Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

รู้จักโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

พังผืดทับเส้นประสาท

อาการปวด และชาที่มือ นิ้วมือ และข้อมือ ในตอนกลางคืน มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ ? สำหรับผู้ที่มีอาการปวดและชาที่มือรวมไปถึงอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น มือไม่มีแรง ไม่ว่าจะจับสิ่งของหรือถืออะไรก็มักจะหลุดออกจากมือ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็น “พังผืดทับเส้นประสาท” 

บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการพังผืดกดทับเส้นประสาท ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชามือ ปวดมือ พังผืดทับเส้นประสาทมีสาเหตุมาจากอะไร พังผืดที่ข้อมืออันตรายไหม อาการที่น่ากังวลที่ต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป วิธีรักษาโรคพังผืดทับเส้นประสาท รวมไปถึงวิธีดูแลตนเองและแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคพังผืดที่ข้อมือ บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับพังผืดกดทับเส้นประสาท


สารบัญบทความ

 


โรคพังผืดกดทับเส้นประสาท

โรคพังผืดกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome) มักพบในผู้ที่ประกอบอาชีพที่ใช้งานมือหนัก หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อมือในท่าเดิมนานๆ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ชาวไร่ชาวสวน หรือนักกีฬาที่จำเป็นต้องใช้งานข้อมือหนัก การใช้งานมือและข้อมือในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานจะทำให้พังผืดกดทับเส้นประสาทในที่สุด

ทั้งนี้อาการปวด และชาข้อมือของโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทมักจะแสดงอาการตอนกลางคืน และที่สำคัญอาการพังผืดทับเส้นประสาทเป็นสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ หากมีอาการชาและปวดที่มือถี่ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการรักษาทันที ทั้งนี้หากผู้ป่วยโรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือ รักษาไม่ถูกวิธี จะทำให้กลายเป็นพังผืดกดทับเส้นประสาทเรื้อรัง ทำให้กล้ามเนื้อหัวแม่มืออ่อนแรง และไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้อย่างเดิมอีกต่อไป


โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของพังผืดทับเส้นประสาท

โรคพังผืดกดทับเส้นประสาท มีสาเหตุมาการใช้งานข้อมือหนัก หรือ ใช้งานมือในท่าเดิมเป็นเวลานาน จนทำให้พังผืดบริเวณข้อมือหนาขึ้น เมื่อพังผืดหนาขึ้นจึงไปกดทับเส้นประสาท Median Nerve ที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึกของมือ นิ้วมือ และฝ่ามือ ทำให้เกิดอาการชามือ ปวดเมื่อย แสบร้อน หรือ รู้สึกเหมือนมือโดนไฟช็อต

อาการพังผืดทับเส้นประสาทมักพบในผู้ป่วยที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้งานมือหนัก ไม่ว่าจะเป็น พนักงานออฟฟิศ นักเขียน ชาวไร่ชาวสวน หรือ นักกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือมาก อาจจะทำให้เกิดอาการปวดข้อมือ ชามือ และบางรายอาจจะรู้สึกมือไม่ค่อยมีแรงร่วมด้วย

โดยพฤติกรรมการใช้งานข้อมือหนัก และใช้งานข้อมือในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทแล้ว ยังทำให้เสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อคที่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันของคุณอีกด้วย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคนิ้วล็อค ได้ที่นี่

 

ปัจจัยที่กระตุ้นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาท

นอกเหนือจากการใช้งานข้อมือและมือหนักจนทำให้พังผืดหนาตัวขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคพังผืดกดทับเส้นประสาท ได้แก่ 

 

  • กรรมพันธุ์

ผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคพังผืดทับเส้นประสาท มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ที่ทำให้มีความแตกต่างทางกายวิภาคจากคนทั่วไป โดยมีช่องที่อยู่ด้านหน้าของข้อมือ หรือที่เรียกว่า โพรงข้อมือ (Carpal Tunnel) เล็กกว่าปกติ ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทได้มากกว่าคนทั่วไป

 

  • พฤติกรรมและกิจวัตรประจำวัน

ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ข้อมือในการทำงานเป็นหลัก หรือ ทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้เส้นเอ็นที่ข้อมือมีการอักเสบ และทำให้เกิดการบวมจนไปกดทับที่เส้นประสาทได้

 

  • กีฬาและกิจกรรมบางชนิด

การเล่นกีฬา หรือ การทำกิจกรรมบางชนิด ที่จำเป็นต้องงอ หรือ ยืดมือและข้อมืออย่างรุนแรง เป็นประจำทุกวัน จะไปเพิ่มแรงกดทับบนเส้นประสาทที่บริเวณข้อมือได้ ไม่ว่าจะเป็น นักเทนนิส และนักปิงปอง เป็นต้น

 

  • การตั้งครรภ์

ระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบวมบริเวณมือและข้อมือ และส่งผลให้เกิดแรงกดทับต่อเส้นประสาทที่ข้อมือได้

 

  • โรคประจำตัว

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือ เป็นโรคบางโรค ได้แก่ เบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคไทรอยด์ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคพังผืดทับเส้นประสาทมากกว่าคนทั่วไป 


อาการของโรคพังผืดกดทับเส้นประสาท

อาการพังผืดทับเส้นประสาท

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองเข้าข่ายเป็นโรคพังผืดทับเส้นประสาทหรือไม่ คุณสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทมักจะมีอาการที่แสดงออก ดังนี้

 

  • ชา ปวด แสบร้อน บริเวณฝ่ามือหรือนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้งและนิ้วชี้ 
  • เหน็บกินไล่ตั้งแต่ปลายแขนขึ้นไปยังหัวไหล่ 
  • รู้สึกเหมือนไฟช็อตที่นิ้วเป็นบางครั้ง
  • รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มทิ่มที่มือ 
  • บริเวณมือจะออกร้อน หรือมีอุณหภูมิอุ่นๆ 
  • มืออ่อนแรง ไม่มีแรงที่มือ หรือทำของตกบ่อยๆ ผู้ป่วยบางรายที่เส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานานอาจจะไม่สามารถหยิบจับของได้
  • กล้ามเนื้อที่ฝ่ามือลีบ 

ทั้งนี้อาการของโรคพังผืดทับเส้นประสาทจะมีอาการค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็วมากเท่าไหร่การรักษาจะยิ่งใช้เวลาน้อยลง และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเดิม 


ช่วงเวลาที่มักพบอาการพังผืดทับเส้นประสาท

ผู้ป่วยที่มีอาการพังผืดทับเส้นประสาทส่วนใหญ่มักจะรู้สึกชา ปวด แสบร้อน หรือรู้สึกเหมือนไฟช็อตที่ฝ่ามือในตอนกลางคืน และหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับอาการปวดขาตอนกลางคืน และโรครูมาตอยด์


นอกจากนี้อาการแสดงอาการของโรคในขณะที่ทำกิจกรรมที่ข้อมืออยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น เขียนหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ ทำงานบ้าน หรือ ขับรถยนต์เป็นต้น และบางรายอาจจะมีอาการชาตลอดเวลาในเวลาต่อมา และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น มืออ่อนแรง เหน็บกินที่มือและแขน ทำให้ไม่สามารถหยิบหรือจับสิ่งของได้สะดวก สำหรับผู้ที่มีอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทและไม่ได้รับเข้าการรักษาอย่างถูกวิธีจะทำให้กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือด้านนอกลีบถาวรได้


กลุ่มเสี่ยงพังผืดกดทับเส้นประสาท

นักกีฬาเสี่ยงเป็นพังผืดกดทับเส้นประสาท

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่อาจจะเกิดอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทมากกว่าคนอื่นๆ มีดังนี้

 

  • ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทมากกว่าผู้ชาย เพราะโครงสร้างทางร่างกายของผู้หญิงบริเวณข้อมือเล็กกว่าทำให้อาจจะเกิดการตีบของอุโมงค์บริเวณข้อมือได้ง่ายกว่า 
  • ผู้ที่เคยมีประวัติเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อมือ 
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ มีโอกาสเสี่ยงของการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้ 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรครูมาตอยด์ และไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น 
  • นักกีฬา และอาชีพบางอาชีพ เช่น นักเทนนิส นักเขียน พนักงานออฟฟิศ อีดิทเตอร์ และเกมเมอร์ เป็นต้น 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

อาการพังผืดทับเส้นประสาทมักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป แล้วจึงกำเริบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ หรือ มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักจะพบอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทในตอนกลางคืนหรือหลังจากตื่น เมื่อผู้ป่วยรู้สึกชา แสบร้อนที่มือ และส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน พร้อมทั้งมีอาการชาที่มือถี่ๆ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของอาการชา และเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรคทันที  


การวินิจฉัยโรคพังผืดกดทับเส้นประสาท

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายเป็นพังผืดทับเส้นประสาท แพทย์จะเริ่มการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการซักประวัติ เพื่อทำการแยกโรคที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ด้วยวิธีอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์และความรุนแรงของโรค ดังนี้ 

 

1. การตรวจดูลักษณะทางกายภาพ

ตรวจโรคพังผืดทับเส้นประสาท

หลังจากการซักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้นแล้ว แพทย์มักจะทำการตรวจลักษณะทางกายภาพภายนอก โดยการตรวจสอบอาการชาจากเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ โดยแพทย์จะทเคาะบริเวณเส้นประสาทที่ข้อมือ หรือดัดข้อมือของผู้ป่วยเพื่อทำให้เส้นประสาทเกิดความตึง และแสดงอาการผิดปกติที่ชัดเจน นอกจากนี้แพทย์จะทำการทดสอบความแข็งแรงที่ปลายนิ้วด้วยการสัมผัส และดูว่ากล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งของผู้ป่วยเข้าข่ายภาวะอ่อนแรงหรือการฟ่อของกล้ามเนื้อหรือไม่

 

2. การตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย

ตรวจพังผืดทับเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย

การตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis) เป็นการตรวจเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยที่ทำการตรวจลักษณะทางกายภาพแล้ว แต่อาการที่แสดงออกของโรคพังผืดทับเส้นประสาทไม่ชัดเจน โดยการตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัยเป็นการตรวจหาความผิดปกติของเส้นประสาท โดยวัดความเร็วการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท วิธีนี้นอกจากจะตรวจเพื่อแยกโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทได้แล้ว ยังสามารถแยกโรคอื่นๆ ได้ด้วย ได้แก่ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่คอ เป็นต้น

 

3. การตรวจด้วยรังสีวิทยา

เอกซเรย์มือ

 
  • การเอกซเรย์ (X-ray)

การวินิจฉัยโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทด้วยการเอกซเรย์ สามารถคัดกรองโรคพังผืดทับเส้นประสาทออกจากโรคอื่นๆ ได้ดี และเป็นการตรวจเพื่อดูโครงสร้างของมือ ด้วยการฉายภาพรังสี 

 

  • การอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)

เป็นการใช้คลื่นความถี่สูง เพื่อวิเคราะห์การบีบอัดของเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณมือและข้อมือของผู้ป่วย เพื่อดูอาการผิดปกติของเส้นประสาท

 

  • การตรวจ MRI

วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการสแกน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณเส้นประสาทมีเดียนที่ข้อมือและมือ โดยการตรวจ MRI สามารถตรวจหาอาการบาดเจ็บ หรือเนื้องอกบริเวณข้อมือได้


แนวทางการรักษาโรคพังผืดกดทับเส้นประสาท

วิธีรักษาโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด และ วิธีรักษาแบบผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมักจะเริ่มต้นการรักษาอาการพังผืดทับเส้นประสาทด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน แล้วเมื่ออาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงจะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดแทน

 

การรักษาพังผืดกดทับเส้นประสาทแบบไม่ต้องผ่าตัด

เฝือกดามข้อมือ

 
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อมือ

วิธีนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยระยะแรกของโรค ทดลองปรับพฤติกรรมการใช้ข้อมือ ได้แก่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะทำให้อาการพังผืดทับเส้นประสาทแย่ลง พักการใช้งานข้อมือและมือระหว่างวัน พยายามไม่ให้มืออยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ 

รวมไปถึงหลีกเลี่ยงงานที่ทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณข้อมือ เนื่องจากแรงกระแทกอาจจะทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นและมีผลเสียหายกับเส้นประสาทมีเดียน 

 

  • การใช้ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs

สำหรับผู้ป่วยโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทสามารถทานยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการปวด บวม และแสบร้อนได้ ซึ่งยาต้านการอักเสบ ได้แก่ ไอบูโพรเฟน แอสไพริน และนาพรอกเซน เป็นต้น 

 

  • การประคบเย็นที่ข้อมือ

การประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการบวมได้ เป็นการชะลอไม่ให้พังผืดไปกดทับเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณข้อมือของผู้ป่วย 

 

  • การใช้เฝือกดามข้อมือ

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจจะส่งผลให้อาการพังผืดทับเส้นประสาทแย่ลง แพทย์จะแนะนำให้ใช้เฝือกดามข้อมือเพื่อเป็นการจัดระเบียบให้กับเส้นประสาทมีเดียนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และไม่ถูกกดทับจากพังผืดบริเวณข้อมือ

 

  • การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการพังผืดทับเส้นประสาท จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพจะแนะนำวิธีและขั้นตอนที่เหมาะสมในการทำกายภาพสำหรับผู้ป่วย เพื่อช่วยให้เส้นประสาทเคลื่อนไว้ในช่องข้อมือได้สะดวกมากขึ้น 

 

  • การฉีดยาสเตียรอยด์

การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงข้อมือรอบๆ เส้นประสาท พบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น 40- 50% โดยแพทย์มักจะให้ผู้ป่วยรักษาควบคู่ไปกับการรับประทานยาเพรดนิโซโลน เพื่อลดอาการอักเสบและอาการปวด แต่วิธีรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เป็นวิธีรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราวเท่านั่น ไม่ใช่วิธีการฉีดยาสลายพังผืดที่มือ และเป็นวิธีรักษาที่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน 

 

การผ่าตัดรักษาพังผืดกดทับเส้นประสาท

ผ่าตัดรักษาพังผืดทับเส้นประสาท

สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วแต่อาการพังผืดกดทับเส้นประสาทไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดพังผืดที่ข้อมือ เนื่องจากการปล่อยให้อาการพังผืดทับเส้นประสาทไว้นานเท่าไหร่ยิ่งจะทำให้การเป็นอาการเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยมากขึ้น

การผ่าตัดแบบเปิด

การผ่าตัดแบบเปิดเป็นวิธีที่ช่วยให้คลายพังผืดที่กดทับเส้นประสาทออก 8soCfP12Ph19mi914zQaZz2KsGGtcANVhVVfKAnmVRqM ซึ่งแผลจะมีขนาดประมาณ 5 - 6 เซนติเมตร เปิดให้เส้นประสาทโดยตรง และสามารถผ่าตัดอื่นๆ ร่วมด้วยได้ ได้แก่ การตัดเยื่อหุ้มเอ็นออก เป็นต้น

วิธีรักษาอาการพังผืดทับเส้นประสาทในปัจจุบันนิยมวางยาสลบกับผู้ป่วย และเป็นวิธีรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำ หรืองดอาหาร

 

การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน และดูแลแผลได้ง่ายกว่าการผ่าตัดแบบอื่นๆนอกจากนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาโรคพังผืดทับเส้นประสาทผู้ป่วยสามารถใช้งานข้อมือแบบเบาๆ ได้ทันที โดยวิธีนี้แพทย์จะใช้กล้องส่องเข้าไปดูพังผืดที่เป็นปัญหาและทำการผ่าตัดคลายพังผืดผ่านกล้อง


การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดพังผืดทับเส้นประสาท

สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอาการพังผืดทับเส้นประสาทด้วยวิธีผ่าตัด แนะนำให้ผู้ป่วยยกมือขึ้นเหนือระดับหัวใจ และขยับมือเพื่อลดอาการบวมและตึง พร้อมทั้งใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการขับรถยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยแต่ละรายใช้เวลาพักฟื้นไม่เท่ากัน ผู้ป่วยบางรายใช้เวลาพักฟื้นตัวหลังจากผ่าตัด 2 - 3 เดือน แต่มีผู้ป่วยบางรายที่ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัด 6 - 12 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทแต่ละคน


การป้องกันโรคพังผืดกดทับเส้นประสาท

วิธีป้องกันโรคพังผืดทับเส้นประสาท

เพราะสาเหตุของอาการพังผืดทับเส้นประสาทส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้งานข้อมือหนัก จนทำให้พังผืดบวมและไปกดทับเส้นประสาทมีเดียนที่บริเวณข้อมือจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชา ปวด แสบ หรือ รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถใช้ช่วยป้องกันโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทได้ โดยมีวิธี ดังต่อไปนี้

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือหนัก หรือ พักข้อมือระหว่างวัน เพื่อยืดกล้ามเนื้อ ทำกายบริหารข้อมือให้เส้นเอ็นคลายตัวลง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องงอข้อมือมากๆ ได้แก่ การเขียนหนังสือ หรือ การขับรถยนต์ เป็นต้น
  • ปรับท่าการวางข้อมือให้เหมาะสม โดยให้แขนกับมือวางในแนวเดียวกัน เพื่อลดโอกาสการกดทับเส้นประสาท 
  • หาอุปกรณ์ที่สามารถช่วยลดการหักข้อมือลงได้ ได้แก่ ใช้เมาส์ หรือคีย์บอร์ดเพื่อสุขภาพ 

ข้อสรุป

โรคพังผืดทับเส้นประสาทเป็นโรคที่มักพบในผู้ป่วยวัยทำงาน เนื่องจากมีสาเหตุมาจากการใช้งานข้อมือหนัก และข้อมืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้พังผืดบริเวณข้อมือเกิดการอักเสบ บวม และไปทับเส้นประสาท มีเดียนที่ทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึกข้อและนิ้วมือ ทำให้ผู้ป่วยพังผืดกดทับเส้นประสาทเกิดอาการชา  ปวด หรือรู้สึกเหมือนไฟช็อตที่มือและนิ้วมือ

ทั้งนี้โรคพังผืดทับเส้นประสาทเป็นโรคที่ไม่สามารถหายได้เลย จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี หากผู้ป่วยเลือกไม่ได้รับการรักษาจะทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น และกลายเป็นอาการเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การหยิบของไม่สะดวก ทำของตกบ่อยๆ มือไม่มีแรง ไม่สามารถกำมือได้ หรือ ผู้ป่วยบางรายอาจจะกล้ามเนื้อลีบถาวรได้

จึงเป็นเหตุผลว่า ถ้าผู้ป่วยมีอาการชา ปวด และแสบที่บริเวณมือและนิ้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีทันที หากผู้ป่วยมีอาการพังผืดกดทับเส้นประสาทสามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ได้ที่ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

References

N.D. (2022, Mar). Carpal Tunnel Syndrome. OrthoInfo. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/carpal-tunnel-syndrome/

 

Tyler, W. (2021, Nov 19). Carpal Tunnel Syndrome. WebMD. https://www.webmd.com/pain-management/carpal-tunnel/carpal-tunnel-syndrome


 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม