Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

รู้ทัน 4 โรคต้อ เป็นต้อแต่ละแบบต่างกันอย่างไร สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา

เป็นต้อ

“การเป็นต้อ” เป็นชื่อเรียกความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี แม้จะเรียกโรคเหล่านั้นว่าต้อเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วโรคต้อแต่ละโรค สาเหตุ อาการ และความรุนแรงของโรคนั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง

โรคตาต้อแต่ละโรคเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน หากเป็นต้อแล้วสามารถรักษาได้หรือไม่ ผู้ที่สนใจสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้
 


สารบัญบทความ

 
 

โรคต้อ ตาเป็นต้อ คืออะไร

คำว่าต้อ โรคต้อ หรือตาเป็นต้อ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มความผิดปกติที่เกิดกับดวงตาทั้งหมด 4 รูปแบบ โดยคำว่าต้อไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากการเรียกความผิดปกติกลุ่มนี้ว่าต้อ มีแค่ในภาษาไทยเท่านั้น

โดยความผิดปกติที่ดวงตาซึ่งเรียกรวมกันว่าโรคต้อนั้น มีด้วยกันทั้งหมด 4 โรค ได้แก่ ต้อลม (Pinguecula) ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อหิน (Glaucoma) และต้อกระจก (Cataract) 

ต้อลมและต้อเนื้อเกิดจากความผิดปกติที่เยื่อบุตาขาว ทำให้ผู้ที่เป็นต้อเกิดความรำคาญ และระคายเคือง ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมที่เลนส์ตา ทำให้ตาเป็นฝ้าขาว มองเห็นไม่ชัด ต้อหินเกิดจากขั้วประสาทตาถูกทำลาย เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
 


ต้อที่ตาเกิดจากอะไร

ตาเป็นต้อเกิดจากอะไร? ผู้ที่เป็นต้อต่างชนิดกัน มีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้สายตามากกว่าปกติ จ้องแสงมากเกินไป ใช้ยากับดวงตาผิดประเภท หรือใช้ต่อเนื่องกันนานเกินไป จนทำให้ดวงตาผิดปกติและเป็นต้อขึ้นมา

ต้อลมหรือต้อเนื้อมักจะเกิดจากแสงแดด ฝุ่นควัน มลภาวะ รังสียูวี (Ultraviolet หรือ UV) และการใช้สายตามากเกินพอดี

หากเป็นต้อกระจก จะเกิดจากรังสี แสงแดด แสงยูวี การใช้ยาสเตียรอยด์ เศษเหล็ก เศษหิน หรือสารเคมีกระเด็นเข้าตา สายตาสั้นมาก จนทำให้เลนส์ตาเสื่อมสภาพ ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้สูงอายุเป็นหลัก

ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน มักจะเกิดจากกรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้น ทำให้เส้นประสาทในดวงตาถูกทำลายจนการมองเห็นแย่ลง สามารถเกิดจากสาเหตุที่คล้ายกับโรคต้อชนิดอื่นได้ เช่น การใช้สายตามากเกินไป ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เป็นต้น

 


ตาเป็นต้ออันตรายไหม

ตาเป็นต้อ ไม่ได้อันตรายเสมอไป ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น ต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจกไม่อันตราย อาจจะมีผลกับการมองเห็นบ้าง แต่สามารถรักษาให้สายตากลับมาดีดังเดิมได้
 

ต้ออะไรอันตรายที่สุด

การเป็นต้อที่ตา ต้อหินจะอันตรายกว่าการเป็นต้ออื่นๆ มากที่สุด เพราะหากเป็นต้อหินแล้วอาการลุกลาม อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร แม้เพิ่งเริ่มเป็น รู้ตัวเร็ว สามารถป้องกันไม่ให้โรคลุกลามได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อยู่ดี
 


 

ต้อตามีกี่แบบ

“ต้อตา” เป็นความผิดปกติทางดวงตาที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่ โรคต้อลม โรคต้อเนื้อ โรคต้อกระจก และโรคต้อหิน ซึ่งแต่ละชนิดจะมีสาเหตุ ลักษณะอาการที่ปรากฏ ระดับความรุนแรง วิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 

1. โรคต้อลม

ตาเป็นต้อลม คืออะไร รักษายังไง ลอกต้อลม ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

 
ต้อลม (Pinguecula) คือโรคที่เกิดจากเส้นใยคอลลาเจนในเยื่อบุตาขาวเสื่อมสภาพ จนทำให้เป็นก้อนนูนขึ้นมาที่ตาขาว ผู้ที่ตาเป็นต้อลมจะรู้สึกระคายเคืองตาเมื่อเกิดการอักเสบ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในผู้ที่ใช้สายตามาก ทำงานกลางแดดกลางลมเป็นเวลานาน และมีอายุ 40 ปีขึ้นไป

การเป็นต้อที่ตาแบบต้อลมไม่ใช่โรคอันตราย ไม่ได้มีผลกับการมองเห็น เพียงแต่จะทำให้เคืองตา หรือเกิดการอักเสบเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และหากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา ต้อลมจะลุกลามและกลายเป็นต้อเนื้อ
 

สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อลม

ในปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าปัจจัยใดทำให้เกิดต้อลม แต่ผู้ที่เป็นต้อลมมักมีความเสี่ยงดังนี้
 

  • ดวงตาสัมผัสกับฝุ่น ควัน มลภาวะ ลมร้อน แห้ง รังสียูวีมากกว่าปกติ
  • ​ทำงานที่ใช้สายตาหนัก เช่น ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  • ดวงตาแห้ง ระคายเคืองบ่อยอยู่ก่อนแล้ว
  • เป็นโรคเบาหวาน

อาการตาเป็นต้อลม

 
ผู้ที่ตาเป็นต้อลม จะมีอาการดังนี้
 
  • มีแผ่น ก้อน หรือปุ่มนูน สีขาวเหลืองที่บริเวณหัวตาหรือหางตา ส่วนใหญ่จะพบที่หัวตามากกว่า
  • ระคายเคืองดวงตาบ่อยๆ เจ็บ คันตา น้ำตาไหล เหมือนมีเม็ดทรายอยู่ในดวงตา
  • ตาขาวมีอาการบวมแดง โดยเฉพาะในบริเวณที่มีก้อนเนื้อนูนอยู่
  • หากขยี้ ตาจะแดงและอักเสบมากกว่าเดิม

วิธีรักษาตาเป็นต้อลม

ตาเป็นต้อลม รักษาอย่างไร? แม้ต้อลมจะไม่อันตรายแต่ก็ควรรักษา หากปล่อยไว้จนตาอักเสบอยู่บ่อยครั้ง จะทำให้อาการลุกลามจนกลายเป็นต้อเนื้อที่มีผลกับการมองเห็น การเป็นต้อลมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควรรักษาตามอาการเพื่อลดการระคายเคืองและอักเสบ ดังนี้
 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้งที่มีแสงแดด ฝุ่น ควัน หรือมลภาวะมาก หากจำเป็น ให้ใส่แว่นกันแดด แว่นกันลม หรือหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันดวงตา
  • หยอดน้ำตาเทียมเพื่อลดการระคายเคือง
  • หากระคายเคืองหรืออักเสบบ่อยครั้ง แพทย์จะให้ใช้ยาหยอดตาด้วย หากแพทย์จ่ายยาให้ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง
  • งดสูบบุหรี่ เพราะจะสารในบุหรี่จะทำให้อาการแย่ลง
  • หากต้อลมเป็นปัญหาเรื่องความสวยงาม สามารถผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์จี้ออกได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกเช่นกัน

ทั้งนี้ ถ้าแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นต้อลม ห้ามซื้อยารักษาตาต้อลม หรือ ยาหยอดตามาใช้เองโดยเด็ดขาด ยาที่ไม่เหมาะกับโรคที่เป็นอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคต้ออื่นๆตามมาได้ หากต้องการใช้ยาให้ปรึกษาแพทย์ และให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาให้เท่านั้น

 

2. โรคต้อเนื้อ

เป็นต้อเนื้อ

ต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นต้อที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากต้อลม ตัวโรคเกิดจากเยื่อบุตาขาวอักเสบเหมือนกัน แต่อาการตาเป็นต้อเนื้อจะรุนแรงกว่าต้อลม ต้อเนื้อจะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีขาว มีเส้นเลือดอยู่ในเนื้อเยื่อนั้น อยู่ที่บริเวณหัวตาหรือหางตา

โดยเนื้อเยื่อนี้จะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยื่นเข้าไปในบริเวณตาดำ หากเนื้อเยื่อนี้เข้าไปปิดที่รูม่านตา จะทำให้ผู้ที่เป็นต้อเนื้อสายตาเอียง และมองไม่เห็นในที่สุด แต่ผู้ป่วยจะไม่ได้สูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร เมื่อลอกต้อเนื้อออกจะกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
 

สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อเนื้อ

ต้อเนื้อเกิดจากสาเหตุเดียวกับต้อลม คือเกิดจากการใช้สายตามาก ตาสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองอย่างยาวนาน เช่น ลมร้อนแห้ง แสงแดด รังสียูวี ฝุ่น ควัน หรือมลภาวะต่างๆ โดยในเริ่มแรกจะเป็นต้อลมก่อน เมื่อก้อนต้อลุกลามเข้าไปในตาดำ เริ่มมีเส้นเลือดที่ก้อนต้อ จะเรียกลักษณะดังกล่าวว่าเป็นต้อเนื้อ
 

อาการตาเป็นต้อเนื้อ

อาการส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นต้อเนื้อ เหมือนกับการเป็นต้อลม คือระคายเคือง เจ็บ แสบ น้ำตาไหล เหมือนมีเม็ดทรายเข้าตา ทำให้เกิดการอักเสบได้ แต่อาการรุนแรงกว่าต้อลม คือต้อเนื้อจะมีผลกับการมองเห็น หากต้อเนื้อยื่นเข้าไปในบริเวณตาดำ จะทำให้สายตาเอียง หรืออาจจะมองไม่เห็นได้
 

วิธีรักษาตาเป็นต้อเนื้อ

การรักษาต้อเนื้อในเบื้องต้นหากยังไม่ได้มีผลกับการมองเห็น จะเหมือนกับการรักษาต้อลมทุกประการ คือให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ระคายเคือง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาด้วยน้ำตาเทียมอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อไหร่ที่ต้อเนื้อเริ่มมีผลกับการมองเห็น ก็ควรผ่าตัดต้อเนื้อเพื่อลอกต้อออก

แม้จะผ่าตัดลอกต้อแล้ว หากดวงตายังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ก็สามารถเป็นต้อเนื้อซ้ำได้เช่นกัน ในปัจจุบันมีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรกหรือเยื่อบุตาขาวหลังการลอกต้อ เพื่อลดโอกาสที่จะเป็นต้อซ้ำ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% อยู่ดี

ดังนั้นทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค และใส่เครื่องป้องกันดวงตาทุกครั้งหากจำเป็นต้องอยู่กับปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น

 

3. โรคต้อกระจก 

เป็นต้อกระจก

 
ต้อกระจก (Cataract) คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา จนทำให้โครงสร้างทางเคมีของโปรตีนในเลนส์ตาเปลี่ยนไป ทำให้เลนส์ตาขุ่น มีผลต่อการมองเห็น ตาพร่า ภาพไม่ชัด ภาพซ้อน หากอาการหนักจะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา
 

สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจก

การเป็นต้อกระจกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
 

  • การเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัย ทำให้โรคนี้พบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • เป็นผลจากโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคเกี่ยวกับไทรอยด์
  • เกิดขึ้นโดยกำเนิด จากพันธุกรรม หรือการติดเชื้อบางอย่างตั้งแต่อยู่ในครรภ์
  • ใช้สายตามากเกินไป จ้องแสงยูวี หรือแสงที่สว่างมากเป็นเวลานานๆ
  • เคยเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกับดวงตา หรือเคยผ่าตัดที่ดวงตา
  • ใช้ยาบางกลุ่มเป็นเวลานาน อย่างยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroids)

อาการของต้อกระจก

อาการตาเป็นต้อกระจก โดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้
 

  • รูม่านตาเป็นสีขาวขุ่น ในช่วงแรกจะเห็นไม่ชัด เมื่อต้อสุกขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นความขุ่นชัดเจนขึ้น 
  • ตาเป็นฝ้าขาว มองภาพไม่ชัด โดยเริ่มจากตามั่ว แล้วค่อยๆพร่าขุ่นขึ้นเรื่อยๆ จนมองเห็นได้ยาก 
  • ภาพซ้อนจากสายตาเอียง 
  • สายตาสั้นเพิ่มขึ้น ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อยจนต้องเปลี่ยนแว่นเป็นระยะ 
  • มองภาพไม่ชัดในที่แสงจ้า เห็นชัดขึ้นในที่แสงน้อย แต่สามารถเห็นสีได้น้อยกว่าปกติ

ต้อกระจกจะแบ่งออกเป็นหลายระยะตามความรุนแรง ในระยะหลังๆ ที่เลนส์ขุ่นมากจนมีปัญหากับการมองเห็นจะเรียกว่า “ต้อสุก” เป็นระยะที่สามารถรักษาได้ยากขึ้น
 

วิธีรักษาตาเป็นต้อกระจก

เป็นต้อกระจก รักษายังไง? การรักษาต้อกระจกจะแบ่งตามระยะของต้อ

หากเป็นต้อกระจกในระยะเริ่มต้น แพทย์จะรักษาตามอาการไปก่อน หากสายตาสั้น สายตาเอียงจากการเป็นต้อ จะรักษาด้วยการตัดแว่นตามค่าสายตา หากมองไม่เห็นในที่แสงจ้า แพทย์จะให้ใส่แว่นตัดแสง

หากเป็นต้อสุก มีปัญหากับการมองเห็น แพทย์จะให้รักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่สร้างแผลขนาดเพียง 3 มิลลิเมตรเท่านั้น ไม่ต้องพักฟื้นนาน ทำให้การผ่าตัดรักษาต้อกระจกไม่ใช่เรื่องใหญ่

นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่าตัดรักษาต้อกระจกสามารถเปลี่ยนเลนส์ตาเดิม เป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้ไขค่าสายตาได้ด้วย โดยไม่ต้องทำเลสิคให้ซ้ำซ้อน

 

4. โรคต้อหิน

เป็นต้อหิน

 
ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคต้อที่เกิดจากเซลล์เส้นใยประสาทในดวงตาลดลง จนทำให้ขั้วประสาทตา (Optic disc) เสื่อมสภาพ

โดยปกติแล้วเส้นประสาทในขั้วประสาทตาทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทไปที่สมอง ถ้าเส้นประสาทตัวนี้เหลือน้อย ภาพที่ส่งไปยังสมองจะน้อยลง ทำให้ความกว้างในการมองเห็นลดลง จนตามัว และสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด

สาเหตุที่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมมาจากหลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากเซลล์ลดลงเองโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเกิดจากความดันในลูกตาสูง จนทำให้ความดันไปกดทับ และทำลายเซลล์ประสาทในที่สุด
 

สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อหิน

ต้อหิน แบ่งสาเหตุการเกิดออกเป็น 2 สาเหตุ หากเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งเร้า จะเรียกว่า “ต้อหินปฐมภูมิ” แต่ถ้าเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่นโรคต่างๆ อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด จนทำให้ดวงตาผิดปกติจนเป็นต้อหิน จะเรียกว่า “ต้อหินทุติยภูมิ”

ในปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าต้อหินเกิดจากอะไร แต่ผู้ที่เป็นต้อหิน จะมีความเสี่ยงดังนี้
 

  • อายุมาก โดยผู้ที่เป็นต้อหินส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป 
  • มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน 
  • เป็นโรคที่ส่งผลกับการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด 
  • ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • เคยบาดเจ็บ หรือเคยผ่าตัดดวงตา 
  • สายตาสั้นหรือยาวมากจนเกินไป

อาการต้อหิน

ผู้ที่เป็นต้อหิน จะสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆจนตาบอดอย่างถาวร ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็น จนสูญเสียการมองเห็นไป อาจจะใช้เวลามากถึง 5 - 10 ปี ผู้ที่เป็นต้อหินจะมองภาพได้แคบลงเรื่อยๆ แต่ภาพตรงกลางยังเป็นปกติ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการมองเห็นของตัวเองผิดปกติ และมาพบแพทย์เมื่อเริ่มมองไม่เห็นแล้ว
 

วิธีรักษาตาเป็นต้อหิน

ต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์รักษาได้เพียงลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น เพื่อยืดระยะเวลาออกไป ให้ผู้ที่เป็นต้อหินสามารถมองเห็นได้ให้นานที่สุด เช่น การงดใช้ยาสเตียรอยด์ หรือลดการใช้สายตา

โดยปัจจัยเสี่ยงหลักที่รักษาได้คือความดันลูกตาสูง ผู้ที่เป็นต้อจากความดันลูกตาสูง แพทย์จะใช้ยา เลเซอร์ หรือใช้การผ่าตัดในการลดความดันลูกตา เพื่อไม่ให้ขั้วประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้น 

ผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน ต้องมีวินัยสูงมาก เพราะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอย่างเคร่งครัด และต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อรักษาการมองเห็นให้ได้นานที่สุด

 


โรคต้อแต่ละแบบต่างกันอย่างไร

โรคต้อแต่ละโรค มีอาการเด่น สาเหตุของโรค และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้
 
โรคต้อ
อาการเด่น สาเหตุ วิธีรักษา
ต้อลม ระคายเคือง เจ็บตา เยื่อบุตาขาวเสื่อม น้ำตาเทียม หรือยาหยอดตา
ต้อเนื้อ ระคายเคือง เจ็บตา สายตาเอียง หรือเสียการมองเห็นชั่วคราว เยื่อบุตาขาวเสื่อม น้ำตาเทียม ยาหยอดตา หรือการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ
ต้อกระจก ตาพร่ามัว เลนส์ตาขุ่น เลนส์ตาเสื่อม ใส่แว่นสายตา แว่นกันลม หรือผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา
ต้อหิน การมองเห็นแคบลง จนเสียการมองเห็นถาวร ขั้วประสาทตาเสื่อม ลดปัจจัยที่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อม เช่นลดความดันลูกตา
 
 

 

ขั้นตอนการรักษาโรคต้อ

ตาเป็นต้อ รักษาอย่างไร? โรคต้อแต่ละแบบมีการรักษาที่ต่างกัน

ต้อลมกับต้อเนื้อ จะเน้นรักษาโดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ระคายเคือง และทำให้ตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ หากรำคาญมาก มีผลต่อการมองเห็น หรือดูไม่สวยงาม สามารถลอกต้อลม และต้อเนื้อออกด้วยการผ่าตัดได้

ต้อกระจกรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เอาเลนส์เก่าที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่เลนส์เทียมอันใหม่เข้าไป หรือหากเป็นไม่มาก แพทย์จะให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ต้อสุกมากขึ้น และใส่แว่นเพื่อปรับตามค่าสายตาที่เปลี่ยนจากการเป็นต้อกระจก

ส่วนต้อหิน จะรักษาโดยการลดความเสี่ยงที่ทำให้โรคอาการหนักขึ้น เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

จะเห็นว่าการรักษาส่วนใหญ่ จะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ผู้ที่เป็นโรคต้อต้องระมัดระวังการใช้สายตา และทำตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้อาการของโรคไม่แย่ลงมากไปกว่านี้ รักษาการมองเห็นที่ดีให้นานเท่าที่จะทำได้

 


รักษาโรคต้อที่ไหนดี  

ตาเป็นต้อรักษายังไง รักษาที่ไหนดี

การเป็นต้อทำให้เกิดผลเสียกับดวงตาและการมองเห็นอย่างมาก อย่างร้ายแรงที่สุดคืออาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หากเป็นต้อแล้วก็ควรเลือกรักษากับโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญ และทำให้คุณสบายใจเมื่อได้พบแพทย์

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลคนไข้เหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา ทำให้การมาพบแพทย์และดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องปกติสำหรับคุณ นอกจากการบริการแล้ว ทีมจักษุแพทย์ของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ให้ความสำคัญกับการรักษา และมีประสบการณ์สูง

สร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มารักษาโรคต้อ ว่าจะได้ความสบายใจ และจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกลับไปอย่างแน่นอน

 


การดูแลตนเองหลังรักษาโรคต้อ

ต้อลมและต้อเนื้อเกิดซ้ำได้แม้จะผ่าตัดลอกต้อออกไปแล้ว ต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายได้ จึงต้องระมัดระวังไม่ให้อาการแย่ลง ส่วนต้อกระจก แม้จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ก็สามารถอยู่กับโรคได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเลย

ดังนั้นเมื่ออาการดีขึ้น หรือรักษาจนหายแล้ว ผู้ที่เคยเป็นต้อยังคงต้องระมัดระวังการใช้ดวงตา หมั่นสังเกตตัวเอง และควรมาพบจักษุแพทย์ตามนัด หรือเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ

 

เป็นต้อ ห้ามกินอะไรบ้าง


“เป็นต้อ ห้ามกินอะไรบ้าง?” การเป็นต้อที่ตาแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น ต้อหิน ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ อาจจำเป็นต้องมีลักษณะการดูแลที่แตกต่างกันไปในบางประการ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ผู้มีต้อในตา “ไม่ควร”รับประทาน มีดังนี้
 
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ 
- การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนมากจนเกินไป
- การทานอาหารเสริมมากจนเกินไป หรืออาหารเสริมที่ไม่มีการรับรองความปลอดภัย 
- อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีความแข็ง กรอบ เหนียวมาก
- ควรลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ขนมปัง ของหวาน 
 
นอกจากเรื่องการทานอาหาร การปฏิบัติตัวหลังการเข้ารับการรักษาโรคต้อก็สำคัญเช่นกัน โดยข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองหลังการรักษา ได้แก่…

- หากมีการทานยาประจำตัว เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้งาน
- ใช้ยารักษาตาต้อ หรือยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่ง
- หากรักษาด้วยการผ่าตัด หลังการรักษาเสร็จสิ้น ควรเลี่ยงการสระผมด้วยตนเองหรือล้างหน้าโดนบริเวณดวงตา
- ระมัดระวังน้ำ ฝุ่น ลม ควัน สารเคมี หรือสิ่งสกปรกเข้าสู่ดวงตา
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนดวงตาในช่วงระยะแรก เช่น การวิ่ง กระโดด
- ไม่ควรขยี้ตาอย่างรุนแรง
- ไม่ควรไอจามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการผ่าตัดดวงตามา เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดแรงดันภายในลูกตาได้
- ทำความสะอาดดวงตาด้วยการเช็ดตาเบาๆ วันละ 1 ครั้ง
- ในช่วงแรกหลังรักษาโรคต้อ ควรเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์และเปลี่ยนไปสวมแว่นสายตาแทน ประมาณ 1 เดือน
- พบอาการผิดปกติหลังจากรักษาโรคต้อเสร็จสิ้นแล้ว ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยเร็ว
- มาพบแพทย์ตามการนัดหมายทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษา

 


การป้องกันโรคต้อ

วิธีป้องกันโรคต้อ

โรคต้อที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้สายตา หรือความผิดปกติทางร่างกายจากการใช้ชีวิต สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
 

  • ตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หากเกิดความผิดปกติขึ้น ตรวจพบเร็ว จะสามารถรักษาได้ง่ายกว่า 
  • สังเกตการมองเห็นของตัวเองอยู่เสมอ หากตามัว ตาพร่า มองไม่ชัด ตาบวม ปวดตา ตาแดงอักเสบ เห็นรัศมีรอบดวงไฟ หรือระยะการมองเห็นแคบลง ให้รีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด 
  • หากดวงตาผิดปกติ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง 
  • หากเป็นโรคที่เสี่ยงทำให้เป็นต้อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรรักษา และควบคุมโรคเหล่านั้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเป็นต้อ 
  • หากทำงานที่ต้องใช้สายตามาก ควรพักสายตาเป็นระยะ 
  • หากต้องทำงานที่เสี่ยงทำให้ดวงตาบาดเจ็บ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง 
  • หากจำเป็นต้องอยู่ในที่แจ้ง แดดแรง ควรสมแว่นกันแดด หรือสวมหมวกปีกกว้างเสมอ 
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงอาหารที่มีสารอาหารบำรุงสายตา เช่น วิตามิน ซี อี และเอ แต่ไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริม เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยที่แน่ชัดว่าอาหารเสริมวิตามินเหล่านี้ สามารถป้องกันตาเป็นต้อได้ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

FAQ ตาเป็นต้อ

ตาเป็นต้อ ไม่รักษาได้ไหม

หากตาเป็นต้อควรเข้ารับการรักษา

ต้อลมหากไม่รักษา จะลุกลามจนเป็นต้อเนื้อ ต้อเนื้อหากไม่รักษา ก็จำทำให้สูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราว ต้อกระจกหากไม่รักษา ปล่อยไว้จนต้อสุก จะทำให้มองเห็นไม่ชัด ส่วนต้อหินหากปล่อยไว้ จะทำให้เสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

ดังนั้นหากตาเป็นต้อ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอาการลุกลาม และมีผลต่อการมองเห็น
 

โรคต้อ เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

หากตาเป็นต้อ หรือสงสัยว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ควรพบแพทย์และเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อหาทางรักษา และชะลออาการของโรคไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้
 

เป็นต้อ ทําเลสิกได้ไหม

ตาเป็นต้อทำเลสิกได้ไหม ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อ

หากเป็นต้อลมหรือต้อเนื้อ สามารถทำเลสิกได้ แต่ก็ต้องปรึกษากับแพทย์ก่อน แพทย์อาจจะให้ลอกต้อก่อนการทำเลสิก หากเป็นต้อกระจก แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำเลสิก แต่จะให้ผ่าตัดรักษาต้อกระจกพร้อมปรับค่าสายตาได้โดยไม่ต้องทำเลสิก

แต่ผู้ที่เป็นต้อหินนั้น ไม่สามารถทำเลสิกได้ เพราะในขั้นตอนการทำเลสิก แพทย์จะต้องเพิ่มความดันลูกตา หากเป็นต้อหินอยู่แล้ว การเพิ่มความดันในลูกตาอาจจะไปเพิ่มความเสี่ยง ทำให้โรคต้อหินอาการหนักขึ้นจนอาจสูญเสียการมองเห็นได้

 


ข้อสรุปเกี่ยวกับการเป็นต้อ

โรคต้อมี 4 ประเภท ได้แก่ ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน ผู้ที่เป็นต้อหรือสงสัยว่าเป็นต้อควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น ให้ดวงตาของคุณสามารถใช้งานได้ดี และยาวนานยิ่งขึ้น 

​โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ยินดีให้บริการทุกท่านด้วยเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานสากลและการบริการที่ดีเยี่ยมเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของผู้เข้ารับบริการ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคต้อ การรักษาโรคต้อประเภทต่างๆ รวมถึงการผ่าตัด สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้ที่เบอร์โทร 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอดไลน์โรงพยาบาล Line: @samitivejchinatown 

สมิติเวช ไชน่าทาวน์..มั่นใจมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 


ขอบคุณข้อมูลจาก

Boyd, K. (2021, Nov 22). What Is a Pinguecula and a Pterygium (Surfer's Eye)?. American Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/diseases/pinguecula-pterygium 

Mayo Clinic. Cataracts. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cataracts/symptoms-causes/syc-20353790

The National Health Service. Glaucoma. https://www.nhs.uk/conditions/glaucoma/

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม