Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

การตรวจสายตา มีขั้นตอนอย่างไร ควรตรวจวัดสายตาบ่อยแค่ไหน

รูป ตรวจสายตา ประกันสังคม

หากคุณกำลังรู้สึกว่าสายตาของคุณมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หรือเริ่มมีปัญหาสายตาบางอย่าง แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่ากำลังจะเป็นอะไร นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนสำคัญก่อนเกิดปัญหาหรือโรคอื่นๆตามมา อย่ารีรอในการเข้าเช็คสายตา เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
“การตรวจสายตา” เป็นสิ่งที่ควรนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในระยะแรกๆ เพราะการตรวจสายตา จะช่วยเสาะหาความผิดปกติ ประเมินระยะอาการ แนวโน้มต่างๆ ให้คุณสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้กันเกี่ยวกับเรื่อง การตรวจวัดสายตา  ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการวัดสายตา ความถี่ รวมไปจนถึงคำถามยอดฮิตอย่าง การตรวจสายตาที่ไหนดี? ที่บทความนี้มีคำตอบให้สำหรับคุณ 
 

สารบัญบทความ

การตรวจสายตา คืออะไร?
• จุดประสงค์ของการตรวจสายตา
• วิธีวัดสายตา
• ใครที่ควรเข้ารับการตรวจสายตา
• การตรวจสายตาในเด็ก
• การตรวจสายตาสำหรับผู้สูงอายุ
• การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสายตา
• ตรวจสายตาด้วยตนเอง ทำได้ไหม
• ตรวจสายตา ที่ไหนดี
• การตรวจสายตา ควรตรวจบ่อยแค่ไหน
• ข้อสรุป

 


การตรวจสายตา คืออะไร? 

การตรวจสายตา คือ การตรวจประเมินสายตาขั้นพื้นฐาน เพื่อดูความสามารถในการมองเห็น ทั้งในแง่ของความชัดเจน การทำงานของดวงตา ลักษณะทางกายวิภาคของดวงตาต่างๆ ระดับสายตาการมองในระยะใกล้หรือไกล เช่น ตรวจสายตาสั้น สายตายาว หรือการตรวจสายตาเอียง รวมไปจนถึง สามารถตรวจสุขภาพสายตา เพื่อดูแนวโน้มความผิดปกติและวิเคราะห์วินิจฉัยภาวะหรือโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้

 


จุดประสงค์ของการตรวจสายตา

รูป ประโยชน์ของการตรวจสายตา

จุดประสงค์ของการเข้ารับการตรวจสายตา มีดังนี้

1. เพื่อประเมินระดับความชัดเจนของการมองเห็น

2. ดูแนวโน้มความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อต่างๆ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก

3. เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ วินิจฉัย และวางแผนการรักษาในเรื่องต่างๆ

4. ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เช่น อาการมึนหัว หรือปวดหัว มีความสัมพันธ์กับปัญหาสายตาหรือไม่

5. นำผลการตรวจสายตาที่ได้ไปใช้ในการต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หรือใช้ในการสมัครงานบางอาชีพ

6. ประเมินความจำเป็นในการตัดแว่นสายตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือเข้ารับการทำเลสิคจากระดับค่าสายตา

7. เพื่อตรวจดูค่าสายตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ หรือมีปัญหาทางด้านการเรียน 

 


วิธีวัดสายตา

การตรวจตา มีอะไรบ้าง? สำหรับการตรวจตาเบื้องต้น จะเริ่มจากการที่จักษุแพทย์ซักประวัติของผู้รับบริการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาการนำที่เกิดขึ้น การใช้ยาประจำตัว ประวัติโรคประจำตัว ประวัติเกี่ยวกับปัญหาสายตาหรือโรคทางตาของสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ จากนั้นเมื่อมีการซักประวัติ และสอบถามต่างๆเบื้องต้นแล้ว ต่อไปจะเริ่มทำการตรวจสายตา ดังนี้
 

1. การตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity)

การตรวจวัดระดับการมองเห็น(Visual acuity) คือ การวัดสายตาเบื้องต้นว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีระดับการมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ หรือระยะไกล ชัดเจนเพียงใด จากการทดสอบดังต่อไปนี้
ขั้นตอนการตรวจวัดระดับการมองเห็น ผู้เชี่ยวชาญจะให้คุณอ่านแผนภูมิวัดสายตา snellen chart ที่อยู่ห่างออกไปในระยะ 6 เมตร ซึ่งมีลักษณะเป็นชุดตัวเลข 8 แถว ที่มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆในแต่ละแถว โดยเริ่มวัดสายตาทีละข้าง เพื่อประเมินสายตาที่แท้จริง
 

2. ตรวจลานสายตา (Visual field)

การตรวจลานสายตา(Visual field) คือ การตรวจวัดลานสายตาเบื้องต้น เพื่อประเมินว่าผู้เข้ารับการตรวจมีลานสายตาที่ปกติหรือไม่ และค้นหาความผิดปกติที่อาจซ่อนเร้นอยู่ เช่น โรคทางระบบประสาท โรคเส้นประสาทตา โรคต้อหิน หรือจอประสาทตาหลุดลอก เป็นต้น รวมไปจนถึงการประเมินขนาดความกว้างของลานสายตาในแต่ละบุคคล ซึ่งโดยปกติจะมีวิธีการตรวจ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • การตรวจลานสายตาแบบหันหน้าเข้าหากัน(Confrontational Visual Field)
    เป็นการตรวจคัดกรองลานสายตาเบื้องต้น โดยผู้ทดสอบกับผู้เข้ารับการทดสอบจะยืนตรงข้ามกัน เว้นระยะห่างประมาณ 3-4 ฟุต จากนั้นใช้อุปกรณ์ปิดตา 1 ข้าง และผู้ทดสอบจะทำการขยับมือในลานสายตา ในขณะเดียวกันผู้ถูกทดสอบจะไม่มองตามการขยับนั้น หากยังคงมองเห็นให้แจ้งผู้ทดสอบ
  • การใช้เครื่องวัดลานสายตา(Tangent Screen / Goldmann Field Exam)
    เมื่อผู้รับการตรวจนั่งห่างจากคอมพิวเตอร์ประมาณ 3 ฟุตแล้ว โปรแกรมจะแสดงภาพตามจุดต่างๆ ภายในพื้นที่ลานสายตา ผู้รับการตรวจห้ามมองตามภาพ แต่ให้สังเกตว่ามองเห็นวัตถุด้านข้างสายตาหรือไม่ หากมองเห็นให้แจ้งผู้ตรวจ เพื่อสร้างแบบแผนลานสายตาของแต่ละบุคคล
  • การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์(Automated Perimetry)
    ผู้รับการตรวจนั่งอยู่ด้านหน้าของเครื่องวัดลานสายตา จากนั้นให้มองเข้าไปยังเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ เมื่อเริ่มประเมิน ให้ผู้รับการตรวจสังเกตแสงไฟและกดปุ่มทุกครั้งที่มองเห็น หากเสร็จสิ้น โปรแกรมภายในเครื่องจะทำการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลต่อไป
 

3. การวัดค่าสายตา (Refraction)

การวัดค่าสายตา(Refraction) คือ วิธีวัดสายตาที่จะช่วยประเมินค่าสายตาของผู้เข้ารับการตรวจว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ปัญหาภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง และมีค่าสายตาอยู่ที่ประมาณเท่าใด โดยวิธีการวัดสายตา มีดังต่อไปนี้

ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องอ่านแผนภูมิวัดสายตาที่มีตัวเลข หรือตัวอักษรปรากฏอยู่ ผ่านเครื่องมือที่วัดสายตา ชื่อว่า Phoropter โดยผู้เชี่ยวชาญจะทำการปรับเปลี่ยนเลนส์ให้สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในการหักเหแสงของดวงตา เมื่อผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกว่า ตนเองสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนสายตาปกติ จะทำให้ได้ค่าสายตา หรือค่าเลนส์ที่สามารถแก้ไขความผิดปกติของสายตานั้นๆได้ ซึ่งสามารถนำค่าสายตาไปเป็นตัวอ้างอิงในการตัดแว่นสายตา หรือเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ได้

 

4. ตรวจความดันลูกตา (Tonometry)

การตรวจความดันลูกตา(Tonometry) คือ การตรวจวัดความดันที่อยู่ภายในลูกตา เพื่อดูว่าระดับความดันอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือไม่ ซึ่งระดับความดันภายในลูกตา สามารถบ่งบอกแนวโน้มที่จะเป็นโรคทางตาได้ เช่น ผู้ที่มีค่าความดันลูกตาสูงกว่าปกติ อาจเป็นโรคต้อหิน หรือโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตาได้ ส่วนผู้ที่มีค่าความดันต่ำกว่าปกติ ก็อาจมีจอประสาทตาหลุดลอก ฯลฯ 

วิธีการตรวจวัดความดันลูกตาจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้

1. เครื่องมือที่เรียกว่า applanation tonometer เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดโดยจักษุแพทย์ มีความแม่นยำมากที่สุด แต่จำเป็นต้องใช้ยาชา เนื่องจากเครื่องมือสัมผัสกับกระจกตาของผู้เข้ารับบริการ 

2. เครื่องมือที่เรียกว่า pneumotonometer เป็นเครื่องมือลมเป่าที่ไม่ต้องสัมผัสกับกระจกตา ใช้ด้วยการนำแรงลมเป่าเข้าสู่ลูกตาดำ เครื่องมือจะทำการอ่านค่าความดันของลูกตาออกมา ซึ่งสามารถเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง  

 

5. วัดความโค้งของกระจกตา (keratometer)

การวัดความโค้งของกระจกตา(keratometer) เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เพราะความโค้งของกระจกตา มีความสัมพันธ์กับการหักเหแสงที่สะท้อนเข้าสู่ดวงตา หากความโค้งของกระจกตา มีรูปร่างผิดปกติ จะทำให้บุคคลนั้นมีภาวะปัญหาสายตาต่างๆ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง เป็นต้น

การวัดความโค้งของกระจกตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า เคอราโตมิเตอร์(Keratometer) ส่องแสงเข้าไปสู่บริเวณกระจกตา จากนั้นแพทย์จะทำการวัดความโค้งของกระจกตาจากแสงสะท้อนนั้น 

 

6. ทดสอบการมองเห็นสี

การทดสอบการมองเห็นสี คือ การตรวจประเมินเพื่อดูความสามารถในการแยกสี หรือวินิจฉัยภาวะภาวะตาบอดสีของบุคคลนั้นๆ รวมไปจนถึงผู้ที่ต้องการนำผลตรวจสายตาไปสมัครงานในอาชีพที่จำเป็นต้องแยกแยะสีให้ได้ถูกต้อง เช่น คนขับรถ ช่างไฟ ฯลฯ โดยภาวะตาบอดสี สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ความบกพร่องในการแยกสีทุกสี, บกพร่องในการแยกสีแดงกับสีเขียว และบกพร่องในการแยกสีเหลืองกับสีม่วง

การทดสอบการมองเห็นสี อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล โดยแบบทดสอบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ แบบทดสอบอิชิฮาระ ที่มีลักษณะเป็นวงกลมที่ด้านในมีจุดสีเล็กๆ ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องอ่านตัวเลขและลากเส้นให้ถูกต้อง หากสามารถทำได้ถูกต้องทั้งหมด แสดงว่าสายตาปกติดี

 

7. ประเมินการทำงานของม่านตา

การประเมินการทำงานของม่านตา คือ การตรวจการตอบสนองของม่านตาว่ายังสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่ 

วิธีการทดสอบ คือ แพทย์จะนำไฟฉายมาส่องตาผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองของม่านตา หากม่านตามีการหดลงขณะที่แสงเข้ามากระทบ แสดงว่าการทำงานของม่านตายังปกติดี แต่ถ้าหากม่านตาไม่มีการตอบสนอง หรือเกิดการขยายใหญ่ขึ้น แสดงว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น

 

8. ตรวจลักษณะของดวงตา

การตรวจลักษณะของดวงตา เป็นการตรวจทั้งส่วนด้านหน้าและด้านในของดวงตา ว่ามีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งส่วนที่จะประเมิน ได้แก่ เปลือกตา เนื้อเยื่อรอบดวงตา กระจกตา บริเวณตาขาว ม่านตา เลนส์ตา รวมไปจนถึงส่วนด้านในอย่าง น้ำวุ้นตา ส่วนของประสาทตาต่างๆ

การตรวจลักษณะของดวงตา หากเป็นส่วนที่อยู่ภายนอก แพทย์มักจะใช้ไฟฉายในการตรวจดูความผิดปกติต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นส่วนที่อยู่ด้านใน แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Direct ophthalmoscope ในการส่องเข้าไปเพื่อตรวจดูอย่างละเอียด

 

9. ตรวจประสาทตา

การตรวจประสาทตา คือ การตรวจประเมินส่วนต่างๆของประสาทตา เช่น จอประสาทตา เส้นประสาทตา ขั้วประสาทตา จุดรับภาพ เป็นต้น ซึ่งสามารถที่จะบ่งชี้ได้ถึงโรค หรือภาวะต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคจุดรับภาพเสื่อม เส้นเลือดประสาทตาอุดตัน เกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอก โรคต้อหิน ฯลฯ

ในการตรวจประสาทตา แพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า Optical Coherence Tomography หรือเรียกย่อๆว่า OCT ในการถ่ายภาพตัดขวางของจอประสาทตา เพื่อดูความหนาของชั้นจอประสาทตา และความผิดปกติอื่นๆที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ไม่ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจรู้สึกเจ็บ 

 


ใครที่ควรเข้ารับการตรวจสายตา

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจสายตา มีดังนี้

• บุคคลที่รู้สึกได้ว่า สายตามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

หากคุณเริ่มสังเกตตนเอง แล้วพบว่า ความสามารถในการมองเห็นหรือพฤติกรรมของคุณมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพ่งสายตาอ่านป้ายจราจร เห็นภาพหรือตัวอักษรไม่ชัดเจน มองเห็นไฟในตอนกลางคืนเป็นแสงฟุ้ง จำเป็นต้องเคลื่อนตัว หรือก้มหน้าเข้าไปใกล้กับวัตถุ เพื่อดูรายละเอียดต่างๆ 
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณควรเข้ารับการตรวจสายตา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาหรือแก้ไขปัญหาเป็นลำดับถัดไป

• ผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการตรวจสายตา หรือห่างหายจากการตรวจสายตา 1 ปีขึ้นไป

การตรวจสายตาก็เหมือนกับการตรวจร่างกาย ที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักแนะนำให้เข้ารับการตรวจในทุกๆปี หากคุณไม่เคยเข้ารับการตรวจสายตาเลย หรือห่างหายจากการตรวจสายตาไปนาน ก็แนะนำว่าควรเข้ารับการตรวจ เพื่อดูสภาพสายตา และแนวโน้มการเกิดโรคในปัจจุบัน

• คนที่มีความกังวลเรื่องของพันธุกรรม เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางตา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บางครั้งโรคทางตา หรือปัญหาภาวะสายตา อาจเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยิ่งสมาชิกภายในครอบครัวเป็นโรคหรือภาวะทางตา ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดขึ้นมากเท่านั้น

• บุคคลที่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับดวงตา หรือการมองเห็น

บางครั้งลักษณะของสัญญาณเตือนอาจไม่ได้มาในรูปแบบของการมองเห็น แต่อาจมาในลักษณะของอาการทางกาย ที่มีความสัมพันธ์กัน เช่น เกิดอาการมึนหัว ระคายเคืองตา ตาแห้ง ตาล้า เป็นต้น

• สาเหตุอื่นๆ

แต่ละบุคคลมีเหตุผลในการเข้ารับการตรวจสายตาที่แตกต่างกัน หากคุณมีความรู้สึกกังวล รู้สึกเครียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือเพียงต้องการตรวจสภาพสายตาประจำปี ก็สามารถเข้ารับการตรวจสภาพสายตาได้เช่นกัน

 


การตรวจสายตาในเด็ก

รูป ตรวจสายตาในเด็ก

การตรวจสายตาสำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เด็กมักไม่สามารถเข้าใจ หรือสื่อสารออกมาได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดวงตาของเขา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว มีปัญหาทางการเรียนรู้เรื่องต่างๆ หรือผลการเรียนตกลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจ ดูแล รวมถึงคอยสังเกตพฤติกรรม อาการต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถพาเด็กหรือบุตรหลานของท่าน เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งลักษณะอาการที่เป็นสัญญาณให้เข้ารับการตรวจสายตาสำหรับเด็ก มีดังนี้

• เด็กอายุประมาณ 3 เดือน ที่มีพฤติกรรมไม่มองหน้าสบตาผู้ดูแล 

• มีลักษณะหนังตาตก

• เด็กที่อยู่ในกลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome)

• คนที่มีประวัติสมาชิกภายในครอบครัวมีความผิดปกติทางตา

• คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability)

• เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 2-5 ปี มีอาการตาเข กระพริบตาบ่อย หรือเอียงหน้าเวลามองวัตถุ

• บุคคลที่มีอาการปวดหัวเป็นประจำอย่างไม่ทราบสาเหตุ

• มีพฤติกรรมโน้มตัวเข้าไปดูรายละเอียดของสิ่งๆหนึ่งใกล้ๆ หรือต้องหรี่ตาเวลามอง

 


การตรวจสายตาสำหรับผู้สูงอายุ

รูป ตรวจสายตา ประกันสังคม

การตรวจสายตาสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เนื่องจากในวัยสูงอายุ เป็นวัยที่มักเกิดความเสื่อมในส่วนต่างๆขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ส่วนใหญ่จึงมีปัญหาสายตาเยอะ รวมไปจนถึงการเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาขึ้น 

ผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียด ค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ รวมไปจนถึงแนวโน้มการเป็นโรคต่างๆ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจสายตา ควรจะต้องมีการตรวจโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ดังนี้  
 

โรคเกี่ยวกับดวงตาที่มักพบในผู้สูงอายุ

• โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก เป็นการที่เลนส์ตาเกิดความแข็งและขุ่นมัว จนทำให้แสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาได้น้อยลง ส่งผลให้การมองเห็นของผู้ที่เป็นโรคต้อกระจกมีความไม่ชัดเจน เห็นภาพซ้อน ตาไม่สามารถสู้แสงได้ และถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนแว่นสายตาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น

•​ โรคต้อหิน

โรคต้อหิน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของจอประสาทตา เมื่อความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้นมาก จนส่งผลต่อเส้นประสาทตา ทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลง หากปล่อยไว้ก็จะทำให้บุคคลนั้นสูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร

•​ จอประสาทตาเสื่อมตามวัย

การที่จอประสาทตาเสื่อม จะทำให้บริเวณส่วนกลางของภาพที่มองเห็น เกิดการมัวลง หรือเห็นจุดดำอยู่กลางภาพ รวมไปจนถึงการมองเห็นภาพบิดเบี้ยว และหากปล่อยไว้ อาจเกิดความสูญเสียการมองเห็นบริเวณกลางภาพไปได้ 

•​ โรคต้อลม

โรคต้อลม เป็นโรคที่เกิดจากการที่เยื่อบุตาขาวเสื่อม ทำให้เกิดก้อนเนื้อเล็ก สีขาวหรือสีเหลืองขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขาว หากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะทำให้เกิดการลุกลามและมีโอกาสที่จะบดบังกระจกตาดำ

•​ เบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา เป็นผลมาจากโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนทำให้จอประสาทตาเสื่อม หากไม่รีบทำการรักษา อาจเกิดอาการตามัวและตาบอดได้ในที่สุด 

•​ โรคตาแห้ง

โรคตาแห้ง สามารถเป็นได้ทั้งกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มวัยผู้สูงอายุ โดยผู้ที่เป็นโรคตาแห้ง จะมีอาการระคายเคืองตา แสบตา มีน้ำตาไหลมาก หากไม่ได้ทำการรักษา จะทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดการอักเสบบริเวณกระจกตา หรือเยื่อบุตา  

 

 


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสายตา

ก่อนเข้ารับการตรวจสายตา จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อน โดยวิธีการเตรียมตัว มีดังนี้

•​ งดการแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา เช่น การติดขนตาปลอม การกรีดอายไลเนอร์

•​ บุคคลใดที่มีการใช้แว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์สายตาอยู่แล้ว ควรพกติดตัวมาใช้ในการตรวจด้วย

•​ ผู้ที่มีการใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรถอดก่อนเข้ารับการตรวจ โดยคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม งดใส่อย่างน้อย 3 วัน ส่วนคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง หรือชนิดแข็งกึ่งนิ่ม ควรงดใส่อย่างน้อย 14 วัน

•​ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจสายตา 

•​ อาจมียาบางชนิดที่ส่งผลต่อลักษณะหรือการมองเห็นของดวงตา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

•​ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะตาล้าหรือค่าสายตาคลาดเคลื่อน

•​ งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

•​ พักสายตาก่อนเข้ารับการตรวจ

•​ พาผู้ดูแลมาด้วย เนื่องจากในการตรวจสายตาอย่างละเอียดอาจมีการหยอดยาขยายม่านตา

•​ เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์
 


ตรวจสายตาด้วยตนเอง ทำได้ไหม


หลายๆ คนอาจกำลังสงสัยกันอยู่ว่า ตรวจสายตาด้วยตนเองได้ไหม? ควรวัดสายตาบ่อยแค่ไหนถึงจะดี? ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถเช็คสายตาเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ด้วยการใช้แผ่นทดสอบสายตาที่มีชื่อว่า “สเนลเลนชาร์ต(Snellen’s Chart)”

แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสายตาด้วยตนเองมีข้อจำกัดหลายประเด็น เช่น ความละเอียดแม่นยำของผลการตรวจ การจัดสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ระยะพื้นที่กว้าง แสงสว่างไม่เพียงพอ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อการตรวจสายตาได้ จึงแนะนำว่า ควรเข้ารับการตรวจสายตากับผู้เชี่ยวชาญที่สถานพยาบาล เพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นและความแม่นยำในการแปลผลตรวจ รวมไปจนถึงการวางแผนรักษากรณีที่ตรวจพบได้อย่างทันท่วงที 
 

ตรวจสายตา ที่ไหนดี

รูป ตรวจสายตาที่ไหนดี

หลายๆคนอาจมีคำถามว่า “ควรตรวจสายตา โรงพยาบาลไหนดี?” โดยปกติแล้ว สถานที่ที่สามารถตรวจสายตาได้มีหลากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาล ร้านแว่นสายตา หรือตามคลินิกจักษุต่างๆ ซึ่งการเลือกสถานที่ตรวจสายตาที่ดี ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

•​ สถานที่นั้นจะต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานรับรอง

•​ มีอุปกรณ์ในการตรวจสายตาครบครัน หรือมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในการตรวจสายตา

•​ แพทย์ผู้ทำการตรวจ จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีประสบการณ์ในการตรวจที่มากเพียงพอ

•​ ทีมแพทย์จะต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง

•​ หากเข้ารับการตรวจสายตากับคลินิกต่างๆ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้อง

•​ มีการบริการที่ดี แจ้งถึงรายละเอียดและค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน มีความละเอียดรอบคอบในการตรวจ

หากใครที่สนใจเข้ารับการตรวจสายตา แต่ยังไม่รู้ว่าจะตรวจที่ไหนดี? ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีบริการตรวจสายตาด้วยอุปกรณ์ที่ครบครัน ทันสมัย สามารถรักษาทุกโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้อย่างครอบคลุมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่พร้อมดูแลรักษาคุณในทุกรายละเอียดขั้นตอน ให้คุณสามารถมั่นใจได้ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน 

 


การตรวจสายตา ควรตรวจบ่อยแค่ไหน

“การตรวจสายตา ควรตรวจบ่อยแค่ไหน?” โดยปกติแล้ว หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มการเป็นโรค ภาวะปัญหาทางสายตา หรือไม่ใช่ผู้ที่มีอาการผิดปกติที่ควรเข้ารับการตรวจสายตาทันที ก็อาจแบ่งการเข้ารับการตรวจตามช่วงอายุของตนเองได้ ดังนี้

•​ อายุประมาณ 3 - 5 ปี วัยเด็กเล็ก กำลังเข้าเรียนระดับชั้นอนุบาล ควรเข้ารับการตรวจสายตา ภาวะตาเหล่ ตาเข ที่อาจนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจได้ รวมไปจนถึงภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวด้วย

•​ อายุ 6 - 20 ปี เด็กที่อยู่ในช่วงวัยเรียน วัยรุ่น ควรเข้ารับการตรวจภาวะสายตาผิดปกติ อย่างภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาว

•​ อายุ 21 - 29 ปี ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ควรเข้ารับการตรวจค่าสายตา รวมไปจนถึงการหาทางแก้ไข เช่น การตัดแว่นสายตา การใส่คอนแทคเลนส์สายตา หรือการเข้ารับการทำเลสิค  

•​ อายุประมาณ 30 - 40 ปี เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสายตา ควรเข้ารับการตรวจหาโรคตาที่เกิดจากการทำงานอย่างหนัก หรือที่เกิดจากความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ เช่น การทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การทำงานเกี่ยวกับก่อสร้าง ฯลฯ

•​ อายุประมาณ 40 - 65 ปี ช่วงวัยกลางคน เริ่มมีความเสื่อมจากอวัยวะต่างๆเกิดขึ้น และมีโอกาสที่จะเกิดโรคทางตาขึ้นได้ โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุกๆ 3 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรเข้ารับการตรวจทุกๆ 2 ปี เป็นอย่างน้อย 

•​ บุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป วัยสูงอายุมักมีความเสื่อมเกิดขึ้นมากมาย ควรตรวจปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปกติหรือโรคทางตาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะสายตายาวตามอายุ โรคต้อหิน ต้อกระจก ฯลฯ พร้อมทั้งวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา  

 


ข้อสรุป

การตรวจสายตา เป็นการตรวจประเมินการทำงานส่วนต่างๆของดวงตา และค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยการตรวจสายตาแบ่งออกเป็นการตรวจหลากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจระดับการมองเห็น ลานสายตา ความดันลูกตา ค่าสายตาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความโค้งของกระจกตา การมองเห็นสี ลักษณะของดวงตา การทำงานของม่านตา และประสาทตา  

หากบุคคลใดสนใจเข้ารับการตรวจสายตากับโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ สามารถเข้ารับคำปรึกษา หรือสอบถามรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ 
Line: @samitivejchinatown 
เบอร์ 02-118-7893 (ได้ตลอด 24 ชั่วโมง)
และสามารถดูบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้ที่ สถาบันจักษุสมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม