Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

ไวรัสตับอักเสบบี อันตรายกว่าที่คุณคิด



โรคตับอักเสบจากไวรัสบี (
VIRAL HEPATITIS B)

ใบปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 350 ล้านคน และกว่า 260 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 75 อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ดังนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน อาฟริกา รวมทั้งประเทศไทยจึงเป็นแหล่งที่มีโรคไวรัสตับอักเสบบีชุกชุมมาก โดยประชากรประมาณร้อยละ 3-6 มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งแสดงว่าประชากรประมาณ 2-4 ล้านคน มีเชื้อไวรัสบีที่พร้อมจะแพร่และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยกับผู้อื่น

อาการและอาการแสดงของโรคไวรัสตับอักเสบบี

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจไม่มีอาการหรือมีอาการของโรคตับอักเสบฉับพลันแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตาและตัวเหลือง หรือมีอาการรุนแรง ตับโต จนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ในผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และหายภายใน 2 เดือน แต่มีผู้ที่ติดเชื้อร้อยละ 5-10 ไม่หายสนิท เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งในอีก 10 ถึง 20 ปีต่อมา อาจกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในวัยแรกเกิดมักไม่มีอาการ ซึ่งในกลุ่มนี้ร้อยละ 90 จะกลายเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

เชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีมากในเลือด นอกจากนี้ยังพบได้ในสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น น้ำตา น้ำมูก น้ำอสุจิ เยื่อเมือกจากช่องคลอด น้ำคร่ำ เลือด ประจําเดือน ดังนั้นการสัมผัสเลือด เช่น การได้รับเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด เข็มฉีดยา การฝังเข็มและเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีการปนเปื้อนเลือดของผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และยังพบว่าแม้เลือดจะมีปริมาณน้อย 1 ในหมื่นถึง 1 ในล้านของซีซี (0.0001 - 0.000001 ml) ก็ยังสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

สรุปทางที่จะติดเชื้อพบได้ใน

• การสัมผัสน้ำคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำเหลือง
• จากการได้รับเลือด
• ทางเพศสัมพันธ์
• จากแม่สู่ลูกขณะคลอด
• ภายในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อ

โรคตับอักเสบจากไวรัสบี และมะเร็งตับ

พบว่าโอกาสเกิดมะเร็งตับในผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี จะมีประมาณร้อยละ 0.49 ต่อปี และสูงเป็นร้อยละ 2-5 ต่อปี ในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งในคนไทยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติประมาณ 35-400 เท่า ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ป่วยตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบี ติดตามไป 15 ปี มีโอกาสเกิดมะเร็งตับสูงถึงร้อยละ 27

ถ้ามารดาเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบี จะมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร?

• ในประเทศไทยพบว่า มารดาเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ทารกจะมีโอกาสติดโรคจากมารดาได้ประมาณร้อยละ 40-90 ทารกเพศชายที่ติดเชื้อ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นโรคตับสูงกว่าทารกเพศหญิงที่ติดเชื้อ แต่ในทารกเพศหญิงที่ติดเชื้อก็จะเติบโตเป็นมารดาที่เป็นพาหะต่อไป การติดเชื้อของทารกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอด
• การป้องกันในทารกแรกเกิดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตัดวงจรดังกล่าว และลดความชุกชุมของไวรัสตับอักเสบบีลงได้ จึงควรตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในผู้ตั้งครรภ์ทุกราย โดยการตรวจหา HBsAg ในเลือด
• พบว่าไวรัสตับอักเสบบีสามารถผ่านทางน้ำนมได้ และจะผ่านมากขึ้นถ้าหัวนมมารดามีแผล จึงมีปัญหาว่า ทารกกินนมมารดาได้หรือไม่? จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีความชุกชุมของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงนั้น การติดเชื้อในทารกที่กินนมมารดาและนมผสมไม่แตกต่างกัน และเนื่องจากนมแม่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก จึงยังแนะนําให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ยกเว้นมารดามีแผลที่หัวนมหรือลูกขบกัดหัวนมแม่

พาหะของโรคคืออะไร?

• คือผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการตับอักเสบ บุคคลที่เป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้

คําแนะนําสําหรับผู้เป็นพาหะ

1. บํารุงร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอัลฟาท็อกซิน เช่น ถั่วลิสงตากแห้ง พริกป่น
2. งดสุรา และสิ่งที่มีผลต่อตับ โดยเฉพาะไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งรวมถึงยาบํารุง วิตามินบางชนิด หรือสมุนไพร โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
3. งดบริจาคเลือด รวมถึงน้ำเชื้ออสุจิ
4. งดการใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะของที่ปนเปื้อนเลือดได้ เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน
5. ออกกําลังกายและทํางานได้ตามปกติ เพียงงดกีฬาหรือการทํางานที่หักโหมเกินไป
6. แนะนําให้ผู้ที่ยังไม่มีภูมิกันโรคที่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นพาหะฉีดวัคซีน
7. ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้
8. เมื่อมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
9. ผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปี ควรพบแพทย์เพื่อทําการตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

จะทราบได้อย่างไร? ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

โดยการตรวจเลือด เป็นวิธีที่ใช้กันโดยแพร่หลาย สะดวก และรวดเร็ว

การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

HBsAg (Hepatitis B Surface Antigen) ถ้าผลเป็นบวก แสดงว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
HBeAg เป็นบวก แสดงว่ามีเชื้อไวรัสบีที่กําลังแบ่งตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้
HBV-DNA ตรวจหาปริมาณของเชื้อไวรัสตับบีโดยตรงจากเลือด
AntiHBc ตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อ ว่าผู้ใดเคยติดเชื้อมาในอดีต
• ตรวจพบ AntiHBs แสดงว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรค

การรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัสบี

1. กลุ่มพาหะกลุ่มนี้ไม่มีการอักเสบของตับ แต่เนื่องจากมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ จึงควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นระยะ
2. กลุ่มที่มีอาการติดเชื้อเฉียบพลัน ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการตัว ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่อ อาหาร แนะนําให้รับประทานอาหารครบทุก หมู่ อาจแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อร้อยละ 85-90 มักหาย และมีภูมิคุ้มกัน ส่วนอีกร้อยละ 5-10 จะไม่หายและกลายเป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรังต่อไป
3. กลุ่มที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง คือค่าเอนไซม์ในตับผิดปกตินานติดต่อกันเกิน 6 เดือน กลุ่มนี้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็ง และมะเร็งตับได้สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษา
 
ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ยาที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย คือ อินเตอเฟอรอน (Interferon) ซึ่งเป็นยาฉีด และยารับประทาน ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด ประสิทธิภาพของยาจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วย เพศ จํานวนเชื้อไวรัส รวมถึงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย ผลของการรักษาสามารถทําให้ HBsAg หายไป เกิด AntiHBe ร่วมกับลดการอักเสบของตับ แสดงว่าผู้ป่วยหายจากโรคได้ประมาณร้อยละ 40-60 แต่การรักษามีผลข้างเคียง และต้องใช้เวลานาน ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับ เพื่อพิจารณาให้การรักษาต่อไป

โรคตับอักเสบจากไวรัสบี เป็นปัญหาสําคัญทางสาธารณสุข รักษายากแต่สามารถป้องกันได้ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีซึ่งได้ผลดีมาก รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

กลุ่มประชากรที่ควรจะได้รับวัคซีนจึงจัดตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

1. ทารกคลอดจากมารดาที่เป็นพาหะ
2. ทารกแรกเกิดทุกราย
3. บุคคลที่อาศัยบ้านเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นพาหะและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
4. ผู้ที่ทํางานเสี่ยงต่อการติดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ตํารวจ ทหาร
5. เด็กอายุ 7-15 ปี ที่ยังไม่มีภูมิ
อักเสบจากไวรัสบี 6. ผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบจากไวรัสบี

*ข้อ 3-6 ควรตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือไม่ก่อนฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนต้องฉีด 3 เข็มในระยะห่างกัน 0, 1, 6 เดือน ตามลำดับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม