Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

ภาวะข้อไหล่หลุด อาการเป็นอย่างไร จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่?

ข้อไหล่หลุด

หลายคนที่มีอาการปวดหัวไหล่ ปวดไหล่ อาจจะเกิดความสงสัยว่าตนเองเข้าข่าย “ภาวะไหล่หลุด” หรือไม่ อาการปวดไหล่ที่กำลังเผชิญอยู่เป็นอาการอะไรกันแน่ ? 

ทั้งนี้ข้อไหล่หลุดเป็นภาวะที่สามารถพบได้ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุจากการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะที่ทำกิจกรรม ทำให้หัวไหล่เกิดความผิดปกติ ผิดรูป และรู้สึกปวดไหล่ ที่สำคัญถ้าหากเกิดภาวะไหล่หลุดกับตัวคุณเองไม่ควรพยายามที่จะดึงไหล่ให้กลับมาในองศาเดิม เพราะอาจจะทำให้อาการรุนแรงมากกว่าเดิม  

บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าเกี่ยวกับภาวะข้อไหล่หลุด ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อาการไหล่หลุดเป็นอย่างไร แบบไหนถึงเรียกว่าภาวะข้อไหล่หลุด พร้อมทั้งแนะนำวิธีรักษาวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อหัวไหล่หลุด และแนวทางในการป้องกันอาการหัวไหล่หลุด เนื่องจากภาวะสามารถเกิดได้กับทุกคน


สารบัญบทความ

 


ภาวะข้อไหล่หลุด (Dislocated Shoulder)

ภาวะข้อไหล่หลุด (Dislocated Shoulder) เป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป และสามารถเกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศ หรือวัยไหนก็ตาม โดยที่ข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า ส่วนใหญ่มักหลุดไปทางด้านหน้า (Anterior Shouulder Dislocation) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่เข้ากันระหว่างหัวกระดูกและเบ้ากระดูกของหัวไหล่ ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการไหล่หลุดได้จากลักษณะที่แปลกไปของหัวไหล่ อาการชาจากการบาดเจ็บ ขยับไหล่ไม่ได้ และอาการปวดที่หัวไหล่หรือบริเวณรอบๆ อย่างรุนแรง 

ที่สำคัญสำหรับอาการไหล่หลุดยกแขนไม่ขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรพยายามที่จะดึงหรือเคลื่อนไหวไหล่กลับสู่ตำแหน่งเดิมด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายหรืออาการไหล่หลุดแย่ลงกว่าเดิม หากมีเกิดอาการไหล่หลุดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี และสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติไหล่หลุดอาจจะเกิดอาการซ้ำได้ในอนาคต 


ไหล่หลุดเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของไหล่หลุด

อาการไหล่หลุดนับเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว เนื่องจากข้อไหล่เป็นข้อที่มีพิสัยการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดในร่างกาย และมีโอกาสหลุดได้ง่ายกว่าข้ออื่นๆ โดยไหล่หลุดเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคน ลองมาดูสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุด เกิดจากอะไร

 

1. อุบัติเหตุที่ส่งผลต่อไหล่

สาเหตุของอาการไหล่หลุดที่เกิดจากอุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และมักเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือประมาท ไม่ว่าจะเป็น รถล้ม ตกจากที่สูง หรือถูกฉุดแขนแรงเกินไป เมื่อข้อไหล่ถูกกระแทกอย่างแรงสามารถทำให้กระดูกหลุดมานอกเบ้าได้ 

 

2. การเล่นกีฬาบางประเภท

นอกจากสาเหตุที่มาจากอุบัติเหตุแล้ว การเล่นกีฬาบางประเภทยังเป็นอีกสาเหตุหลักของภาวะข้อไหล่หลุด เนื่องจากกีฬาบางประเภทจำเป็นที่ต้องรับแรงกระแทกที่รุนแรง รวมไปถึงการชน หกล้ม และการกระชากแขนในขณะที่เล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็น รักบี้ ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ฟุตบอล และอเมริกันฟุตบอล เป็นต้น 

 

3. พันธุกรรมทางกายวิภาค

นอกจากการกระแทกอย่างรุนแรงแล้ว อาการไหล่หลุดยังถูกนับเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ข้อหลวม (Joint Laxity) ซึ่งผู้ป่วยข้อหลวมบริเวณข้อต่อที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนจะมีความยืดหยุ่นสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ข้อยืดและหลุดได้ง่ายกว่า จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยข้อหลวมมีเกิดโอกาสเสี่ยงการเกิดภาวะไหล่หลุดมากกว่าคนทั่วไป 

 

4. การตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ

อาการตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ สามารถทำให้ข้อไหล่หลุดไปทางด้านหลังได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากไฟช็อต ไฟดูด หรือโรคลมชัก เป็นต้น แต่สาเหตุการตึงของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติทำให้ข้อไหล่หลุดนั่นเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยมากนัก 

 

5. การเสื่อมสภาพตามอายุ

อายุเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงไหล่หลุดมากขึ้น โดยจากผลสำรวจพบว่าในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการไหล่หลุดได้มากที่สุด พร้อมทั้งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 19 ปี หากมีประวัติภาวะข้อไหล่หลุดมีโอกาสที่จะเกิดอาการไหล่หลุดซ้ำได้สูงถึง 90 - 95% 

 

6. ข้อต่อไม่แข็งแรงในเด็ก

อาการไหล่หลุดในเด็กมีสาเหตุมาจากเส้นเอ็นในข้อต่อของเด็กยังไม่มีความแข็งแรงมั่นคงเท่าเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อของผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าหากเกิดการกระชาก หรือการกระแทกในขณะที่เล่น หรือกำลังทำกิจกรรมอาจจะทำให้กระดูก Radius และเส้นเอ็นหลุดออกจากกันและเคลื่อนที่ได้ง่าย และกลายเป็นภาวะข้อไหล่หลุดในเด็กนั่นเอง 


อาการไหล่หลุดเป็นอย่างไร

กระดูกไหล่หลุดเป็นอาการที่เด่นชัด ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และอาการปวดบริเวณรอบข้อต่อ โดยอาการไหล่หลุดที่พบมักมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรม เล่นกีฬาบางประเภท และอุบัติเหตุ ซึ่งอาการของภาวะข้อไหล่หลุด มีดังนี้ 
 

  • หัวกระดูกหัวไหล่หลุดออกจากเบ้าไหล่ สามารถหลุดได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น ด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง 
  • ข้อไหล่มีรูปร่างผิดแปลกจากเดิม ได้แก่ มีก้อนนูนขึ้นมาด้านหน้าเพราะหัวไหล่หลุดมาด้านหน้าด้าน หรือ ด้านข้างของไหล่แฟบลง 
  • รู้สึกปวดบริเวณหัวไหล่และบริเวณรอบข้างมากกว่า บางครั้งอาจจะมีอาการปวดรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้ 
  • รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มทิ่ม และชารอบข้าง เช่น คอหรือแขน
  • เมื่อกล้ามเนื้อที่หัวไหล่เกิดอาการเกร็ง หรือกล้ามเนื้อกระตุกจะรู้สึกเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ 

ใครบ้างที่เสี่ยงข้อไหล่หลุด

กลุ่มเสี่ยงภาวะไหล่หลุด

แม้ว่าอาการไหล่หลุดจะเป็นอาการที่สามารถเกิดได้กับทุกคนเพศ ทุกวัย แต่ยังมีกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะข้อไหล่หลุดมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ 
 

  • ในวัยเด็ก วัยรุ่น และผู้สูง ที่ข้อต่อหลวมเนื่องจากสภาพร่างกายที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ หรือเสื่อมสภาพตามอายุ มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการไหล่หลุด
  • ผู้ที่เคยมีประวัติไหล่หลุดมากก่อน 
  • ผู้ที่เป็นโรคภาวะข้อหลวม ที่ทำให้ข้อต่อในร่างกายหลุดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 
  • ผู้ที่เล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีการปะทะ กระแทก หรือชนระหว่างเล่น เช่น รักบี้ อเมริกันฟุตบอลบาสเกตบอล 
  • นักกีฬาที่จำเป็นต้องยกแขนเหนือศีรษะมีโอกาสเสี่ยงไหล่หลุดมากกว่ากีฬาอื่นๆ เช่น นักว่ายน้ำ นักเทนนิส และนักยิมนาสติก เป็นต้น 

การตรวจวินิจฉัยภาวะข้อไหล่หลุด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาทันที โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะข้อไหล่หลุดเบื้องต้นด้วยการตรวจร่างกาย พร้อมทั้งดูลักษณะภายนอก ได้แก่ อาการบวม แดง การไหลเวียนของเลือดและความผิดปกติอื่นๆ บริเวณรอบข้อหัวไหล่ 

ทั้งนี้ถ้าหากแพทย์วินิจฉัยอาการไหล่หลุดว่ามีความรุนแรงและเสียหายภายในกระดูก แพทย์จะใช้วิธีเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อตรวจหากว่ามีจุดใดบ้างที่กระดูกหักหรือได้รับความเสียหาย และในบางกรณีแพทย์อาจจะใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบการวินิจฉัยและรักษาได้ตรงจุดมากที่สุด 


วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อข้อไหล่หลุด

https://sv1.picz.in.th/images/2022/09/20/pS5p60.jpg

หลายคนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไหล่หลุดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ชิด ส่วนใหญ่มักจะมีอาการตกใจทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ซึ่งบางครั้งการขยับไหล่หรือปฐมพยาบาลแบบผิดๆ สามารถทำให้ภาวะข้อไหล่หลุดแย่ลงได้ หากเกิดเหตุการณ์ไหล่หลุดแนะนำให้ปฏิบัติตามวิธีนี้ต่อไปนี้ 

 

  • หาตัวช่วยประคองแขน 

หลังจากที่เกิดภาวะไหล่หลุดแล้ว แนะนำให้ผู้ป่วยหาตัวช่วยมาประคองแขนสิ่งที่หาได้ง่ายที่สุด คือ มือและแขนอีกข้างของผู้ป่วย แนะนำให้นำมาประคองข้างที่ไหล่หลุดไว้ก่อน แล้วค่อยหาตัวช่วยเสริม เช่น ที่คล้องแขน ผ้า และหมอน เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้แขนเคลื่อนไหวมากจนเกินไป และควรรีบไปพบแพทย์และรักษาให้เร็วที่สุด เพราะภาวะข้อไหล่หลุดเป็นภาวะที่จำเป็นต้องรักษาทันที 

 

  • ประคบเย็น

ผู้ป่วยไหล่หลุดสามารถใช้วิธีประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดก่อนที่จะไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาได้ ซึ่งการประคบเย็นเป็นเพียงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเท่านั้น แต่อาการปวดจะหายเมื่อแพทย์จัดตำแหน่งกระดูกให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม 

 

  • ห้ามพยายามขยับหรือดัดหัวไหล่กลับตำแหน่งเดิม

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไหล่หลุดทางที่ดีที่สุด คือ รีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์จัดกระดูกกลับตำแหน่งเดิม และรักษาเพื่อบรรเทาความเสียหายต่างๆ การที่ผู้ป่วยพยายามขยับหัวไหล่หรือพยายามดึงไหล่ หลังจากเกิดภาวะไหล่หลุด ให้ไหล่กลับไปสู่ตำแหน่งเดิมจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ บริเวณรอบๆ หัวไหล่ ซึ่งอาจจะทำให้กระดูกแตกหัก หรือเส้นเอ็นต่างๆ ฉีกขาด และส่งผลให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้ 


แนวทางการรักษาภาวะข้อไหล่หลุด

วิธีรักษาอาการไหล่หลุด

เนื่องจากภาวะข้อไหล่หลุดมีระดับความรุนแรงหลายระดับ ทำให้การรักษามีหลายแบบ ตั้งแต่วิธีรักษาไหล่หลุดแบบไม่จำเป็นผ่าตัด ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไหล่หลุด ทั้งนี้การรักษาหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ 

 

1. การรักษาข้อไหล่หลุดแบบไม่ผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดครั้งแรก ส่วนใหญ่มักจะรักษาไหล่หลุดแบบไม่ผ่าตัด โดยแพทย์จะจ่ายยาช่วยระงับอาการปวด และใส่ที่คล้องแขนเพื่อจัดตำแหน่งกระดูกกลับตำแหน่งเดิมประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ และเมื่อครบกำหนดแล้ว แพทย์จะนัดเพื่อตรวจดูอาการไหล่อีกครั้ง เมื่อไหล่กลับเข้าสู่ภาวะปกติและตำแหน่งเดิมแล้วจึงจะนำที่คล้องแขนออก หลังจากที่นำที่คล้องแขนแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณรอบๆ หัวไหล่และแขน ให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ 

 

2. การผ่าตัดข้อไหล่หลุด

วิธีการรักษาไหล่หลุดโดยการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติไหล่หลุด และเกิดอาการไหล่หลุดซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยที่เคยมีประวัติไหล่หลุด เนื้อเยื่ออ่อนในข้อไหล่ฉีก และไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาเหมือนเดิมได้ ทำให้เกิดภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึก ข้อหลวม และเกิดอาการไหล่หลุดซ้ำๆ นั่นเอง 

ก่อนการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไหล่หลุด แพทย์จะใช้วิธีตรวจ MRI เพื่อตรวจดูว่าข้อไหล่ได้รับความเสียหายบริเวณใดบ้าง เพื่อประเมินอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย โดยวิธีผ่าตัดรักษาไหล่หลุดมีทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ 

 

  • การผ่าตัดแบบเปิด

การผ่าตัดแบบเปิด หรือที่เรียกว่า การผ่าตัดเสริมภาวะเบ้ากระดูกไหล่เสื่อม (Glenoid Reconstruction) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดซ้ำๆ เป็นการผ่าตัดเพื่อเสริมกระดูกเบ้าหัวไหล่ด้วยการตัดกระดูกจากกระดูกกลุ่มโคราคอยด์ โพรเซส (Coracoid Process) มาเสริมที่บริเวณเบ้าหัวไหล่ 

การผ่าตัดแบบเปิดเหมาะกับผู้ป่วยที่ภาวะเบ้ากระดูกไหล่สึกเกิน 15 - 25 % โดยแพทย์จะส่งตัวไปตรวจ MRI เพื่อประเมินกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อ การผ่าตัดแบบเปิดจึงเป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่แพทย์พิจารณาว่าไม่สามารถตัดแบบส่องกล้องได้ หรือมีโอกาสผ่าตัดไม่สำเร็จสูง 

 

  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

ผู้ป่วยภาวะไหล่หลุดส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับความเสียหายที่กระดูกข้อไหล่ หรือสึกหรอน้อย มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องเป็นการเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อไหล่ที่เกิดการฉีดขาด หรือการยืดให้กลับมาใกล้เคียงปกติ โดยใส่กล้องและอุปกรณ์เข้าไปเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มข้อไหล่ให้ตึงมากขึ้น 

ทั้งนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาอาการไหล่หลุด เป็นวิธีที่เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ไว และไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ นอกจากนี้การผ่าตัดส่องกล้องยังช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อในบริเวณรอบๆ 


ระยะฟื้นตัวจากภาวะข้อไหล่หลุด

กายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยไหล่หลุด

โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังจากที่ไหล่กลับสู่ตำแหน่งเดิม แต่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่ไหล่หลุดประมาณ 2 - 3 วัน 

 

1. ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยข้อไหล่หลุด

ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยข้อไหล่หลุด สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้ดังนี้ 

 

  • ผู้ป่วยข้อไหล่หลุดที่รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับการพักฟื้นในระยะนี้ผู้ป่วยจะใช้ที่คล้องแขนเพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขนประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ เมื่อครบตามกำหนดที่แพทย์สั่ง และตรวจเช็คร่างกายกับแพทย์อีกครั้งแล้วจึงจะสามารถกลับมาใช้แขน และเริ่มทำกายภาพเพื่อให้กล้ามเนื้อแขนกลับมาใช้งานได้ปกติ 

 

  • ผู้ป่วยข้อไหล่หลุดที่รักษาด้วยวิธีผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยภาวะข้อไหล่หลุดที่รักษาด้วยวิธีผ่าตัดจำเป็นต้องใช้ที่คล้องแขนเพื่อลดการเคลื่อนไหวประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ และหลังจากถอดที่คล้องแขนแล้วจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด เพื่อให้แขนจะสามารถกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติ โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน ทั้งนี้ระยะพักฟื้นตัวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางร่างกายและความแข็งแรงของแต่ละคน

 

2. การใช้ยาบรรเทาอาการปวด

ผู้ป่วยไหล่หลุดอาจจะมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่รุนแรง 2 - 3 วันแรกหลังจากที่กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน แนะนำให้ทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล นาพรอกเซน อะเซตามิโนเฟน หรือ ไอบูโพรเฟน โดยผู้ป่วยสามารถอ่านวิธี ปริมาณ และข้อควรปฏิบัติได้ที่ฉลากข้างกล่องยา และสำหรับผู้ป่วยไหล่หลุดที่มีอาการปวดรุนแรงยาแก้ปวดไม่สามารถบรรเทาอาการได้ แพทย์อาจจะสั่งยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์รุนแรงมากกว่า เช่น โคเดอีน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรง และดุลยพินิจของแพทย์ 

 

3. การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยข้อไหล่หลุด

หลังจากที่ผู้ป่วยไหล่หลุดถอดที่คล้องแขนออกแล้ว แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายแขนและไหล่เบาๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรง โดยการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยไหล่หลุดสามารถช่วยบรรเทาอาการต่อไปนี้ 
 

  • ลดภาวะข้อไหล่ติด 
  • ลดความฝืดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น 
  • บรรเทาความเจ็บปวด
  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กลับมาแข็งแรง

ทั้งนี้ผู้ป่วยไหล่หลุดที่มีอาการเจ็บปวดหลังจากที่เริ่มออกกำลังกายควรหยุด และปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย 


ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดเมื่อข้อไหล่หลุด

ภาวะแทรกซ้อนจากข้อไหล่หลุด

ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติไหล่หลุด หรือเกิดอาการไหล่หลุดบ่อยๆ เมื่อมีอาการปวดข้อความรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากข้อไหล่หลุดได้ 

 

1. กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาด

เนื่องจากบริเวณหัวไหล่มีกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นจำนวนมาก เมื่อเกิดภาวะข้อไหล่หลุดอาจจะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณรอบๆได้รับความเสียหาย หรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงเนื่องจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ หรือเส้นเอ็นฉีกขาด  

 

2. เส้นประสาทได้รับความเสียหาย

บริเวณหัวไหล่มีเส้นประสาทจำนวนมาก เมื่อเกิดอาการไหล่หลุดอาจจะส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณรอบๆ หัวไหล่ ทำให้ได้รับความเสียหาย และเมื่อเส้นประสาทได้รับความเสียหายสามารถส่งผลให้เกิดอาการแขนอ่อนแรง หรือรู้สึกชาบริเวณแขนและหัวไหล่ได้ 

 

3. ภาวะไหล่คลอน

ภาวะไหล่คลอนเป็นภาวะที่เกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติไหล่หลุดรุนแรงมาก่อน หรือไหล่หลุดบ่อยๆ หลายครั้ง โดยมักจะมีอาการเหมือนกับกระดูกหัวไหล่ต่อไม่สนิทกับเบ้าหัวไหล่ ทำให้รู้สึกสะดุดเวลาขยับแขนหรือขยับร่างกาย 


การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุด

 วิธีป้องกันภาวะข้อไหล่หลุด

เพราะอาการไหล่หลุดมักเกิดจากกระแทกจากอุบัติเหตุ หรือการเล่นกีฬาบางประเภท รวมไปถึงการหกล้มในผู้สูงอายุ การป้องกันไหล่หลุดได้ดีที่สุดคือการระมัดระวังในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะข้อไหล่หลุด 
 

  • ใช้ราวจับในขณะขึ้นลงบันได
  • ใช้แผ่นกันลื่นในห้องน้ำ หรือบริเวณที่มักเปียก 
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันในขณะที่เล่นกีฬาที่จำเป็นต้องกระแทก หรือชนในระหว่างเล่น 
  • พยายามปลูกฝังพฤติกรรมให้เด็กๆ ระมัดระวังในขณะที่เล่น 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ 

คำถามที่พบบ่อย

หากข้อไหล่หลุด ดึงกลับเข้าที่ด้วยตัวเองได้ไหม

สำหรับผู้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดบ่อยๆ ถึงแม้ว่าจะสามารถดึงหัวไหล่กลับเข้าที่ได้ด้วยตัวเอง แต่ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากเป็นวิธีแก้ไหล่หลุดอาจจะสร้างความเสียหายให้กับกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น บริเวณหัวไหล่และรอบๆ ได้ ซึ่งอาจจะทำให้กระดูกแตกหัก หรือเส้นเอ็นฉีกขาดทำให้อาการไหล่หลุดรุนแรงมากกว่าเดิม และทำให้การรักษายากขึ้นไปอีกขั้น ทางที่ดีที่สุดเมื่อเกิดอาการไหล่หลุดแนะนำให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการหาตัวช่วยประคองแขนไม่ให้เคลื่อนไหวและรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด 

 

ไหล่หลุด จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการไหล่หลุดเป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดซ้ำๆ ถี่ๆ เนื่องจากเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณรอบๆ อ่อนแรง หรือเข้าข่ายภาวะข้อหลวมทำให้เกิดอาการไหล่หลุดบ่อยๆ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดครั้งแรก ส่วนใหญ่มักจะไม่จำเป็นต้องผ่าตัด โดยวิธีที่ใช้รักษาผู้ป่วยไหล่หลุดครั้งแรกจะเป็นการจัดกระดูกให้เข้าที่ (Manipulation) และใช้ที่คล้องแขน เพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขน เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูกให้พักฟื้น และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย 


ข้อสรุป

ไหล่หลุด คือ ภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กบทุกเพศ ทุกวัย โดยในวัยเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุมักเกิดอาการไหล่หลุดที่มีสาเหตุมาจากการได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุ และการเล่นกีฬาบางประเภท ซึ่งภาวะข้อไหล่หลุดเป็นอาการที่ต้องรีบรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที 

ที่สำคัญผู้ป่วยที่มีอาการไหล่หลุดไม่ควรพยายามดึงไหล่ให้กลับสู่ตำแหน่งเดิมด้วยตนเอง เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่และรอบๆ ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม หากผู้ป่วยมีอาการไหล่หลุดครั้งแรกมักจะเป็นการรักษาโดยการจัดกระดูกและใช้ที่คล้องแขนประคองแขน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการไหล่หลุดซ้ำๆ อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ทั้งนี้วิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการไหลjหลุดสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์


References

Mayo Staff. (2022, Aug 23). Dislocated Shoulder. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dislocated-shoulder/symptoms-causes/syc-20371715

N.D. (2023, Jan 21). Dislocated Shoulder. NHS UK. https://www.nhs.uk/conditions/dislocated-shoulder/

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม