Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

รู้จักโรคตาบอดสีสาเหตุ อาการ รักษาได้ไหมและวิธีทดสอบตรวจตาบอดสี

ตาบอดสี มีกี่แบบ


“ตาบอดสี”
เป็นหนึ่งในโรคที่ทุกคนเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่มักจะเข้าใจผิดว่า ผู้ที่มีตาบอดสีจะต้องมองเห็นแต่สีขาวกับสีดำ ไม่สามารถมองเห็นสีอื่นๆได้

แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปทั้งหมด บางรายยังคงสามารถมองเห็นสีได้ มีเพียงแค่บางสีที่จะมีการมองเห็นที่ผิดเพี้ยนไป และเกิดความยากลำบากในการแยกแยะสีขึ้นด้วย

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคตาบอดสีเกิดจากความผิดปกติใด? การที่เราตาบอดสีถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่? และหากเป็นโรคตาบอดสีรักษาได้ไหม? ไปเรียนรู้เพิ่มเติมพร้อมๆกันได้ในบทความนี้    

สารบัญบทความ
 

 


 

ตาบอดสี (Color Blindness)

โรคตาบอดสี หรือ color blindness คือ ความบกพร่องทางการมองเห็นสีต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการจำแนกแยกแยะสี โดยแต่ละคนอาจมีลักษณะของตาบอดสีที่แตกต่างกัน เช่น ไม่สามารถมองเห็นสีแดงได้ หรือในบางรายอาจไม่สามารถมองเห็นสีเขียว หรือสีน้ำเงินได้ชัดเจน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็นสีใดสีหนึ่งได้ชัดเจน แต่เรื่องของวัตถุ รูปร่าง การมองเห็นภาพ ยังคงชัดเจนเหมือนกับคนปกติทั่วไป จึงทำให้ตาบอดสีไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต เพียงแต่จะเกิดการรบกวนในการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ซึ่งโรคตาบอดสีนี้ มักพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง  

 


ระดับความรุนแรงของอาการตาบอดสี

ตาบอดสีสามารถแบ่งความรุนแรงได้ 3 ระดับดังนี้

  1. ความรุนแรงระดับต่ำ - ยังสามารถบอกหรือคาดเดาสีที่เห็นได้ โดยอาจเห็นสีเพี้ยนไปจากความเป็นจริงไม่มาก
  2. ความรุนแรงระดับกลาง - เริ่มแยกสีได้ยากขึ้น อาจไม่สามารถคาดเดาสีได้และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
  3. ความรุนแรงระดับสูง - ตาบอดสีประเภทนี้จะเห็นสีเพียงแค่สีขาวดำ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก

 


ตาบอดสีเกิดจากสาเหตุใด

อาการตาบอดสีเกิดจากสาเหตุใด
 

โรคตาบอดสีเกิดจากความบกพร่องของเซลล์รับรู้การเห็นสี (Photoreceptor) ภายในดวงตา ที่มีการทำงานที่ผิดปกติไป ทำให้สีภาพที่แสดงออกมา มีความผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง 

การที่เรามองเห็นสีต่างๆ มาจากความยาวคลื่นแสงที่มีขนาดแตกต่างกัน มากระทบเข้าสู่ดวงตาของเรา โดยเซลล์รูปแท่ง (Rod Cell) จะอยู่บริเวณรอบๆขอบจอตา เพื่อทำให้เราสามารถมองเห็นในที่แสงสว่างน้อยๆ ได้ ซึ่งเซลล์นี้จะทำให้มองเห็นเป็นภาพขาว-ดำ

ส่วนเซลล์รูปกรวย (Cone Cell) เป็นเซลล์ที่อยู่อย่างหนาแน่นตรงส่วนกลางของจอประสาทตา ทำหน้าที่ในการมองเห็นสี สีขาว-สีดำ และมองเห็นภาพในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง โดยมีอยู่ 3 ชนิด คือ เซลล์รูปกรวยสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งหากเซลล์ใดมีการทำงานผิดปกติไป ก็จะทำให้การมองเห็นสีมีความผิดปกติต่างไปจากที่เป็นจริงด้วยเช่นกัน
 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคตาบอดสี

 
  • อายุที่มากขึ้น จะทำให้เซลล์ต่างๆเกิดการเสื่อมสภาพลง 
  • ตาบอดสีพันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบได้ในคนส่วนใหญ่ โดยมักจะพบผู้ที่มีตาบอดสีเขียวและสีแดง 
  • เกิดอุบัติเหตุกระทบบริเวณดวงตา หรือดวงตาได้รับการบาดเจ็บ เสียหาย
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาต้านอาการทางจิต ยาปฏิชีวนะ 
  • สารเคมีบางชนิด เช่น สาร Styrene ในพลาสติกหรือโฟมต่างๆ

 


 

ตาบอดสีมีกี่ประเภท

คนตาบอดสีส่วนมากจะบอดสีอะไร

หลายคนคงอาจสงสัยว่า ตาบอดสี เห็นสีอะไร? ก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องรู้ก่อนว่าตาบอดสีมีหลายประเภท แล้วโรคตาบอดสีมีกี่ประเภท มีกี่แบบกันแน่? ในทางวิชาการ โรคตาบอดสี ถูกจัดออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

 

1. ตาบอดสีแดง - เขียว (Red-green Color Blindness)

อาจเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยว่า ตาบอดสีแดง เห็นสีอะไร? อาการตาบอดสีที่พบบ่อย คือ อาการตาบอดสีแดงและตาบอดสีเขียว โดยผู้ที่มีอาการตาบอดสีประเภทนี้ จะมีความยากลำบากในการแยกระหว่างสีแดงกับสีเขียวออกจากกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีลักษณะการมองเห็นสีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเซลล์ Cone ของบุคคลนั้นๆ

  • ผู้ที่มีเซลล์ Cone สีแดงน้อย (Protanomaly) จะมองเห็นโทนสีแดง สีส้ม สีเหลือง กลายเป็นโทนสีเขียว แต่ถ้าหากขาดเซลล์ Cone สีแดงไป(Protanopia) ก็จะทำให้บุคคลนั้น มองเห็นโทนสีแดงเป็นโทนสีดำ
  • ส่วนคนที่มีเซลล์ Cone สีเขียวน้อย (Deuteranomaly) ก็จะมีการมองเห็นโทนสีเขียว เป็นโทนสีแดงแทน และถ้าหากขาดเซลล์สีนี้ไป ก็จะทำให้บุคคลนั้นมองเห็นโทนสีเขียวเป็นสีดำไปเลย 

2. ตาบอดสีน้ำเงิน - เหลือง (Blue-yellow Color Blindness)

การตาบอดสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน และตาบอดสีเหลือง จะทำให้บุคคลที่ตาบอดสีประเภทนี้ มีความยากลำบากในการแยกแยะสีน้ำเงินกับสีเขียว และสีเหลืองกับสีแดง ซึ่งจะพบคนที่ตาบอดสีประเภทนี้ได้ไม่บ่อยเท่าแบบประเภทแรก และมักเกิดจากโรคต่างๆมากกว่า
 

  • คนที่มีเซลล์ Cone สีน้ำเงินน้อย (Tritanomaly) จะเกิดปัญหาเรื่องการแยกแยะสีน้ำเงินกับสีเขียว และสีแดงจากสีม่วง
  • ส่วนคนที่ไม่มีเซลล์ Cone สีน้ำเงิน (Tritanopia) จะมีปัญหาเกี่ยวกับการแยกสีโทนที่มีสีน้ำเงินและสีเหลืองรวมอยู่ด้วย เช่น การแยกสีน้ำเงินออกจากสีเขียว สีม่วงกับสีแดง และสีเหลืองกับสีชมพู เป็นต้น  

3. ตาบอดสีทั้งหมด (Complete Color Blindness)

ผู้ที่มีอาการตาบอดสีทั้งหมด หรือเรียกอีกอย่างว่า Monochromacy คือ การที่เซลล์รูปกรวย (Cone cell) ทั้งหมดไม่ทำงาน หรือขาดหายไปจากดวงตา ซึ่งปัจจุบัน บุคคลที่เป็นตาบอดสีประเภทนี้พบได้น้อยมาก 

สีที่คนตาบอดสีเห็น จะกลายเป็นโทนสีเทาทั้งหมด และสีของภาพอาจมีการมองเห็นสลับสีกัน ได้แก่ ระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงิน สีแดงกับสีดำ สีเหลืองกับสีขาว บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความไวต่อแสงของดวงตาอีกด้วย

 


 

วิธีสังเกตเช็คอาการตาบอดสี

หากใครกำลังสงสัยว่า ตนเองกำลังเข้าข่ายโรคตาบอดสี ลองเช็คอาการดังต่อไปนี้ จะเป็นสัญญาณเตือนในการบ่งบอกถึงโรคตาบอดสี ดังนี้
 

  • มีความยากลำบากในการแยกสีต่างๆในชีวิตประจำวัน 
  • ไม่สามารถจดจำ หรือบอกสีต่างๆได้อย่างถูกต้อง
  • ยังคงมองเห็นสีได้หลากหลายสี เพียงแต่สีที่เห็นมีความแตกต่างไปจากคนอื่น
  • มีการมองเห็นสีที่จำกัดเพียงแค่บางโทนสี 
  • ภาพที่มองเห็นมีเพียงแค่ สีขาว สีดำ หรือสีเทา เท่านั้น

 


 

แบบทดสอบตาบอดสีด้วยตัวเองเบื้องต้น

ผู้หญิงตาบอดสี

ตาบอดสี ทดสอบอย่างไรบ้าง? การทดสอบตาบอดสี สามารถทำด้วยตนเองแบบง่ายๆ ได้เบื้องต้น โดยการใช้แบบทดสอบตาบอดสี ที่สามารถตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสีของผู้ที่เข้ารับการทดสอบได้

อย่าง “แผ่นภาพทดสอบอิชิฮารา” ที่อยู่ตามเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ก็เป็นหนึ่งในแบบตรวจคัดกรองที่สามารถทำได้ง่าย และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยคุณจะได้ดูภาพทดสอบสายตาบอดสีหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบ จะมีคู่สีที่มักจะเป็นปัญหาของคนตาบอดสี หากคุณสามารถอ่านตัวเลข หรือลากเส้นได้ถูกต้องทั้งหมด จะถือว่าคุณไม่อยู่ในภาวะตาบอดสี 

 


 

การวินิจฉัยโรคตาบอดสีโดยจักษุแพทย์

ตาบอดสี เห็นสีอะไร
 

จักษุแพทย์ จะทำการตรวจสายตา เพื่อประเมินและวินิจฉัยโรคตาบอดสี โดยจะมีการตรวจดังนี้
 

  1. เมื่อคุณเข้าพบจักษุแพทย์ จะได้รับการตรวจคัดกรองที่เรียกว่า แผ่นทดสอบอิชิฮารา โดยให้คุณอ่านตัวเลข หรือลากเส้นภาพทดสอบทั้งหมด ในภาพจะมีการใช้สีที่คนตาบอดสีมักจะสับสน เพื่อตรวจวัดว่ามีภาวะตาบอดสีหรือไม่ 
  2. จากนั้นใช้เครื่อง Anomaloscope ในการทดสอบการผสมสี โดยผู้เชี่ยวชาญจะกำหนดสีหนึ่งที่จะนำมาประเมิน จากนั้นให้ผู้ที่เข้าทดสอบพยายามผสมสีให้ได้ตามที่บอก วิธีนี้จะเป็นการวัดการบกพร่องทางการมองเห็น หรือตาบอดสีของสีแดง และสีเขียว 
  3. ต่อมา คือการทดสอบ Farnsworth Munsell โดยการให้ผู้เข้ารับการทดสอบเรียงสีฝาครอบที่มีความใกล้เคียงกันต่อๆกันไป วิธีนี้จะสามารถคัดกรองผู้ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะตาบอดสี หรือคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสีระดับน้อยออกจากกลุ่มคนที่อยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงมากได้

 


 

ตาบอดสีรักษาได้ไหม

หากเป็นโรคตาบอดสี รักษาได้ไหม?  การรักษาตาบอดสี ไม่สามารถรักษาให้หายไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ตาบอดสีจากพันธุกรรม เพราะการที่เราตาบอดสี เกิดจากการที่เซลล์รูปกรวย (Cone Cell) น้อย หรือขาดหายไป ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้

ส่วนคนที่ตาบอดสีหลังจากเป็นโรค หรือรับประทานยาบางชนิด ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อวางแผนและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เมื่อโรคมีความทุเลาลง ก็มีโอกาสที่จะทำให้การมองเห็นภาพสีดีขึ้น 

แต่อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถใช้อุปกรณ์เสริมช่วยเหลือ หรือบรรเทาอาการตาบอดสี ในบางสถานการณ์ได้ เช่น การสวมใส่แว่นกรองสี หรือคอนแทคเลนส์สีชั่วคราว เพื่อทำให้คู่สีที่เราสับสนเข้มมากขึ้น เมื่อความเข้มของสีเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องแยกสีได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง  

 


 

ปัญหาของคนตาบอดสีกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

ภาพที่คนตาบอดสีเห็น

ภาวะตาบอดสีอาจไม่ได้สร้างความลำบากในเรื่องของการแยกแยะสีเท่านั้น เมื่อแยกสีลำบากอาจส่งผลกระทบอื่นตามมาด้วย ได้แก่

1. เกิดปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่

ผู้ที่มีภาวะตาบอดสี โดยเฉพาะวัยเด็ก จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ หรือผลการเรียนค่อนข้างมาก บางรายผู้ปกครองอาจคิดว่า เด็กอยู่ในภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งในกรณีนี้อาจไม่ใช่แบบนั้น 

เด็กที่เป็นโรคตาบอดสี ยังคงสามารถเรียนรู้ได้เหมือนปกติทั่วไป เพียงแต่สีที่รับรู้มีความผิดเพี้ยนไป จึงทำให้คำตอบ หรือการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องกับสีสันของเด็กไม่ตรงกับบุคคลอื่นๆ 

แน่นอนว่า หากเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้สีสันมากนัก คำตอบที่ได้จะตรงกับคนทั่วไป จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก และวัยเรียน ที่เป็นโรคตาบอดสี ได้รับผลกระทบในเรื่องของการเรียนศิลปะ การประเมินพัฒนาการทางด้านภาษา และเรื่องของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับสี
 

2. การขับขี่รถยนต์

โรคตาบอดสี มีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยสถานการณ์ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องของการขับขี่รถยนต์ 

ผู้ที่มีภาวะตาบอดสี จะต้องพยายามสังเกตความแตกต่างของไฟจราจร โดยบางรายอาจสังเกตจากความเข้มของสีที่ไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าสังเกตได้ ก็จะทำให้สามารถขับขี่รถยนต์บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ การทดสอบตาบอดสี ใบขับขี่รถยนต์ จะต้องมีการประเมินเรื่องของความถูกต้องในการบอกสัญญาณไฟจราจร และเกณฑ์อื่นๆ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนนั่นเอง
 

3. การประกอบอาชีพ

ผู้ที่อยู่ในภาวะตาบอดสี อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงบางอาชีพ เพื่อให้งานสามารถสำเร็จไปได้ด้วยดี และความปลอดภัยในชีวิตตนเอง ผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น นักบิน อาชีพที่ทำเกี่ยวกับสารเคมี จิตรกร กราฟิคดีไซน์ ฯลฯ

 


 

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี

สำหรับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี ก็มีข้อแนะนำที่ตนเองและผู้อื่นสามารถทำ เพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันต่างๆได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนี้

สิ่งที่ควรปฏิบัติ  
 

  • หากบุคคลภายในครอบครัวมีประวัติเป็นตาบอดสี แนะนำว่า ให้คนที่ยังไม่รู้ผล เข้ารับการตรวจประเมินภาวะตาบอดสี โดยเฉพาะวัยเด็กและวัยเรียน เนื่องจากจำเป็นต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆค่อนข้างมาก เมื่อรู้ผลลัพธ์ก่อน ก็จะทำให้สามารถหาวิธีบรรเทาได้ทันท่วงทีมากกว่า
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาความผิดปกติที่ซ่อนเร้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะตาบอดสี ความผิดปกติของเลนส์ตา เป็นต้น
  • เมื่อใช้ยาบางชนิด หรือเป็นโรคทางกายบางอย่าง แล้วรู้สึกว่าตนเองเริ่มมีการรับรู้หรือมองเห็นสีที่ผิดปกติไป ควรรีบเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำปรึกษาและประเมินภาวะตาบอดสี
  • ผู้ที่เป็นโรคตาบอดสี แนะนำว่า หากพยายามแยกสีแล้วรู้สึกว่าทำได้ยาก ให้ลองปรับเปลี่ยนไปใช้การจำความสว่าง-ความเข้มของสี หรือการเรียงลำดับของสี ก็จะช่วยได้มากขึ้น
  • ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่สามารถแยกแยะสีได้อย่างปกติ
  • บอกบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ดูแลตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เช่น การบอกหัวหน้า ครูประจำชั้น
  • ติดป้ายชื่อ หรือข้อมูลต่างๆบนสิ่งที่ไม่สามารถแยกสีได้ เช่น ปากกา สีไม้ ขวดสีน้ำ เสื้อผ้าต่างๆ
  • ใช้แว่นกรองแสง หรือคอนแทคเลนส์แบบเฉพาะ เพื่อทำให้ความเข้มของสีที่มีปัญหาชัดเจนขึ้น และไว้กรองสีบางส่วน โดยวิธีนี้แนะนำว่า ไม่ควรใช้ตลอดเวลา ให้ใช้เป็นชั่วคราว จึงจะดีที่สุด
  • เปลี่ยนไปใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่น เพื่อช่วยเหลือตนเอง เช่น การใช้จมูกดมกลิ่น หรือการใช้มือสัมผัสลักษณะพื้นผิว
  • ปัจจุบัน มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยเช็คสีของวัตถุต่างๆได้ ให้โหลดเก็บไว้บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในยามจำเป็น

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ
 

  • คนที่อยู่ในภาวะตาบอดสี ระดับรุนแรง ไม่ควรขับรถยนต์ หรือรถสาธารณะที่ต้องใช้สัญญาณต่างๆด้วยตนเอง
  • บางอาชีพอาจเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ เช่น อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัย คนควบคุมเครื่องจักรอันตราย ช่างภาพ นักบิน เภสัชกร แพทย์ ฯลฯ

 


 

แนวทางการป้องกันโรคตาบอดสี

ถึงแม้ว่าตาบอดสีจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือการป้องกันก็อาจทำได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่นัก แต่ก็ยังคงสามารถหาวิธีบรรเทาอาการ หรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
 

  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวอยู่ในวัยเด็ก อายุประมาณ 3-5 ขวบ ควรพาไปเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองภาวะตาบอดสี และทดสอบสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าโรงเรียน
  • เมื่อคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตาบอดสี ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ 
  • ผู้ที่ครอบครัวไม่มีประวัติเป็นโรคตาบอดสี ควรสังเกตตนเองว่ามีการรับรู้สี หรือมีปัญหาสายตาอื่นๆที่ผิดปกติหรือไม่ หากมี ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย 
  • รักษาโรคต่างๆกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความถูกต้องในกระบวนการรักษา

 


 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตาบอดสี

คนตาบอดสีส่วนมากจะบอดสีอะไร

ส่วนมากตาบอดสีที่พบบ่อย คือ ภาวะตาบอดสีแดงกับสีเขียว รองลงมา เป็นผู้ที่มีภาวะตาบอดสีน้ำเงินกับสีเหลือง และสุดท้ายที่พบได้น้อยที่สุด คือ กลุ่มคนที่มีภาวะตาบอดสีทั้งหมด  
 

ตาบอดสีสามารถสอบใบขับขี่ได้ไหม

หากเป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะตาบอดสีระดับไม่รุนแรง ก็ยังคงสามารถสอบใบขับขี่ได้ โดยจะต้องสังเกตความเข้ม-อ่อนของสีสัญญาณไฟจราจร และบอกคำตอบกับผู้ประเมินได้อย่างถูกต้อง รวมไปจนถึงการผ่านเกณฑ์ทดสอบอื่นๆ ก็จะได้รับใบขับขี่ตามที่ต้องการ

นอกจากใบขับขี่แล้ว หากผู้ที่มีภาวะตาบอดสี มีปัญหาค่าสายตาร่วมด้วย ก็ยังคงสามารถทำเลสิค เพื่อรักษาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงได้เช่นเดียวกัน
 

ผู้หญิงตาบอดสีได้ไหม

ผู้หญิงสามารถมีภาวะตาบอดสีได้ เพียงแต่จะมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้น เพราะเรื่องของตาบอดสีแบบพันธุกรรม จะถูกถ่ายทอดมาทางโครโมโซมเพศที่มาจากฝั่งพ่อและแม่อย่างละครึ่ง ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเป็นพาหะ มากกว่าที่จะเป็นโรคตาบอดสี เนื่องจากผู้หญิง มีโครโมโซมเพศเป็น XX หากมี X หนึ่งตัวเป็นโรคตาบอดสี X อีกตัวที่ปกติก็จะสามารถควบคุมอาการไม่ให้แสดงความผิดปกติขึ้นมาได้

แตกต่างจากผู้ชาย ที่มีโครโมโซมเพศเป็น XY เมื่อมี X เพียงตัวเดียวที่เป็นโรคตาบอดสี ก็จะทำให้อาการของโรคตาบอดสี ถูกแสดงเป็นความผิดปกติออกมาเลย เพศชายจึงมีโอกาสเป็นโรคตาบอดสีมากกว่าเพศหญิงนั่นเอง

 


ข้อสรุปเรื่องตาบอดสี

“โรคตาบอดสี” เป็นโรคที่ทำให้บุคคลนั้นมีการมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และมีความยากลำบากในการแยกแยะคู่สีบางคู่ โดยคนที่ตาบอดสี จะมีลักษณะการมองเห็นแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การตาบอดสีแดงกับสีเขียว ตาบอดสีน้ำเงินกับสีเหลือง และตาบอดสีทั้งหมด  

การที่เป็นโรคตาบอดสี ทำให้ชีวิตประจำวันถูกรบกวน และได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การต้องเลือกประกอบอาชีพอย่างจำกัด ซึ่งตาบอดสีนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถรักษาได้ แต่สามารถใช้อุปกรณ์ในการช่วยเหลือต่างๆได้ เช่น การใส่แว่นกรองแสง คอนแทคเลนส์กรองสี ฯลฯ

หากคุณสนใจเข้ารับคำปรึกษา หรือต้องการตรวจสายตา ประเมินคัดครองโรคตาบอดสี สามารถเข้ารับบริการได้ที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมดูแลคุณด้วยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญการ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย พร้อมการบริการที่จะทำให้คุณมั่นใจ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน 

ติดต่อได้ที่ Line: @samitivejchinatown หรือ เบอร์ 02-118-7848

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 



Color Blindness. (2019, July 03). National Eye Institute.

https://www.nei.nih.gov/learn-about-eye-health/eye-conditions-and-diseases/color-blindness

Seltman, W.  (2021, September 09). What Is Color Blindness?. WebMD.

https://www.webmd.com/eye-health/color-blindness

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม