Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

ภาวะตาแห้ง แสบตา เคืองตา รู้ทันสาเหตุ อาการ วิธีรักษา

อาการตาแห้ง

อาการตาแห้งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ไม่ใช่เฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น วัยทำงาน หรือวัยรุ่น ก็สามารถพบอาการตาแห้งได้ การจ้องหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือเกิดจากสภาพอากาศภายในห้องแอร์ที่ความชื้นต่ำ ก็สามารถทำให้เกิดอาการเคืองตา รู้สึกตาแห้ง แสบตา แพ้แสงได้เช่นกัน

บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ สาเหตุของโรคตาแห้ง พร้อมวิธีการรักษาและวิธีป้องกัน ที่จะช่วยให้อาการตาแห้งของคุณดีขึ้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
 


สารบัญบทความ
 


รู้จักภาวะตาแห้ง

ภาวะตาแห้ง (Dry eyes) คือ อาการแสบตา ตาแห้ง เคืองตา คันตา รู้สึกเหมือนมีเศษฝุ่นอยู่ในตาตลอดเวลา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการน้ำตาไหลน้ำ และมีอาการตาแห้ง ตาแดงร่วมด้วย อาการตาแห้งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นตาบอดถาวร แต่สามารถทำให้เป็นแผลที่กระจกตา ผิวกระจกตาอักเสบ กระจกตาไม่เรียบเนียน และทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญได้ 

อาการตาแห้งสามารถเกิดได้หลายสถานการณ์ เช่น บนเครื่องบินหรือห้องแอร์ที่มีสภาพอากาศแห้งมากๆ ระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือใช้สายตาเป็นเวลานานจากการจ้องจอโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ในขณะทำงาน


ตาแห้งเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุตาแห้ง

สาเหตุของอาการตาแห้ง เกิดจากการที่ฟิล์มน้ำตาที่เคลือบกระจกตาถูกรบกวนจากหลายสาเหตุ หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณชั้นต่างๆ ของน้ำตาสามารถก่อให้เกิดอาการตาแห้ง เคืองตา คันตาได้ ปกติแล้วชั้นของน้ำตา ที่อยู่บริเวณกระจกตามีอยู่ 3 ชั้น ได้แก่ 
 

  • ชั้นไขมัน (Lipid Layer) 

ชั้นไขมันเป็นชั้นที่อยู่นอกสุดของชั้นน้ำตา โดยจะช่วยไม่ให้น้ำตาระเหยเร็วมากเกินไป ชั้นไขมันถูกสร้างจากต่อมไขมันที่มีชื่อเรียกว่า Meibomian Glans 
 

  • ชั้นของเหลวที่เป็นน้ำ (Aqueous Layer)

ชั้นของเหลวที่เป็นน้ำ หรือเรียกง่ายๆว่า ชั้นน้ำ เป็นชั้นที่อยู่ระหว่างกลาง Lipid Layer และ Mucin Layer ชั้นน้ำถือเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำตา ทำหน้าที่ปกป้องดวงตา โดยจะผลิตน้ำตาออกมาล้างสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในดวงตา ชั้นน้ำถูกสร้างมาจากต่อมน้ำตาที่มีชื่อว่า Lacrimal Glans
 

  • ชั้นเมือก (Mucin Layer)

ชั้นเมือกเป็นชั้นที่อยู่ด้านในสุดของชั้นน้ำตา ทำหน้าที่ให้กระจกตาคงความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ชั้นเมือกสร้างมาจากเซลล์ที่มีชื่อว่า Goblet cell ที่อยู่ในเยื่อบุตาและในกระจกตา 

โดยสาเหตุของอาการตาแห้งมีหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ
 

1. กระบวนการสร้างน้ำตาที่น้อยกว่าปกติ

อาการตาแห้งสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อกระบวนการผลิตน้ำตาไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทางการแพทย์เรียกว่า Keratoconjunctivitis Sicca โดยสาเหตุที่ทำให้กระบวนการสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ ได้แก่
 

  • วัยสูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี 
  • โรคบางโรคส่งผลให้กระบวนการผลิตน้ำตาลดลง เช่น โรคโซเกร็น, โรคภูมิแพ้ขึ้นตา, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคที่เกี่ยงกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย, GVHD, โรคซาร์คอยโดซิส,ไทรอยด์ หรือการขาดมินตามินเอ 
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้, ยาหดหลอดเลือด, การใช้ฮอร์โมนทดแทน, ยาต้านเศร้า, ยาสำหรับโรคความดันโลหิตสูง และยาคุมกำเนิด 
  • จอประสาทตาเสื่อม สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อมมาจากการใส่คอนแทคเลนส์ หรือเส้นประสาทเกิดความเสียหาย นอกจากนี้การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์สามารถทำให้เกิดอาการตาแห้งบ่อย แต่เป็นเพียงอาการตาแห้งเพียงชั่วคราวเท่านั้น
     

2. การระเหยของน้ำตาที่เร็วกว่าปกติ

อาการตาแห้ง เคืองตา อาจมาจากการระเหยของน้ำตาที่เร็วกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุจากฟิล์มน้ำตา ในชั้นนอกสุดหรือที่เรียกว่า ชั้นไขมัน เกิดการอุดตัน การอุดตันของชั้นฟิล์มน้ำตามักพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย (Rosacea)  หรือโรคทางผิวหนัง รวมทั้งยังสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้การระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ได้แก่
 

  • เปลือกตาอักเสบ การอักเสบที่เกิดจากต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ ต่อมไมโบเมียน (Meibomian gland) คือต่อมที่ทำหน้าที่สร้างน้ำตาชั้นนอก ทำให้น้ำตายไม่ระเหยเร็วเกิดไป 
  • กระพริบตาน้อย เนื่องมาจากโรคบางโรค เช่น โรคพาร์กินสัน หรือจากการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ขณะขับรถ อ่านหนังสือ หรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ในขณะทำงาน
  • ความผิดปกติของเปลือกตา ภาวะเปลือกตาม้วนออก (Ectropion) หรือ ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion) ภาวะเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณกระจกตาได้ 
  • ภูมิแพ้ตา 
  • สารกันเสียในยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียม สารกันเสียในน้ำตาเทียมสามารถทำให้น้ำตาระเหยได้เร็วกว่าปกติ และอาจทำให้ผู้ใช้บางรายมีอาการระคายเคือง
  • ลม ควัน และบริเวณที่มีอากาศแห้ง
     

อาการของภาวะตาแห้ง

ตาแห้ง เส้นเลือดในตา

โดยปกติแล้วเมื่อเกิดภาวะตาแห้ง  มักมีอาการพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้ 
 

  • อาการแสบตา เคืองตา คัน หรือ รู้สึกเหมือนมีเศษฝุ่นอยู่ข้างในตา 
  • มีเมือกเหนียวๆ บริเวณรอบดวงตา
  • ตาแดง
  • น้ำตาไหล
  • ตาพร่ามัว
  • แพ้แสง แพ้ลม ไม่สามารถจ้องคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานานๆได้ 
  • อาจรู้สึกปวดหัว หรือปวดตาร่วมด้วย

หากมีอาการเหล่านี้คุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคตาแห้ง ควรพบไปจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยของดวงตา  
 


กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะตาแห้ง

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะตาแห้ง ได้แก่
 

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ภาวะตาแห้งมักพบในผู้ป่วยที่ที่มีอายุสูง เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น การผลิตน้ำตาลดลง
  • เพศ ภาวะตาแห้งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การขาดน้ำตาเป็นเรื่องปกติในเพศหญิง เมื่อฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงจากการตั้งครรภ์ การใช้ยาคุมกำเนิด หรือวัยหมดประจำเดือน ส่งผลทำให้การผลิตน้ำตาลดลงได้ 
  • การขาดวิตามิน เอ และ โอเมก้า 3  จากงานวิจัยพบว่า วิตามิน เอ และโอเมก้า 3 ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำตาได้มากขึ้น ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีวิตามิน เอ เช่น ตับ แครอท และบล็อคโคลี่ หรือมีกรดไขมันดอเมก้า 3 เช่น ปลา วอลนัท และน้ำมันพืช เพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการผลิตน้ำตา 
  • การใส่คอนแทคเลนส์ เพราะคอนแทคเลนส์จะดึงน้ำตามาใช้ เพื่อให้คอนแทคเลนส์คงความใสไว้ จึงทำให้น้ำตาลดลง
  • ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดปรับค่าสายตาผิดปกติ หรือที่เรียกว่าเลสิค (Lisik) มีโอกาสเป็นโรคตาแห้งมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งผู้ที่มีประวัติการรักษาสายตาสั้นด้วยการทำเลสิก ไม่ว่าจะเป็น Relex , femto lasik หรือ Prk สามารถทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้ แค่เป็นเพียงอาการตาแห้งชั่วคราวเท่านั้น 
  • การใช้ยาบางชนิด ได้แก่ Antihistamines, Decongestants, Antidepressants ทำให้กระบวนการผลิตน้ำตาลดลง
  • ผู้ที่เป็นโรคบางชนิด เช่น ผู้ป่วยที่เป็นต้อต่างๆ ได้แก่ ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ และต้อลม รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบ, โรคเบาหวาน และผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ มักมีภาวะตาแห้งร่วมด้วย
  • สภาพแวดล้อม ผู้ที่ต้องสัมผัสกับควัน ลม และสภาพอากาศที่แห้ง ทำให้การระเหยของน้ำตาเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเคืองตา คันตา แสบตาได้
     

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะตาแห้ง

ผลข้างเคียงจากโรคตาแห้ง

หากปล่อยอาการตาแห้ง โดยไม่ไปพบจักษุแพทย์หรือรีบทำการรักษา อาจจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงและเกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ 
 

  • การอักเสบของดวงตาและเปลือกตา
  • กระจกตาเป็นแผล
  • การดึงรั้งของเปลือกตา ทำให้ขนตาทิ่มตา
  • กระจกตาอักเสบและติดเชื้อ 
  • การใช้ชีวิตประจำวันยุ่งยากมากขึ้น เนื่องมาจากไม่สามารถมองเห็นได้เต็มที่ 100%

สำหรับผู้ป่วยบางราย ที่มาอาการตาแห้ง มีน้ำตาไหลเยอะ เนื่องมาจากผิวตาแห้งและกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองจนเกิดการอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสที่จะเกิดเป็นแผลเรื้อรังอาจทำให้กระจกตาทะลุ หรือถึงขั้นรุนแรงที่สุดอาจถึงขั้นตาบอดได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยภาวะตาแห้ง


เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

หากรู้สึกตาแห้งมากไม่หายสักที รวมถึงตาแดง ระคายเคืองที่ตา เหนื่อยล้า เจ็บปวดบริเวณดวงตา หรือไม่สามารถมองเห็นได้ปกติ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์โดยทันที เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาได้ทันเวลา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันให้เหมาะสม ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้

การรักษาอาการตาแห้งหรือ โรคตาแห้ง ควรรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้การปล่อยให้ตาแห้งเป็นระยะเวลานานจะทำให้ในส่วนของการรักษายากขึ้นกว่าเดิม 
 


การเตรียมตัวก่อนเข้าพบแพทย์

เมื่อคุณมีอาการตาแห้ง แสบตา ทําไงก็ไม่หายสักที และไม่อยากปล่อยจนอาการหนักกว่าเดิมให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา โดยสิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ 
 

  • ทำการบันทึกข้อมูล จดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาการของคุณ เช่น เริ่มมีอาการแสบตา น้ำตาไหล  เจ็บตา เคืองตา หรือเคืองตาข้างเดียว รวมถึงระยะเวลาที่มีอาการตาแห้งและความรุนแรงของอาการ อาจมีการจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออาการตาแห้ง เช่น การใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นเวลานาน
  • ดื่มน้ำเพียงพอ ควรดื่มน้ำเพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของตา การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ร่างกายและดวงตาของคุณชุ่มชื้นและไม่แห้งขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ตาแห้ง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ อยู่ในที่ที่มีควันหรือฝุ่นจำนวนมาก การเผชิญหน้ากับลมแรง หรือการสัมผัสสารเคมีที่อาจทำให้ตาแห้ง
  • ใส่แว่นตาสม่ำเสมอ หากคุณมีปัญหาสายตา เช่น  สายตาสั้นหรือสายตายาว อาจจะมีผลที่อาการตาแห้ง คุณควรใส่แว่นตาที่เหมาะสมเพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาอาการตาแห้งทั้งแว่นที่มีเลนส์ช่วยถนอมสายตา แว่นกรองแสงสีฟ้า รวมถึงแว่นกันแดด และควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ
  • รักษาความชุ่มชื้น  คุณสามารถใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาเพื่อช่วยบำรุงความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการตาแห้งได้ เช่น มีอาการแสบตาโดยไม่มีสาเหตุ ใช้หยดที่ตาเพื่อให้เกิดความความชุ่มชื้นลดการระคายเคือง หรือบางกรณีใช้เจลหรือครีมที่ใช้ทาบริเวณรอบตาเพื่อช่วยบำรุงความชุ่มชื้น
  • ดูแลตาอย่างเหมาะสม รักษาสภาพตาให้สมบูรณ์โดยรับประทานอาหาร หรืออาหารเสริมที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์เพื่อบํารุงสายตาของเรา เช่น อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักเขียวเข้มสด อาหารที่มีไขมันดีเช่น ปลาที่มีประโยชน์ หรืออาหารวิตามินเอ ลูทีน ไลโคปีน 

หลังจากเตรียมตัวดังกล่าว คุณควรนัดหมายพบแพทย์ทางด้านตาหรือจักษุแพทย์เพื่อการประเมินสภาพตาและการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แพทย์จะให้คำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมต่ออาการของคุณต่อไป


การตรวจวินิจฉัยของจักษุแพทย์

วินิฉัยอาการตาแห้ง จักษุแพทย์

โดยปกติแล้ว การวินิจฉัยของโรคตาแห้งจะทำโดยจักษุแพทย์ ซึ่งจะเน้นประเมินปริมาณและคุณภาพของน้ำตาเป็นหลัก ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย มีดังนี้ 
 

  • ตรวจประวัติผู้ป่วย เพื่อระบุอาการและปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะตาแห้ง
  • ตรวจตาภายนอก รวมถึงโครงสร้างเปลือกตา และไดนามิกของการกระพริบตา
  • ประเมินกระจกตา
  • ทดสอบเพื่อวัดปริมาณของน้ำตา ที่เรียกว่า Schirmer's Test โดยให้ผู้ป่วยหลับตา แล้วใช้แถบกระดาษกรองมาตรฐาน สอดไว้ที่ซอกเปลือกตาด้านล่างค่อนไปทางหางตา การทดสอบนี้ใช้เวลา 5 นาที โดยจะวัดระยะความเปียกของกระดาษจากขอบตาออกมาบันทึกไว้ เมื่อครบเวลาที่กำหนดปริมาณน้ำตาที่ปกติ ต้องเปียกตั้งแต่ 15 มิลลิเมตร ขึ้นไป หากน้อยกว่าระดับที่กำลังกำหนดถือว่าเป็นภาวะตาแห้ง 
  • ตรวจต่อมน้ำตาไมโบเมียน ด้วยกล้องชนิดพิเศษที่เรียกว่า Meibography เพื่อดูความเสียหายของต่อมน้ำตา 
  • Tear Osmolarity Test การทดสอบนี้ใช้ทดสอบอนุภาพและน้ำในน้ำตา
     

แนวทางการรักษาภาวะตาแห้ง

การรักษาบรรเทาอาการด้วยตัวเอง

แก้ตาแห้ง ธรรมชาติ

หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า หากมีภาวะตาแห้ง รักษายังไงดี ? วิธีแก้ตาแห้ง และแนวทางในการรักษาตาแห้ง มีหลายวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ได้แก่
 

  1. ใช้น้ำตาเทียม

เนื่องจากน้ำตาเทียม คือ ของเหลวที่มีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา สามารถใช้เพื่อทดแทนน้ำตาตามธรรมชาติ น้ำตาเทียมจึงสามารถช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง เคืองตา และแสบตาได้ รวมไปถึงสามารถใช้น้ำตาเทียมเพื่อเป็นสารหล่อลื่นให้กับดวงตาในขณะที่ใส่คอนแทคเลนส์  ประเภทของน้ำตาเทียมมี 3 ประเภท ดังนี้
 

  • น้ำตาเทียมแบบขวด มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ใช้งานง่าย ราคาถูก ส่วนใหญ่มักเป็นน้ำตาเทียมแบบรายเดือน มีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือน หลังจากการเปิดใช้งาน มีการใส่สารกันเสีย จึงทำให้มีโอกาสเกิดการแพ้ หรือการระคายเคืองในผู้ใช้งานบางราย และต้องระมัดระวังเรื่องการจัดเก็บให้ถูกวิธีและสะอาดอยู่เสมอ น้ำตาเทียมแบบขวด จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการตาแห้งเล็กน้อย 
  • น้ำตาเทียมแบบหลอด หรือ น้ำตาเทียมรายวัน น้ำตาเทียมประเภทนี้จะมีราคาที่สูงกว่าน้ำตาเทียมแบบขวด ข้อดีของน้ำตาเทียมแบบหลอด คือ ไม่ใส่สารกันเสีย พกพาสะดวก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากมีอายุใช้งานเพียง 24 ชั่วโมง น้ำตาเทียมแบบหลอดจึงเหมาะกับผู้ที่แพ้หรือระคายเคืองต่อสารกันเสียในน้ำตาเทียมแบบขวด หรือผู้ที่จำเป็นต้องหยอดตาบ่อยครั้งติดต่อกัน 
  • น้ำตาเทียนแบบเจล หรือ น้ำตาเทียมแบบขี้ผึ้ง เป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมากกว่าน้ำตาเทียมตัวอื่นๆ สามารถรักษาความชุ่มชื้นได้นานกว่า แต่น้ำตาเทียมประเภทนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และไม่ควรใช้น้ำตาเทียมแบบเจลในขณะที่ใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากอาจทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง น้ำตาเทียมแบบเจล จึงเหมาะสำหรับคนที่มีอาการตาแห้งระดับปานกลางจนถึงตาแห้งระดับมาก 
     

ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม
 

ผู้ป่วยที่มีตาแห้งน้อย ควรหยอดตาไม่เกินวันละ 4-5 ครั้ง และสามารถใช้น้ำยาหยอดตาที่มีสารกันเสียได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตาแห้งมาก ควรหยอดตามากกว่า 6 ครั้งต่อวัน และควรใช้ยาหยอดตาที่ไม่มีสารกันเสียเป็นส่วนผสม (Preservative - Free Tear) แทน โดยยาหยอดตาชนิดนี้จำเป็นต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค 
 

  1. นวดเปลือกตา (Eyelid Massaging)

การนวดเปลือกตาเพื่อบรรเทาอาการตาแห้งเรื้อรัง การนวดที่เปลือกตาเป็นการกดและรีดตามแนวการวางตัวของต่อมไขมัน (Meibomian gland) ที่ขอบเปลือกตา เมื่อต้องการนวดเปลือกตาบนให้มองลงล่าง และใช้นิ้วมือดึงหางตาให้เปลือกตาตึง ใช้นิ้วของมืออีกข้างนวดจากบนลงล่าง หากต้องการนวดเปลือกตาล่างให้มองขึ้นบน และใช้นิ้วนวดจากล่างขึ้นบน เริ่มนวดจากหัวตาไปหางตา เพื่อนวดต่อมไขมันที่อยู่บริเวณโคนขนตาได้ตลอดแนวยาวของเปลือกตา 
 

  1. ประคบอุ่นบริเวณเปลือกตา (Eyelid Warming)

วิธีนี้ช่วยให้ไขมันที่อุดตันท่อทางออกของต่อมไขมันละลายตัว และขับไขมันออกมาได้ดีมากขึ้น สามารถใช้เจลประคบร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น ผ้าห่อไข่ต้ม โดยใช้ความร้อนที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส ประคบบริเวณเปลือกตาทั้งสองข้างเป็นเวลา 10 - 15 นาที ระวังอย่าให้ร้อนหรือเย็นเกินไป หากใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเมื่ออุณหภูมิลดลง สามารถนำผ้าชุบน้ำอุ่นใหม่เพื่อให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดการประคบอุ่น 
 

  1. ทำความสะอาดเปลือกตา (Eyelid Cleansing)

วิธีนี้ทำได้ง่าย และสะดวก เพียงนำสำลีชุบด้วยน้ำสะอาดที่ผสมยาสระผมสำหรับเด็กอ่อน อัตราส่วน คือ 1:10 หรืออาจใช้น้ำยาเฉพาะสำหรับทำความสะอาดเปลือกตา เช็ดบริเวณขอบเปลือกตาและโคนขนตาให้สะอาด แนะนำทำ 1 - 2 ครั้งต่อวัน 
 

  1. ปรับพฤติกรรมประจำวัน

การปรับพฤติกรรมประจำวัน เป็นวิธีแก้ตาแห้ง ธรรมชาติได้ โดยการพักสายตาเป็นระยะ ควรพักสายตาทุก 20 นาที พัก (หลับตา) 20 วินาที และเตือนตัวเองให้กระพริบตาบ่อยขึ้น นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ ควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และสวมแว่นตาเมื่อจำเป็นที่ต้องทำกิจกรรมที่โดนลมแรงๆ 
 

  1. ใช้เครื่องทำความชื้น

หากมีอาการตาแห้งจากสภาพอากาศที่แห้ง ภายในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ลองใช้เครื่องทำความชื้นเพิ่มความชื้นในห้อง เพื่อลดอาการตาแห้ง
 

  1. งดการใส่คอนแทคเลนส์

เนื่องจากคอนแทคเลนส์จำเป็นต้องดึงน้ำตาจากกระจกตามาใช้ เพื่อให้คอนแทคเลนส์มีความใสอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถเกิดอาการเคืองตา ตาแห้งได้ และคอนแทคเลนส์ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณภาพน้ำตาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การไหลเวียนของน้ำตาที่กระจกตาลดลงด้วย

หากจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ แนะนำให้ใส่แบบ Soft lens จะช่วยคงความชุ่มชื้นและทำให้สบายตามากกว่าคอนแทคเลนส์แบบปกติ

การรักษาทางการแพทย์

รักษาอาการตาแห้ง
 

  1. การใช้ยารักษาอาการตาแห้ง
 
  • Cyclosporine ช่วยลดอาการอักเสบของกระจกตา และเพิ่มปริมาณน้ำตาในกระจกตา ลดอาการระคายเคืองบริเวณกระจกตา
  • Azithromycin และ Doxycycline เป็นยาปฏิชีวนะที่ช่วยลดอาการอักเสบที่เปลือกตา 
  • Corticosteroid สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งมาก ตาแห้งรุนแรง อาจจะต้องใช้ยาหยอดตาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดอาการอักเสบของกระจกตา
  • Cholinergics ยากระตุ้นน้ำตา สามารถช่วยกระตุ้นกระบวนการผลิตน้ำตา ให้ผลิตน้ำตามากขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา มีทั้งในรูปแบบยาเม็ด เจล และยาหยอดตา แต่มีผลข้างเคียง ได้แก่ เหงื่อออก

เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา ยาทุกชนิดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด 
 

  1. น้ำตาซีรั่ม 

น้ำตาซีรั่ม คือ การนำเลือดผู้ป่วยมาทำเป็นยาหยอดตา ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคตาแห้ง ทั้งนี้จักษุแพทย์จะพิจารณ์เลือกใช้ความเข้มข้น และวิธีการเตรียมซีรั่มแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มักใช้ความเข้มข้นที่ 20% Autologyous Serum Eye Drops สามารถใช้รักษาโรคตาแห้งที่มีอาการปานกลางจนไปถึงอาการรุนแรง 
 

  1. อุดรูระบายน้ำตา

วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีอาการรุนแรง ตาแห้งมาก การอุดระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้หล่อเลี้ยงตา ทำให้น้ำตาไม่ไหลลงทิ้งไป การอุดรูระบายน้ำตาเป็นเหมือนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ การอุดรูระบายน้ำมี 2 แบบ คือ อุดรูระบายน้ำชั่วคราว และ อุดรูระบายน้ำถาวร 

การอุดรูระบายน้ำชั่วคราว จักษุแพทย์จะสอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าไปในรูท่อน้ำตา โดยคอลลาเจนจะสลายไปเองภายใน 3 สัปดาห์ วิธีนี้ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตามากขึ้น สำหรับการอุดรูระบายน้ำถาวรนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของผู้ป่วย และดุลยพินิจของจักษุแพทย์
 

  1. ใช้คอนแทคเลนส์ ชนิดพิเศษ

สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องสวมคอนแทคเลนส์ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อใช้คอนแทคเลนส์ ชนิดพิเศษ หรือที่เรียกว่า Scleral Lens ที่ออกแบบมาเพื่อคนที่มีปัญหาตาแห้ง หรือระคายเคืองได้ง่าย เนื่องจากตัวเลนส์จะเก็บน้ำไว้ใต้เลนส์ตลอดเวลาทำให้ดวงตาและกระจกตาไม่แห้ง 
 


วิธีดูแลป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตาแห้ง

วิธีป้องกันอาการตาแห้ง

หากคุณมีอาการตาแห้ง คันตา แสบตา หรือเคืองตา ให้ลองสังเกตพฤติกรรมประจำวันของตนเอง ว่ามีปัจจัยใดบ้าง ที่สามารถก่อให้เกิดภาวะตาแห้ง แล้วลองปรับเพื่อปกป้องดวงตาของคุณ หรือลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันดวงตาให้ห่างไกลจากภาวะตาแห้ง 
 

  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้อากาศหรือลมเข้าตา เช่น งดการใช้ไดร์เป่าผม การเปิดพัดลมจ่อที่หน้าโดยตรง หรือการขับขี่รถจักรยานยนต์
  • สวมแว่นตา หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้สวมแว่นตาเพื่อปกป้องไม่ให้ลมเข้าตาโดยตรง และยังช่วยปกป้องไม่ให้เชื้อโรค สิ่งสกปรกเข้าตาได้ 
  • พักสายตาและกระพริบตาบ่อยขึ้น การใช้สายตาทำงานหรือกิจกรรมบางอย่าง ทำให้กระพริบตาน้อยลง ซึ่งการกระพริบตาน้อยลงส่งผลต่อภาวะตาแห้งโดยตรง แนะนำให้หยุดพักสายทุก 20 นาที พักครั้ง 20 วินาที เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง 
  • ควรทำงานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ 
  • ตำแหน่งของคอมพิวเตอร์ ควรวางคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา หากวางคอมพิวเตอร์สูงกว่าระดับสายตาจะทำให้ต้องลืมตามากกว้างปกติ ส่งผลต่อการระเหยของน้ำตาทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้
  • หยอดน้ำตาเทียม เพื่อทดแทนความชุ่มชื้นที่ไม่เพียงพอให้กับดวงตา 
  • หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน หรือใส่คอนแทคเลนส์ Scleral Lens ที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้หล่อเลี้ยงดวงตา 
  • สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพตาที่ดี 
  • กินอาหารให้ครบทุกหมู่ และเสริมด้วยอาหารที่มีโอเมก้า 3 (Omega 3 Fatty Acid) ที่พบมากในปาที่มีกรดไขมันดี เช่น ปลาแซลมอนหรือปลาซาร์ดีน และ วิตามิน เอ (Vitamin A) ได้แก่ น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง แครอท บร็อคโคลี่ ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการอักเสบและบรรเทาภาวะตาแห้งได้ 
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการควันบุหรี่จากการสูบด้วยตนเองหรือควันบุหรี่จากผู้อื่นก็ตาม เนื่องจากควันบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตาแห้ง 
     

คำถามที่พบบ่อย

ตาแห้งอันตรายไหม?

สำหรับผู้ที่มีอาการระคายเคืองไม่สบายตา ในเบื้องต้นสามารถใช้น้ำตาเทียมหยอด เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาได้ แต่ถ้าคุณมีอาการตาแห้ง ไม่สบายตารุนแรง และเป็นมานานไม่หายสักที แนะนำให้คุณรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาได้ทันเวลา 

โดยทั่วไปแล้วภาวะตาแห้ง หรือ โรคตาแห้ง สามารถทำให้คุณมีอาการตาพร่ามัว น้ำตาไหล แสบตา ระคายเคืองตาได้ หากปล่อยอาการตาแห้งไวนานๆ อาจจะทำให้เกิดแผลที่กระจกตา และถ้าเป็นแผลเรื้อรังสามารถทำให้กระจกตาทะลุได้ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด ดังนั้นหากมีอาการตาแห้ง ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษา
 

ตาแห้งรักษาหายขาดไหม?

อาการตาแห้ง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง และอาการระคายเคืองได้ แต่วิธีรักษาภาวะตาแห้งได้ดีที่สุด คือ การไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้และรับการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงขอคำแนะนำในการดูแลรักษาดวงตาให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง


ข้อสรุป

โรคตาแห้ง สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา แสบตา รู้สึกเหมือนมีเศษฝุ่นอยู่ในตา อาจมีน้ำตาไหลร่วมด้วย หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อที่บริเวณกระจกตา ซึ่งสามารถทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการตาแห้ง ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อหาตรวจสายตาวิธีรักษาและคำแนะนำการดูแลดวงตาให้กลับมาสุขภาพดีอีกครั้ง 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางด้านสายตาสามารถติดต่อสอบถามกับทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

References

Mayo Clinic. (2020, Sep 24). Dry eyes. Mayo Clinic. 
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-eyes/symptoms-causes/syc-20371863

Badii, C. & Robinson, D. (2020, Jul 06). Dry eye Syndrome. Healthline. 
https://www.healthline.com/health/dry-eye-syndrome

American optometric association. (n.d.). Dry eye. Aoa. 
https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/dry-eye?sso=y

Boyd, K. (2021, Sep 15). What Is Dry Eye? Symptoms, Causes and Treatment. American 
Academy of Ophthalmogy. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-dry-eye


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม