Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

อาการปวดก้นกบเกิดจากอะไร? เจ็บก้นกบรีบรักษาก่อนเรื้อรัง!

ปวดก้นกบ

อาการปวดเวลานั่ง ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือนั่งบนเบาะก็รู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาโดยที่บางครั้งก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุกระแทกที่ก้นมาก่อน เป็นอาการที่มักพบค่อนข้างบ่อย แต่การวินิจฉัยโรคอาจทำได้ค่อนข้างยากเพราะเมื่อพูดถึงอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดก้นหลาย ๆ คน แม้กระทั่งแพทย์มักจะมองข้ามไปเพราะมักจะนึกไปถึงกลุ่มกระดูกทับเส้น การอักเสบของกล้ามเนื้อหรือสลักเพชรจมซะมากกว่า

อาการที่เชื่อว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยกำลังเป็นอยู่แต่อาจยังได้รับการรักษาที่ยังไม่ถูกวิธีเพราะการวินิจฉัยที่ค่อนข้างยากนั้นก็คืออาการปวดก้นกบนั่นเอง

ในบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับอาการปวดก้นกบคืออะไร สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดก้นกบมีอะไรบ้าง เกิดอาการปวดก้นกบแบบไหนต้องเข้ารับการรักษา มีวิธีแยกโรคปวดก้นกบกับโรคอื่น ๆ อย่างไร เมื่อมั่นใจแล้วว่าเป็นอาการปวดก้นกบจะมีวิธีรักษาอย่างไร รวมถึงแนะนำการบริหารแก้ปวดก้นกบที่สามารถปฏิบัติได้เองง่าย ๆ

 

สารบัญบทความ

 

 

ปวดก้นกบ (Tailbone Pain)

อาการปวดก้นกบเป็นอาการที่มักถูกมองข้ามเนื่องจากลักษณะอาการที่ผู้ป่วยเจอมักจะคล้ายกับอาการปวดจากโรคอื่นอย่างเช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อสะโพกเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดสะโพกร้าวลงขา โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ แม้แต่โรคริดสีดวงทวารก็มีอาการปวดก้นเช่นกัน

โดยอาการปวดก้นกบนั้นมักจะสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกปวดก้นทุกครั้งที่นั่ง ไม่ว่าจะนั่งพื้นแข็งหรือจะนั่งเบาะนิ่มก็ตาม และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนทางนั่งเป็นท่ายืน หรือหากอาการปวดก้นกบรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดก้นขณะขับถ่ายอุจจาระได้อีกด้วย

 

กระดูกก้นกบ คืออะไร

กระดูกก้นกบ

กระดูกก้นกบเป็นกระดูกส่วนปลายที่ต่อมาจากกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 5 ลงมา ลักษณะของกระดูกก้นกบจะเป็นทรงสามเหลี่ยมคว่ำประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 5 ชิ้นเชื่อมต่อจนเป็นกระดูกชิ้นเดียวกันที่มีความแข็งแรงมาก และเป็นกระดูกที่เชื่อมติดกับกระดูกกระเบนเหน็บซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากกระดูกก้นกบ

กระดูกก้นกบจะไม่สามารถขยับ เคลื่อนไหวได้เหมือนกับกระดูกสันหลัง แต่มีหน้าที่รับน้ำหนักและกระจายแรงขณะนั่ง และยังเป็นจุดยึดเกาะของกล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณอุ้งเชิงกรานอีกด้วย

 

สาเหตุอาการปวดก้นกบ

ตกบันได ก้นกบกระแทก

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากระดูกก้นกบเป็นกระดูกที่มีความแข็งแรงและไม่สามารถขยับข้อต่อระหว่างชิ้นกระดูกได้เหมือนกับกระดูกสันหลัง ดังนั้นอาการปวดจากการใช้งานเหมือนกระดูกสันหลังก็แทบจะไม่เกิดขึ้นสำหรับกระดูกก้นกบ ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดก้นกบมักมาจากแรงกด แรงกระทำจากภายนอก

 

1. ภาวะกระดูกข้อเสื่อม

ถึงแม้ว่ากระดูกก้นกบจะมีความแข็งแรงมาก แต่เมื่ออายุมากขึ้นความแข็งแรงของกระดูกย่อมลดลงไปตามกาลเวลา อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่ากระดูกก้นกบยังประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 5 ชิ้น ดังนั้นเมื่อข้อกระดูกเสื่อมจึงทำให้ความแข็งแรงของกระดูกก้นกบลดลง และเกิดอาการปวดก้นกบขึ้นมาได้

 

2. อุบัติเหตุ

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดก้นกบ การหกล้มก้นกระแทกพื้นจะทำให้กระดูกก้นกบกระแทกกับพื้นโดยตรง และทำให้เนื้อเยื่อเส้นเอ็นบริเวณก้นกบอักเสบ หรือหากร้ายแรงกระดูกก้นกบอาจร้าวหรือหักได้ หรือขั้นกระดูกสะโพกหักได้

อาการปวดก้นกบที่เกิดจากอุบัติเหตุสามารถวินิจฉัยว่าเกิดจากกระดูกก้นกบสามารถทำได้ด้วยการเอกซเรย์ เนื่องจากการเอกซเรย์จะทำให้เห็นความผิดปกติของกระดูกก้นกบได้

 

3. การตั้งครรภ์

เนื่องจากร่างกายจะต้องปรับสรีระใหม่เพื่อรองรับทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงมีการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงออกมามากกว่าปกติเพื่อทำให้ข้อต่อเส้นเอ็นขยายตัว โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกรานเพราะเป็นบริเวณที่ทารกในครรภ์อยู่และเป็นบริเวณที่คลอดทารกด้วย 

การขยายของเส้นเอ็นและข้อต่อจะทำให้ความแข็งแรงมั่นคงของข้อต่อลดลง โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกอยู่อย่างช่วงกระดูกสันหลังส่วนล่างและกระดูกก้นกบ และเมื่อมีแรงกดจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นจึงทำให้เกิดอาการปวดก้นกบได้ง่าย

 

4. ภาวะอ้วนลงพุง

ภาวะอ้วนลงพุงจะทำให้สรีระของร่างกายเปลี่ยนไป หน้าท้องที่ยื่นออกมาจะไปดึงให้แนวกระดูกสันหลังแอ่นตามไปด้วย และการที่กระดูกสันหลังแอ่นกระดูกก้นกบที่เป็นส่วนท้ายของกระดูกสันหลังจึงแอ่นเช่นเดียวกัน และการที่แนวกระดูกสันหลังและกระดูกก้นกบเปลี่ยนไปทำให้การกระจายแรงเพื่อรับน้ำหนักจึงทำได้ไม่ดี และทำให้เกิดอาการปวดก้นกบตามมา

 

5. การนั่งพื้นที่แข็ง

กระดูกก้นกบจะอยู่บริเวณเหนือร่องก้น หากลองใช้มือกดเหนือร่องก้นจะพบกระดูกแข็ง ๆ ซึ่งกระดูกก้นกบจะสามารถสัมผัสกับพื้นโดยตรงเวลาอยู่ในท่านั่ง หากนั่งกับพื้นที่แข็งจะทำให้กระดูกก้นกบที่สัมผัสกับพื้นถูกแรงกดมากเกินไป และทำให้เกิดอาการปวดก้นกบได้ 

 

อาการปวดก้นกบอักเสบ

ผู้ป่วยที่เป็นก้นกบอักเสบ กระดูกก้นกบเคลื่อน กระดูกก้นกบร้าวหรือหักจะพบอาการเหล่านี้

 

  • ปวดบั้นท้ายตรงกลางเวลาอยู่ในท่านั่ง 
  • อาการปวดก้นกบอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดก้นกบได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยจนไปถึงปวดรุนแรง
  • เมื่อมีการเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นจากนั่งเป็นยืน จะรู้สึกปวดก้นกบมากขึ้น
  • บางครั้งอาจรู้สึกปวดก้นกบขณะขับถ่าย
  • กดเจ็บบริเวณกระดูกก้นกบ
  • อาจพบอาการชาบริเวณกระดูกก้นกบหรือทวารหนัก
  • อาจมีอาการปวดบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นปวดเอว ปวดหลัง

 

ปวดก้นกบแบบไหนควรพบแพทย์

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบมักจะรู้สึกปวดขณะที่ก้นสัมผัสกับพื้น เนื่องจากกระดูกก้นกบจะต้องรับแรงกดและสัมผัสกับพื้นโดยตรงทำให้ผู้ป่วยหลายคนมักจะหลีกเลี่ยงการนั่ง ทำให้หลาย ๆ ครั้งก็มักจะรู้สึกว่าอาการหายไปเอง ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณเนื้อเยื่อหรือกระดูกก้นกบได้ฟื้นฟูตัวเองจนหายแล้ว โดยส่วนมากมักจะหายได้เองในช่วง 2-3 สัปดาห์

แต่เมื่อใดที่อาการปวดก้นกบไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ รู้สึกปวดทุกครั้งเมื่อนั่งหรือเปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อลองใช้นิิ้วกดบริเวณกระดูกก้นกบจะรู้สึกเจ็บมาก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวด เพราะในบางครั้งอาการปวดก้นกบอาจไม่ได้เกิดจากการอักเสบเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากการแตกหักหรือมีเนื้องอกบริเวณกระดูกก้นกบ หรืออาจเป็นโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะอาการปวดคล้าย ๆ กันก็ได้

 

การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

เจ็บก้นกบ วินิจฉัยอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ด้วยอาการปวดก้นจะมีแนวทางการวินิจฉัยโรคดังนี้

 

1. การตรวจร่างกาย ซักประวัติ

อันดับแรกแพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยทั้งพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดก้นกบอักเสบ อุบัติเหตุหรือการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในช่วงเร็ว ๆ นี้ 

หากมีพฤติกรรมเข้าข่ายที่ทำให้เกิดการอักเสบของก้นกบ หรือเพิ่งเกิดอุบัติเหตุล้มก้นกระแทกพื้น หรืออยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่งคลอดบุตร แพทย์จะส่งให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจที่ละเอียดอีกครั้งเพื่อหาจุดแตกหักหรือความผิดปกติที่บริเวณก้นกบ

 

2. การเอกซเรย์

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบและแพทย์สงสัยว่าอาจเกิดจากการร้าวหรือแตกหักของกระดูกก้นกบ แพทย์จะส่งให้ผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์ ทั้งนี้แพทย์จะสามารถเห็นความผิดปกติของกระดูกก้นกบอย่างการแตกหักหรือมีรอยร้าวได้จากภาพเอกซเรย์

 

3. การตรวจ CT Scan

บางครั้งการเอกซเรย์อาจทำให้เห็นรอยโรคได้ไม่ชัดเจน แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วย CT scan เนื่องจากภาพจากการทำ CT scan จะทำให้เห็นโครงสร้างภายในได้ดีกว่าการเอกซเรย์

 

4. การตรวจ MRI

หากแพทย์สงสัยว่าอาการปวดก้นกบเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ กระดูกก้นกบ หรืออาจตรวจหาการแตกหักของกระดูกก้นกบไม่เจอ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจ MRI ซึ่งการตรวจ MRI จะสามารถเห็นภาพโครงสร้างภายใน โดยเฉพาะเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ เส้นประสาทได้อย่างชัดเจน 

 

ปวดก้นกบรักษาอย่างไร

โดยส่วนใหญ่อาการปวดก้นกบสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาแต่อย่างใด แต่ก็สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดก้นกบได้ไม่ว่าจะรักษาด้วยตนเองหรือรักษาทางการแพทย์ ดังนี้

 

การบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้น

ปวดก้นกบรักษาอย่างไร

ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการปวดก้นกบได้ด้วยตนเองด้วยวิธีดังนี้

 

  • ประคบเย็น-ประคบร้อน

หากอาการปวดก้นกบมาจากอุบัติเหตุล้มก้นกระแทกพื้น ให้ใช้การประคบเย็นบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุทันทีหรือภายใน 48 ชั่วโมง ความเย็นจะช่วยลดการไหลเวียนของเลือดและเมื่อเลือดไม่ไหลไปบริเวณที่บาดเจ็บก็จะทำให้อาการปวดลดลง

และหลังเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว 48 ชั่วโมงให้ใช้การประคบร้อนบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อช่วยให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้ดีขึ้น เมื่อเลือดไหลเวียนดีจะทำให้อาการบาดเจ็บหายเร็วขึ้น

 

  • ปรับท่านั่ง

เพราะการเจ็บกระดูกก้นกบสัมพันธ์กับท่านั่งโดยตรง ผู้ป่วยควรปรับท่าทางการนั่งให้ถูกวิธี โดยให้นั่งหลังตรงหรือโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อยแทนการนั่งเอนไปด้านหลัง เนื่องจากการเอนไปข้างหลังจะเป็นการเพิ่มแรงกดให้กับกระดูกก้นกบ

 

  • ใช้หมอนหลุมหรือหมอนรูปโดนัท

อีกวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและช่วยลดอาการปวดก้นกบได้ดีคือการใช้เบาะรองนั่งที่มีหลุมหรือหมอนรูปโดนัท เพราะหมอนหรือเบาะรองนั่งลักษณะนี้ทำให้กระดูกก้นกบไม่สัมผัสกับตัวหมอนหรือเบาะรองนั่ง การกดทับของกระดูกก้นกบจึงน้อยลง

 

  • เปลี่ยนอิริยาบถเป็นประจำ

การนั่งอยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ จะทำให้กระดูกก้นกบต้องรับแรงกดมาก และเกิดการอักเสบขึ้นได้ง่าย ดังนั้นเพื่อลดการกดทับจึงควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ 

 

  • ยืดบริหารร่างกาย

การบริหารร่างกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อแข็งแรงขึ้น การที่กล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยซัพพอร์ตแรงกดได้ดีขึ้น อาการปวดก้นกบจากแรงกดจึงลดลง

 

การรักษาทางการแพทย์

ก้นกบอักเสบ รักษา

หากการบรรเทาอาการปวดก้นกบด้วยตนเองไม่สามารถลดอาการปวดก้นกบได้ อาจต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวดก้นกบว่ามากน้อยเพียงใด ดังนี้

 

  • การใช้ยาบรรเทาอาการปวด

ขั้นแรกของการรักษาอาการปวดก้นกบแพทย์มักจะให้ใช้ยาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ เช่น ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อลดอาการปวดและบวม

 

  • การทำกายภาพบำบัด

อีกวิธีในการรักษาอาการปวดก้นกบ สามารถใช้การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดได้ เช่นการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ การทำ shortwave เป็นต้น

 

  • การฉีดสเตียรอยด์

หากผู้ป่วยผ่านการรักษาด้วยการใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรือทำกายภาพบำบัดแต่ไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอาการปวดก้นกบด้วยการฉีดสเตียรอยด์กดอาการปวดได้ 

 

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด

ถ้าผู้ป่วยผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผลทั้งหมด แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด โดยการผ่าตัดกระดูกก้นกบออก โดยวิธีการผ่าตัดจะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น

 

5 ท่ากายบริหารแก้ปวดก้นกบ

กายบริหารแก้ปวดก้นกบ

อาการปวดก้นกบสามารถแก้ได้ด้วยการบริหารยืดกล้ามเนื้อช่วงอุ้งเชิงกราน ในหัวข้อนี้จะขอยกตัวอย่างท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อแก้ปวดก้นกบ 5 ท่า ดังนี้

 

ท่าที่ 1

นอนหงายโดยให้เท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น จากนั้นให้งอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง พักข้อเท้าของขาขวาไว้บนเข่าของขาซ้าย จากนั้นให้ดึงต้นขาซ้ายเข้าชิดหน้าอกจนรู้สึกตึง 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง จากนั้นให้เปลี่ยนเป็นอีกข้างแล้วทำเช่นเดียวกัน

 

ท่าที่ 2

นอนหงายโดยให้เท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น จากนั้นให้งอเข่าขึ้นข้างหนึ่ง อีกข้างให้ยกขึ้นตรง ๆ โดยที่ปลายเท้าชี้ขึ้น แล้วเอามือทั้งสองจับใต้ข้อพับเข่าไว้แล้วดึงเข้าหาลำตัวให้มากที่สุด ค้างเอาไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง จากนั้นให้เปลี่ยนข้างแล้วทำเช่นเดียวกัน

 

ท่าที่ 3

นอนหงายโดยให้เท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น จากนั้นให้ชันเข่าขึ้นทั้งสองข้างมือวางข้างลำตัว จากนั้นให้ยกก้นขึ้น ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วค่อย ๆ วางลง ทำซ้ำทั้งหมด 30 ครั้ง

 

ท่าที่ 4

นอนหงายโดยให้เท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น จากนั้นให้งอเข่าขึ้นข้างหนึ่งเบี่ยงไปหาสะโพกของอีกข้างหนึ่ง ใช้มือทั้งสองข้างกอดเข่าแล้วช่วยบิดไปทางสะโพกของอีกฝั่งไว้จนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำทั้งหมด 10 ครั้ง จากนั้นให้เปลี่ยนข้างแล้วทำเช่นเดียวกัน

 

ท่าที่ 5

นอนหงายโดยให้เท้าทั้งสองข้างราบไปกับพื้น จากนั้นให้งอเข่าขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกับกางแขนไปข้างลำตัว จากนั้นให้บิดสะโพกไปด้านหนังพร้อมกับหนังหน้าไปทางทิศตรงข้ามจนรู้สึกตึงที่หลัง ทำสลับกันไปมาทั้งหมด 30 ครั้ง

 

แนวทางการป้องกันการปวดก้นกบ

อาการปวดก้นกบสามารถป้องกันได้ ดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดกับกระดูกก้นกบมาก ๆ เป็นเวลานาน เช่น การปั่นจักรยานนาน ๆ การนั่งเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
  • ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุการล้มก้นกระแทกพื้นที่จะทำให้เกิดอาการปวดก้นกบ เช่น ไม่ปล่อยให้พื้นเปียกน้ำ ไม่เดินเล่นมือถือขณะเดินหรือขึ้นบันได ระวังสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ขณะเดิน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพราะหากน้ำหนักมากมวลในร่างกายมากมักทำให้กระดูกก้นกบต้องรับแรงกดมากขึ้นไปด้วย

 

ข้อสรุป

อาการปวดก้นกบเป็นอาการที่มักถูกมองข้ามเพราะมีหลาย ๆ โรคที่มีอาการคล้ายกับอาการปวดก้นกบ อย่างไรก็ตามอาการปวดก้นกบเป็นอาการที่สามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์โดยไม่ต้องรับการรักษา แต่อย่างไรก็ตามหากอาการปวดก้นกบเป็นมากขึ้นจนเรื้อรังและเป็นนานกว่าหลายสัปดาห์ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

หากผู้ป่วยมีอาการปวดก้นกบ เจ็บกระดูกก้นกบไม่ว่าจะนั่ง จะเปลี่ยนอิริยาบถ หรือปวดแม้กระทั่งตอนนั่งขับถ่าย สงสัยว่ากระดูกก้นกบอักเสบ ร้าวหรือแตกหัก สามารถเข้ารับการตรวจได้กับโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ โดยสามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้

โทรสอบถามที่ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์ : https://www.samitivejchinatown.com/th 

Line : @samitivejchinatown

 

เอกสารอ้างอิง

NHS. (2022). Tailbone (coccyx) pain. from https://www.nhs.uk/conditions/tailbone-coccyx-pain/

Cleveland Clinic. (2020). Coccydynia (Tailbone Pain). from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10436-coccydynia-tailbone-pain

Margaret Moutvic. (n.d.) What causes tailbone pain, and how can I ease it?. from https://www.mayoclinic.org/tailbone-pain/expert-answers/faq-20058211

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม