบำบัดหัวไหล่เป็นการยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพื่อให้เยื่อบุนิ่มลง และยืดหยุ่นได้มากขึ้น จะช่วยให้หัวไหล่ขยับได้มากขึ้น และช่วยทำให้อาการเจ็บบริเวณข้อไหล่ลดลง

วิธีผ่าตัดรักษาข้อไหล่ติด


การผ่าตัดรักษาไหล่ติด

 

การผ่าตัดรักษาข้อไหล่ติดมักเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่ไม่สามารถรักษาอาการไหล่ติดด้วยวิธีอื่นๆ ได้ รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือ คนไข้ที่มีอาการไหล่ติดรุนแรงยาวนานกว่า 6 - 12 เดือน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  โดยการผ่าตัดรักษาข้อไหล่ติดเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อเลาะตัดเยื่อบุข้อที่หนาและแข็งตัวออกไป ช่วยทำให้สามารถขยับไหล่ได้มากขึ้น 

 

ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้องในปัจจุบันมีผลรักษาที่ดีและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องยังเป็นที่นิยมสามารถใช้รักษาได้หลายโรค เช่น ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 
 

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรักษาข้อไหล่ติดด้วยวิธีใดก็ตาม หลังจากที่อาการบาดเจ็บทุเลาลงจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดตามทำแนะนำของแพทย์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด และการรักษาข้อไหล่ติดจำเป็นต้องใช้เวลาและความอดทน เนื่องจากต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 12 - 18 เดือน แต่คนไข้ส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ  

 


แนะนำท่าบริหารสำหรับผู้ป่วยข้อไหล่ติด

ท่าบริหารไหล่ติด

 

ปกติแล้วคนไข้ที่มีภาวะไหล่ติดไม่รุนแรงอาจจะสามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะไหล่ติดรุนแรง หรือ ข้อไหล่ติดจากอุบัติเหตุจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดได้เองเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการไหล่ติด ได้โดย 5 ท่ากายบริหารวิธีแก้ไหล่ติด ในกรณีที่แพทย์อนุญาตให้สามารถทำกายภาพบำบัดได้ ดังนี้

1. ท่านิ้วไต่กำแพง

หันหน้าเข้าหากำแพงโดยเว้นระยะประมาณ 3 ใน 4 ของความยาวแขน งอข้อศอกเล็กน้อยแล้วใช้นิ้วมือข้างที่มีอาการการไหล่ติดไต่กำแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ให้สูงเท่าที่คนไข้สามารถทนความเจ็บได้ ทำท่านิ้วไต่กำแพงซ้ำ 10 ครั้งต่อวัน ท่านี้ไม่จำเป็นต้องเขย่งหรือเอี้ยวตัว

2. ท่าเหยียดแขนเหนือศีรษะ

ยกแขนข้างที่มีอาการไหล่ติด เหยียดแขนให้ตรงขึ้นไปทางศีรษะ โดยใช้มืออีกข้างพยุงบริเวณข้อศอก และออกแรงดันให้แขนเหยียดตรงไปทางศีรษะมากที่สุด ทั้งนี้ท่านี้คนไข้สามารถดันให้ไปทางศีรษะเท่าที่สามารถทนความเจ็บปวดได้ ไม่จำเป็นต้องฝืนร่างกายมากนัก 

3. ท่าผ้าถูหลัง

ท่านี้จำเป็นต้องมีผ้าขนหนูเป็นอุปกรณ์ในการทำกายภาพบำบัด โดยใช้ผ้าขนหนูขนาดประมาณ 90 เซนติเมตร พาดไปบริเวณหลังของตนเอง ใช้มือจับปลายทั้งสองข้างไว้ โดยให้แขนข้างที่ไม่มีอาการไหล่ติดจับปลายผ้าขนหนูด้านบน ส่วนข้างที่มีอาการไหล่ติดจับปลายผ้าขนหนูด้านล่าง และใช้มือที่อยู่ด้านบนดึงขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่ไหว ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ท่าผ้าถูหลังให้ทำซ้ำ 10 ครั้งต่อวัน 

4. ท่าหมุนข้อไหล่

ยืนขนาบข้างกับโต๊ะ แล้วก้มตัวลงเล็กน้อยโดยใช้มืออีกข้างที่ไม่อาการไหล่ติดยันโต๊ะไว้เพื่อช่วยพยุงตัว ปล่อยแขนข้างที่มีอาการไหล่ติดห้อยลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก แล้วค่อยๆ วาดแขนเป็นวงกลม ท่าหมุนข้อไหล่ทำซ้ำ 10 ครั้งต่อวัน 

5. ท่ายืน

ยืนบริเวณประตูหรือโต๊ะ โดยใช้ข้างที่ไหล่ติดจับประตูหรือโต๊ะให้มั่นคง งอข้อศอกประมาณ 90 องศา ข้อศอกแนบข้างลำตัว และเริ่มหมุนตัวไปทางมือที่จับโต๊ะหรือประตู 90 องศา และหมุนตัวกลับมาที่เดิม โดยใช้มือและข้อศอกต้องอยู่กับที่ 

 


แนวทางการป้องกันโรคข้อไหล่ติด

แนวทางการป้องกันไหล่ติด
 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าอาการไหล่ติดสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงอาการไหล่ติดมีแนวทางการป้องกันไหล่ติด ดังนี้ 

 
  • หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ควรเหยียดแขนเพื่อคลายกล้ามเนื้อระหว่างวันบ้าง
  • หลีกเลี่ยงการเหวี่ยงแขน และการสะบัดแขนแรงๆ เพราะอาจจะทำให้ข้อไหล่เกิดการอักเสบและนำมาสู่โรคไหล่ติด
  • ออกกำลังกายเพื่อให้ข้อไหล่ได้มีการคายตัว และยืดหยุ่นได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • ทำการบริหารข้อไหล่เป็นประจำ
 

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีอาการไหล่ติดรุนแรง รู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่ ไม่สามารถยกแขนหรือขยับแขนได้ตามปกติ ลองรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษา เพื่อความปลอดภัยของตนเอง 

 


ข้อสรุป

อาการข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder) เป็นอาการปวดบริเวณหัวไหล่ คนไข้จะไม่สามารถยกแขนได้สุดเพราะรู้สึกสะดุด ติดขัด ร่วมด้วยกับอาการปวด ซึ่งอาการข้อไหล่ติดส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้เกิดความลำบากในการสวมเสื้อผ้า หยิบวัตถุสิ่งของ หรือ ไม่สามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมบางชนิดได้ 

 

ทั้งนี้อาการไหล่ติดหากมีอาการไม่รุนแรงจะสามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ หรือรักษาอาการไหล่ติดด้วยตัวเองด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบแก้ไหล่ติด แต่ถ้าคุณมีอาการไหล่ติดรุนแรงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการไหล่ติด และเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด 

  

ทั้งนี้การรักษาอาการไหล่ติดในปัจจุบันมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค แต่วิธีการรักษาอาการไหล่ติดที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและดำเนินการรักษาให้ตรงจุดมากที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการไหล่ติด ปวดไหล่ไม่สามารถขยับแขนได้ หรือ นอนทับไหล่แล้วปวดมาก สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 


 

References

 

Mayo Staff. (n.d.). Frozen Shoulder. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/frozen-shoulder/symptoms-causes/syc-20372684

 

Tyler, W. (2021, Mar 18). Frozen Shoulder. WebMD. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-a-frozen-shoulder

 

 


 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม