Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

โรคต้อหิน Glaucoma เกิดจากอะไร อาการและวิธีรักษายังไงให้หายขาด

 โรคต้อหิน คือโรคทางตา เกิดจากความดันลูกตาสูง มีหลายชนิด ต้อหินเฉียบพลัน ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมเปิด อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษา ยารักษาต้อหินรักษาหายไหม รักษาต้อหิน หายขาดได้หรือเปล่า

โรคต้อหิน คือโรคที่เกิดขึ้นได้กับดวงตาโดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยทองและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็นโรคต้อหิน เนื่องจากไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอกเลย รู้ตัวอีกทีผู้ป่วยก็มักจะสูญเสียการมองเห็นไปเกือบทั้งหมดแล้ว

แม้จะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ แต่โรคต้อหินไม่ใช่โรคอันตรายหากพบเร็วสามารถควบคุมอาการได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคด้วย แต่ต้อหินคืออะไร? รักษาหายไหม? อันตรายหรือเปล่า? สามารถป้องกันได้อย่างไร?
 


สารบัญบทความ
 

 


 

โรคต้อหิน (Glaucoma) คือ

ต้อหิน โรคต้อหิน คืออะไร?
 

ต้อหิน หรือ Glaucoma คือความผิดปกติหนึ่งที่เกิดกับดวงตา คนไทยเราจะเรียกรวมโรคเกี่ยวกับดวงตาว่าเป็นโรคต้อ โดยโรคต้อนี้มีด้วยกัน 4 โรค ได้แก่ ต้อหิน ต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจก แต่ละโรคจะมีสาเหตุของโรค อาการ วิธีการรักษา และความรุนแรงที่แตกต่างกันไป 

โดยต้อหินนี้ นับว่าเป็นโรคต้อที่รุนแรงมากที่สุด เนื่องจากเป็นโรคเดียวที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด และสามารถทำให้ตาบอดได้อย่างถาวรหากไม่รักษา

 


 

ต้อหินเกิดจากสาเหตุใด

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ต้อหินเกิดจากอะไร โดยต้อหิน เกิดจากเซลล์เส้นใยประสาทในลูกตาลดจำนวนลง จนทำให้ขั้วประสาทตา หรือ Optic disc เสื่อมสภาพลง 

โดยปกติแล้วใยประสาทเหล่านี้จะทำหน้าที่รับภาพ และส่งสัญญาณประสาทไปที่สมองเพื่อให้สมองแปลงกระแสประสาทออกมาเป็นภาพ ถ้าเส้นประสาทเหล่านี้ลดลง ภาพที่ส่งไปยังสมองได้ก็จะมีขอบเขตน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินส่วนใหญ่จะเริ่มจากการมองไม่เห็นภาพด้านข้าง ด้านบน ด้านล่าง และบีบเข้ามาเรื่อยๆ แต่ยังเห็นภาพตรงกลางชัดตามปกติ

ซึ่งการที่ผู้ป่วยโรคต้อหินจะยังเห็นภาพตรงกลางสายตาชัดเจนตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็นโรคต้อหิน และมาพบแพทย์เมื่อเริ่มมองไม่เห็นภาพกลางสายตาแล้ว หรืออาจจะมีอาการที่คิดว่าเป็นสายตายาวหรือสายตามัว ก็อาจจะเกิดการชะล่าใจทำให้เข้ารับการรักษาที่ช้าเกินไป หรือบางรายอาจจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมก็เป็นได้

อาการขั้วประสาทตาเสื่อมสาเหตุของโรคต้อหิน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเองจากการที่อวัยวะต่างๆเริ่มเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้และเป็นสาเหตุที่สามารถควบคุมได้คือความดันในลูกตาสูงกว่าปกติ (สูงกว่า 22 มิลลิเมตรปรอท) เมื่อความดันสูง ความดันจะไปกดทับจอประสาทตาทำให้เส้นใยประสาทได้รับผลกระทบและเสื่อมสภาพลง

ความดันลูกตาสูงเกิดจากอะไร? โดยปกติแล้วน้ำในตาจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวลำเลียงสารอาหารภายในลูกตา และลำเลียงของเสียออกจากลูกตา โดยน้ำจะไหลออกจากดวงตาผ่านทางช่องระหว่างเลนส์ตาและม่านตามาที่ชั้นหลังกระจกตา แล้วจึงระบายน้ำออกที่ช่องระบายน้ำระหว่างรอยต่อของกระจกตาดำและตาขาว

 

ต้อหิน โรคต้อหิน เกิดจากการระบายน้ำในลูกตามีปัญหา

หากช่องระบายน้ำในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งถูกปิด น้ำจะขังอยู่ในลูกตา ในขณะเดียวกันลูกตาก็ยังคงสร้างน้ำในดวงตาต่อไป ทำให้น้ำในตามากเกินไปจนความดันลูกตาสูงขึ้น เหมือนลูกโป่งที่ถูกเติมน้ำไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งความดันนี้จะไปดันเนื้อเยื่อจนกดทับเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย ขั้วประสาทตาเสื่อม เกิดเป็นโรคต้อหินนั้นเอง
 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดโรคต้อหิน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหินส่วนใหญ่ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ดวงตาเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหมุนเวียนของน้ำในลูกตา เช่น อายุมาก เคยเกิดโรค เกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือมีพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เคยเป็นโรคต้อหิน

ต้อหินมีโอกาสส่งต่อผ่านพันธุกรรมได้ ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน คนในครอบครัวเดียวกันก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินเพิ่มขึ้น 4 - 5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคต้อหิน
 

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน

 

  • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยเป็นโรคที่มีผลต่อการไหลเวียนเลือด เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่องที่อาจสร้างผลเสียกับเส้นเลือด เช่น โรคลูปัสหรือ SLE เพราะอาจจะทำให้เลือดที่ไหลเวียนในช่วงขั้วประสาททำงานผิดปกติจนทำให้เซลล์ในบริเวณนั้นเสียหายจนเสื่อมสภาพได้
  • ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงกว่าค่าปกติ
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหิน
  • ผู้ที่ใช้ยาหยอดตาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์
  • ผู้ที่เป็นโรค หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาทั้งโดยกำเนิดและเกิดขึ้นภายหลัง เช่น ลูกตาอักเสบ มีปานแดงหรือปานดำผ่านตวงตา เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือเคยเข้ารับการผ่าตัดเกี่ยวกับดวงตา
  • ผู้ที่ดวงตามีลักษณะผิดปกติบางอย่างจนเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน เช่น กระจกตาบาง สายตาสั้นหรือยาวมากเกินไป

 


 

ต้อหินมีกี่ชนิด อะไรบ้าง

ชนิดของต้อหิน จะแบ่งออกตามลักษณะของสาเหตุการเกิดโรค โดยจะแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ต้อหินปฐมภูมิ และต้อหินทุติยภูมิ
 

1. ต้อหินปฐมภูมิ (Primary Glaucoma)

ต้อหินปฐมภูมิ เป็นต้อหินที่เกิดขึ้นเองในร่างกายโดยไม่ได้มีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิดโรค มีทั้งชนิดที่ขั้วประสาทตาเสื่อมเองจึงตรวจไม่พบความดันในลูกตาสูง และชนิดที่เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาอุดตัน ทำให้ความดันลูกตาสูงจนขั้วประสาทตาเสื่อม

โดยโรคต้อหินที่เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาอุดตันนี้ สามารถแบ่งออกได้ 2 เภทตามลักษณะการอุดตันของทางระบายน้ำ ได้แก่ ต้อหินมุมเปิด และต้อหินมุมปิด

 

ต้อหิน โรคต้อหินมุมเปิด มุมปิด

มุมเปิดหรือมุมปิด หมายถึงอะไร? ดวงตาโดยปกติมุมระหว่างม่านตากับกระจกตาจะเป็นมุมเปิด แต่ในต้อหินบางกรณี ม่านตา (Iris) จะถูกดันให้ยกสูงขึ้นจนเกิดเป็นมุมปิดที่มุมระหว่างม่านตากับกระจกตานั่นเอง
 

  • ต้อหินมุมเปิด (Primary Open-angle Glaucoma) 

ต้อหินมุมเปิด เป็นต้อหินที่เกิดจากการอุดตันบริเวณรูระบายน้ำออกนอกดวงตาที่อยู่ระหว่างกระจกตาดำและตาขาว รูระบายน้ำดังกล่าว เรียกว่า Trabecular meshwork มีลักษณะเป็นตัวกรอง เมื่อมีเนื้อเยื่อ หรือวัตถุขนาดเล็กไปอุดตัน จะทำให้น้ำไหลออกจากลูกตาไม่ได้จนความดันลูกตาสูงขึ้น เกิดเป็นต้อหินโดยที่ม่านตาไม่ได้ยกตัวขึ้นจนเกิดเป็นมุมปิดแต่อย่างใด

ต้อหินมุมเปิดอาการจะค่อยเป็นค่อยไป การมองเห็นของผู้ป่วยจะค่อยๆแคบเข้าอย่างช้าๆ หากไม่รักษาจะทำให้ตาบอดในที่สุด ต้อหินมุมเปิดที่เกิดจากการอุดตันของทางระบายน้ำ สามารถรักษาการอุดตันได้ด้วยการหยอดตา แม้จะไม่ได้ทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติ แต่จะไม่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมมากขึ้น การมองเห็นจะไม่แคบลงไป
 

  • ต้อหินมุมปิด (Primary Angle-closure Glaucoma)

ต้อหินมุมปิด เกิดจากม่านตาถูกดันให้ยกตัวขึ้นจนเป็นมุมปิด กั้นไม่ให้น้ำระบายออกทาง Trabecular meshwork จนทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและเกิดเป็นโรคต้อหินในที่สุด โดยต้อหินมุมปิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆ ตามความฉุกเฉินของอาการ ได้แก่
 

    • ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน เป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นอันตราย 
    • ต้อหินมุมปิดเรื้อรัง เป็นต้อหินมุมปิดที่อาการของโรคจะค่อยๆเกิดอย่างช้าๆ อาจจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหัวหรือปวดตาเล็กน้อยเป็นๆหายๆ ซึ่งสามารถวินิจฉันได้ยากมากหากไม่ได้ตรวจดวงตาโดยจักษุแพทย์
 

2. ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma) 

ต้อหินทุติยภูมิ เป็นต้อหินที่เกิดจากการกระตุ้นบางอย่าง ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อม ความดันลูกตาสูง หรือเกิดปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดต้อหิน 

ตัวอย่างของสิ่งกระตุ้น เช่น เคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา เศษหิน หรือวัตถุอื่นๆเข้าตา รุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด ตาอักเสบ มีเนื้องอกในดวงตา เป็นต้อกระจกในขั้นรุนแรง เบาหวานขึ้นตา หรือเคยซื้อยาหยอดตามาใช้เองติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

ต้อหินทุติยภูมิจะถูกเรียกว่าเป็นต้อหินชนิดแทรกซ้อน เนื่องจากมักเกิดตามมาจากโรงทางดวงตาอื่นๆ หรือเกิดหลังการผ่าตัดนั่นเอง
 

3. ต้อหินโดยกำเนิด (Congenital Glaucoma) 

ต้อหินโดยกำเนิด สามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยจะเกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ โรคต้อหินโดยกำเนิดเป็นโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรมเป็นหลัก โดยยีนที่ทำให้เกิดโรคจะเป็นยีนด้อย ลูกจะเกิดโรคนี้ขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะ แต่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียง 25% เท่านั้น

ทั้งนี้อาการของโรคต้อหินโดยกำเนิดสามารถสังเกตได้จากทั้งร่างกายและพฤติกรรมของทารกหรือเด็กเล็ก ดังนี้
 

  • ตาดำขุ่น หรือมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
  • บางรายมีความบกพร่องทางร่างกายร่วมด้วย
  • กลัวแสง ไม่สู้แสง ดวงตากระตุก หรือมีน้ำตาคลอตลอดเวลา

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ หากทิ้งไว้อาจทำให้ตาบอดอย่างถาวรได้

 


 

วิธีสังเกตอาการของโรคต้อหิน

โรคต้อหิน ต้อหิน อาการ

โรคต้อหิน อาการจะสังเกตค่อนข้างยากหากไม่ใช่โรคต้อหินเฉียบพลัน อาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยจะสูญเสียการมองเห็นเรื่อยๆ จากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน ผู้ป่วยบางรายอาจจะปวดหัว หรือปวดตาร่วมด้วย เป็นๆหายๆในระยะเวลานาน หรือบางรายก็ไม่เกิดอาการอื่นขึ้นเลย

อาการของโรคต้อหินอาจค่อยๆแสดงออกกินเวลานานถึง 5 - 10 ปีกว่าจะสูญเสียการมองเห็นไป ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันสังเกตว่าสายตากำลังมีปัญหา ดังนั้นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรเข้าตรวจสายตาทุกปี เพราะหากพบว่าเป็นต้อหินได้เร็ว ก็สามารถควบคุมอาการได้เร็ว โอกาสสูญเสียการมองเห็นก็จะน้อยลงอย่างมาก

วิธีสังเกตอาการของต้อหินด้วยตนเองจะเป็นการตรวจลานสายตาคร่าวๆ โดยการใช้มือปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อตรวจดูการมองเห็นทีละข้าง จะเช็คด้วยการให้มองรอบๆ บน ล่าง ซ้าย ขวา สังเกตว่าขอบเขตในการมองเห็นน้อยลง หรือน้อยกว่าคนทั่วไปหรือไม่ หากเกิดอาการดังกล่าวแสดงว่ามีโอกาสที่จะเป็นต้อหิน ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง

 

อาการของโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน 

อาการของโรคต้อหินเฉียบพลันจะต่างจากต้อหินชนิดอื่นๆ เนื่องจากความดันในลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่ายกายได้รับผลกระทบอย่างฉับพลัน ร่ายกายจึงแสดงอาการของโรคอย่างชัดเจน โดยอาการของโรคต้อหินเฉียบพลันมีดังนี้

 

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ ปวดตาอย่างรุนแรงจากความดันลูกตาสูง
  • การมองเห็นแย่ลงอย่างชัดเจน มองไม่ชัด เห็นภาพมัว เมื่อมองดวงไฟจะเห็นเป็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ
  • ตาแดงขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  • อาจมีอาการกระจกตาบวม หรือมีสีขุ่นร่วมด้วย

หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์โดยด่วย เพราะอาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เร็วกว่าต้อหินแบบอื่นๆ

 


 

ต้อหินทำให้ตาบอดได้อย่างไร

โรคต้อหินเป็นกลุ่มอาการทางดวงตาที่สามารถนำไปสู่การทำลายเส้นประสาทตาได้ และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด แม้ว่า เราจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้เกิดการตอบอดได้ แต่ก็อาจจะเกิดได้จากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น

 

  • เมื่อความดันลูกตา (IOP) เพิ่มขึ้น จะสร้างแรงกดดันต่อเส้นประสาทตา ที่มีหน้าที่ส่งข้อมูลภาพจากตาไปยังสมอง เมื่อเวลาผ่านไป แรงกดที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถทำลายเส้นใยประสาทตา นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นทีละน้อย จนตาบอดในที่สุด
  • ความเสียหายของเส้นประสาทตาในโรคต้อหิน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังเส้นประสาทตามีความบกพร่อง เนื่องจากปริมาณเลือดที่ลดลงอาจนำไปสู่การส่งออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอไปยังเส้นใยประสาท ทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

ดังนั้น เราควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อมีอาการ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการตรวจตาเป็นประจำ รวมถึงการวัดค่า IOP การประเมินเส้นประสาทตา และการทดสอบลานสายตา ก็จะสามารถช่วยตรวจหาโรคต้อหินได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม 

 


 

การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหิน

โรคต้อหิน คือโรคทางตา เกิดจากความดันลูกตาสูง ต้อหินเฉียบพลัน ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมเปิด วินิจฉัยอย่างไร

การตรวจวินิจฉัยต้อหินมีตั้งแต่การตรวจในเบื้องต้น ทั้งการตรวจการมองเห็นทั่วไปด้วยการวัดสายตา รวมถึงการซักประวัติว่ามีผู้ป่วยโรคต้อหินในครอบครัวหรือไม่

แพทย์จะตรวจวัดลานสายตา เพื่อประเมินการทำงานของเส้นประสาทและจอประสาทตาโดยคร่าว และจะตรวจวัดดวงตาในด้านอื่นๆโดยละเอียดหากสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคต้อหิน อย่างการวัดความดันลูกตา ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญปัจจัยเดียวที่สามารถแก้ไขได้

รวมทั้งตรวจดูขั้วประสาท จอตา ดูการกระจายเส้นใยประสาทตา เพื่อสังเกตอาการ และตรวจมุมตาเพื่อหาทางแก้ไขโรคต่อไป

ทั้งนี้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นต้อหินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เนื่องจากต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน

 


 

วิธีการรักษาโรคต้อหิน

ต้อหิน รักษาได้เพียงการลดความดันลูกตาเท่านั้น โดยการทำให้น้ำในลูกตาระบายออกได้ตามปกติ เพราะขั้วประสาทตาที่เสียไปแล้ว หรือค่อยๆเสียด้วยสาเหตุบางอย่างที่ไม่ใช้ความดันลูกตาสูง ไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก

การรักษาโรคต้อหินโดยการลดความดันลูกตา สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่
 

1. การใช้ยารักษาต้อหิน

 

ต้อหิน รักษาหายไหม ยารักษาต้อหิน รักษาต้อหิน หายขาดได้ไหม

ยารักษาต้อหินจะอยู่ในรูปของยาหยอดตา ยาหยอดตารักษาต้อหินจะช่วยลดการสร้างน้ำในลูกตา หรือช่วยให้น้ำในลูกตาระบายออกได้ดีขึ้น เพื่อลดความดันในลูกตา

ผู้ป่วยที่รักษาโรคต้อหินโดยการใช้ยาหยอดตาจำเป็นต้องมีวินัยในการใช้ยามาก เพราะต้องใช้ต่อเนื่องกันในระยะหนึ่ง แพทย์จะนัดติดตามผลเรื่อยๆ เพื่อดูอาการ และดูว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการข้างเคียงหรือไม่ หากผลการรักษาไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยการใช้เลเซอร์ร่วมด้วย
 

2. การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์

 

ต้อหิน รักษาหายไหม รักษาต้อหิน ด้วยเลเซอร์ หายขาดได้ไหม


การรักษาต้อหินด้วยเลเซอร์นั้น มีผลในการควบคุมความดันลูกตา และช่วยให้ดวงตาระบายน้ำออกได้ดีขึ้น แพทย์จะให้ใช้การรักษาด้วยเลเซอร์ก็ต่อเมื่อการรักษาด้วยการหยอดยาอย่างเดียวไม่ได้ผล 

แต่หลังทำเลเซอร์แล้วผู้ป่วยยังคงต้องหยอดตาต่อไป เนื่องจากในผู้ป่วยบางราย เลเซอร์จะไปกระตุ้นให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง แต่ผลการรักษาที่ผิดพลาดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการหยอดตา แม้เหตุการณ์แบบนี้จะพบได้น้อยมากแต่แพทย์จะให้หยอดยาเพื่อป้องกัน และช่วยส่งเสริมการรักษาด้วยเลเซอร์ให้เห็นผลมากยิ่งขึ้น

หลังทำเลเซอร์รักษาโรคต้อหิน ผลการรักษาสามารถอยู่ได้นานตั้งแต่ 1 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล สามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง หลังทำเลเซอร์ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเคืองตา ตาแห้งบ้าง แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

หากการรักษาด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้าย
 

3. การผ่าตัดรักษาต้อหิน

 

ต้อหิน รักษาหายไหม รักษาต้อหิน ด้วยการผ่าตัด หายขาดได้ไหม

 
การผ่าตัดรักษาต้อหินสามารถทำได้สองวิธี วิธีแรกเป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางระบายน้ำ ให้น้ำระบายออกจากลูกตาได้ดีขึ้น หากหลังผ่าตัดแล้วน้ำยังคงระบายออกได้ไม่ดี ความดันในลูกตาไม่ลดลง แพทย์จะใช้การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งเป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำโดยการสอดท่อเล็กๆเพื่อระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาลดลง เป็นการควบคุมความดันในลูกตานั่นเอง

 


 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคต้อหิน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อหินคือการสูญเสียการมองเห็น ซึ่งอาจจะค่อยๆเสีย หรือเสียอย่างรวดเร็วก็ได้ขึ้นอยู่กับชนิด และระยะอาการที่พบ

โรคต้อหินส่วนใหญ่ใช้เวลาแสดงอาการค่อนข้างนาน ตั้งแต่เริ่มเป็นจนถึงสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอาจใช้เวลานานเป็นสิบปี อีกทั้งการมองเห็นยังเริ่มสูญเสียจากรอบนอก ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว เนื่องจากไม่ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

แต่หากเป็นโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน อาการจะชัดเจน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตตามปกติอย่างมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาพบแพทย์ได้ทัน แต่โรคต้อหินชนิดนี้หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาสามารถทำให้สูญเสียการมองเห็นทั้งหมดอย่างถาวรได้ภายใน 7 วันเลยทีเดียว

 


 

วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้เป็นต้อหิน

หากเราได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคต้อหินหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหิน เราควรจะต้องหันกลับมาดูแลตัวเอง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

 

  • หมั่นตรวจตาเป็นประจำกับจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของความดันลูกตา และปรับแผนการรักษาหากจำเป็น หากพบเจอเร็ว ก็สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • ปฏิบัติตามแผนการรักษา ด้วยการใช้ยา ยาหยอดตา หรือการรักษาอื่น ๆ สำหรับโรคต้อหิน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ตรวจสอบการใช้ยาอย่างถูกต้อง ทั้งจำนวนหยด ความถี่ และเทคนิคที่เหมาะสมในการหยอดยา และการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งสำคัญ
  • ดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่จะทำให้โรคมีความรุนแรงขึ้น ด้วยการรับประทานอาหารที่สมดุลและอุดมด้วยผักและผลไม้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ปกป้องดวงตาจากการบาดเจ็บและความเสียหาย สวมแว่นตาป้องกันเมื่อทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น กีฬาหรืองานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย ใช้แว่นกันแดดที่ป้องกันรังสียูวี เป็นต้น
  • ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดที่มากเกินไปอาจทำให้ความดันลูกตาเพิ่มขึ้นได้ เราจึงควรจัดการความเครียด เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจลึก ๆ หรือกิจกรรมที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย

 

อาหารที่ควรทานเมื่อเป็นต้อหิน

 

จากหนึ่งในวิธีการของการดูแลตัวเองเมื่อเป็นต้อหิน คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเราสามารถสรุปอาหารที่ควรทานได้ ดังนี้

 

  • ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า ผักกระหล่ำปลี ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเชื่อว่ามีผลในการปกป้องดวงตา
  • ผักและผลไม้หลายสี เช่น แครอท ส้ม เบอร์รี่ และพริกหยวก ซึ่งอุดมด้วยวิตามิน A, C และ E สูงรวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาได้
  • กรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาที่มีไขมัน (ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน) เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเชีย และวอลนัท โอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพดวงตา
  • ถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ ถั่วบราซิล เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ซึ่งให้วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตา
  • ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ควินัว ขนมปังโฮลวีต ข้าวโอ๊ต โดยให้สารอาหารที่จำเป็น เช่น วิตามินอี สังกะสี และไนอะซิน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพดวงตา
  • ชาเขียว ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม รวมถึงสุขภาพตาด้วย
  • การดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน เป็นการให้ความชุ่มชื้นที่เหมาะสมแก่สุขภาพตา

นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่ว่า ต้อหิน ห้ามกินอะไรบ้าง ซึ่งอาหารต่อไปนี้ ที่เราควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดโอกาสที่จะทำให้โรคต้อหินมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น คือ

 

  • คาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และเครื่องดื่มชูกำลัง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของคาเฟอีนต่อ IOP อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล 
  • โซเดียม ลดการบริโภคอาหารแปรรูปและอาหารบรรจุหีบห่อที่มักมีโซเดียมสูง เลือกรับประทานอาหารที่สดใหม่และใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศ เพื่อปรุงรสแทน
  • ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น เนื้อติดมัน อาหารทอด ผลิตภัณฑ์นมไขมันเต็ม และขนมอบ
  • แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มความดันในลูกตาได้ชั่วคราว ดังนั้น เราควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์หรือบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ
  • น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตขัดสี เช่น ขนมปังขาว ขนมอบ และซีเรียลที่มีน้ำตาลในระดับปานกลาง

แม้ว่า อาหารอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อโรคต้อหินโดยตรง แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบทำให้โรคต้อหินมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากเราเลือกบริโภคอาหารที่เพิ่มความดันลูกตา ดังนั้น เราจึงควรระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารที่จะช่วยดูแลสุขภาพดวงตาของคุณมากกว่า

 


 

แนวทางการป้องกันต้อหิน

รักษาต้อหิน หายขาดไม่ได้ แต่ป้องกันได้

 

โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่สามารถป้องกันได้ แม้เป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม แต่การลดความเสี่ยงอื่นๆย่อมเป็นผลดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคต้อหินให้ได้มากที่สุด โดยวิธีการป้องกันโรคต้อหินมีดังนี้
 

  1. สังเกตร่างกายตนเองอยู่เสมอ ว่ามีส่วนใดหรืออาการใดที่บ่งบอกถึงความผิดปกติหรือไม่
  2. เข้าตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจตากับจักษุแพทย์ปีละครั้ง โดยไม่ต้องรอให้มีอาการของโรคก่อน เนื่องจากต้อหินในระยะแรกๆจะแทบไม่มีอาการอะไรเลย หากตรวจพบก่อนเสียการมองเห็นจะเป็นผลดีมาก
  3. ควบคุมโรคอื่นที่สามารถทำให้เกิดต้อหินได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โดยการปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์เจ้าของไข้ที่ดูแลอยู่อย่างเคร่งครัด
  4. หากอยู่ในที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกับดวงตา ให้สวมเครื่องป้องกันทุกครั้ง
  5. ห้ามซื้อยาหยอดตามาหยอดเองเป็นเวลานานๆเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา เนื่องจากอาจก่อความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต้อหินได้

 


 

รักษาโรคต้อหินที่ไหนดี

โรคต้อหินเป็นโรคที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ทั้งในการวินิจฉัยและการรักษา อีกทั้งโรคต้อหินยังเป็นโรคที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้หากไม่รักษา และต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานด้วย ผู้ที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคต้อหินจึงต้องเลือกโรงพยาบาลที่ไปแล้วได้รับความมั่นใจว่ามีโอกาสที่อาการจะดีขึ้น และสบายใจที่จะรับการรักษาในระยะยาว

ที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลคนไข้เหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา ทำให้การพบแพทย์เพื่อตรวจตาและรักษาโรคเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังมีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายท่าน ให้ผู้เข้ารับการรักษาได้รับความมั่นใจ และความสบายใจทุกครั้งที่มาพบแพทย์

 


 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคต้อหิน

โรคต้อหิน สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ 

โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมองเห็นที่เสียไปแล้วจากขั้วประสาทตาเสื่อม ยังไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ 

ดังนั้นทางที่ดี หากมีอาการของโรคต้อหิน หรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นต้อหิน ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด และรักษาที่ต้นเหตุ ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะทำให้เสียการมองเห็นอย่างถาวร
 

ต้อหิน อันตรายไหม 

ต้อหินไม่ใช่โรคอันตรายหากมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือตรวจพบในระยะแรกๆ เพราะเป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ด้วยการรักษาหลากหลายวิธี 

แต่หากปล่อยไว้จนอาการหนักจะอันตรายมาก เพราะอาจจะทำให้เสียการมองเห็นอย่างถาวร นอกจากนี้อาการต้อหินเฉียบพลันยังอันตรายมาก หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

 


 

ข้อสรุปเรื่องต้อหิน

โรคต้อหินเป็นโรคที่ผู้ป่วยรู้ตัวได้ยากหากเพิ่งเริ่มเป็น แต่ยิ่งพบโรคเร็วก็จะยิ่งควบคุมโรคได้ง่าย ดังนั้นผู้มีความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจดวงตากับจักษุแพทย์ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ตรวจพบโรคต้อหิน หรือโรคอื่นๆที่เกิดขึ้นกับดวงตาได้เร็วที่สุด

สงสัยว่ากำลังเป็นโรคต้อหิน หรือเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้นกับดวงตา สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดเวลากับจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line@samitivejchinatown

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 
 

 

เอกสารอ้างอิง 

 

Mayo Clinic. (2020, October 23). Glaucoma. Mayo Clinic.
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/glaucoma/symptoms-causes/syc-20372839

National Eye Institute. (2021, July 23). Laser Treatment for Glaucoma. NEI.
https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/glaucoma/treatment

Glaucoma Associates of Texas. Glaucoma Filtration Surgery (Trabeculectomy). GAT.
https://www.glaucomaassociates.com/incisional-glaucoma-surgery/glaucoma-filtration-surgery-trabeculectomy/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม