บทความสุขภาพ

ชาปลายนิ้วมือเกิดจากอะไร? สัญญาณเตือนที่ไม่ควรชินชา

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ชาปลายนิ้ว

ปัญหาชาปลายนิ้วมือเป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำของกลุ่มคนวัยทำงาน หรือคนที่ต้องใช้มือและแขนในการทำงานบ่อย ๆ บางรายอาจมีอาการชาที่ปลายนิ้วเฉพาะเวลานอน หรือเฉพาะเวลานั่ง รวมถึงบางคนก็มีอาการชามือร่วมไปด้วย ซึ่งอาการชาปลายนิ้วมือที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จะอธิบายถึงสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วมือว่า เกิดจากอะไร อาการแบบไหนควรพบแพทย์ รวมถึงแนวทางป้องกันอาการชาปลายนิ้วมือ


สารบัญบทความ

 


ชาปลายนิ้วมือ

อาการชาปลายนิ้วมือ คือ อาการเหน็บชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณนิ้วมือ ในบางครั้งอาจทำให้นิ้วมือหรือมือไม่มีแรงหยิบจับสิ่งของ รวมถึงอาจมีอาการเจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มทิ่มที่ปลายนิ้ว อาการปลายนิ้วชานี้สามารถเกิดขึ้นกับมือเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ 

โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะเส้นประสาทถูกกดทับทำให้เกิดอาการชาดังกล่าว มักพบในกลุ่มคนที่มีการขยับบ่อย ๆ หรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ ทำอาหาร ทำงานบ้าน ใช้โทรศัพท์ เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อป้องกันอาการชาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้


ชาปลายนิ้วมือ เกิดจากอะไร

ชาปลายนิ้วมือ เกิดจาก

โดยส่วนมากอาการชาปลายนิ้วมือมักเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ พบบ่อยในกลุ่มคนที่ใช้มือในการทำงานซ้ำ ๆ อยู่ท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน โดยเส้นประสาทหลัก ๆ ที่มาที่มือของเรานั้นมีอยู่ 3 เส้นด้วยกัน และแต่ละเส้นรับความรู้สึกต่างกัน ดังนี้ 

 

  • เส้นประสาทเรเดียล (Radial Nerve) จะรับความรู้สึกบริเวณหลังมือ
  • เส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) จะรับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง
  • เส้นประสาทอัลน่า (Ulnar Nerve) จะรับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วก้อย นิ้วนาง

โดยรายละเอียดสาเหตุของการเกิดอาการชาปลายนิ้วมือมีดังต่อไปนี้

 

1. การกดทับแขนงของเส้นประสาทเรเดียล

อาการชาปลายนิ้วมือที่เกิดจากการกดทับแขนงของเส้นประสาทเรเดียล (Superficial Radial Nerve Entrapment) เป็นสาเหตุของปลายนิ้วชาที่พบได้ประปราย ซึ่งจะมีอาการชาบริเวณหลังนิ้วโป้งและนิ้วชี้ โดยปัจจัยเสี่ยงมักเกิดจากการใช้ข้อมือซ้ำ ๆ จนเส้นเอ็นไปทับกับแขนงของเส้นประสาทเรเดียล หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การคล้องกระเป๋าไว้ที่แขน หรือการใส่นาฬิกา เป็นต้น

 

2. กลุ่มเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือถูกกดทับ

อาการชาปลายนิ้วมือที่เกิดจากกลุ่มเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome) เป็นสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วที่พบได้บ่อยที่สุด 

โดยปัจจัยเสี่ยงมักเกิดจากการใช้มือในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ข้อมืออยู่ในท่างอ หรือเหยียดขึ้นเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม เช่น การพิมพ์คอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์ รวมถึงการขับรถ การทำงานบ้าน เป็นต้น ซึ่งท่าเหล่านี้เป็นท่าที่เส้นประสาทถูกกดทับจนเยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ บวมจนเบียดเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปลายนิ้วมือชาได้

 

3. กลุ่มเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอกถูกกดทับ

อาการชาปลายนิ้วมือที่เกิดจากเส้นประสาทอัลน่าบริเวณข้อศอกถูกกดทับ (Cubital Tunnel Syndrome) เป็นสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง โดยจะมีอาการชาที่ปลายนิ้วก้อย และนิ้วนางบางส่วน บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย โดยเมื่อเหยียดออกอาการชามักจะดีขึ้น 

แต่หากปล่อยอาการนี้ไว้นานกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทนี้จะลีบ ฟื้นฟูได้ยาก โดยปัจจัยเสี่ยงมักเกิดจากกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อศอกนาน ๆ พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้โทรศัพท์ อ่านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการเล่นกีฬาบางประเภท 

 

สาเหตุจากโรคอื่นๆ 

 

  • โรคเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis) 

เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็นบริเวณข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้ง ทำให้เกิดการกดทับของเส้นเอ็นภายใน มีอาการเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็น เป็นต้น มักพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมือทำงานบ่อย ๆ และอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง เช่น ผู้คนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือผู้มีโรคประจำตัว เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid)

 

  • โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) 

ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมส่วนมากมักมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ แต่ในบางรายอาจมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือร่วมด้วย โดยเฉพาะ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยอาการชาจะเริ่มเป็นบ่อยขึ้น มักมีอาการชาในตอนกลางวันมากกว่าตอนกลางคืน

หากกังวลใจเกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีรักษาออฟฟิศซินโดรมได้ที่: 10 วิธีรักษาออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) บอกลาอาการปวดหลัง

 

  • โรคเบาหวาน (Diabetes) 

ผู้ป่วยอาการชาปลายนิ้วจากโรคเบาหวานอาจเกิดภาวะเสียหายกับเส้นประสาทบริเวณมือและเท้า สามารถนำไปสู่อาการชาปลายนิ้วมือ รวมถึงนิ้วเท้าด้วย ผู้ที่มีอาการชาปลายนิ้วมือควรเข้ารับการตรวจเบาหวานเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมด้วย


ชาปลายนิ้วมือ มีอาการอย่างไร

อาการชาปลายนิ้ว

อาการชาปลายนิ้วมือจากเส้นประสาทถูกกดทับ สามารถแบ่งระยะของอาการได้ดังนี้

1. ระยะแรก
 

  • มีอาการชาปลายนิ้วมือเป็นบางช่วง รู้สึกยิบ ๆ ที่ปลายนิ้วมือ ฝ่ามือ หรือบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ
  • มีอาการมือชาเล็กน้อยเมื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่ใช้มือ รวมถึงมีอาการปวดข้อนิ้วมือเล็กน้อย
  • มีอาการชาปลายนิ้วมือในตอนกลางคืน หรือช่วงตื่นนอน

2. ระยะกลาง
 

  • อาการชาปลายนิ้วมือเริ่มเกิดขึ้นบ่อย ๆ แม้ไม่ได้หยิบจับหรือทำกิจกรรมอะไร
  • นอกเหนือจากอาการชาแล้ว อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปลายนิ้วชา เหมือนไฟช็อต หรือรู้สึกปวดบีบ ๆ 
  • รู้สึกหยิบจับสิ่งของแล้วไม่มีแรง อันเนื่องมาจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

3. ระยะท้าย
 

  • มีอาการชาปลายนิ้วมืออยู่ตลอดเวลา 
 

อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการชาปลายนิ้ว

อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการชาปลายนิ้วมืออาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน ซึ่งทำให้เกิดอาการอัมพาตได้ ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ ดังนี้
 

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกะทันหัน
  • วิงเวียนศีรษะ รวมถึงปวดศีรษะกะทันหันอย่างรุนแรง
  • มีความลำบากในการพูด สื่อสาร พูดจาติดขัด ไม่รู้เรื่อง

อาการชาปลายนิ้วมือที่ควรพบแพทย์

โดยทั่วไปแล้วอาการชาปลายนิ้วมือมักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าหากว่าอาการชาเริ่มมีลักษณะอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย หรือเริ่มมีอาการผิดแปลกไป ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาต่อไป สำหรับอาการชาปลายนิ้วมือที่ควรมาพบแพทย์ มีอาการสังเกตดังนี้
 

  • มีอาการชาปลายนิ้วมือเป็นเวลานานแล้วอาการยังไม่หายไป หรือมีอาการหนักขึ้น
  • มีอาการชาลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายนอกเหนือจากปลายนิ้วมือ หรือลามไปทั่วร่างกาย เช่น อาการชาปลายนิ้วเท้า ปวดแขนร่วมกับชาปลายนิ้วมือ เป็นต้น
  • ชาปลายนิ้วมือบ่อย ๆ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาจเป็นร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น นิ้วล็อค 
  • มีอาการชาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ชาปลายนิ้วมือเพียงนิ้วเดียว
  • อาการชาปลายนิ้วมือกระทบกับการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
  • อาการชาที่มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย รับรู้ความรู้สึกของตำแหน่งไม่ได้ เสียการทรงตัว

การวินิจฉัยอาการชาปลายนิ้วมือ

 

1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย

ขั้นตอนแรกของการตรวจวินิจฉัยอาการชาปลายนิ้วมือ เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและอาการที่เกิดขึ้นคร่าว ๆ รวมถึงประวัติการเจ็บป่วย การรักษา และการใช้ยา จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการชา เช่น ชาปลายนิ้วมือ เท้า แขน ขา เป็นต้น เพื่อตรวจการทำงานของระบบประสาท ทั้งการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก รวมถึงตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันโลหิต 

 

2. การตรวจเลือด

การตรวจเลือดจะช่วยตรวจหาสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วมือที่อาจเกิดขึ้นจากโรคต่าง ๆ หรือการเจ็บป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การติดเชื้อไวรัส ภาวะขาดวิตามิน B12 เป็นต้น

 

3. การตรวจเอกซเรย์

การตรวจเอกซเรย์ เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) จะช่วยตรวจหาความผิดปกติบริเวณกระดูกนิ้วมือ ข้อมือ มือ แขน หัวไหล่ ซึ่งกระดูกอาจเคลื่อน แตกหัก หรือหลุดได้ โดยความเสียหายเหล่านี้สามารถสัมพันธ์กับอาการชาปลายนิ้วมือได้ เนื่องจากกระดูกที่เสียหายอาจไปกดทับและสร้างความเสียหายแก่เส้นประสาทได้


การรักษาอาการชาปลายนิ้วมือ

เมื่อเกิดอาการชาปลายนิ้วมือผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการชาด้วยตนเองก่อนในเบื้องต้น ถ้าหากว่าอาการชาปลายนิ้วมือยังไม่ดีขึ้น หรือยังเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป โดยมีวิธีรักษาอาการชาปลายนิ้วมือ มีดังต่อไปนี้

 

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเบื้องต้น

วิธีรักษาอาการชาปลายนิ้วมือ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พักทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเจ็บ หรือชาปลายนิ้วมือ และอาจออกกำลังกายบริหารร่างกาย ขยับมือและขา โดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ เช่น ยืดและกางนิ้วให้ตึง สะบัดแขน หมุนไหล่ รวมถึงสามารถใช้น้ำแข็งช่วยประคบบริเวณที่มีอาการบวม หรือการอักเสบ

 

2. การใช้ยารักษาอาการชาปลายนิ้วมือ

ยารักษาอาการชาปลายนิ้วมือ

ยารักษาอาการชาปลายนิ้วมือควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวด และยาต้านอาการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อรักษาอาการอักเสบของเส้นประสาทที่ทำให้เกิดการชาปลายนิ้วมือ สามารถหาซื้อยาได้ตามร้านขายยา เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นต้น

 

3. การใส่เฝือกพยุงมือ

ใส่เฝือกพยุงมือ

การใส่เฝือกพยุงมือ หรือใส่ผ้ารัดบริเวณข้อมือและข้อศอกคือ วิธีการรักษาด้วยการวางข้อมือไว้นิ่ง ๆ ในขณะนอนหลับ การใส่เฝือกพยุงมือนี้จะช่วยให้กระดูกบริเวณนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ช่วยรักษาภาวะกระดูกกดทับเส้นประสาท ลดอาการปวดหรืออาการชาปลายนิ้วมือเวลานอน

 

4. การบริหารกล้ามเนื้อ

การบริหารกล้ามเนื้อมือ

รักษาอาการชาปลายนิ้วมือด้วยการทำกายภาพบำบัด หรือท่าออกกำลังกายด้วยตนเอง เช่น การยืดเหยียด หรือการออกกำลังกายข้อมือจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และลดอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นได้ 

โดยมีวิธีนวดเบา ๆ ที่บริเวณเส้นประสาทข้อมือและกล้ามเนื้อ เพื่อยืดคลายประมาณ 3-5 นาที หรือจะใช้วิธีผ่อนคลายข้อมือด้วยการดึงมือไปด้านบน และลงด้านล่าง ทำค้างไว้ประมาณ 15-20 นาที ก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล 

อย่างไรก็ตามการยืดเหยียดบริเวณชาปลายนิ้วมือ หรือการบริหารกล้ามเนื้อควรทำตามกำลังของแต่คน ไม่ควรทำอย่างหักโหมหรือผิดท่า ดังนั้นจึงควรปรึกษาทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมนักกายภาพบำบัดร่วมด้วย

 

5. การรักษาอาการชาด้วยไฟฟ้า

รักษาอาการชาปลายนิ้วมือด้วยไฟฟ้า

วิธีรักษาอาการชาปลายนิ้วมือด้วยไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation: PMS) เป็นวิธีการกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความแรงสูง ทะลุผ่านเสื้อผ้าลงไปถึงกระดูกหรือกล้ามเนื้อชั้นลึก เป็นเทคนิครักษาอาการชา ปวด และอาการทางประสาทต่าง ๆ ด้วยการส่งคลื่นไปกระตุ้นเนื้อเยื่อและการไหลเวียนของเลือดในตำแหน่งมีอาการชาปลายนิ้วมือ

 

6. การผ่าตัดแก้อาการชาปลายนิ้วมือ

ผ่าตัดแก้อาการชาปลายนิ้วมือ

ในผู้ป่วยบางรายที่อาการชาปลายนิ้วมือยังไม่ดีขึ้นหลังจากลองรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ มาแล้ว แพทย์จะพิจารณาแนะนำให้ผ่าตัด โดยวิธีผ่าตัดแก้อาการชาปลายนิ้วมือนี้ จะใช้ในกรณีเส้นประสาทกดทับหรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย


แนวทางป้องกันอาการชาปลายนิ้วมือ

แนวทางการป้องกันอาการชาปลายนิ้วมือมีวิธีดังนี้ 

 

  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี
  • ควบคุมอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะวิตามิน B12 ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดอาการชาปลายนิ้วมือ และอาการชาในส่วนอื่น ๆ 
  • ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถเสมอ ไม่ควรนั่งนาน ๆ หรือทำกิจกรรมใดซ้ำ ๆ
  • หากจำเป็นต้องนั่งทำงาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ นาน ๆ ควรปรับท่านั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บและอาการชาปลายนิ้ว
  • สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือได้ เช่น หมอนรองข้อมือขณะทำงานด้วยคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ที่บีบนวดมือ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บบริเวณมือและข้อมือ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป

ข้อสรุป

อาการชาปลายนิ้วมือหากเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าหากอาการเริ่มเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาตามความเหมาะสมต่อไป เพราะอาการชาที่ปลายนิ้วบ่อย ๆ อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคทางเส้นประสาทได้ หากพบว่ามีอาการชาปลายนิ้วมืออย่างรุนแรง สามารถติดต่อเข้าพบแพทย์กับโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ให้บริการรักษาผู้ป่วยในระดับมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ line@samitivejchinatown Tel: 02-118-7893 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


References

Nall R. (2022, January 20). Why Are My Fingers Numb?. Healthline. https://www.healthline.com/health/finger-numbness


Numbness in hands. (2021, June 12). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/symptoms/numbness-in-hands/basics/causes/sym-20050842#:~:text=Hand%20numbness%20can%20be%20caused,occur%20first%20in%20your%20feet.

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ