Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

อาการตาล้า ปวดตา ตาเบลอ ปัญหาสายตาที่ไม่ควรมองข้าม

กล้ามเนื้อตาล้า รักษา

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของเรามากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การติดต่อกับบุคคลอื่นๆ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะมีความสะดวก รวดเร็ว แต่ถ้าหากเราใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้

“อาการตาล้า” ก็เป็นหนึ่งในอาการที่เป็นผลมาจากการใช้สายตามากเกินไปในระยะเวลานานๆ จนทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกปวดตา คันตา ตาแห้ง การมองเห็นเบลอ ไม่ชัดเจน

แบบนี้แท้ที่จริงแล้ว ปัญหาสายตาอย่างการตาล้าเป็นอย่างไร หากอยู่ในภาวะนี้จะมีวิธีแก้อาการตาล้าไหม? ค้นหาไปพร้อมๆกันได้ในบทความนี้

สารบัญบทความ
 

 


 

โรคตาล้า (Asthenopia)

โรคตาล้า หรือ Asthenopia คือ ภาวะที่ดวงตาอ่อนล้าจากการผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก หรือมีการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ มีระดับอาการที่ไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก

หากใครที่รู้สึกว่าตนเองอาจเข้าข่ายอาการสายตาล้า ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก เพียงแค่ปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ หรือพักสายตาสักระยะหนึ่ง ก็จะช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นได้

 


 

อาการตาล้า มีอะไรบ้าง

กล้ามเนื้อตาล้า
 

อาการตาล้าที่เกิดขึ้น สามารถสังเกตได้จากอาการเด่นๆที่มักพบได้บ่อย ดังนี้
 

  • ปวดตา กระบอกตา หรือบริเวณรอบๆดวงตา
  • มีภาวะตาแห้ง
  • เกิดการระคายเคืองตา คันตา หรือ แสบตา
  • มีน้ำตาไหลออกมาบ่อยๆ
  • มีอาการตาล้า ตาเบลอ มองไม่ชัดเจน
  • ดวงตามีความไวต่อแสง
  • มองเห็นภาพซ้อนกัน
  • บางรายอาจมีอาการอื่นๆเพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ เกิดอาการปวดไมเกรน รู้สึกอยากอาเจียน ภาวะบ้านหมุน กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก หรือปวดคอ บ่า ไหล่

 


 

โรคตาล้าเกิดจากสาเหตุใด

สายตาล้า
 

การปวดตา ตาล้า เกิดจากหลากหลายสาเหตุ โดยคุณสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไว้ใช้ในการสังเกตพฤติกรรมตนเองได้ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่…
 

สายตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์

อาการสายตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสาเหตุหลักที่พบได้ในคนส่วนมาก เพราะในปัจจุบัน มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน จึงทำให้ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจออย่างหนักเป็นเวลานาน
 

การใช้สายตาในที่มืด

การที่เราพยายามมองสิ่งต่างๆในที่มืด หรือที่แสงสว่างน้อยจนเกินไป จำเป็นจะต้องเพ่งสายตาตลอดเวลา เพื่อให้ภาพที่ต้องการมองเห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งการเพ่งสายตาในระยะเวลานาน ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อตาล้าได้นั่นเอง
 

มีปัญหาค่าสายตาผิดปกติ

ในบางราย อาจมีปัญหาค่าสายตาผิดปกติ เช่น มีภาวะสายตาสั้น, สายตาเอียง, สายตายาว หรือปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นกับกระจกตาซ่อนอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวัดสายตากับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงจะสามารถค้นหาความผิดปกตินั้นๆได้
 

ขับขี่รถยนต์ระยะทางไกล

การต้องขับรถยนต์ในระยะทางไกลๆบ่อยๆ ทำให้ต้องใช้สายตาจดจ่อกับเส้นทางตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ อีกทั้งร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอาการตาล้าได้
 

มีความเครียด หรือเหนื่อยล้ามากเกินไป

แต่ละคนอาจมีปัญหาชีวิต หรือความเครียดต่อเรื่องต่างๆที่แตกต่างกันไป การที่คุณมีความเครียดหรือความเหนื่อยล้าสะสม ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อส่วนอื่นๆของร่างกาย อาการตาล้าก็เป็นหนึ่งในส่วนที่สามารถได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

 


 

การวินิจฉัยโรคตาล้า

โดยปกติแล้ว แพทย์จะมีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตาล้า โดยเริ่มจากซักประวัติแต่ละรายบุคคล ค้นหาพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดตาล้า ตาเบลอ อีกทั้งจะมีการตรวจสายตา เพื่อประเมินค่าสายตาในปัจจุบัน รวมไปจนถึงสภาพการมองเห็น และโอกาศเสี่ยงในการเกิดโรคทางตา เช่น ต้อลม จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาแล้ว แพทย์จะนำมาประเมิน วางแผนการรักษา และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละรายบุคคลต่อไป

 


 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคตาล้า

พบจักษุแพทย์
 

ถึงแม้ว่าโรคตาล้า จะสามารถหายด้วยตนเองได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่เข้ารับการรักษา บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้
 

รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

การเกิดอาการตาล้าบ่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรือการทำกิจกรรมอื่นๆได้ เพราะจะทำให้บุคคลที่มีอาการตาล้า ไม่สามารถทำกิจกรรมนั้นๆได้ในระยะเวลานานๆ ซึ่งหากพยายามฝืนตนเอง ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้อีก เช่น การตาล้าขณะขับขี่รถยนต์ เป็นต้น
 

เกิดปัญหาสุขภาพดวงตา

หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจทำให้เกิดโรคทางดวงตาที่มีความรุนแรงขึ้นได้ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม ต้อลม วุ้นลูกตาเสื่อม หรือเกิดปัญหากับกระจกตาได้ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตาบอด

 


 

แนวทางการรักษาและบรรเทาอาการตาล้า

การรักษาตาล้า
 

วิธีแก้อาการตาล้า สามารถเลือกรักษา หรือบรรเทาอาการได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่…
 

  • น้ำตาเทียม หรือยาหยอดตา แก้ตาล้าได้ โดยการเพิ่มความชุ่มชื้น บรรเทาอาการระคายเคือง และตาแห้ง
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การหลีกเลี่ยงไม่ให้ลมมาสัมผัสโดนดวงตาของเราโดยตรง
  • ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เช่น ทิศทางและแสงสว่างของหน้าจอ สถานที่ทำงาน หรือห้องให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องการทำ
  • ประคบดวงตาด้วยความเย็น จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตาที่ตึงเครียดให้ลดลงได้
  • พักสายตา เช่น การละสายตาไปมองวัตถุอื่นๆ หรือหลับตาในบางช่วงเวลา
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตาอย่างหนัก หรือการเพ่งสายตากับวัตถุหรือสิ่งเล็กๆ
  • บริหารกล้ามเนื้อรอบดวงตาให้แข็งแรง

 


 

ป้องกันอาการตาล้าอย่างไรได้บ้าง

พักสายตา


สายตาล้า มองไม่ชัด
 

การพักสายตา เป็นเรื่องง่ายๆที่ใครหลายๆคนมักมองข้ามไป ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถแบ่งเวลาการใช้งานสายตา และการพักสมองของเราได้ โดยใช้กฏ 20-20-20

กฏ 20-20-20 คือ ให้คุณพักสายตาจากกิจกรรมหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ โดยการหลับตา หรือมองออกไปยังวิวทิวทัศน์ ต้นไม้ วัตถุอื่นๆที่อยู่ห่างออกไปในระยะอย่างน้อย 20 ฟุต ในทุกๆ 20 นาทีที่ทำกิจกรรม ซึ่งละสายตาประมาณ 20 วินาที
 

แสงสว่าง


ตาล้า แสบตา
 

ก่อนทำกิจกรรมใดๆ ควรสังเกตดูก่อนว่า สถานที่นั้นๆมีแสงสว่างที่เพียงพอหรือไม่ และพยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้สายตาในที่มืด หรือที่แสงสว่างน้อย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณต้องการนั่งอ่านหนังสือ ควรจัดแสงไฟให้ทิศทางส่องไปยังวัตถุ โดยไม่ให้แสงเข้าสู่ดวงตาของเราโดยตรง และความสว่างของแสงจะต้องเพียงพอต่อการอ่านหนังสือ หรือหากคุณต้องการดูโทรทัศน์ คุณก็สามารถปรับแสงสว่างให้อ่อนลงได้ เพื่อความสบายตา
 

การดูแลตนเอง


ตาแห้ง ตาล้า
 

การดูแลตนเอง สังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพ รวมไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องเราจากอาการตาล้าได้ เพราะหากเรารู้สิ่งที่เป็นความเสี่ยง ก็จะทำให้หาทางแก้ไขสิ่งต่างๆได้ตรงจุดกว่า

อย่างผู้ที่ประกอบอาชีพพนักงานออฟฟิศ หรือนักเรียนที่กำลังอยู่ในช่วงเรียนออนไลน์ จำเป็นต้องใช้สายตาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ก็ควรให้หน้าจออยู่ห่างจากสายตาประมาณ 20-26 นิ้ว ในทิศทางองศาที่เหมาะสม กระพริบตาบ่อยๆ และควรมีแว่นกรองแสง เพื่อปกป้องดวงตานั่นเอง
 

การตรวจสายตาเป็นประจำ


การตรวจสายตา
 

การเข้ารับการตรวจสายตาเป็นประจำ ไม่เพียงแต่จะสามารถป้องกันอาการตาล้าได้เท่านั้น เพราะการตรวจสายตา สามารถตรวจประเมิน และค้นหาสัญญาณความผิดปกติอื่นๆที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในดวงตาของเราได้

อีกทั้งเมื่อตรวจสายตาแล้ว พบความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ยังขอคำปรึกษาและวางแผนการรักษาร่วมกันกับจักษุแพทย์ได้อีกด้วย จึงทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
 

เข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์


ปรึกษากับจักษุแพทย์
 

บางรายที่ใช้วิธีการป้องกันอาการตาล้ารูปแบบอื่นๆแล้วไม่ได้ผล อาจต้องเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาทางด้านการมองเห็น โดยจักษุแพทย์จะเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การสวมใส่แว่นตา การใส่คอนแทคเลนส์ การเข้ารับการผ่าตัดสายตา หรือการใช้ยาหยอดตาที่ได้จากใบสั่งของแพทย์ เป็นต้น

 


 

ข้อสรุป

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น “อาการตาล้า” เกิดจากการที่บุคคลนั้น ใช้สายตาจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่งเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ดวงตาเกิดความอ่อนล้า มีอาการคันตา น้ำตาไหลมาก สายตาพร่ามัว ฯลฯ ถึงแม้ว่าการตาล้าจะไม่ได้มีระดับอาการที่รุนแรงมากถึงกับชีวิต แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้เข้ารับการรักษา ก็มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดโรคทางตาขึ้นได้ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม ต้อลม วุ้นลูกตาเสื่อม หรือกระจกตาผิดปกติ เป็นต้น

หากใครสนใจเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้การดูแลรักษาอาการตาล้า หรือปัญหาสายตาอื่นๆของคุณ ด้วยทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องชัดเจน พร้อมไปด้วยประสบการณ์มากมาย เพื่อให้คุณมั่นใจได้เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน

อีกทั้งยังมีเครื่องมือทางการแพทย์เฉพาะทาง ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวก และบรรเทาความเจ็บปวดในการรักษาอีกด้วย ไม่เพียงแต่แค่นั้น เพราะเรายังมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคุณอีกมากมาย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม ได้ที่ Line: @samitivejchinatown หรือ เบอร์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 


 

References

Bedinghaus, T. (2021, December 03). An Overview of Eye Strain (Asthenopia). Verywell health. https://www.verywellhealth.com/do-you-suffer-from-asthenopia-or-tired-eyes-3421982

Griff, A. M. (2018, December 18). Getting Relief for Asthenopia. Healthline. https://www.healthline.com/health/eye-health/20-20-20-rule

Grigorian, P. (2021, August 13). Asthenopia. American Academy of Ophthalmology. https://eyewiki.aao.org/Asthenopia

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม