บทความสุขภาพ

อาการนิ้วบวม (Swollen Fingers) สัญญาณเตือนจากร่างกายที่ทุกคนควรรู้

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567

นิ้วบวมไม่เจ็บ

เชื่อว่า หลายๆ คนคงเคยเผชิญกับอาการนิ้วบวมแบบไม่ทราบสาเหตุ จู่ๆ ก็เกิดขึ้นแล้วก็ค่อยๆ หายไป จนทำให้หลายๆ คนมองว่า การเกิดอาการคันนิ้วมือบวม นิ้วเท้าบวมนั้นไม่เป็นอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป 

“อาการนิ้วบวม (Swollen Fingers)”  โดยทั่วไปอาจเป็นได้ทั้งบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ในบางรายอาจพบได้ว่า มีอาการบวมทั้งมือ แขน ขา หรือเท้าร่วมด้วย ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน กรณีที่ระดับอาการไม่รุนแรง เราอาจหาวิธีการต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการบวมด้วยตนเองได้ แต่ถ้าหากอาการนิ้วบวมนั้นมีระดับที่รุนแรงล่ะ? นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณควรเข้ารับการรักษาก่อนที่จะสายเกินไป 

ฉะนั้น เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการนิ้วบวม ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการนิ้วบวม สัญญาณเตือนนิ้วบวมแบบไหนควรรีบพบแพทย์ รวมไปจนถึงนิ้วบวม รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ไปเรียนรู้พร้อมๆ กันได้ในบทความนี้ 


สารบัญบทความ

 


นิ้วบวม

นิ้วบวม (Swollen Fingers) คือ การเกิดภาวะคั่งน้ำ (Water retention) หรือของเหลว ณ ที่บริเวณหนึ่งภายในร่างกาย  ทำให้เนื้อเยื่อเหล่านั้น เกิดอาการบวมขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มักจะพบตามบริเวณแขน ขา นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า ซึ่งบางรายอาจเกิดอาการอื่นๆ ตามมาได้ 

โดยทั่วไป กรณีที่ระดับความรุนแรงน้อย อาการนิ้วบวมสามารถบรรเทาลงด้วยเทคนิคต่างๆ จนหายด้วยตนเองได้ แต่บางกรณี โดยเฉพาะกรณีที่มีระดับความรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาให้ตรงจุดต่อไป


อาการนิ้วบวม

นิ้วบวมนิ้วเดียว

อาการนิ้วบวม สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ โดยลักษณะอาการที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

 

  • เกิดอาการนิ้วบวมปวด
  • บริเวณที่นิ้วบวมมีประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวและความยืดหยุ่นลดลง
  • เมื่อสังเกตอาการสักระยะแล้ว พบว่า อาการไม่ดีขึ้น นิ้วบวมตึงเป็นอย่างมาก
  • บางกรณีเกิดอาการคัน บวมแดง ที่บริเวณนั้นๆ ด้วย 
  • ในระดับที่อาการรุนแรงขึ้น พบว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องอืด อาเจียน

นิ้วบวมเกิดจากสาเหตุใด

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น อาการนิ้วบวม สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยเฉพาะหากอาการนิ้วบวมมีระดับความรุนแรงมาก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางประเภทได้ โดยสาเหตุที่มักพบได้บ่อย มีดังนี้

 

  • การเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เช่น เกิดการกดทับหรือกระดูกหัก ได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง
  • เกิดจากการติดเชื้อ
  • กระดูก ข้อต่อ เนื้อเยื่อ หรือกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เกิดการอักเสบ
  • มีภาวะหรือความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น โรคข้ออักเสบ มักมีอาการนิ้วมือบวมหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า
  • มีอาการนิ้วบวมเฉพาะจุด อันเนื่องมาจากเป็นก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cysts) หรือเนื้องอก (Tumor)
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารรสชาติเค็มเกินไป ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการนิ้วบวม

นิ้วโป้งเท้าอักเสบ
 

1. นิ้วบวมจากการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ

เมื่อเราเกิดอุบัติเหตุ ร่างกายจะตอบสนองตามธรรมชาติต่อการบาดเจ็บนั้น และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เพื่อป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอม นำไปสู่กระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย ซึ่งแน่นอนว่า ในขั้นตอนของการอักเสบ อาจแสดงออกมาในรูปแบบอาการนิ้วบวมปวด บวมแดง โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ นิ้วบวมจากการกระแทก เส้นเอ็นฉีกขาด นิ้วซ้นบวม เป็นต้น  
 

2. นิ้วบวมจากการเล่นกีฬา

การเล่นกีฬา ออกกำลังกายหนักๆ หรือการทำกิจกรรมที่อากาศร้อน อย่างเช่น การวิ่ง การเดินป่า อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการนิ้วบวมได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาการนิ้วบวมที่เกิดขึ้นหลังจากเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย อาจไม่เป็นที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากระดับความรุนแรงค่อนข้างน้อย สามารถบรรเทาอาการนิ้วบวมและหายด้วยตนเองได้ เพียงแค่ขยับมือและแขนเท่านั้น 
 

3. นิ้วบวมจากการอักเสบติดเชื้อ

นิ้วบวมอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้และควรพึงระวังเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้ ซึ่งเชื้อที่มีโอกาสเจอได้ ยกตัวอย่างเช่น
 

  • Herpetic whitlow การติดเชื้อเริม มีลักษณะนิ้วบวม เกิดตุ่มเลือดขนาดเล็ก (Blood blister) ที่บริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า
  • Paronychia การติดเชื้อบริเวณฐานเล็บหรือเนื้อเยื่อที่รองใต้แผ่นเล็บ สาเหตุมาจากแบคทีเรียหรือเชื้อรา
  • Felon การติดเชื้อบริเวณปลายนิ้ว มีลักษณะนิ้วบวมปวดหรือนิ้วบวมเป็นหนอง
     

4. นิ้วบวมจากก้อนเนื้อหรือเนื้องอก

ก้อนเนื้อหรือเนื้องอก มีทั้งแบบเนื้อร้ายอย่างมะเร็ง และแบบเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้ ก่อให้เกิดอาการนิ้วบวมได้ โดยเนื้องอกที่สามารถทำให้นิ้วบวมได้ ได้แก่
 

  • เนื้องอกไฟโบรมา (Fibromas) เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ประกอบไปด้วย เนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดพิเศษ หรือเนื้อเยื่อเส้นใย
  • เนื้องอกไขมัน (Lipomas) เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เป็นเซลล์ไขมันที่เจริญเติบโตอยู่ระหว่างผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อ
  • เนื้องอกเมลาโนมา (Melanomas) เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง ที่เกิดจากเซลล์เมลาโนไซต์ที่ผลิตเม็ดสีในผิวหนังมนุษย์       
                                                                    

5. นิ้วบวมจากภาวะหรือโรคต่างๆ

บางกรณี อาการนิ้วบวมอาจมาจากการเกิดภาวะหรือโรคต่างๆ เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณควรเข้ารับการตรวจร่างกายโดยเร็ว ซึ่งภาวะหรือโรคที่อาจเป็นไปได้ มีดังนี้
 

  • โรคข้ออักเสบ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดและมีหลากหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ที่ส่งผลต่อบริเวณข้อต่อโดยตรง มีลักษณะอาการข้อนิ้วบวมตึง สามารถพบได้ทั้งข้อมือและข้อเท้า ส่วนโรคข้อเข่าเสื่อม(Osteoarthritis) เป็นการที่กระดูกอ่อนสึกหรอทั้งด้านรูปร่างและโครงสร้าง จึงเกิดเป็นการบวมที่บริเวณข้อต่อต่างๆ
  • ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) เป็นภาวะคั่งของของเหลวที่เกิดจากการอุดตันภายในระบบต่อมน้ำเหลือง (Lymphatic System) เมื่อร่างกายไม่สามารถไหลเวียนน้ำเหลืองได้ตามปกติ ก็จะทำให้มีโอกาสเกิดการคั่งของเหลวที่บริเวณนิ้วมือ มือ นิ้วเท้า หรือเท้าได้ ซึ่งภาวะเหล่านี้ ไม่ได้มีแค่อาการนิ้วบวมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดอาการอื่นๆตามมาได้ เช่น สีผิวหรือสภาพผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง มีแผลพุพอง หรือของเหลวไหลออกมาจากร่างกาย
  • โรคเก๊าท์ (Gout) เป็นความผิดปกติทางร่างกายที่ไม่สามารถขับกรดยูริก (Monosodium Urate) ออกมาได้ ทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริก (Uric Acid) สูง ส่งผลให้เกิดข้อนิ้วบวม ปวดตามข้อกระดูกต่างๆ  
     

6. นิ้วบวมจากการรับประทานอาหาร

บุคคลที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารรสชาติเค็มสูง อาจเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เนื้อเยื่อกักเก็บน้ำมากจนเกินไป จนเกิดอาการบวมหรือคั่งที่จุดใดจุดหนึ่งของร่างกายได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่นิ้วบวมจากการรับประทานอาหารรสชาติเค็ม มักจะมีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถควบคุมปริมาณโซเดียมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำให้อาการนิ้วบวมหายไปได้
 

7. นิ้วบวมจากอาการแพ้

นิ้วบวมจากอาการแพ้ (Allergic Reaction หรือ Angioedema) เป็นการที่ของเหลวเกิดการสะสมภายใต้ผิวหนัง ซึ่งมักมาพร้อมกับอาการลมพิษขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมักพบได้ที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงสามารถเกิดที่บริเวณนิ้วได้และอาจมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น ผื่นแดง หรือเกิดการบวมเฉพาะจุด หรือทั่วร่างกาย

อาการแพ้เหล่านี้ อาจมาจากการที่ผิวหนังไปสัมผัสกับสารที่ก่อภูมิแพ้หรือก่อให้เกิดการระคายเคืองโดยตรง เช่น สบู่ น้ำหอม เครื่องสำอาง ผงซักฟอก เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาสารระคายเคือง เพื่อการหลีกเลี่ยงและรับมือในอนาคตต่อไป โดยคุณสามารถบรรเทาอาการระคายเคืองได้จากการล้างมือด้วยน้ำเย็นสะอาด สบู่ที่มีส่วนผสมอ่อนโยนต่อสภาพผิวและปราศจากน้ำหอม
 

8. นิ้วบวมจากการตั้งครรภ์

หากมีอาการนิ้วบวมกระทันหันขณะตั้งครรภ์ หรือบริเวณมือและใบหน้าเกิดอาการบวม นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งปัญหานี้อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง และมีปัญหาในการมองเห็นร่วมด้วย หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบโดยเร็ว


นิ้วบวม เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

สัญญาณเตือนจากร่างกายที่บ่งบอกว่า คุณควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็ว มีดังนี้

 

  1. ผิวหนังมีอาการบวม แดง แตกลาย 
  2. ลักษณะพื้นผิวมีความมันวาว กดลงไปแล้วเกิดรอยลึก
  3. มีอาการหายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอกร่วมกับมีอาการบวมที่ขา
  4. มีความถี่ในการเกิดอาการนิ้วบวมบ่อยครั้ง
  5. ระดับความรุนแรงของอาการไม่ลดลง เช่น เกิดนิ้วห้อเลือดบวมเป็นระยะเวลานาน
  6. มีเหตุการณ์ที่ทำให้สงสัยได้ว่า อาจเกิดการติดเชื้อ
  7. นิ้วบวมช้ำ บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุ

การวินิจฉัยอาการนิ้วบวม

นิ้วโป้งบวมเกิดจาก

เมื่อคุณตัดสินใจเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจสอบอาการที่เป็นอยู่ ผู้เชี่ยวชาญจะทำตามขั้นตอนในการวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
 

1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย

ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนิ้วบวม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์  ภาวะหรือโรค ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ ยาที่รับประทาน ฯลฯ อีกทั้งยังตรวจสอบส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อเช็คผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมด้วย 
 

2. การตรวจสภาพข้อนิ้ว

  • เอกซเรย์ เพื่อตรวจดูความเสียหายและความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น กระดูกข้อต่อหัก 
  • อัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจดูความเสื่อม การอักเสบ ของเส้นเอ็น ข้อต่อ เนื้อเยื่อ หรือถุงน้ำที่เกิดขึ้น
  • MRI เพื่อตรวจดูความรุนแรงของอาการหรือโรคที่เกิดขึ้น
     

3. การเจาะข้อ

การเจาะข้อ เป็นการตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในข้อ หรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อ เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการข้อนิ้วบวม ปวดข้อต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นผลจากการติดเชื้อ หรือเกิดโรคบางอย่างขึ้นหรือไม่


วิธีรักษาอาการนิ้วบวม

นิ้วเท้าอักเสบบวม
 

1. การรักษาด้วยการใช้ยา

การรักษาด้วยการใช้ยา ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจสอบและจ่ายยาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยยาที่มักใช้ในการรักษาอาการนิ้วบวม ได้แก่…

 

  • ยาต้านการอักเสบ อย่างเช่น กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Antiinflammatory Drugs หรือ NSAIDs) สามารถเข้าไปบรรเทาอาการบวมที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอาการบวมที่เกิดจากโรคข้ออักเสบ
  • ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide), ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เพื่อให้ร่างกายขับของเหลวส่วนเกินออกมา 
  • ยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการนิ้วบวมตึงคัน จากการระคายเคืองสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ หรือการเกิดผื่น ลมพิษ
  • บางกรณีอาจให้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนังในบริเวณนั้นๆ
     

2. การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด สามารถช่วยให้เราได้เรียนรู้วิธีในการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ลดอาการอักเสบ อาการบวมที่เกิดขึ้น และยังเป็นวิธีที่สามารถทำควบคู่ไปกับการใช้ยาได้อีกด้วยวิธีการทำกายภาพบำบัด  เพื่อบรรเทาอาการนิ้วบวมนั้น ผู้เชี่ยวชาญจะฝึกสอนการติดเทปทางการแพทย์ในลักษณะต่างๆ บริเวณข้อนิ้วที่เกิดอาการบวม เพื่อลดการใช้งานข้อต่อ หรือการงอนิ้วในช่วงแรก

เมื่อนิ้วไม่ค่อยมีการขยับหรือการใช้งาน อาการบวม ปวดต่างๆ จะบรรเทาลง และสามารถฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ด้วยการใช้ท่าบริหารนิ้วมือ
 

3. การรักษาด้วยการฉีดยา

การรักษาด้วยการฉีดยา จะมีความคล้ายคลึงกับการรักษาด้วยการใช้ยา เพียงแต่อยู่ในรูปแบบของยาฉีด โดยการรักษาประเภทนี้ บางกรณีอาจใช้เป็นการฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการบวมที่เกิดขึ้น
 

4. การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ระดับความรุนแรงสูง เช่น ตรวจพบอาการนิ้วบวมที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือเนื้องอก ก็จะทำให้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อกำจัดเชื้อเหล่านั้นและหยุดการแพร่กระจายเชื้อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย


นิ้วบวมประคบร้อนหรือประคบเย็น

นิ้วบวมช้ำ

การประคบร้อนและการประคบเย็น มีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการที่แตกต่างกัน โดยเราสามารถเลือกการประคบให้เหมาะกับระดับอาการ ดังนี้
 

การประคบเย็น

เมื่อคุณเกิดอาการนิ้วบวมขึ้น ในช่วงแรกคุณควรบรรเทาอาการบวมด้วยการประคบเย็น ซึ่งสามารถหาอุปกรณ์ได้อย่างง่ายได้ เช่น น้ำแข็ง น้ำเย็น หรือเจลเย็น เป็นต้น 

วิธีการประคบเย็น คือ ให้คุณประคบเย็นลงบริเวณที่มีอาการปวด บวม โดยประคบทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละประมาณเพียง 20 นาที และยกแขนหรือขาข้างที่มีอาการขึ้นสูง เพื่อให้ของเหลวที่เกิดการคั่งค้าง ไหลออกจากบริเวณที่ได้รับผลกระทบ จึงทำให้วิธีการประคบเย็น สามารถลดอาการปวดและบวมได้
 

การประคบร้อน

การประคบร้อน จะใช้ในช่วงหลังที่อาการบวมต่างๆ ลดลงแล้ว หรืออาการค่อนข้างดีขึ้น เมื่อสัมผัสแล้วไม่พบความร้อน ณ บริเวณที่บวม จึงจะใช้วิธีการประคบร้อนได้จนกระทั่งอาการต่างๆ หายเป็นปกติ


แนวทางการป้องกันนิ้วบวม

นิ้วซ้นบวม

หากคุณไม่อยากมีอาการนิ้วบวม คุณสามารถดูแลตนเองตามคำแนะนำได้ ดังนี้

 

  • ควบคุมปริมาณโซเดียมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือชนิดสารระคายเคืองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้
  • หมุนแขนไปทางข้างหน้าและข้างหลัง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
  • ระหว่างออกกำลังกาย เหยียดนิ้วกว้างและกำมือหลายๆครั้ง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนและป้องกันการสะสมของเหลวในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับที่รัดแน่นจนเกินไป
  • นวดบริเวณนิ้ว ข้อนิ้ว มือ และเท้าเบาๆ เป็นประจำ 
  • ทำท่าบริหารนิ้วมือ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรง

ข้อสรุป

อาการนิ้วบวม คือการคั่งน้ำหรือของเหลว ณ บริเวณหนึ่งของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการบวมขึ้นมา สามารถพบได้บ่อยตามส่วนของแขน ขา นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า ซึ่งสาเหตุมีได้หลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การอักเสบ ติดเชื้อ ผลข้างเคียงจากยา การเกิดเนื้องอก รวมไปจนถึงการเกิดภาวะหรือโรคต่างๆ โดยไม่รู้ตัว 

ฉะนั้น การหมั่นสังเกตความผิดปกติ ดูแลตนเอง รวมไปจนถึงการตรวจสุขภาพอย่างเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการนิ้วบวม หรือโรคอื่นๆที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายเราได้ หากพบความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ควรมองข้าม และควรรีบเข้ารับการตรวจรักษา เพื่อความปลอดภัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

หากสนใจเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือเข้ารับการรักษาโรคต่างๆ ที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้คำแนะนำและดูแลคุณในทุกอาการ ไม่ว่าจะเอ็นข้อมืออักเสบ นิ้วล็อค หรือแม้กระทั่งโรคที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด อย่างการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผ่าตัดสะโพก ทางเราก็พร้อมที่จะให้บริการคุณ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้คุณมั่นใจเหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน สนใจรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อเราได้ที่  Line: @samitivejchinatown หรือ เบอร์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง


เอกสารอ้างอิง

Ambardekar, N. (2021, February 09). Reasons Why Your Fingers Are Swollen. WebMD. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/ss/slideshow-swollen-fingers-reasons

Guo, L. (n.d.). Swollen Fingers What Are They, Causes, Treatment, and More. Osmosis from elsevier. https://www.osmosis.org/answers/swollen-fingers#:~:text=Swollen%20fingers%20refers%20to%20the,medication%20side%20effects%2C%20and%20injury.

Lewsley, J. (2021, April 21). What can cause swelling in one finger?. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/one-swollen-finger

Lockett, E. (2021, February 10). What Causes Swollen Fingers and How to Treat Them. Healthline. https://www.healthline.com/health/swollen-fingers#rare-causes

Swollen Fingers. (n.d.). American Society for Surgery of the Hand. https://www.assh.org/handcare/condition/swollen-fingers


 

 

บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ