Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

กระดูกสะโพกหัก (Hip Fracture) อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

กระดูกสะโพกหัก

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพียงแค่กระดูกแขน กระดูกขาเท่านั้นที่มักจะได้รับผลกระทบ แต่กระดูกสะโพกหักก็เป็นส่วนที่รับผลกระทบบ่อยไม่แพ้กัน เพราะเมื่อใดที่มีการหกล้ม คนส่วนมากมักจะเอาส่วนสะโพกลง ทำให้สะโพกกระแทกกับพื้น

และไม่ใช่แค่วัยทั่วไปเท่านั้น กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ก็เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากเช่นกัน เพราะวัยสูงอายุมีความหนาแน่นของกระดูกเปราะบางลง ทำให้พรุนง่าย หักง่ายกว่าปกติ

ดังนั้นเพื่อไม่ให้อาการกระดูกสะโพกหักทวีความรุนแรงขึ้น มาร่วมหาคำตอบกันในบทความนี้เกี่ยวกับวิธีการรักษาอาการกระดูกสะโพกหัก การดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ถูกต้อง  และการป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกสะโพกหักซ้ำอีก


สารบัญบทความ
 


กระดูกสะโพกหัก (Hip Fracture)

กระดูกสะโพกหัก (Hip Fracture) คือภาวะที่กระดูกฟีเมอร์ (Femur) ที่เริ่มนับตั้งแต่หัวกระดูกฟีเมอร์ไล่ลงไปถึงส่วนต้นของกระดูกต้นขา หรือบริเวณส่วนสะโพกนั่นได้รับผลกระทบจนมีสภาพกระดูกสะโพกร้าว หรือแตกหักไปจากสภาพปกติ ซึ่งกระดูกส่วนนี้มักจะหักจากการอุบัติเหตุกระแทกที่รุนแรง เช่น การหกล้ม หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ และมักจะมีโอกาสเสี่ยงที่มักจะเกิดได้ง่ายกับผู้ที่มีปัญหากระดูก ได้แก่
 

  • สะโพกหักในผู้ที่มีอายุน้อย
  • สะโพกหักในผู้สูงอายุ
  • สะโพกหักในผู้ที่มีปัญหากระดูก

กระดูกสะโพก คืออะไร

สะโพกหัก

กระดูกสะโพก (Hip Bone)  คือ กระดูกข้อต่อลูกบอลบริเวณสะโพกที่อยู่ในเบ้า และรอบ ๆ ส่วนนี้จะมีเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อจำนวนมากช่วยรองรับกระดูกข้อต่อ ทำให้กระดูกตรงนี้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และมีความเสถียร

ซึ่งข้อต่อสะโพกนี้จะเป็นส่วนเชื่อมระหว่างกระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา ทำให้อวัยวะบริเวณนี้เคลื่อนไหว ยืดเหยียดได้คล่องตัวทั้งเวลานั่ง นอน เดิน ยืน และรองรับน้ำหนักตัวได้ดี ดังนั้นหากเกิดปัญหา ปวดสะโพก ข้อสะโพกเสื่อม ปวดสะโพกร้าวลงขา หรือร้ายแรงถึงขั้นกระดูกสะโพกหัก จะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวกเท่าที่ควร


กระดูกสะโพกหักเกิดจากสาเหตุใด

กระดูกสะโพกหักใช้เวลากี่เดือน

อาการกระดูกสะโพกหักอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรง ความหนาแน่นของกระดูกบริเวณนี้เปราะบางลง ทำให้เมื่อได้รับแรงกระแทกที่รุนแรงต่าง ๆ  กระดูกจะเกิดแตกหักขึ้นมาได้

7 สาเหตุที่ส่งผลให้กระดูกมีความบางลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหัก ได้แก่
 

1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น

หนึ่งในปัจจัยแรกที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกอย่างแรกเลย ก็คืออายุ เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ตามธรรมชาติแล้ว ความหนาแน่นของกระดูก และมวลกล้ามเนื้อสูญเสียไป 

จากผลการศึกษาเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อายุ 40 ปีต้นไป ในทุก ๆ 10 ปี มวลกล้ามเนื้อจะลดลง 8% และในวัยสูงอายุ 70 ปีเป็นต้นไป มวลกล้ามเนื้อจะยิ่งลดลงไปอีกเป็นเท่าตัว และยิ่งในกรณีผู้สูงอายุมีปัญหาสายตา ยิ่งเสี่ยงให้เกิดการพลัดตกหกล้ม รวมกับกระดูกที่บางลง ทำให้สะโพกหักได้ง่าย ๆ
 

2. เพศกำเนิด

ด้วยเงื่อนไขตามสภาพร่างกายแล้วเพศหญิงจะมีประจำเดือน ทำให้มีการสูญเสียแคลเซียม (Calcuim) ที่จะไปช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกไปได้  และยิ่งผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ทำหน้าที่ป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ก็ยิ่งลดลง  ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกบางลงได้
 

3. การขาดแคลเซียม

การมีปริมาณแคลเซียมในกระดูกไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักได้ เพราะการสูญเสียแคลเซียมไปนั้น จะส่งผลกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูกทำลายกระดูกแทนการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ทดแทน กระดูกจึงมีความเปราะบาง ทำให้เพียงโดนแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย ก็แตกหักได้
 

4. อุบัติเหตุ

อุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นการลื่นล้ม อุบัติเหตุรถยนต์ใด ๆ ก็ตาม จะมีแรงกระแทกที่รุนแรงต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายถูกกระทบอย่างแรงไปถึงภายในร่างกาย ทำให้กระดูกที่อยู่ภายในแตกหักไปได้ โดยเฉพาะบริเวณสะโพก ที่ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุมักจะเอาส่วนก้นลงสู่พื้น ทำให้เป็นบริเวณที่ได้รับแรงกระแทกมากที่สุด
 

5. โรคเรื้อรังประจำตัว

โรคประจำตัวคนคนไข้บางท่าน อาจส่งผลต่อการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกไปได้ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคที่สุขภาพของกระดูกจะเสื่อมและบางลง จากการสูญเสียแคลเซียมที่สะสมในกระดูก ซึ่งจะพบกระดูกพรุนได้มากในบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง ข้อมือ และกระดูกบริเวณอื่น ๆ 
 

6. รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ

คนไข้บางคนมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งตัวยาที่บรรจุมานั้นส่งผลระบบประสาท มักจะทำให้คนไข้ที่รับประทานมักเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เสี่ยงต่อการเกิดอาการพลัดตก หกล้ม เป็นลม จนเกิดภาวะกระดูกสะโพกหักได้ เช่น ตัวยายานอนหลับ ยาแก้แพ้ ยาต้านอาการทางจิต ยากล่อมประสาท เป็นต้น
 

7. การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุที่ทำให้กระดูกบางลงได้ เพราะสารนิโคตินที่บรรจุอยู่ภายในบุหรี่จะเข้าไปทำการขัดขวางการนำแคลเซียมไปเสริมสร้างกระดูก และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ทำให้กระดูกสลายตัวเพิ่มขึ้น


กระดูกสะโพกหักมีกี่ประเภท

กระดูกบริเวณสะโพกมีหลากหลายส่วน หลากหลายตำแหน่ง ทำให้เมื่อเกิดการกระดูกสะโพกหักขึ้นมา คนไข้แต่ละคนอาจจะไม่ได้มีตำแหน่งกระดูกที่หักในส่วนเดียวกัน เพราะฉะนั้นขั้นตอนการดูแล ทำกายภาพบำบัดอาการกระดูกสะโพกหักของคนไข้แต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งกระดูก

กระดูกสะโพกหักแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
 

กระดูกโคนขาส่วนคอหัก

กระดูกโคนขาส่วนคอหักเกิดขึ้นได้จากการที่กระดูกโคนขาส่วนหัวหักออกจากกระดูกโคนขา ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงกระดูกในส่วนนี้ได้ เมื่อกระดูกสะโพกส่วนนี้หัก ในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย และจำนวนชิ้นของกระดูกที่หักที่เคลื่อนออกจากที่
 

กระดูกสะโพกหักผ่านแนวปุ่มบนกระดูกโคนขา

กระดูกสะโพกหักผ่านแนวปุ่มบนกระดูกโคนขาเกิดขึ้นในกระดูกถัดจากตำแหน่งกระดูกโคนขาส่วนคอ โดยกระดูกสะโพกส่วนนี้หัก สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดศัลยกรรมตามปกติ และช่วยอุปกรณ์อย่างสกรู แผ่นโลหะ หรือหมุดเข้าไปใส่เป็นตัวเชื่อม
 

กระดูกสะโพกหักใต้ปุ่มกระดูกโคนขา

กระดูกสะโพกหักใต้ปุ่มกระดูกโคนขาเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากกว่ากระดูกสะโพกส่วนอื่นหัก ซึ่งกระดูกสะโพกหักใต้ปุ่มกระดูกโคนขา กระดูกมักจะหักบริเวณใต้ปุ่มกระดูกต้นขาปลายอันเล็ก และในกรณีที่ซับซ้อนมากกว่านั้นคือจำนวนชิ้นกระดูกอาจจะหักกินพื้นที่มากกว่าหนึ่งบริเวณ ทำให้แพทย์อาจจะต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเข้ามาร่วมด้วย


อาการกระดูกสะโพกหัก

สะโพกหักในผู้สูงอายุ

หากคนไข้คนไหนมีอาการดังต่อไปนี้ อาจจะเข้าข่ายของอาการกระดูกสะโพกหักได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการปรึกษา และตรวจดูให้แน่ชัด เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่อาการดังกล่าวจะลุกลามจนเป็นปัญหาทางสุขภาพที่ใหญ่โตได้
 

  • ปวดบริเวณสะโพกมาก
  • ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ขา หรือยืนทรงตัวได้
  • รู้สึกขัด ๆ ขยับไม่สะดวกบริเวณสะโพก 
  • มีรอยฟกช้ำ บวมปรากฏที่สะโพก
  • ขาข้างที่เจ็บจะดูสั้นกว่าปกติ อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ขาจะหมุนเข้าหรือหมุนออก
  • หากล้มลง จะมีอาการเจ็บสะโพก ลุกขยับตัวไม่ได้

กระดูกสะโพกหัก..อันตรายถึงชีวิตไหม

คนไข้หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามภาวะกระดูกสะโพกหักไป แต่หารู้ไม่ว่าอาการดังกล่าวอาจจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้

โดยทั่วไปแล้วอาการกระดูกสะโพกหัก ไม่ได้ส่งผลอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในทันที แต่อาการกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะเสียชีวิตลงได้จากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงพักฟื้น เพราะผู้ป่วยอาจจะมีภาวะนอนติดเตียง นำไปสู่อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อันตรายถึงชีวิต เช่น
 

  • ปอดแฟบ
  • ปอดอักเสบติดเชื้อ
  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • แผลกดทับบริเวณด้านหลัง นำไปสู่การติดเชื้อรุนแรง

หรืออาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที และการดูแลหลังพักฟื้นที่ถูกต้อง เช่น
 

  • ภาวะพิการ เดินไม่ได้
  • เดินกะเผลก
  • กระดูกติดผิดรูป
  • ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน

การวินิจฉัยอาการกระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก รักษา

เมื่อคนไข้รู้สึกถึงอาการผิดปกติบริเวณสะโพก ให้ทำการเข้าไปรับการตรวจวินิจฉัยถึงภาวะอาการกระดูกสะโพกหักทันที เพื่อจะได้รับการประเมิน วินิจฉัยอาการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะได้นำไปสู่ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้องกับอาการของคนไข้

วิธีการตรวจประเมินอาการกระดูกสะโพกหักมีวิธี ดังต่อไปนี้
 

1. การซักประวัติ

การวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติของคนไข้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยแพทย์มักจะสอบถามถึงประวัติสุขภาพของคนไข้ตั้งแต่ในอดีต ลักษณะอาการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ระดับความเจ็บป่วยในบริเวณนั้น รวมถึงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือหกล้มมา แพทย์ก็จะสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาพิจารณาอาการกระดูกสะโพกหักด้วยเช่นกัน
 

2. การตรวจร่างกาย

หลังจากที่ซักประวัติสุขภาพคนไข้เบื้องต้น ก็พอที่แพทย์จะทราบข้อมูลในการวินิจฉัยเบื้องต้นแล้ว เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจที่มากขึ้น แพทย์จะนำเข้าคนไข้เข้าสู่ขั้นตอนการตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบลักษณะของอาการที่ละเอียดขึ้น

โดยการสังเกตจากบริเวณที่มีลักษณะเขียวช้ำ หรือบวมนูนผิดปกติ ประกอบกับการสังเกตลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไป รวมถึงแพทย์จะจับ คลำหาจุดบาดเจ็บต่าง ๆ หากสัมผัสได้ถึงเสียงกระดูกดังกรอบแกรบ อาจสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นชิ้นส่วนปลายกระดูกขบกัน แสดงได้ถึงอาการกระดูกมีส่วนแตกหักนั่นเอง
 

3. การเอกซเรย์ (X-Ray)

เมื่อเข้าข่ายอาการกระดูกสะโพกหัก แพทย์จะนำผู้ป่วยเข้ารับการเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อตรวจดูโครงสร้างภายในกระดูกว่าแตกหักที่ตำแหน่งได้ จะได้พิจารณาขั้นตอนการรักษาได้อย่างเหมาะสม แต่หากผู้ป่วยมีอาการกระดูกคอสะโพกหักแบบไม่เคลื่อน การตรวจหาด้วยการเอกซเรย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้การ MRI เข้ามาร่วมด้วย

เพราะ Magnetic Resonance Imaging (MRI) คือ เครื่องมือที่ใช้คลื่นสนามแม่เหล็ก และคลื่นความถี่ในการสร้างภาพความละเอียดสูง เพื่อตรวจสอบหาบริเวณผิดปกติภายในร่างกาย ทำให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น


วิธีรักษาอาการกระดูกสะโพกหัก

อาการกระดูกสะโพกหักนั้นโดยหลัก ๆ แล้วจะต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อเชื่อม หรือเปลี่ยนกระดูกเทียมแทนที่กระดูกในส่วนที่แตกหักหรือเสื่อมสภาพไป และอาจจะมีการใช้วิธีการรักษาด้วยยา และการกายภาพเพื่อช่วยทุเลาอาการเจ็บปวด หรือฟื้นตัวจากอาการกระดูกสะโพกหักให้บรรเทาลง
 

การรักษากระดูกสะโพกหักแบบไม่ต้องผ่าตัด

กายภาพบําบัด กระดูกสะโพกหัก

 

  • การใช้ยา

หนึ่งในวิธีช่วยบรรเทาอาการเจ็บจากการกระดูกสะโพกหักโดยไม่เข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะทำการจ่ายยาบรรเทาอาการปวดให้กับคนไข้ เพื่อทุเลาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นลง

และในผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในวัย 65 ปีขึ้นไป อาจจะต้องใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนที่เป็นยาชนิดเม็ดรับประทาน หรือชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำร่วมด้วย เช่น ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตส์ เพื่อให้กระดูกแข็งแรง และลดความเสี่ยงกระดูกเปราะบางแตกหักเกิดซ้ำขึ้นอีก

 

  • กายภาพบำบัด

หลังจากมีการเปลี่ยนกระดูกสะโพกเทียมไปแล้วนั้น การกายภาพบําบัดเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อลดอาการจากการกระดูกสะโพกหักลง และฟื้นฟูร่างกายให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากหลังจากทำการเปลี่ยนสะโพกเทียมไปแล้ว บริเวณช่วงสะโพกจะมีอาการอ่อนแรงจากการไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน 

ดังนั้นการกายภาพบำบัด และออกกำลังกายที่ไม่เป็นการเพิ่มแรงกระแทก จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกได้ ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วขึ้น และกล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะช่วยรองรับกระดูกได้อย่างดี
 

การผ่าตัดรักษากระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก ผ่าตัด

 

  • ผ่าตัดยึดกระดูก (Internal fixation)

การรักษากระดูกสะโพกหักด้วยการผ่าตัดวิธีแรก คือการผ่าตัดยึดกระดูก เป็นการจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ และเมื่อจัดกระดูกให้เข้าที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการยึดกระดูกด้วยสกรูยึดเข้ากับแผ่นโลหะ หรือแท่งโลหะเพื่อช่วยดามแกนกลางกระดูก โลหะจะเป็นตัวช่วยเชื่อมยึดระหว่างกระดูกให้กระดูกมีความแข็งแรงขึ้น และยึดให้กระดูกอยู่กับที่ จนกระดูกค่อย ๆ สมานตัวเข้าที่ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้กระดูกของผู้ป่วยกับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

 

  • ผ่าตัดใส่ข้อเทียมบางส่วน (Partial hip replacement)

การผ่าตัดกระดูกสะโพกหักด้วยการใส่ข้อเทียมบางส่วน เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหัวสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพ หรือแตกหักออก และใส่ก้านสะโพกเทียมเข้าไปทดแทน โดยจะมีหัวสะโพกเทียมสวมลงก้านสะโพกเทียมอีกทีนึง ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จะใช้เบ้าสะโพกเดิมของผู้ป่วยอยู่แล้ว และเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ

 

  • ผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียมทั้งชุด (Total hip replacement)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งชุดเป็นหนึ่งในการผ่าตัดที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุยังไม่มาก โดยการผ่าตัดวิธีนี้จะต่างออกไปจากการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมบางส่วน ตรงที่การเปลี่ยนข้อเทียมทั้งชุดจะมีการนำทั้งหัวสะโพกเทียม และเบ้าสะโพกเทียมผ่าตัดเข้าไป โดยนำหัวกระดูกสะโพกที่แตกหัก หรือเสื่อมสภาพออกไปก่อน แล้วจึงนำก้านสะโพกเทียม และเบ้าสะโพกเทียมใส่เข้าไปทดแทน


ขั้นตอนพักฟื้นหลังผ่าตัดสะโพกหัก

ผ่าตัดสะโพกหักพักฟื้น

หลังการผ่าตัดสะโพกหัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลพักฟื้นอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกาย และดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ไม่ใช่แค่การรักษาที่เป็นไปอย่างราบรื่นเท่านั้น แต่ขั้นตอนในการฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
 

  • หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดภาวะการอุดตันในหลอดเลือด คนไข้ควรขยับข้อเท้า ขยับขาทั้ง 2 ข้างที่ผ่าตัด ให้เลี้ยงไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างไม่ติดขัด
  • ควรหมั่นตรวจดูร่างกายหลังผ่าตัดว่ามีภาวะซีด(Anemia) จากการเสียเลือดในการผ่าตัดมากไปหรือไม่ หากมีอาการตัวซีดควรไปพบแพทย์ เพื่อให้เลือดเพิ่ม
  • เมื่อไม่มีภาวะอาการตัวซีดแล้ว คนไข้จึงค่อย ๆ ขยับลุกนั่ง หากไม่มีอาการวิงเวียนศีรษะ จึงค่อย ๆ ขยับไปสู่การฝึกนั่งแบบเต็มตัว นั่งห้อยขาแบบหลังไม่พิง
  • เมื่อผู้ป่วยมีการทรงตัวที่ดีขึ้น จึงค่อย ๆ เริ่มฝึกยืน แล้วจึงค่อย ๆ เริ่มฝึกเดิน โดยใช้ไม้เท้าพยุง 4 ขา (Walker) จนเริ่มก้าวเท้าได้ดี ก็สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

ผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก ค่าใช้จ่าย

สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสะโพก ราคาเริ่มต้นที่ 259,000 - 506,000 บาท


ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากกระดูกสะโพกหัก

เนื่องจากอาการกระดูกสะโพกหักจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายได้ดั่งใจ รวมถึงการพักฟื้นหลังผ่าตัดเองก็ตาม หากผู้ป่วยไม่หมั่นขยับเขยือนร่างกาย กายภาพตามคำสั่งของแพทย์ ก็อาจจะนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากการนอนติดเตียงก็เป็นได้
 

  • ปอดอักเสบ
  • การติดเชื้อ
  • แผลกดทับ
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • กล้ามเนื้อลีบ

แนวทางการป้องกันกระดูกสะโพกหัก

การดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก

ด้วยอายุและสภาพร่างกาย รวมถึงการใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพของคนไข้แต่ละคนอาจจะไม่ได้ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกมากเท่าที่ควร ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกนั้นเสื่อมสภาพลง เปราะบางง่ายต่อการแตกหัก ดังนั้นเพื่อเลี่ยงการเกิดภาวะกระดูกสะโพกหัก คนไข้ควรเพิ่มความแข็งแรง และสุขภาพกระดูกที่ดีให้กับตนเอง
 

แนวทางการดูแลกระดูกให้แข็งแรง

โดยเริ่มง่าย ๆ ที่การเพิ่มแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และวิตามินดี 600 I.U. ต่อวัน ให้ร่างกายอย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม  เช่น นมและผลิตภัณฑ์ของนม อย่างโยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง ปลาตัวเล็ก และสัตว์ตัวเล็กที่สามารถรับประทานได้ทั้งกระดูกหรือเปลือก เช่น ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลาไส้ตัน กุ้งฝอย กุ้งแห้ง เป็นต้น 

และอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน ดี (Vitamin D) เช่น น้ำมันตับปลา ปลาที่มีไขมันสูง อย่างแซลมอน หรือทูน่า ไข่แดง นมและผติภัณฑ์จากนม เห็ด เมล็ดธัญพืช สาหร่ายบางชนิด

คนไข้ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และกล้ามเนื้อ เช่น เดินออกกำลังกาย โยคะ รำไทเก็ก

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นต้นเหตุในการลดความหนาแน่นของกระดูกให้เปราะบางลงไป


ข้อสรุป

กระดูกสะโพกเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของร่างกายที่ส่งผลต่อการขยับ เคลื่อนไหวร่างกาย และที่สำคัญมักจะเป็นบริเวณที่หากเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยมักจะใช้บริเวณกระแทกลงสู่พื้น ทำให้ง่ายต่อการเกิดอาการกระดูกสะโพกหักได้ เพื่อไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย หากเกิดอาการดังกล่าวควรรีบเข้ามารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

โดยสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


References

Mayo Clinic Staff (May 05, 2022). Hip Fracture. Mayo Clinic . https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hip-fracture/diagnosis-treatment/drc-20373472

Stuart J. Fischer , Joshua L. Gray (Nov , 2020). Hip Fractures. Orthoinfo . https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/hip-fractures/


แพ็กเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก 1 ข้างเริ่มต้น 295,000 บาท
ค่าข้อเข่าเทียม Implant
ค่าห้องพักแบบมาตราฐาน 5 คืน ,รวมค่าการพยาบาล,บริการห้องพัก,ค่าอาหาร,ค่าเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้อง(ตามกำหนด) Standard Room 5 Nights, Nursing, Room Service and Medical Equipment. The package includes 3 meals per day
ค่ายาผู้ป่วยใน,ค่าเวชภัณฑ์,ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์,ค่ายากลับบ้าน ขณะนอนพักในรพ. (ตามที่กำหนด) Medicine, Medical Equipment/Supplies at Ward
ค่าห้องผ่าตัด ค่าหอพักฟื้น รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ในการผ่าตัด (ตามกำหนด) Operating Room, Recovery Room, Medicine, Medical Equipment and supplies in OR
ค่าบริการการทำกายภาพบำบัด Rehabilitation Service
ค่าแพทย์ผ่าตัดและแพทย์วิสัญญี Surgeon and Anesthesiologist Fee

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม