บทความสุขภาพ

อาการ “ปวดสะบัก” เกิดจากอะไร อันตรายไหม ? แนะนำวิธีรักษาที่ตรงจุด

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

ปวดสะบัก

ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทำให้หลายคนเริ่มมีอาการปวดสะบักไหล่สะบักหลัง และต้นคอ โดยอาการปวดสะบักมันจะพบในคนไข้ในกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานในท่าเดิมนานๆ หรือ ผู้ที่ทำงานยกของหนักเป็นประจำทุกวัน หรือ ผู้ที่บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย 

โดยหลายคนอาจจะคิดว่าอาการปวดสะบักเป็นแค่อาการออฟฟิศซินโดรม หรือ อาการบาดเจ็บเล็กน้อยที่เดี๋ยวจะค่อยๆ หายเอง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะอาการปวดสะบักไหล่อาจจะเป็นภัยเงียบที่อันตรายกว่าที่หลายๆ คนเข้าใจ 

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “อาการปวดสะบัก” ทุกซอกทุกมุม ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของอาการปวดสะบัก วิธีสังเกตอาการ พร้อมแนะนำแนวทางป้องกันและวิธีรักษาที่จะช่วยให้อาการปวดสะบักที่รบกวนการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคุณดีขึ้น หากพร้อมแล้วไปหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้ 


สารบัญบทความ

 


ปวดสะบัก

อาการปวดสะบัก ปวดไหล่ เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย โดยคนไข้ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงวัยทำงานที่ต้องใช้ร่างกายหนักกว่าวัยอื่นๆ จนทำให้กล้ามเนื้อสะบัก เนื้อเยื่อ ข้อต่อ กระดูก และเส้นเอ็นได้รับบาดเจ็บเกิดการอักเสบ หรือ เกิดพังผืด จนกลายเป็นอาการปวดตามบริเวณต่างๆ 

โดยปกติแล้วอาการปวดสะบักมักจะเป็นอาการที่ไม่จำเป็นต้องกังวลและสามารถรักษาให้หายได้ แต่การละเลยอาการปวด ไม่เข้ารับการรักษาสามารถจนการเป็นการปวดสะบัดเรื้อรัง อาจจะทำให้อาการปวดลุกลามไปยังอวัยวะที่ใกล้เคียงได้ 


สาเหตุของอาการปวดสะบัก

สาเหตุของอาการปวดสะบัก

อาการปวดสะบักหลังเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้โดยในคนไข้ที่มาพบแพทย์ ได้แก่ 
 

1. การตึงตัวของกล้ามเนื้อจากพฤติกรรมบางอย่าง

อาการปวดสะบักที่มีสาเหตุมาจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ เมื่อกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น เกิดอาการเกร็งมักจะทำให้เกิดพังผืด หรือ เกิดก้อน Trigger point ส่งผลให้เลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณสะบักได้ จึงทำให้เกิดอาการปวดสะบัก หรือเมื่อยในที่สุด
 

2. ปัญหาโครงสร้างและสรีระของร่างกาย

ปัญหาโครงสร้างและสรีระของร่างกายที่ทำให้เกิดอาการปวดสะบัก ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมบางประเภท หรือ การนั่งทำงานในท่าเดิมที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นระยะเวลานาน ได้แก่ การนั่งหลังค่อม นั่งก้มคอ หรือ นั่งยื่นคอ
 

3. อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ

อุบัติเหตุเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในคนไข้ที่มีอาการปวดสะบัก ซึ่งการได้รับบาดเจ็บ เกิดอุบัติเหตุ หรือ การใช้งานกล้ามเนื้อสะบักหนักเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ และเส้นประสาทบริเวณรอบๆ เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเล่นกีฬาบางชนิดที่มีโอกาสปวดสะบักมากกว่าคนทั่วไป เช่น เทนนิส เบสบอล และ เวทเทรนนิ่ง เป็นต้น 
 

4. ผลข้างเคียงจากโรคอื่นๆ

บางครั้งอาการปวดสะบักอาจจะมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จนทำให้เกิดอาการปวดสะบัด ได้แก่ ออฟฟิศซินโดรม ไหล่ติด กระดูกคอทรุด กระดูกคอเสื่อม หรือภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาท 


ลักษณะของอาการปวดสะบัก

อาการปวดสะบัด

อาการปวดสะบักที่หลายคนพบอาจจะมีอาการแตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่หรือผิดปกติ เพราะอาการปวดสะบักสามารถเกิดได้หลากหลายรูปแบบและหลายบริเวณ โดยแต่ละบริเวณจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ในปัจจุบันสามารถแบ่งอาการปวดสะบักออกเป็น 5 อาการใหญ่ๆ ได้ดังนี้ 
 

1. ปวดสะบักเพียงอย่างเดียว (สะบักจม)

อาการปวดสะบักจม  ปวดสะบักซ้าย หรือ ปวดสะบักขวาข้างเดียว มักมีสาเหตุมาจากการอักเสบข้อกล้ามเนื้อ และ เส้นประสาทบริเวณรอบๆ ซึ่งทำให้เกิดพังผืดมายึดเกาะ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ จึงทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย
 

2. ปวดล้ากล้ามเนื้อระหว่างสะบัก 2 ข้าง

สำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดสะบัก 2 ข้างพร้อมกัน มักมีสาเหตุมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อหนักจนทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมัดลึกที่หลังส่วนล่าง (Serratus Posterior Superrior) , กล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงสะบัก (Rhomboid) และ กล้ามเนื้อ Longissimus Thoracis 

ทำให้เกิดก้อน Trigger point ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการเกิดพังผืดหรือก้อน Trigger point จะไปรบกวนการลำเลียงสารอาหารและออกซิเจน จึงทำให้เกิดอาการปวดสะบักในที่สุด และอาการปวดล้ากล้ามเนื้อระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง ยังเป็นสัญญาณเตือนของอาการออฟฟิศซินโดรมอีกด้วย 

อาการออฟฟิศซินโดรมเป็นหนึ่งในอาการที่สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งมักจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ ออฟฟิศซินโดรม เพิ่มเติมได้ที่นี่ 
 

3. ปวดสะบักร่วมกับอาการอื่น

คนไข้บางรายที่มีอาการปวดสะบักรุนแรง อาจจะมีอาการปวดสะบักร่วมกับอาการอื่นๆ ได้ เช่น 
 

  • ปวดสะบักร่วมกับปวดคอ บ่า ไหล่ 

คนไข้ส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดสะบักร่วมกับอาการปวดคอ บ่า ไหล่ มักจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคยอดฮิตในปัจจุบันอย่างออฟฟิศซินโดรม โดยการปวดสะบักร่วมกับปวดคอ บ่า ไหล่ เป็นสัญญาเตือนว่าเกิดการกดทับกันของเส้นประสาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ควรรีบไปพบแพทย์ 

 

  • ปวดสะบักร่วมกับปวดหลัง

คนไข้บางรายอาจจะมีอาการปวดสะบักร่วมกับอาการปวดหลัง โดยมีสาเหตุมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมัดลึกที่หลังส่วนล่าง (Serratus Posterior Superrior) ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอาการปวดสามารถลามไปยังบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ได้ 

 

  • ปวดสะบักร่วมกับหายใจไม่อิ่ม

คนไข้บางคนที่มีอาการปวดสะบักเมื่อลองสังเกตตนเองแล้ว รู้สึกว่าหายใจไม่อิ่ม หรือ เจ็บสะบักเวลาหายใจเข้า-ออก อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อส่วนอกที่เชื่อมต่อกับสะบัก ที่อาจจะมีพังผืดเกาะอยู่บริเวณกล้ามเนื้อหน้าอก
 

4. ปวดสะบักร้าวลงแขน

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดสะบักร้าวลงแขนส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการใช้งานกล้ามเนื้อสะบักหลังมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น การทำกิจกรรมบางชนิด การทำงาน การเล่นกีฬา หรือ การออกกำลังกาย จึงทำให้เส้นประสาทถูกรบกวนจนทำงานผิดปกติ 
 

5. อาการปวดสะบักเฉียบพลัน

อาการปวดสะบักเฉียบพลันส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการที่มีความรุนแรงและอันตรายสูง โดยผู้ที่มีอาการหัวใจหาย เส้นเลือดอุดตันในปอด หรือ หลอดเลือดฉีกขาด อาจจะเกิดอาการปวดสะบักเฉียบพลันอย่างรุนแรง ซึ่งอาการปวดจะมีความรุนแรงและอันตรายมากกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยทันที 

ทั้งนี้อาการปวดสะบักร่วมกับอาการอื่นๆ นับว่าเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกาย ที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อความปลอดภัยของตัวคนไข้เอง 


ขั้นตอนการวินิจฉัยอาการปวดสะบัก

แพทย์ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการสอบถามอาการและพฤติกรรมในอดีตของคนไข้ เพื่อประกอบการวินิจฉัย พร้อมทั้งตรวจลักษณะภายนอกร่างกาย โดยแพทย์อาจจะทำการทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความสามารถในการต้านทาน 

นอกจากการตรวจลักษณะภายนอกร่างกายแล้วแพทย์อาจจะใช้วิธีอื่นเพื่อวินิจฉัยอาการปวดสะบักร่วมด้วย ได้แก่ 
 

1. การตรวจเอกซเรย์

การตรวจเอกซเรย์ (X-ray) เป็นการตรวจที่หลายคนน่าจะคุ้นหูและเคยได้ยินกันมาบ้าง โดยการเอกซเรย์เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อหาความผิดปกติของกระดูกในร่างกาย โดยสร้างภาพเอกซเรย์ที่มีลักษณะเป็นสีขาว-ดำขึ้นมา ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์แม่นยำมากขึ้น
 

2. การทำ CT Scan

การทำ CT Scan หรือ การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของกระดูก ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นรอยร้าวหรือบริเวณที่กระดูกถูกทำหลายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่ให้ภาพความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา 
 

3. การทำ MRI

การทำ MRI เป็นการใช้เครื่องสนามแม่เหล็กและคลื่นความถี่วิทยุ มาสร้างภาพที่มีความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติของ กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ความละเอียดสูงที่สุด


แนวทางการรักษาอาการปวดสะบัก

ในปัจจุบันแนวทางการรักษาอาการปวดสะบักมีหลายแบบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรค 
 

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง

วิธีรักษาอาการปวดสะบัก
 

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดสะบักไม่รุนแรง หรือ เป็นเพียงอาการเริ่มต้น ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อยับยั้งความรุนแรงของโรค เพราะสาเหตุของอาการปวดสะบักมักจะมีจากพฤติกรรมบางอย่าง
 

  • หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ 
  • ควรบริหารกล้ามเนื้อระหว่างวัน 
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก 
  • ออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ 
  • ปรับท่านั่งให้เหมาะสมกับสรีระ
     

2. การรักษาโดยการใช้ยา

ยาแก้ปวดสะบัก ปวดไหล่
 

  • ยาทาน

อาการปวดสะบักสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วย การรับประทานยาคล้ายกล้ามเนื้อ หรือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ทั้งนี้การรับประทานยาเพื่อลดอาการปวดเมื่อยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย 

 

  • ยาฉีด

ในกรณีที่ผู้ปวดเกิดอาการปวดรุนแรงไม่สามารถทนอาการปวดได้ แพทย์อาจจะแนะนำวิธีบรรเทาอาการปวดด้วยการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ ที่ช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการปวดได้ดี ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีบรรเทาอาการปวดชั่วคราวเท่านั้น 
 

3. การทำกายภาพบำบัด

กายภาพสะบักไหล่

การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีรักษาอาการปวดสะบักที่ได้ผลลัพธ์ดี แต่การทำกายภาพบำบัดจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือนักกายภาพที่เชี่ยวชาญและมีใบประกอบวิชาอย่างถูกต้องเท่านั้น และไม่แนะนำให้ทำกายภาพด้วยตนเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์เพราะอาจจะทำให้อาการแย่ลงได้ 
 

4. การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave)

shockwave

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดสะบักสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วย Shockwave หรือที่เรียกว่า การรักษาด้วยคลื่นกระแทก ซึ่งเป็นการใช้คลื่นที่มีความถี่ต่ำที่มีความดันสูง ช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหายและซ่อมแซมตนเอง โดยวิธีนี้สามารถรักษาอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อและพังผืดที่เกิดได้ และเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำมาก 

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ Shockwave เพิ่มเติมได้ที่นี่
 

5. การผ่าตัด

ผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดสะบักเป็นวิธีที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะอาการปวดสะบักสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และการทำกายภาพที่ถูกวิธี แต่อาจจะมีอาการปวดสะบักบางอาการที่จำเป็นต้องผ่าตัด เช่น อาการปวดสะบักรุนแรง อาการปวดสะบักที่มีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบ หรือ กระดูกสะบักหัก เป็นต้น 


แนะนำท่ากายบริหาร บรรเทาอาการปวดสะบัก

ท่ากายบริหาร

วิธีแก้อาการปวดสะบักไหล่และหลังที่ดี คือ การทำกายบริหาร สำหรับผู้ที่มีอาการปวดสะบักสามารถบรรเทาอาการปวด หรือ ความรุนแรงของโรค ได้ด้วยการทำกายบริหาร ได้แก่ 

 

  1. ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักและหัวไหล่ โดยยืนตรงและเหยียดแขนซ้ายไปทางขวา พร้อมใช้มือข้างขวากดที่ข้อศอกซ้าย จนรู้สึกว่าหัวไหล่ตึง นับ 1-10 แล้วสลับข้าง ทำแบบเดิมซ้ำ 3 เซ็ทต่อวัน 
  2. ท่าบีบสะบักไหล่ ท่านี้สามารถทำได้ทั้งในขณะที่นั่งหรือยืน โดยยืดหลังตรง แขนทั้งสองข้างแนบลำตัว และออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อสะบัก พร้อมบีบเข้าหากลางลำตัว นับ 1-10 แล้วสลับข้าง ทำแบบเดิมซ้ำ 3 เซ็ทต่อวัน
  3. ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบักและหลังส่วนบน โดยยืนตัวตรง พร้อมเหยียดแขนสองข้างไปข้างหน้า มือประสาทกัน แล้วจึงเหยียดแขนให้สุด เอนศีรษะไปด้านหน้าเล็กน้อย นับ 1-10 แล้วสลับข้าง ทำแบบเดิมซ้ำ 3 เซ็ทต่อวัน
  4. ท่ายืดกล้ามเนื้อ ท่านี้ให้นั่งบนเก้าอี้ครึ่งก้น แยกขาออกและค่อยๆ ก้มตัวลงมา โดยใช้มือด้านซ้ายจับที่ข้อเท้าขวา นับ 1-10 แล้วสลับข้าง ทำแบบเดิมซ้ำ 3 เซ็ทต่อวัน

เราจะป้องกันอาการปวดสะบักได้อย่างไร

อาการปวดสะบักเป็นอาการที่สามารถป้องกันได้ เพียงเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ได้แก่ 
 

  • หาช่วงเวลาระหว่างวันเพื่อยืดเส้นยืดสาย หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน
  • ปรับท่านั่งและท่ายืนให้ถูกสุขลักษณะและเหมาะสมกับสรีระ โดยไม่นั่งหลังค่อม ไม่นั่งเอียงไปท่าซ้ายหรือท่าขวา 
  • สำหรับผู้ที่ต้องยกของหนักบ่อยครั้ง แนะนำให้ยกในท่าที่ถูกต้อง โดยให้งอเข่าก่อนแล้วจึงค่อยๆ ยกของ ทางที่ดีที่สุดแนะนำให้หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • นอนหลับ พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ เพื่อให้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ซ่อมแซมตนเอง
  • ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็น 

ข้อสรุป

อาการปวดสะบักเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมและการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าอาการปวดสะบักจะเป็นอาการที่ดูไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอาการปวดสามารถลุกลามไปยังบริเวณอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้ โดยการรักษาที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการทำกายภาพบำบัด โดยการทำกายภาพบำบัดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น 

หากผู้ป่วยมีอาการปวดสะบัก ปวดไหล่ สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line@samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


References

Julie, M. (2022, Jan 28). What causes shoulder blade pain and How to treat it. Healthline. https://www.healthline.com/health/shoulder-blade-pain

Lynne, E. (2022, Sep 07). An overview of shoulder blade pain. Very well health. https://www.verywellhealth.com/shoulder-blade-pain-possible-causes-and-diagnosis-2248942

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ