Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

PRK (Photorefractive Keratectomy) คืออะไร นวัตกรรมผ่าตัดรักษาสายตา

prk

ในปัจจุบันผู้คนมีค่าสายตากันมากขึ้น ทั้งสายตาสั้น และสายตาเอียง จากการใช้สายตามากเกินพอดี ใช้สายตาผิดวิธี หรือจากปัจจัยอื่นๆ จนทำให้เกิดการรักษาค่าสายตาขึ้น ซึ่ง PRK ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน

PRK เป็นการรักษาค่าสายตาโดยการปรับกระจกตาด้วยเลเซอร์คล้ายกับการทำเลสิค แต่แล้ว PRK คืออะไร? PRK กับ Lasik ต่างกันอย่างไร? ผู้มีสายตาแบบใดจึงเหมาะกับการทำ PRK ? ในบทความนี้ทางสมิติเวช ไชน่าทาวน์ จะให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำ PRK


สารบัญบทความ
 


PRK (Photorefractive Keratectomy) คืออะไร

Prk คือ

PRK (Photorefractive Keratectomy) หรือ PRK Lasik คือวิธีการรักษาค่าสายตาแบบหนึ่ง ที่จะปรับค่าสายตาด้วยการแก้ไขกระจกตาคล้ายกับการทำเลสิค โดยจะต่างกับเลสิคในเรื่องวิธีการผ่าตัด ในบางครั้งการทำ PRK จึงถูกนับเป็นการทำเลสิคอย่างหนึ่งเช่นกัน

PRK เป็นวิธีการรักษาค่าสายตาที่ทำกันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 มีมาก่อนเลสิค และยังคงนิยมทำกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากให้ผลที่ถาวร ผลข้างเคียงน้อย ข้อจำกัดในการทำน้อยกว่าเลสิค อีกทั้งยังเป็นวิธีการรักษาค่าสายตาวิธีเดียวที่สามารถทำได้ หากมีอาชีพนักบิน ทหาร หรือตำรวจ


PRK ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาแบบใด

การทำ PRK จะช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้น สายตาสั้นข้างเดียว และสายตาเอียง โดยสามารถแก้ไขสายตาสั้นไม่เกิน 500 (5.00 diopters) และเอียงไม่เกิน 200 (2.00 diopters)

นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดมาก เช่น กระจกตาบาง หรือตาแห้ง คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถทำเลสิคได้ เนื่องจากเลสิคต้องตัดกระจกตาชั้นบนออกชั่วคราวเพื่อปรับความโค้งกระจกตา ด้านใน

ในกรณีที่ตาแห้งอยู่แล้ว การทำเลสิกจะทำให้ตาแห้งกว่าเดิม ผู้ที่มีข้อจำกับเหล่านี้จึงควรแก้ปัญหาสายตาด้วยการทำ PRK มากกว่า


PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร

PRK กับ Lasik ต่างกันที่วิธีการผ่าตัด และส่วนของกระจกตาที่เลเซอร์จะเข้าไปแก้ไขค่าสายตา

 

การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy) 

เป็นการแก้ไขที่กระจกตาชั้นบน โดยแพทย์จะใช้สารละลาย ละลายเยื่อหุ้มที่กระจกตาด้านบนออก แล้วใช้เลเซอร์ปรับพื้นผิวกระจกตา ในส่วนบนของกระจกตาให้เข้ากับค่าสายตาที่คำนวนไว้ จากนั้นให้ใส่คอนแทคเลนส์ไว้ประมาณ 5 - 7 วัน เพื่อรอให้ร่ายกายสร้างเยื่อหุ้มครอบกระจกตาไว้เหมือนเดิม

เมื่อเทียบกับการทำเลสิคแล้ว การทำ PRK มีข้อดีดังนี้
 

  • ในระยะยาว หากเกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกับดวงตาอย่างรุนแรง จะไม่มีความเสี่ยงจากการที่ผู้ป่วยทำ PRK มา แต่ถ้าทำเลสิคมา ดวงตามีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายเพิ่มขึ้น
  • ไม่มีรอยกรีดรอบดวงตาจากการทำเลสิค ส่วนเยื่อหุ้มกระจกตาที่ถูกละลายออกไป สามารถฟื้นฟูตัวเองได้
  • มีข้อจำกัดในการทำน้อยกว่าเลสิค
  • ราคาถูกกว่า
  • เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า
 

การทำ LASIK

ส่วนการทำเลสิค เป็นการแก้ไขกระจกตาชั้นกลาง 

เลสิคบางรูปแบบเช่น Microkeratome LASIK และ FemtoLASIK จะกรีดผิวกระจกตาชั้นบนออกเป็นฝา เรียกว่าแฟลบ (Flap) แล้วจึงใช้เลเซอร์ปรับกระจกตาชั้นกลางที่อยู่ด้านในให้เข้ากับค่าสายตาที่คำนวนไว้ แล้วจึงปิดแฟลบกลับเข้าไปเหมือนเดิม

ส่วนเลสิคแบบ ReLEx จะไม่ต้องผ่าเปิดแฟลบออกมา แต่ใช้เลเซอร์แก้ไขกระจกตาชั้นกลางที่อยู่ด้านในโดยตรง แล้วเจาะแผลเล็กๆ เพื่อนำชิ้นส่วนกระจกตาที่เหลือจากการปรับแต่งออกมา

เมื่อเทียบกับ PRK เลสิคมีข้อดี คือ
 

  • ไม่ต้องลอกเยื่อหุ้มกระจกตาออกเหมือนกับ PRK ทำให้แผลจากการทำเลสิคสามารถหายได้เร็วกว่า
  • สามารถแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ที่สายตาสั้น ยาว หรือเอียงมากๆได้
  • ดวงตาสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า ทำให้เห็นภาพชัดหลังผ่าตัดได้เร็วกว่าการทำ PRK
  • มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อน้อยกว่าการทำ PRK เล็กน้อย
  • หลังทำ ผู้ป่วยที่ทำเลสิคส่วนใหญ่บอกว่าแผลระบมไม่มาก ในขณะที่ผู้ป่วยที่ทำ PRK มักบอกว่าแผลจะเจ็บระบมมากเมื่อยาชาหมดฤทธิ์

PRK กับ Femto LASIK ต่างกันอย่างไร

การทำ PRK คือการปรับแก้ไขสายตาโดยไม่เปิดฝากระจกตาเป็นการแก้ไขที่กระจกตาชั้นบน โดยแพทย์จะใช้ใช้วิธีการลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุด แล้วใช้เลเซอร์ปรับพื้นผิวกระจกตา การทำ PRK ต้องใช้เวลาในการฟื้นตานานขึ้นเพราะหลังรักษาต้องใส่คอนแทคเลนส์ไว้ประมาณ 5 - 7 วัน เพื่อรอให้ร่างกายสร้างเยื่อหุ้มครอบกระจกตาไว้เหมือนเดิม

และในส่วนของกระบวนการ femto lasikนี้ วิธีการจะกรีดผิวกระจกตาชั้นบนออกและยิงเลเซอร์ในทุก ๆ ขั้นตอน ซึ่งวิธีการจะกรีดผิวกระจกตาชั้นบนออกเปิดฝากระจกและยิงเลเซอร์ จากนั้นแพทย์จะใช้เลเซอร์ Excimer เพื่อล้างชั้นเนื้อเยื่อตาชั้นกลางที่อยู่ด้านในให้เข้ากับค่าสายตาสั้น เอียง  และในขั้นตอนสุดท้ายฝา กระจกตาจะถูกวางกลับลงมาที่เดิม

หรือสรุปได้อย่างสั้น ๆ ว่า PRK เป็นเทคนิคที่มีมานาน จะใช้การลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุดออกแล้วใช้เลเซอร์ยิงปรับค่าสายตา หลังจากการรักษาต้องหยอดยาประมาณ 3 เดือน แต่ส่วนยิงเลเซอร์แก้ไขปัญหา Femto LASIK จะมีการเปิดฝากระจกตาด้วยเลเซอร์ และต่อด้วยเลเซอร์ตัวที่สองไปที่กระจกตาชั้นกลางในปรับค่าสายตาสั้นเอียงและปิดดฝากระจกตา หลังจากการรักษาจะต้องหยอดยา 7 วัน 
 


PRK กับ ReLEx SMILE ต่างกันอย่างไร

ReLEx SMILE การผ่าตัดที่ไม่ต้องใช้ใบมีดในการกรีดชั้นตาหรือเปิดฝากระจกตา มีความแม่นยำสูงในการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยการใช้เลเซอร์ Femtosecond เข้าไปในกระจกตาชั้นกลาง และกระจกตาส่วนเกินจะถูกทำให้มีลักษณะเป็นรูปเลนส์ เรียกว่า Lenticule และใช้เลเซอร์ทำแผลขนาดเล็กบนผิวตาเพื่อเข้าถึง  Lenticule  และทำการลบ Lenticule ออกจากตา โดยทำผ่านทางรอยเจาะเล็กบนผิวตา หลังจากการลบลอนเซอร์แล้ว เนื้อเยื่อตาจะเริ่มสร้างรอยเรียบร้อยและเจริญเติบโตเพื่อฟื้นตาตัวเอง ต้องให้ระยะเวลาในการฟื้นตาเพื่อให้ตากลับสู่สภาพปกติ

ReLEx SMILE มีข้อได้เปรียบที่สำคัญคือไม่ต้องลอกกระจกตาแบบ PRK ดังนั้นจะลดความเจ็บปวดและเวลาฟื้นตาที่จำเป็นหลังการรักษา แต่ ReLEx SMILE มักมีความเหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะตาขี้เกียจที่ไม่รุนแรงมากนัก ระยะเวลาฟื้นตาอาจใช้เวลานานกว่ากระบวนการที่ใช้เลเซอร์ด้วยเทคนิคอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่ผู้รักษตาจะมีการฟื้นตารวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ


ข้อดีของการทำ PRK

  • ให้ผลลัพธ์ที่ถาวร
  • ผลข้างเคียงน้อยกว่าการทำเลสิค
  • ก่อนการรักษาไม่ต้องฉีดยาชา แค่หยอดยาชาก็เพียงพอ ระหว่างทำไม่เจ็บ ไม่ต้องเย็บแผล
  • กลับบ้านได้ทันทีหลังผ่า ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
  • ข้อจำกัดน้อยกว่าเลสิค ผู้ที่มีกระจกตาบาง ตาแห้ง ตาเล็ก เบ้าตาลึก หรือเป็นโรคที่ทำเลสิคไม่ได้เช่นต้อหิน สามารถทำ PRK ได้ (แต่ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อนเท่านั้น)
  • กระจกตาไม่มีความเสี่ยงกระจกตาเปิดจากการผ่าแฟลบเหมือนการทำเลสิค
  • หลังผ่าตัดเกิดผลข้างเคียงได้น้อย โดยเฉพาะอาการตาแห้งที่พบมากหลังทำเลสิค จะพบได้น้อยมากหลังทำ PRK
  • มีโอกาสในการทำงานมากขึ้น ผู้ที่ประกอบอาชีพนักบิน ทหาร ตำรวจ สามารถทำได้
  • ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ไม่ต้องใส่แว่นเหมือนเดิม

ข้อจำกัดการทำ PRK

PRK มีข้อเสีย และข้อจำกัดต่างๆ ดังนี้

 

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่เจ็บระบมค่อนข้างมากหลังยาชาหมดฤทธิ์ เจ็บ แสบ ระคายเคือง ลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ ภาพไม่ชัดในช่วงแรกค่อนข้างนาน อาจใช้เวลาประมาณ 7 วัน
  • แผลหายช้า ต้องใส่คอนแทคไว้ 5 - 7 วัน เพื่อให้เยื่อหุ้มกระจกตาสร้างขึ้นมาอีกครั้ง
  • หลังทำเลสิค หรือ PRK ต้องหยอดยาสเตียรอยด์ ซึ่งหลังจากทำ PRK จะต้องใช้ยาสเตียรอยด์นี้เป็นเวลานานกว่าการทำเลสิค
  • ติดเชื้อได้ง่ายกว่าการทำเลสิคเล็กน้อย เพราะแผลมีขนาดใหญ่กว่า
  • แพทย์จะติดตามผลบ่อยมากในช่วงสัปดาห์แรก ผู้ที่ต้องการทำ PRK ต้องจัดสรรเวลาให้ดี

ผู้ที่เหมาะกับการทำ PRK

ทำprk
 

  • ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • ค่าสายตาต้องคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 1 ปี
  • ไม่ได้มีโรคที่กระจกตา มีประวัติกระจกตาถลอก หรือกระจกตาเคยหลุดลอกมาก่อน
  • ไม่มีโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการผ่าตัดดวงตา เช่น โรคเบาหวาน
  • สายตาสั้น หรือเอียงไม่มากเกินกว่าจะรักษาได้
  • เหมาะกับผู้ที่กระจกตาบางกว่าปกติ ตาแห้งแบบรักษายาก กระจกตาโค้งผิดรูป
  • ผู้ที่เป็นต้อหินสามารถทำได้ในบางกรณี ผู้ที่สนใจจะต้องปรึกษากับแพทย์ก่อน
  • เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น และต้องการประกอบอาชีพนักบิน ตำรวจ หรือทหาร

ผู้ที่เหมาะกับการทำ PRK

  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการควบคุมการหายใจ เนื่องจากในกระบวนการ PRK จะใช้เครื่องเลเซอร์ Excimer ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการหายใจหรือควบคุมการหายใจมีความไม่สบายในระหว่างการรักษา
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน PRK อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระทบ ซึ่งอาจส่งผลให้มีปัญหาหรือการแพร่ระบาดของภาวะติดเชื้อหรือการเกิดแผลเยื่อบุตา
  • ผู้ที่มีความผิดปกติทางตาที่หนักและซับซ้อน ความผิดปกติทางตาที่มีระดับความรุนแรงมากหรือซับซ้อนอาจทำให้ PRK ไม่เหมาะสม หากมีการแนะนำจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญ อาจมีกระบวนการทางการแพทย์อื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น Lens implantation 
  • ภาวะตาขี้เกียจ (Myopia) การทำเลสิกตาอาจมีข้อจำกัด ความเหมาะสมของการทำเลสิกตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะตาขี้เกียจ
  • เคยผ่านการรักษา Femto LASIK หรือ PRK มาก่อนหน้านี้แล้ว หากทำอีกครั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำ PR

การเตรียมตัวก่อนการตรวจสายตา และทำ PRK

 

  • งดการใส่คอนแทคเลนส์ หากเป็นแบบ Soft Lens งดใส่ก่อนวันตรวจสายตาและทำ PRK อย่างน้อย 3 วัน ส่วนแบบ Hard Lens งดใส่ก่อนวันตรวจสายตาและทำ PRK อย่างน้อย 7 วัน ส่วนแว่นสายตาสามารถใส่ได้ตามปกติ เพื่อให้คอนแทคเลนส์ไม่กดทับกระจกตา และให้กระจกตาคืนรูปร่างตามปกติ
  • เตรียมลางาน 5 - 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำ PRK
 

การเตรียมตัวในวันที่ตรวจสายตา

 

  • ไม่ควรขับรถมาเองคนเดียว ควรมีผู้ดูแลมาด้วยในวันตรวจสายตา เนื่องจากหลังตรวจตาจะมองเห็นไม่ชัดเป็นเวลาประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถใช้สายตาได้ตามปกติ
  • ถ้าเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาก่อนหรือในวันตรวจสายตา ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ
 

การเตรียมตัวในวันที่ทำ PRK
 

  • ควรมีผู้ดูแลมาด้วยในวันผ่าตัด เนื่องจากวันที่ผ่าตัดคนไข้กจะไม่สามารถใช้สายตาได้ ทำให้ไม่สามารถขับรถ หรือมองเห็นได้อย่างปกติ
  • งดใส่น้ำหอม น้ำมัน เจลแต่งทรงผม โรลออน หรือสเปรย์ใดๆก็ตามที่มีกลิ่น ทั้งที่ร่างกายและเสื้อผ้า เนื่องจากจะมีผลกับเลเซอร์ที่ใช้ทำ PRK 
  • งดแต่งหน้า และทาครีมต่างๆที่ใบหน้า
  • เพื่อสะดวกในการใส่และถอดเสื้อ ผู้เข้ารับการรักษาต้องใส่เสื้อมีกระดุมผ่าหน้าเท่านั้น
  • ให้เตรียมแว่นกันแดดมาด้วย
  • ทานอาหารได้ตามปกติ แต่ให้งดชา กาแฟ
  • ถ้ามีอาการผิดปกติที่ดวงตา หรือมีความผิดปกติอื่นๆในร่างกาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนวันที่ทำ PRK

การตรวจสภาพสายตาก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การตรวจสภาพสายตาก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การตรวจสภาพสายตาก่อนเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะตรวจองค์ประกอบต่างๆเกี่ยวกับสายตา ดังนี้
 

  • วัดสายตา
  • วัดการมองเห็น
  • วัดความดันลูกตา
  • ตรวจค่าความโค้ง และความหนาของกระจกตา
  • ตรวจค่าความคลาดเคลื่อนของการรวมแสง
  • วัดค่าสายตาก่อนและหลังขยายม่านตา
  • ตรวจประเมินสภาพสายตาโดยรวมโดยจักษุแพทย์

การตรวจสภาพสายตานั้น เป็นไปเพื่อให้จักษุแพทย์พิจารณาว่าผู้เข้ารับการรักษาสามารถทำ PRK ได้จริงไหม จะมีผลกระทบหลังทำหรือไม่ เหมาะกับการทำเลสิคแบบอื่นมากกว่าหรือเปล่า 

และเพื่อวัดว่าต้องปรับกระจกตาให้เป็นทรงไหน ค่าความโค้งเท่าไหร่ เพื่อปรับกระจกตาให้พอดีกับค่าสายตาเดิม ป้องกันสายตาขาดหรือเกินหลังทำ
 


ขั้นตอนการทำ PRK

  1. หยดแอลกอฮอล์ลงบนผิวตาด้านบนกระจกตา เพื่อละลายเอาเยื่อหุ้มกระจกตาออกไป
  2. ใช้เครื่องมือผ่าตัดปรับผิวกระจกตาให้เรียบ
  3. ใช้ Excimer Laser ปรับกระจกตาใหม่ ให้มีรูปทรงที่พอดีกับค่าสายตาตามที่คำนวณไว้
  4. ปิดแผลด้วยคอนแทคเลนส์พิเศษปิดผิวกระจกตาด้านบนไว้ ควรใส่ไว้ประมาณ 5 - 7 วัน เพื่อรอเวลาให้เยื่อหุ้มกระจกตาสร้างใหม่ หลังจากนั้นจึงนำคอนแทคเลนส์ออกได้ โดยที่ไม่ต้องเย็บแผลผ่าตัดแต่อย่างใด
     

ข้อปฏิบัติหลังการทำ PRK

การดูแลตนเองในช่วง 1 - 7 วันแรกหลังการผ่าตัด
 

  • หลังการทำ PRK แพทย์จะใส่ที่ครอบตามาให้ ในวันที่รักษาห้ามคนไข้ถอดออกโดยเด็ดขาด แม้จะคันหรือน้ำตาไหลมากก็ห้ามถอด ครอบตานี้จะถอดได้ในวันถัดมา หลังพ้นวันแรกไป ตอนกลางวันสามารถใส่แว่นกันแดดแทนได้ แต่ต้องใส่ที่ครอบตากลับเข้าไปในตอนกลางคืน
  • ระวังอย่าให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา และห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด ควรสัมผัสดวงตาให้น้อยที่สุด หากคันมากจริงๆ ทำได้เพียงใช้นิ้วแตะที่หัวตาหรือหางตาเท่านั้น และจะต้องล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับดวงตาด้วย
  • ห้ามล้างหน้า สระผม หรือให้น้ำเข้าตาโดยเด็ดขาด 
  • ทำความสะอาดตาทุกเช้า โดยให้หยดน้ำเกลือลงบนสำลีปลอดเชื้อ แล้วใช้สำลีนั้นเช็ดจากหัวตาไปหางตา 
  • ควรพักผ่อนให้มากที่สุดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อลดการระคายเคือง
  • ไม่ควรใช้สายตาเพื่อดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ ใน 24 ชั่วโมงแรก
  • ใช้ยาหยอดตาที่แพทย์ให้ตามคำแนะนำของแพทย์
  • หยดน้ำตาเทียมได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ขั้นต่ำคือครั้งละ 1 หยด เป็นเวลา 4 ครั้งต่อวัน หากต้องการหยดหลังจากใช้ยาหยอดตา ควรรอประมาณ 5 นาทีให้ตัวยาซึมเข้าไปในดวงตาก่อน จึงจะหยดน้ำตาเทียมได้
  • หากอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะบอกให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกได้
 

การดูแลตนเองหลังจากถอดคอนแทคเลนส์
 

  • แพทย์จะเปลี่ยนยาบางตัวออก ให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • กลับมาล้างหน้า หรือให้น้ำถูกตาได้บ้างตามปกติ 
  • หยดน้ำตาเทียมได้บ่อยเท่าที่ต้องการ
  • สามารถว่ายน้ำ หรือใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาได้ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน
  • แพทย์จะนัดพบเป็นระยะ เพื่อติดตามผล สังเกตผลข้างเคียง และรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในกรณีที่มีความผิดปกติหลังผ่าตัด
 

อาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัด

PRK มีผลข้างเคียง ทำให้อาจเกิดอาการต่อไปนี้
 

  • อาการระคายเคืองต่างๆ เช่น แสบตา ปวดตา คัน ลืมตาไม่ขึ้น สู้แสงไม่ได้ เปลือกตาบวม มักมีอาการนี้ในช่วง 1 - 5 วันแรกหลังการผ่าตัด สามารถแก้ได้ด้วยการใช้สายตาให้น้อยที่สุด นอนวันละอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หากปวดมากสามารถทานยาแก้ปวดที่แพทย์จ่ายให้เพื่อบรรเทาอาการได้
  • น้ำตาไหล มีขี้ตามาก สามารถใช้สำลีปลอดเชื้อเช็ดบริเวณหัวตาและหางตาได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเครียด นอนไม่หลับ แพทย์จะจ่ายยานอนหลับและยาคลายเครียดเผื่อมาให้ด้วย
  • มองภาพไม่ชัด สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์แรก เมื่อดวงตาปรับตัวกับกระจกตาได้จะกลับมามองเห็นชัดอีกครั้ง
  • การปรับแสงจะไม่ดีในช่วงแรก เมื่ออยู่ในที่แสงน้อยจะเห็นภาพไม่ชัด แต่อาการนี้จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป
  • ภาวะแสงกระจายรอบแสงไฟ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัดเช่นกัน เมื่อดวงตาปรับตัวได้อาการนี้จะหายไป
  • ตาแห้งเนื่องจากเส้นประสาทกระจกตาถูกกระทบกระเทือนจากการผ่าตัด เป็นอาการตาแห้งที่จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว หลังจากนี้ดวงตาสามารถฟื้นฟูตนเองได้ ถ้าหากรู้สึกแสบตามาก สามารถหยดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยบรรเทาอาการตาแห้งชั่วคราวได้
  • ค่าสายตาขาดหรือเกิน จะทราบว่าเกิดภาวะนี้ขึ้นหลังจากทำ PRK ไปแล้วประมาณ 2 - 3 เดือน หากต้องรักษาแพทย์จะพิจารณาให้รักษาเพิ่มเติมโดยการเติมเลเซอร์

ค่าใช้จ่ายในการทำ PRK ราคาเท่าไหร่

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ การรักษาค่าสายตาด้วยการทำ PRK ราคาจะอยู่ที่ 35,000 บาท สามารถผ่อน 0% กับบัตรเครดิตได้
 

  • บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย ผ่อน 0% นาน 4 เดือน
  • บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ผ่อน 0% นาน 4 เดือน หรือ 6 เดือน
  • บัตรเครดิตธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผ่อน 0% นาน 10 เดือน

โปรโมชั่นอื่นนอกเหนือจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ สามารถติดตามโปรโมชั่น และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line@samitivejchinatown

หมายเหตุ : ราคาดังกล่าวเป็นราคาเฉพาะสำหรับคนไทยเท่านั้น
 


ทำ PRK ที่ไหนดี

ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการรักษาสายตา

  

 

การทำ PRK เป็นการแก้ไขค่าสายตาโดยการปรับกระจกตา กระจกตาของเรานั้นไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อปรับกระจกตาด้วยเลเซอร์ไปแล้ว กระจกตาของเราก็จะอยู่แบบนั้นอย่างถาวร 

ในขณะเดียวกัน หากการรักษาผิดพลาดเกิดจากเครื่องมือไม่ได้มาตรฐานหรือแพทย์ไม่ชำนาญก็จะสามารถแก้ไขได้ยาก หรือในบางกรณี อาจจะแก้ไขไม่ได้เลย

ดังนั้น การเลือกว่าจะทำ PRK ที่ไหนดี ข้อสำคัญคือควรเลือกโรงพยาบาลที่ทำ PRK โดยจักษุแพทย์เฉพาะทาง มีความชำนาญและประสบการณ์สูง รวมถึงต้องมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ผ่านมาตรฐานรับรองความปลอดภัย

ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดำเนินการรักษาคนไข้ทุกคนโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประสบการณ์สูงกว่า 4 ท่าน พร้อมด้วยเครื่องมือผ่าตัดที่ทันสมัย และผ่านการรับรองความปลอดภัยแล้ว

นอกจาก PRK แล้วทางโรงพยาบาลยังรักษาค่าสายตาด้วยวิธีอื่นๆด้วย อย่าง ReLEx SMILE, FemtoLASIK, LASIK, และ Implantable Collamer Lens สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาค่าสายตาด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ที่บทความเรื่องการรักษาสายตาสั้น


FAQ การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy)

หลังทำ PRK ต้องพักฟื้นกี่วัน

ทำ PRK พักฟื้นกี่วัน?

หลังทำ PRK ต้องพักฟื้นประมาณ 5 - 7 วัน เนื่องจากแผลผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และจะระคายเคืองตามากหลังทำ จนไม่สามารถใช้สายตาได้มากนักในช่วงสัปดาห์แรก ผู้ที่จะทำ PRK จึงควรลางานเพื่อเข้ารับการผ่าตัด ประมาณ 5 - 7 วัน
 

ทำ PRK ใช้เวลานานไหม

ขั้นตอนการทำ PRK ใช้เวลาไม่นาน เพียง 30 นาทีก็เสร็จสิ้นการผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่หากต้องการนอนโรงพยาบาลเพื่อรอการตรวจในวันรุ่งขึ้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน
 

หลังทำ PRK กี่วันถึงจะมองเห็นได้ชัดเจน

ทำ PRK กี่วันชัด?

หลังทำ PRK สายตาของเราจะใช้เวลาปรับตัวกับกระจกตาใหม่ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นจึงจะเห็นชัด หากหลัง 7 วันไปแล้วยังมีภาพซ้อนหรือภาพมัวอยู่ไม่ต้องตกใจ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ หลังจากนั้นสายตาจะชัดขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป
 

ทำ PRK แล้วมองไม่ชัด เกิดจากอะไร

ทำ PRK แล้วมองไม่ชัด เป็นเรื่องปกติ

หลังทำ PRK การมองเห็นจะยังไม่ชัดทันที ดวงตาของผู้เข้ารับการรักษายังต้องปรับตัวกับกระจกตาที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ในคนไข้แต่ละคนระยะเวลาการปรับสายตาก็จะแตกต่างกันไป หากใครยังมองไม่ชัด ไม่ต้องกังวล เนื่องจากแพทย์จะนัดติดตามผลเป็นระยะอยู่แล้ว 

เมื่อพบแพทย์ ให้แจ้งอาการกับแพทย์ แพทย์ผู้รักษาจะประเมินว่าการมองไม่ชัดที่เป็นอยู่เป็นระยะการปรับตัวปกติ หรือเกิดจากแก้ไขค่าสายตาขาดหรือเกิน ซึ่งอาการนี้ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการเติมเลเซอร์ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร
 

ทำไมอาชีพนักบิน ทหาร ตำรวจ ต้องทำ PRK เท่านั้น ทำเลสิคไม่ได้

เนื่องจากหลังการทำเลสิก จะเกิดแผลรอบกระจกตาจากการเปิดแฟลบ ซึ่งแฟลบนี้จะไม่ได้เชื่อมติดกับกระจกตา แต่จะยึดอยู่ติดกันด้วยเทคนิคที่ทำขึ้นจากเลเซอร์ ทำให้กระจกตาอาจจะได้รับอันตรายหากประสบอุบัติเหตุที่ดวงตาอย่างรุนแรง

อาชีพนักบิน ทหาร ตำรวจ เป็นอาชีพที่เสี่ยงเกิดการกระทบการเทือนรุนแรงที่ดวงตาได้มาก ทำให้มีกฎว่าผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ ไม่สามารถทำเลสิคได้นั่นเอง


ข้อสรุป

การทำ PRK เป็นการแก้ไขค่าสายตาด้วยการแก้ไขพื้นผิวกระจกตาด้านบนให้เข้ากับค่าสายตา ทำให้กลับมามองเห็นได้อย่างปกติ การทำ PRK มีข้อดีคือ ข้อจำกัดน้อยกว่าการทำเลสิค ผู้ที่มีกระจกตาบาง ตาแห้ง สามารถทำได้ แต่ก็มีข้อเสียคือแก้ไขค่าสายตาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากสนใจทำ PRK หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำ PRK รวมถึงเลสิคชนิดต่างๆ สามารถติดต่อสอบถาม หรือนัดเวลากับจักษุแพทย์ของโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ที่ Line@samitivejchinatown

 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 

 



Reference
 

Boyd, K. (2017, Sep 27). What Is Photorefractive Keratectomy (PRK)?. American Academy of Ophthalmology (AAO). https://www.aao.org/eye-health/treatments/photorefractive%20-keratectomy-prk

Shortt, A.J., Allan, B.D.S., Evans, J.R. (2013, Jan 31). Laser-assisted in-situ keratomileusis (LASIK) versus photorefractive keratectomy (PRK) for myopia. PubMed. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23440799/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม