Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

โรคเก๊าท์ (Gout) รู้ทันสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และแนวทางการป้องกัน

 โรคเก๊าท์

เมื่อพูดคำว่า โรคเก๊าท์ หลายคนคงเคยได้ยิน หรือ รู้จักกันมาบ้าง และบางคนอาจจะกำลังประสบปัญหาอาการปวด บวม แดงบริเวณข้อและกระดูกอย่างเฉียบพลันเป็นระยะ ซึ่งนั้นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็นโรคข้ออักเสบ หรือโรคเก๊าท์ เข้าแล้ว

บทความนี้ช่วยไขข้อสงสัยทุกอย่างเกี่ยวกับโรคเก๊าท์ ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของโรคเก๊าท์เกิดจากอะไร อาการที่คุณกำลังเป็นเข้าข่ายโรคเก๊าท์หรือไม่ อาการปวดแบบใดจำเป็นต้องไปพบแพทย์ วิธีรักษาโรคเก๊าท์รวมไปถึงแนวทางการป้องกันให้ห่างไกลจากโรคเก๊าท์ ทุกคำถามที่คุณสงสัยในบทความนี้มีคำตอบ


สารบัญบทความ
 


โรคเก๊าท์ (Gout)

โรคเก๊าท์ (Gout) คือ หนึ่งในกลุ่มโรคข้ออักเสบ ที่มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า และสามารถพบโรคเก๊าท์ได้ในเพศผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน ผู้ป่วยโรคเก๊าท์มักจะมีอาการปวดตามข้อและกระดูกอย่างเฉียบพลันเป็นระยะๆ 

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์อาจจะปวดเพียงบริเวณข้อต่อเดียวหรือหลายๆ ข้อต่อพร้อมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมมากเกินไปของผลึกกรดยูริกตามข้อต่างๆ ในร่างกาย จนตกตะกอนเป็นผลึกยูเรท โดยเฉพาะภายในข้อต่อและพังผืงรอบๆ ข้อต่อ 


โรคเก๊าท์เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เกิดจากอะไร? หลายคนมีความเชื่อว่าโรคเก๊าท์เกิดจากการรับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีก ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด 

เนื่องจากโรคเก๊าท์มีสาเหตุมาจากการความผิดปกติของร่างกาย ที่ไม่สามารถขับกรดยูริก (Monosodium Urate) ออกจากร่างกายได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริก (Uric Acid) ในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ที่ปวดตามบริเวณข้อและกระดูก และเกิดอาการบวม แดงตามข้ออย่างรุนแรง

กรดยูริกเปรียบเสมือนของเสียในร่างกาย โดยกรดยูริกส่วนใหญ่เกิดจากขบวนการสร้างเซลล์ใหม่ๆ เพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป และมีกรดยูริกอีกส่วนที่เกิดจากการสลายของอาหารพิวรีน (Purnes) หรือโปรตีนที่รับประทานเข้าไป 

ทั้งนี้การสะสมของกรดยูริกที่มากเกินไปไม่ได้มาจากการทานอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่มาจากการที่ร่างกายมีความผิดปกติทำให้ไม่สามารถขจัดกรดยูริกออกจากไตได้มากเพียงพอ 

การที่มีกรดยูริกสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไปจะทำให้เกิดการตกตะกอนในข้อต่อ ส่งผลให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ และถ้าหากกรดยูริกตกตะกอนในไตจะทำให้เกิดนิ่วในไต โดยผู้ชายจะมีกรดยูริกในเลือดสูงไม่เกิน 7 มิลลิกรัม และผู้หญิงจะมีกรดยูริกในเลือดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม ซึ่งกรดยูริกที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์โดยเฉลี่ยแล้วจะมีการสะสมในร่างกายตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ทำให้มักพบผู้ป่วยโรคเก๊าท์ในวัย 35 - 45 ปี 

 

ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นกรดยูริกในเลือด
 

  • การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อการระดับกรดยูริกในร่างกาย หรือกลไกการขับกรดยูริก ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ ไม่ว่าจะเป็น ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด หรือ ยาแอสไพริน 
  • การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ กุ้ง ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ กะปิ หรือยอดผัก 
  • โรคบางชนิดที่กระตุ้นร่างกายให้สร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไต 
  • อาการป่วยที่มีผลต่อการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ลูคีเมีย โรคมะเร็ง และโรคสะเก็ดเงิน 

 

พิวรีนคืออะไร
 

พิวรีน(Purine) คือ สารชนิดหนึ่งที่มักพบกับสัตว์ที่เจริญเติบโตไว เช่น สัตว์ปีก สัตว์ขนาดเล็ก ปลา เครื่องในสัตว์ ถั่ว และอื่น ๆ เมื่อสารพิวรีนหรือโปรตีนที่รับประทานเข้าไปย่อยสลายตัวแล้ว จะเกิดกรดยูริกขึ้นมา ซึ่งในกรณีที่ร่างกายมีกรดยูริกเยอะก็จะทำให้เกิดโรคเก๊าท์และโรคอื่น ๆ เช่น นิ่ว เป็นต้น


อาการของโรคเก๊าท์มีอะไรบ้าง

 อาการของโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์อันตรายไหม? ในที่นี้ระดับความอันตรายของโรคจะขึ้นอยู่กับระยะอาการของโรคเก๊าท์ โดยผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีอาการปวด บวม แดงตามบริเวณข้อต่ออย่างฉับพลันทันที และมักพบอาการโรคเก๊าท์ปวดที่เท้า และตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ในร่างกาย เช่น ปวดข้อ ข้อเข่า ข้อเท่า ข้อมือหรือข้อโคนหัวนิ้วแม่เท้า เป็นต้น

ในระยะแรกของโรคเก๊าท์ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ ปวด 1-2 ข้อ มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ และจะค่อยๆ ลุกลามไปเรื่อยๆ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี หรือปล่อยให้โรคเก๊าท์อาการในเบื้องต้นรุนแรงมากขึ้นก็จะกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น ไตวาย โรคไต และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ 
 

ระยะอาการของโรคเก๊าท์
 

โรคเก๊าท์สามารถแบ่งอาการของผู้ป่วย ออกเป็น 3 ระยะหลักๆ ดังนี้ 

 

  • ระยะเฉียบพลัน 

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่ในระยะนี้จะมีอาการปวดข้อแบบเฉียบพลันทันที มักพบอาการปวดตอนกลางคืน และบริเวณเกิดอาการปวดได้บ่อย ได้แก่ หัวแม่เท้าและที่ข้อเท้า 

สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ในระยะเฉียบพลันแม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาการปวดเก๊าท์ยังคงสามารถหายไปเองได้ แต่จะกลับมาปวดซ้ำๆ อีกเรื่อยๆ และมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ 

 

  • ระยะช่วงพัก

ในระยะช่วงพักผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะไม่มีอาการปวดข้อ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ โดยที่เมื่อมีอาการปวดข้อระยะเวลาที่ปวดจะสั้นลง แต่ความถี่ของอาการปวดมากจะมากกว่าระยะเฉียบพลัน และจะปวดถี่ขึ้นเรื่อยๆ 

 

  • ระยะเรื้อรัง 

ระยะนี้เป็นระยะที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์มานานกว่า 10 ปีขึ้นไป จะมีอาการข้ออักเสบหลายข้อ และปวดตลอดเวลา ไม่มีช่วงเว้นว่างหายสนิท และในระยะนี้มักมีปุ่มก้อนขึ้นตามข้อต่างๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบ 

โดยปุ่มเหล่านี้เกิดจากก้อนผลึกยูเรทที่มีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเรื้อรังหากผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จะสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้อาการของโรครุนแรงมากกว่าเดิม 


โรคเก๊าท์เกิดในบริเวณใดได้บ้าง

โรคเก๊าท์ปวดตรงไหนบ้าง

สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์อาการเริ่มแรกมักจะมีอาการปวด บวม แดงตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ตามร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมักจะเกิดอาการปวดข้อตามบริเวณต่อไปนี้ 
 

  • ปวดข้อนิ้วหัวแม่เท้า 
  • ปวดข้อเท้า ข้อกลางเท้า
  • ปวดข้อเข่า
  • ปวดข้อมือ ข้อกลางมือ
  • ปวดข้อศอก 
  • ปวดตาตุ่มของเท้า

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีอาการบวม แดง และปวดรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและอาจจะมีอาการปวดตามข้อมากกว่า 1 - 2 ข้อ 


ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เป็นโรคที่มักพบในผู้ป่วยเพศชาย มากกว่าเพศหญิงมากกว่า 2 เท่า เพราะเพศชายมีกรดยูริกในระดับที่สูงกว่า และผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะมีกรดยูริกสูงหลังจากที่หมดประจำเดือน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าคนทั่วไป มีดังนี้ 

  • ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ 
  • ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติโรคเก๊าท์มาก่อน 
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกณฑ์เกินมาตรฐาน 
  • หัวใจล้มเหลว 
  • โรคเบาหวาน โรคไต และความดันโลหิตสูง 
  • การดื่มแอลกอฮอล์และอาหารที่มีโปรตีนจากสัตว์ในปริมาณมาก 

โรคเก๊าท์กับเก๊าท์เทียมต่างกันอย่างไร

เก๊าท์เทียมกับโรคเก๊าท์ต่างกันยังไง

ผู้ป่วยบางคนอาจจะสับสนกับโรคเก๊าท์และเก๊าท์เทียม เนื่องจากมีอาการปวดบริเวณข้อและชื่อที่คล้ายคลึงกัน แต่สาเหตุและการรักษาของโรคเก๊าท์และเก๊าท์เทียมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
 

  • สาเหตุการเกิดโรคเก๊าท์และเก๊าท์เทียม

สาเหตุของโรคเก๊าท์เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ในปริมาณที่มากพอ ทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม แดงตามบริเวณข้อต่อและกระดูก

แต่สาเหตุของเก๊าท์เทียมเกิดจากพันธุกรรมและโรคบางชนิด ได้แก่ โรคเบาหวาน และภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดสูง
 

  • วิธีรักษาโรคเก๊าท์และเก๊าท์เทียม

โรคเก๊าท์รักษายังไง? ในระยะแรกสามารถรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำ และการรับประทานอาหารที่ไม่กระตุ้นให้สร้างสารกรดยูริก โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาเก๊าท์เทียมให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการได้จากการทานยาได้ตามที่แพทย์สั่ง


เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ถ้าหากมีอาการปวดตามข้อต่อต่างๆ ตามร่างกายอย่างกะทันหันหรือรุนแรง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป เนื่องจากโรคเก๊าท์เป็นโรคที่ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่อาการปวดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เข้ารับการรักษา หรือรักษาไม่ถูกวิธี 

นอกเหนือจากโรคเก๊าท์แล้ว หากคุณมีอาการปวดตามข้อแม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคเก๊าท์ แต่ถ้าหากมีอาการปวดรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และเรารับการรักษาที่ถูกวิธี 


การวินิจฉัยโรคเก๊าท์

ตรวจโรคเก๊าท์

สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์แพทย์จะมีการวินิจฉัยโรค ดังต่อไปนี้ 
 

1. การตรวจดูลักษณะภายนอก 

เป็นการตรวจร่างกายภายนอกโดยแพทย์จะทำการซักประวัติเบื้องต้นในอดีตและปัจจุบันของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เช่น มีอาการปวดเก๊าท์มานานหรือยัง มักปวดช่วงเวลาไหน ปวดเก๊าท์บริเวณใดของร่างกาย และอาการปวดเก๊าท์มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งตรวจลักษณะภายนอกร่างกาย เพื่อใช้ในการประกอบวินิจฉัยโรค 
 

2. การเจาะน้ำในข้อ (Aspiration) 

การเจาะน้ำในข้อเป็นการตรวจว่าในข้อมีผลึกกรดยูริกหรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีหลักในการวินิจฉัยโรคเก๊าท์ โดยแพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึงอาการปวดเก๊าท์ของผู้ป่วยถ้าหากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรง จะไม่สามารถใช้วิธีการเจาะน้ำในข้อเพื่อวินิจฉัยโรคเก๊าท์ได้ แพทย์จำเป็นต้องจ่ายยาเพื่อให้อาการอักเสบของผู้ป่วยหายดีก่อน 
 

3. การตรวจแบบเจาะเลือด (ฺBlood Test)

ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่ยังไม่พร้อมสำหรับการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีเจาะน้ำในข้อ แพทย์อาจจะใช้วิธีวินิจฉัยโรคเก๊าท์ด้วยการเจาะเลือดเพื่อตรวจว่าระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากน้อยเพียงใด แต่ระดับของกรดยูริกที่สูงไม่ได้บ่งชี้ว่ามีการตกตะกอนเป็นผลึกในข้อเสมอไป
 

4. การตรวจ Dual Energy CT Scan

เป็นวิธีการตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อหาผลึกของกรดยูริกที่ตกตะกอนอยู่ในข้อ วิธีการตรวจ Dual Energy CT Scan เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาว่าอาจจะมีก้อนตะกอนผลึกยูริกขนาดใหญ่ จนเครื่องเอกซเรย์สามารถเห็นได้ โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการผิดปกติของข้อ หรือผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่มีอาการปวดมาเป็นระยะเวลา 5 - 10 ปี 


วิธีรักษาโรคเก๊าท์

รักษาโรคเก๊าท์ยังไง

โรคเก๊าท์รักษาหายไหม? ปัจจุบันโรคเก๊าท์เป็นโรคที่สามารถรักษาได้หายขาด 100% ได้ แต่จะต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์เท่านั้น ซึ่งวิธีรักษาโรคเก๊าท์ให้หายขาดนั้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดข้อได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 
 

การรักษาในระยะที่มีการอักเสบเฉียบพลัน

สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่อาการอยู่ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ การประคบ และควรพักการใช้ข้อ โดยวิธีรักษาโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้ยารักษาอาการและบรรเทาอาการเจ็บปวด

ยารักษาโรคเก๊าท์ ให้หายขาดที่นิยมใช้เพื่อลดอาการอักเสบ ได้แก่ ยาโคลชิซิน (Colchicine) และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) โดยแนะนำให้รับประทานยาโคลชิซิน 1 เม็ด (0.6 มิลลิกรัม) ทุก 4 - 6 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือวันละ 2 เม็ดในวันถัดมา 

ส่วนใหญ่แพทย์มักจะให้ทานยาโคลชิซินประมาณ 3 - 7 วัน หรือจนกว่าอาการอักเสบจะหายดี ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปริมาณในการรับประทานยาแต่ละครั้งเนื่องจากผู้ป่วยบางท่านอาจจะมีปัญหาเรื่องการทำงานของไต หรือผู้ป่วยสูงใหญ่จำเป็นต้องลดปริมาณยาลดเพื่อความปลอดภัย

และเพื่อบรรเทาอาการอักเสบควรเลือกใช้ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น และออกฤทธิ์เร็ว โดยแนะนำให้ทาน 3-7 วัน หรือจนกว่าอาการจะหายดี 

แต่ไม่ว่าจะเป็นยาโคลชิซิน หรือยาต้านการอักเสบ ก็จะมีผลข้างเคียง ได้แก่ ยาโคลชิซินสามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร การทำงานของไตบกพร่อง หรือโรคตับทานยา
 

การรักษาเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำในระยะยาว

การรักษาโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเพื่อลดระดับของกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลงมา โดยการรักษาเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำในระยะยาวผู้ป่วยโรคเก๊าท์จำเป็นต้องรับประทานยาโคลชิซินขนาด 0.6 - 1.2 มิลลิกรัมต่อวัน (ตามดุลพินิจของแพทย์) ซึ่งต้องทานจนกว่าจะตรวจไม่พบตุ่มโทฟัส และระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 4 - 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และไม่เกิดอาการข้ออักเสบอย่างน้อย 3 - 6 เดือน


วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

สาเหตุหลักของโรคเก๊าท์มาจากระดับกรดยูริกที่สะสมมากเกินความจำเป็นในร่างกาย การป้องกันโรคเก๊าท์ที่สามารถทำได้คือการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง และสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์สามารถดูแลรักษาตัวเองเพื่อให้อาการของโรคดีขึ้นได้ ดังนี้ 
 

  • ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี 
  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเลบางชนิด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 
  • ดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกายทางปัสสาวะ 
  • หากมีอาการปวดข้อเฉียบพลันแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้งาน

การทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

เพราะสาเหตุของโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคอาหารจนทำให้เกิดการสะสมกรดยูริกในร่างกายในปริมาณมาก มาลองดูอาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่ควรรับประทานและไม่ควรรับประทาน เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการความรุนแรงของโรค ได้แก่ 
 

อาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรทาน
 

  • อาหารที่มีสารพิวรีนต่ำ เช่น ไข่ นม ธัญพืช ผักสด และผลไม้ต่างๆ 
  • อาหารที่มีสารพิวรีนในปริมาณปานกลาง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวไม่ติดมัน ปลาหมึกปลากระพงแดง ปู ข้าวโอ๊ต ถั่วลิสง หรือพืชตระกูลถั่ว เช่น สะตอ ดอกกะหล่ำ ผักโขม และถั่วลันเตา 
     

อาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ควรทาน
 

  • เนื้อสัตว์ประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ และมันสมองปลา 
  • ไข่ปลา กุ้ง หอย กะปิ 
  • เห็ด กระถิน ชะอม ขี้เหล็ก และหน่อไม้ 
  • ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง และถั่วแระ 
  • ขนมปังผสมยีสต์ และน้ำต้มกระดูก
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี หรือรับการรักษาไม่ต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยบางรายอาจจะเกิดก้อนโทฟัสหรือปุ่มนูนใต้ผิวหนังตามร่างกาย เช่น ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อศอก หรือเอ็นร้อยหวาย และไม่มีอาการเจ็บปวด

แต่เมื่ออาการโรคเก๊าท์กำเริบอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อปวดตามข้อ และข้อต่อบิดเบี้ยวจนผิดรูป นอกจากนี้ยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดนิ่วในไตจากการสะสมของผลึกกรดยูริก ซึ่งนำไปสู่ภาวะการทำงานของไตผิดปกติหรือภาวะไตวาย


แนวทางการป้องกันโรคเก๊าท์

 ดื่มน้ำขับกรดยูริก สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

สำหรับโรคเก๊าท์ที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคจนทำให้เกิดการสะสมของผลึกกรดยูริกในร่างกาย สามารถป้องกันโรคเก๊าท์ได้ ดังนี้ 
 

  • เลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน 
  • ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ควรลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรหักโหม 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
  • ไม่ควรรับประทานน้ำหวานหรืออาหารที่มีส่วนผสมของฟรุกโตมาก เนื่องจากจะทำให้ระดับกรดยูริกในร่างกายสูงขึ้น 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันประกอบอาหารเป็นจำนวนมาก เช่น ของทอด และอาหารกลุ่มไขมันสูง เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงทำให้การขับกรดยูริกในร่างกายลดลง 

คำถามที่พบบ่อย

โรคเก๊าท์เป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่

โรคเก๊าท์เป็นหนึ่งในโรคทางกรรมพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้ ทำให้เกิดสะสมของกรดยูริก และตกตะกอนตามข้อต่อจนทำให้เกิดอาหารปวดข้อที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย 
 

โรคเก๊าท์สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม

ในปัจจุบันโรคเก๊าท์กลายเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยควรรับประทานยา และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหาซื้อยาแก้ปวดเข่า สมุนไพรแก้ปวดเข่า หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ มาทานเอง เพราะร่างกายแต่ละคนอาจจะไม่เหมาะกับการใช้ยาหรือสมุนไพรบางชนิดในการรักษา

อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคอื่น เช่น ข้อเข่าเสื่อม ซึ่งอาการข้อเข่าเสื่อมจะมีลักษณะคล้ายกับโรคเก๊าท์มาก แต่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นอย่างการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า หรือ ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม แทน ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกวิธี รวมถึงรักษาโรคเก๊าท์ให้หายขาดในกรณีที่เป็นโรคเก๊าท์ จึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนหรือโปรตีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน สัตว์ปีก อาหารทะเลบางชนิด น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เมื่อสลายตัวแล้วจะกลายเป็นกรดยูริกที่จะทำให้มีอาการเกิดขึ้นได้
 

โรคเก๊าท์กับรูมาตอยด์เหมือนกันไหม

หลายท่านอาจจะสับสนระหว่างโรคเก๊าท์ และโรครูมาตอยด์ แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 โรค แตกต่างกัน โดยที่โรคเก๊าท์มีสาเหตุมาจากการสะสมของกรดยูริกมากเกิน และไม่สามารถขับกรดยูริกออกจากร่างได้ทำให้กรดยูริกตกผลึกตามข้อและอวัยวะต่างๆ และปวดตามข้อ 

แต่โรครูมาตอยด์มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทางในร่างกายไปทำลายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อจนทำให้เกิดอาการปวดข้อ 

นอกจากนี้โรคเก๊าท์มักจะปวดตามข้อต่อส่วนล่าง เช่น ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า นิ้วเท้า ข้อเท้า และข้อเข่า โดยที่มักมีอาการปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง แต่โรครูมาตอยด์จะสามารถเกิดอาการปวดได้ทุกจุดตามบริเวณข้อต่อของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ข้อนิ้วมือ ข้อไหล่ ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อไหล่ ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดขาตอนกลางคืน และมักมีอาการปวด 2 ข้างพร้อมกัน 
 

กินไก่ทำให้เป็นโรคเก๊าท์จริงไหม?

โรคเก๊าท์ห้ามกินอะไร? หลาย ๆ ท่านก็มักจะบอกต่อกันว่า “ห้ามกินไก่ เพราะไก่ทำให้เป็นเก๊าท์” ซึ่งเป็นความเชื่อที่พูดต่อ ๆ กันมา ทำให้หลาย ๆ ท่านเชื่อว่ากินไก่แล้วจะทำให้เป็นเก๊าท์จริง อันที่จริงแล้วไก่ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคเก๊าท์ 

แต่ในเนื้อไก่มีสารพิวรีนสูงที่เมื่อย่อยสลายแล้วจะเกิดกรดยูริกขึ้นมา ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกได้ตามปกติและกรดยูริกจะไปสะสมตามบริเวณไขข้อ ทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์กำเริบขึ้นมาได้

ดังนั้นถึงแม้ว่าการกินไก่จะไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเก๊าท์ แต่ไก่ก็จัดเป็นหนึ่งในอาหารที่ควรกินในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้วเพื่อไม่ให้ร่างกายมีกรดยูริกสะสมมากเกินไปและไปกระตุ้นให้อาการกำเริบได้


ข้อสรุป

โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เกิดการที่ร่างกายทำงานผิดปกติทำให้ไม่สามารถขับกรดยูริกออกได้หมด ทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกในร่างกายและตกผลึกเป็นตะกอนตามข้อต่อจนทำให้เกิดอาการปวดข้อ แม้ว่าในปัจจุบันโรคเก๊าท์จะสามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาหรือรักษาผิดวิธีโรคเก๊าท์สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดนิ่วในไตหรือภาวะไตวายได้ 

ทั้งนี้แม้ว่าโรคเก๊าท์จะมีอาการปวดข้อ และข้ออักเสบ คล้ายกับโรคข้ออักเสบอื่นๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรครูมาตอยด์ ที่มักจะมีอาการเจ็บข้อเข่า และข้ออื่น ๆ แต่วิธีรักษาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นถ้าหากคุณมีอาการปวดข้อควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรคต่างๆ 

หากผู้ป่วยมีอาการปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ข้อนิ้ว ข้อศอก และข้อต่ออื่นๆ ของร่างกาย หรือมีอาการหัวเข่ามีเสียง เข่าบวม ข้อเท้าบวม และต้องการตรวจร่างกายว่ากำลังประสบปัญหากับโรคเก๊าท์หรือโรคอื่น ๆ อย่างข้อเข่าเสื่อม เพื่อรักษาตามโรคอย่างถูกวิธี สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 


References

N.D. (2020, Nov 15). Gout. Cleveland Clinic.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4755-gout

Mayo Staff. (2021, Mar 06). Gout. Mayo Clinic. 
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gout/symptoms-causes/syc-20372897

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม