Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

โรคหัด ป้องกันไว้ดีกว่า


โรคหัดสามารถเป็นได้ทุกคน ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และยังเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ จุดสังเกตคือ โรคหัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งอาจเป็นอันตราย จนส่งผลให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัดมากที่สุดกลุ่มแรก คือ เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งหากติดเชื้อจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้มากที่สุด กลุ่มต่อมาคือ หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับเชื้อจะมีโอกาสแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ กลุ่มสุดท้ายคือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ขาดสารอาหาร อาการป่วยจะรุนแรงและอันตรายกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรง

สาเหตุของโรคหัด

โรคหัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสหัด (Measles virus) โดยไวรัสจะแพร่กระจายจากคนสู่คน ผ่านระบบทางเดินหายใจ โดยผ่านละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่เข้าไปในร่างกาย หรือมีการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด เชื้อไวรัสหัดเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้ค่อนข้างง่าย โดยคนไข้ที่เป็นโรคหัด 1 คนสามารถแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ ได้ถึง 15 คน

อาการของโรคหัด

อาการของโรคหัดมักนำด้วยการมีไข้สูง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ไอ ตาแดง พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะหายไป นอกจากนี้จะมีผื่นเป็นปื้นสีแดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดขึ้น หลังจากเป็นไข้แล้ว 3-4 วัน โดยผื่นจะขึ้นจากบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน และลงมาที่ขา แต่เมื่อใดที่ผื่นเหล่านี้ลงมาถึงบริเวณเท้าแล้วไข้ก็จะหายไป นอกจากนี้โรคหัดอาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อแก้วหูอักเสบ ภาวะท้องร่วงท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นอันตรายอาจส่งผลต่อชีวิตได้

การรักษาโรคหัด

การรักษาโรคหัดยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งทางการแพทย์แนะนำว่าควรได้รับวิตามินเอ เพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด และการรักษาตามอาการ หากมีไข้จะเช็ดตัวและให้ยาลดไข้ ให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ และต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหัด ไม่ควรออกไปตามสถานที่สาธารณะ  เด็ก ๆ ไม่ไปโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย  4 วันหลังจากผื่นเริ่มปรากฏเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

การป้องกันโรคหัด

การป้องกันโรคหัดสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน สำหรับเด็กโดยทั่วไปจะได้รับวัคซีน 2 เข็ม เป็นวัคซีนรวมโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม เข็มแรกจะฉีดตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มที่สองจะฉีดตอนอายุ 2 ขวบ – 2 ขวบครึ่ง สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโรคหัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีไข้ หรือมีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม