Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

7 วิธีดูแลสุขภาพ ช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด



ไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza โดยทั่วไปมักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา สังเกตได้จากอาการที่แสดงออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากไข้หวัดธรรมดาที่อาการมักค่อยเป็นค่อยไป อย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือ ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก มักมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน

ส่วนไข้หวัดใหญ่ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รู้สึกอ่อนเพลียมาก และอาจเบื่ออาหารได้ ซึ่งเป็นอาการสำคัญของโรคนี้ ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ คนไข้มักมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์

ในส่วนของการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ หากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลและรักษาตามอาการเองที่บ้านได้ โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ หมั่นดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำอุ่น รับประทานอาหารอ่อนๆ นอนพักมากๆ และไม่ควรออกกำลังกาย

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น ไข้สูงมากอย่างหนักจนเพ้อ ซึม หายใจหอบหรือหายใจลำบาก มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด มีอาการร่างกายขาดน้ำ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน 

คำแนะนำการดูแลสุขภาพช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด ดังนี้ 
 
  1. สวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกจากบ้านไปที่คนพลุกพล่าน
  2. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เพราะมือเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
  3. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 
  4. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นพวกผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
  7. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพียงปีละ 1 ครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงได้ถึง 95%

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม