บทความสุขภาพ

อาการข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวม สาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

บทความโดย: วันที่อัพเดท: 26 มีนาคม 2567
ข้อเท้าบวม

ทำไมเวลานั่งหย่อนขานานๆ แล้วข้อเท้าบวม รู้สึกตึงบริเวณตาตุ่ม ? ความจริงแล้วอาการข้อเท้าบวมปวดเป็นภาวะที่เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การยืนเป็นเวลานานๆ นั่งหย่อนขานานๆ หรือข้อเท้าบวมจากโรคประจำตัว และยาบางชนิด เป็นต้น แม้ว่าอาการข้อเท้าบวมตรงตาตุ่มด้านใน จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด แต่กลับมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เวลาเดิน นั่ง หรือเวลาทำกิจกรรมต่างๆ รู้สึกไม่สะดวก

 

นอกจากนี้หากมีอาการข้อเท้าบวม หรือ ตาตุ่มบวม อาจจะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างจากร่างกายที่กำลังบอกว่าคุณกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับภาวะข้อเท้าบวม สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อเท้าบวม พร้อมทั้งแนะแนวทางวิธีรักษาและป้องกันอาการข้อเท้าบวม
 


สารบัญบทความ

 


ข้อเท้าบวม

ข้อเท้าบวม สาเหตุ

อาการข้อเท้าบวม (Swollen Feet) เป็นภาวะที่มีอาการบวมตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนถึงบริเวณหน้าแข้ง บางรายอาจจะมีอาการข้อเท้าบวมข้างเดียว หรือสองข้างพร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการข้อเท้าบวม และมักพบที่เท้าหรือขา มากกว่าแขน 

 

ทั้งนี้อาการข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวม สามารถหายไปได้เอง หรือบางรายที่มีอาการข้อเท้าบวมรุนแรงไม่หายสักที ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ แม้ว่าอาการข้อเท้าบวมจะสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาการข้อเท้าบวมอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่คุณคาดไม่ถึง
 


ข้อเท้าบวมเกิดจากสาเหตุใด

ข้อเท้าบวม ข้อเท้าแพลง

ข้อเท้าบวมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของอาการมักมาจากความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่

1. ข้อเท้าบวมจากอาการบาดเจ็บ

อาการข้อเท้าบวม อักเสบจากอาการบาดเจ็บ เป็นสาเหตุที่สามารถพบได้บ่อยมากที่สุด ส่วนใหญ่มักเกิดจากข้อเท้าแพลง ทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อเท้ายืดมากผิดปกติ และเส้นเอ็นอักเสบส่งผลให้ข้อเท้าบวม ทั้งนี้หากเป็นอาการข้อเท้าบวมจากการข้อเท้าแพลงสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่ถ้าหากข้อเท้ามีอาการบวมรุนแรง ร่วมกับรู้สึกปวดมาก จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาทันที 

2. ข้อเท้าบวมจากการอักเสบติดเชื้อ

การติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง หรือ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Cellulitis) มักเกิดกับผู้ที่เคยมีประวัติแผลมาก่อน เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณผิวหนังจากบาดแผล เช่น เหยียบของมีคม ถูกสัตว์กัด หรือแผลจากการถูกบาดด้วยของมีคม นอกจากอาการบวมบริเวณข้อเท้าแล้ว หากเป็นการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ข้อเท้าที่บวมมักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อสัมผัสบริเวณนั้นแล้วจะรู้สึกอุ่นๆ 

 

หากเป็นอาการข้อเท้าบวมจากการติดเชื้อบางรายสามารถหายเองได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชเท่านั้น 

3. ผลข้างเคียงจากยา

ผลข้างเคียงของยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้อเท้าบวมได้ ได้แก่ ยาฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด, ยาลดความดันโลหิต, ยาสเตียรอยด์, ยาต้านเศร้า (Antidepressants), ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาแก้ปวดเข่า และยารักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น ทั้งนี้หากมีอาการข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวม หลังจากใช้ยา ควรไปพบแพทย์เพื่อปรับปริมาณยาให้เหมาะสม 

4. ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

อาการข้อเท้าบวมมักเกิดในช่วงไตรมาสที่3 หรือ สัปดาห์ที่ 28 ขึ้นไปของผู้ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถมีอาการบวมที่บริเวณอื่นนอกจากข้อเท้าได้ เช่น แขน ขา และ หน้า เป็นต้น 

 

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ที่มีอาการข้อเท้าบวมเฉียบพลันหรืออาการรุนแรง อาจจะมีสาเหตุมาจากการครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) หากคุณแม่ท่านใดที่มีอาการข้อเท้าบวมเฉียบพลัน ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ 

5. ผลข้างเคียงจากภาวะหรือโรคต่างๆ

- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Chronic Venous Insufficiency: CVI)

มักพบอาการข้อเท้าบวมในคนไข้ที่ไม่ได้ขยับขา คนไข้นอนติดเตียง คนไข้หลังผ่าตัด หรือ คนที่รับประทานยาคุมกำเนิด ทั้งนี้หากเกิดอาการข้อเท้าบวม ขาบวมกับผู้ป่วยที่กล่าวไปข้างต้น สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดดำ 

 

- ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)

ภาวะบวมน้ำเหลืองเป็นการค้างสะสมของน้ำเหลืองภายใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดการอุดตันบริเวณทางเดินน้ำเหลือง มักแสดงอาการบวมของโรคที่ขา แขน รวมไปถึงข้อเท้า นอกจากนี้ผิวจะมีสีคล้ำและหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้สามารถเกิดการอักเสบใต้ผิวหนัง และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ 

 

- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

เป็นโรคที่มีการอักเสบตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อเท้าอักเสบ เกิดจากระบบภูคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ นอกจากนี้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักมีอาการปวด และบวมตามบริเวณ ข้อมือ ขา แขน ข้อเท้า เข่า และคอ โดยมักจะแสดงอาการของโรคพร้อมๆ กัน 

 

- โรคหัวใจ โรคไต 

โรคหัวใจและโรคไต สามารถทำให้เกิดอาการข้อเท้าบวมได้ เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้หมด และเมื่อร่างกายมีของเหลวมากเกิดไปจึงทำให้เกิดอาการบวมบริเวณข้อเท้า เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกดึงให้น้ำไหล่มากองกันอยู่บริเวณเท้า หรือ ข้อเท้า อาการข้อเท้าบวมจากโรคหัวใจ โรคไต มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ 

 

ทั้งนี้แม้ว่าอาการข้อเท้าบวมจะมีอาการของโรค คล้ายกับเข่าบวม แต่มีสาเหตุและวิธีรักษาแตกต่างกัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ข้อเข่าบวม
 


ข้อเท้าบวมบริเวณตาตุ่ม

ข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวม

สำหรับผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวมบริเวณตาตุ่มข้างนอก มักเกิดจากถุงน้ำบริเวณตาตุ่มอักเสบ เนื่องจากนั่งพับเพียบ หรือ นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานๆ และใส่รองเท้าที่เสียดสีบริเวณตาตุ่มทำให้ตาตุ่มอักเสบและบวมขึ้นมา แม้ว่าอาการข้อเท้าบริเวณตาตุ่มบวมจะไม่เจ็บ และไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ถ้าหากปล่อยไว้และติดเชื้ออาจจะทำให้เกิดหนอง และจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาหนองออก 

 

ทั้งนี้สาเหตุของข้อเท้าบวม และตาตุ่มบวม มีสาเหตุต่างกัน และวิธีการรักษาต่างกัน จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ถูกวิธี

 

อาการข้อเท้าบวมเป็นอย่างไร

อาการข้อเท้าบวมมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรง ทั้งนี้อาการข้อเท้าบวมที่สามารถพบได้ ได้แก่ 

 

- เท้า หรือ ข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวมขึ้นมาอย่างผิดสังเกต
- ​เมื่อสัมผัสบริเวณที่บวมจะรู้สึกว่าผิวนิ่มกว่าปกติ หรือ หากลองกดไปบริเวณที่บวมจะเห็นรอยบุ๋มได้อย่างชัดเจน 

- สีผิวบริเวณข้อเท้าบวมมีสีซีดกว่าผิวหนังปกติ หรือ มีสีเท่ากับผิวปกติ 

 

ทั้งนี้อาการข้อเท้าบวมทั่วไปสามารถบรรเทาด้วยการยกขาขึ้นสูงกว่าหัวใจ แต่ถ้าหากเป็นอาการข้อเท้าบวมที่มีสาเหตุมาจากโรคประจำตัว หรือ การใช้ยาบางชนิด สามารถทำให้อาการข้อเท้าบวมรุนแรง และกลายเป็นอาการบวม หรืออาการข้อเท้าอักเสบเรื้อรังได้


การวินิจฉัยอาการข้อเท้าบวม

ข้อเท้าบวม การวินิจฉัยของแพทย์

การวินิจฉัยอาการข้อเท้าบวมเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติของคนไข้ เพื่อหาปัจจัยที่ทำให้ข้อเท้าบวม มีอาการบวมบริเวณใด หรือ บวมมากที่สุดช่วงเวลาไหน พร้อมทั้งประวัติโรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยการวินิจฉัยอาการข้อเท้าบวมนอกจากการซักประวัติเบื้องต้นแล้ว ยังสามารถใช้วิธีอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยโรคได้ ดังนี้  

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นการตรวจเพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ค่าเกลือแร่ในร่างกาย, ความสมบูรณ์ของเมล็ดเลือด และตรวจการทำงานของตัวและไต 

การเอกซเรย์

การเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยโรค เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เนื้อเยื่อและกระดูก วิธีนี้มักใช้ตรวจผู้ป่วยข้อเท้าบวม ที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ หกล้ม ตกจากที่สูง ทำให้ข้อเท้าแพลง เป็นต้น 

การอัลตร้าซาวด์ 

การอัลตราซาวด์ข้อเท้าบวมเป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงที่สามารถระบุความผิดปกติของอวัยวะ หลอดเลือด และเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกายได้ 

 

ทั้งนี้การวินิจฉัยอาการข้อเท้าบวม หรือ ตาตุ่มบวม แต่ละวิธีนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการของโรค ความรุนแรงของโรค และ ดุลพินิจของแพทย์แต่ละคน
 


แนะนำวิธีรักษาข้อเท้าบวม

วิธีรักษาข้อเท้าบวม ข้อเท้าแพลงส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับอาการ สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ได้ดังนี้

วิธีรักษาข้อเท้าบวมเบื้องต้นด้วยตัวเอง

 
รักษาข้อเท้าบวม

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวม ไม่รุนแรง ไม่เจ็บมากนัก ที่มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บเล็กน้อย สามารถบรรเทาอาการปวดและรักษาอาการบวมได้ด้วยตนเอง ดังนี้ 

 

- ยกขาขึ้นสูงกว่าหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี 

- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสเค็ม เนื่องจากอาหารที่มีรสเค็ม หรือ เกลือ สามารถทำให้เกิดอาการบวมได้ 

- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดบริเวณที่บวม เพื่อลดการเสียดสี 

- เหยียดหรือยืดข้อเท้าบ่อยๆ วิธีนี้สามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น 

- ใช้ผ้ารัดข้อเท้า เพื่อลดอาการบวมของข้อเท้า 

- สำหรับผู้ที่มีอาการตาตุ่มบวม ให้หลีกเลี่ยงการเสียดสีบริเวณตาตุ่ม 
 

วิธีรักษาข้อเท้าบวมทางการแพทย์

วิธีรักษา ข้อเท้าบวม

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวมรุนแรง และผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวมจากโรค ทำให้ไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้หมด เบื้องต้นแพทย์จะให้ยาขับปัสสาวะกับผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวม เพื่อกำจัดน้ำออกจากร่างกายเพื่อลดอาการบวมน้ำลง ทั้งนี้การใช้ยาขับปัสสาวะจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น 

 

และผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวมที่มีสาเหตุจากการใช้ยาบางชนิด จำเป็นต้องกลับไปพบแพทย์ที่ยาจ่ายที่ทำให้เกิดอาการข้อเท้าบวมเพื่อปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือ หากยาชนิดนั้นทำให้เกิดอาการเท้าบวมอย่างรุนแรงอาจจะจำเป็นต้องหยุดยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงและดุลพินิจของแพทย์
 


ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากข้อเท้าบวม

อาการข้อเท้าบวมหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำการรักษาสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนอาการข้อเท้าจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดอาการข้อเท้าบวม หากเป็นเพียงภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง อาจจะทำให้รู้สึกเดินวิ่งไม่สะดวก 

 

แต่ถ้าหากเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรง อาจจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ข้อเท้าบวมเปลี่ยนสี มีแผลเปื่อย และเกิดการติดเชื้อในที่สุด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงสามารถทำให้เกิดเป็นฝีหรือ เนื้อเยื่ออักเสบที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

แนวทางการป้องกันข้อเท้าบวม

วิธีป้องกันข้อเท้าบวม

สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการพบปัญหาข้อเท้าบวม สามารถปฏิบัติตามแนวทางป้องกันข้อเท้าบวม หรือ ตาตุ่มบวม ดังนี้ 

 

- หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นระยะเวลานานๆ ควรลุกขึ้นเดินบ่อยๆ ในระหว่างวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ของเหลวลงไปคั่งบริเวณเท้า 

- ดื่มน้ำวัน 2 - 3 ลิตร เพื่อช่วยในการขับของเหลวออกมาจากปัสสาวะ นอกจากนี้การดื่มน้ำสามารถช่วยป้องกันอาการข้อเท้าบวมได้

- หลีกเลี่ยงการรับประทานเกลือ และอาหารที่มีรสเค็มจัด 

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยทำให้การทำงานของระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดอาการข้อเท้าบวมได้ 

- หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ หรือ การนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานๆ
 


ข้อสรุป

อาการข้อเท้าบวม หรือ ตาตุ่มบวม ส่วนใหญ่มักมาจากอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณข้อเท้า เช่น หกล้ม ตกจากฟุตบาท ทำให้ข้อเท้าแพลง ทั้งนี้อาการข้อเท้าบวมไม่รุงแรงสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าหากเป็นอาการข้อเท้าบวมจากโรคและการรับประทานยาบางชนิด จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และปรับเปลี่ยนขนาดยาให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วย 
 

สำหรับผู้ที่มีอาการข้อเท้าบวมวิธีรักษาที่ดีที่สุด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาทันที เนื่องจากอาการข้อเท้าบวม สามารถทำให้กลายเป็นอาการเรื้อรังและเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากในอนาคต 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติข้อเท้าบวม ตาตุ่มบวม สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์
บทความและสุขภาพอื่นที่น่าสนใจ