Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

สายตาสั้น อาการ สาเหตุ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน แนะนำโดยจักษุแพทย์

ปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เป็นสิ่งที่รบกวนการมองเห็น และการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้มองเห็นรายละเอียดของวัตถุนั้นๆได้ไม่ชัดเจนแล้ว อาจส่งผลให้มีอาการปวดหัว หรือเมื่อยล้าที่ดวงตาร่วมด้วย ซึ่งปัญหาสายตามีทั้งรูปแบบของสายตายาว สายตาเอียง และสายตาสั้น

“สายตาสั้น” เป็นปัญหาที่มักพบบ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียนหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งแน่นอนว่า การเกิดภาวะสายตาสั้นไม่ได้มีแต่เพียงการเกิดขึ้นเองตามลักษณะทางธรรมชาติของแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย

บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า แล้วแบบนี้หากสายตาสั้นไม่ใส่แว่นตาได้ไหม? เปลี่ยนไปใช้คอนแทคเลนส์ดีรึเปล่า? คนที่มีภาวะสายตาสั้นมากๆ มีความสามารถในการมองเห็นแค่ไหน?และเราสามารถรักษาสายตาสั้นได้อย่างไร? คุณไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป เพราะบทความนี้มีคำตอบให้สำหรับคุณ

สารบัญบทความ
 

วิธีทำให้สายตาสั้น
 

ภาวะสายตาสั้น คืออะไร

ภาวะสายตาสั้น (Myopia หรือ Nearsightedness) คือ ภาวะที่แสงจากวัตถุหรือภาพนั้นๆตกกระทบที่หน้าจอประสาทตา ก่อนถึงจุดรับภาพ ทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ๆได้ชัดเจนปกติ แต่ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะไกลๆได้ชัดเจน ซึ่งภาวะสายตาสั้น มักพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กวัยเรียนหรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

เมื่อภาวะสายตาสั้นเกิดขึ้น จะทำให้สายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆตามอายุ โดยส่วนใหญ่ ค่าสายตาสั้นมักคงที่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และสามารถเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ย่อมได้ อีกทั้งค่าสายตาของทั้งสองข้างอาจมีความสั้นที่ไม่เท่ากันได้อีกด้วย

โดยทางการแพทย์ จะวัดค่าสายตาเป็นหน่วย ไดออปเตอร์(Diopter หรือ D) ซึ่งแสดงถึง กำลังหักเหแสงของเลนส์ ยกตัวอย่างเช่น สายตาสั้น100 แพทย์จะเรียกว่า สายตาสั้น - 1 ไดออปเตอร์(Diopter) เป็นต้น

 


สายตาสั้นเกิดจากสาเหตุใด


สายตาสั้นเกิดจาก
 

สายตาสั้นเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ กระบอกตา หรือระยะทางระหว่างกระจกตาไปจนถึงจอตา มีความยาวมากกว่าปกติ

อธิบายเป็นภาพอย่างง่าย คือ ภาพแรก ผู้ที่มีสายตาปกติ เมื่อมีแสงมากระทบวัตถุ จะทำให้เกิดการสะท้อนเข้าสู่ดวงตาของเรา ความโค้งของกระจกตาหรือคอร์เนีย (Cornea) ปกติ จะช่วยทำหน้าที่ในการหักเหของแสง และเลนส์ตา (Lens) จะช่วยในการรับแสงเข้าสู่ลูกตา แน่นอนว่าการหักเหของแสง ทำให้จุดรวมแสงตกกระทบไปที่เรตินา (Retina) พอดี ซึ่งด้านในนั้นจะมีประสาทตา (optic nerve)ที่เปลี่ยนสัญญาณแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมอง ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน

ในทางกลับกัน ภาพที่สอง ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น จะทำให้เมื่อมีแสงมาสะท้อนเข้าสู่ดวงตาของเรา ความโค้งของกระจกตาที่มากกว่าปกติ จะทำให้การหักเหของแสงมากขึ้น หรือในบางรายที่กระบอกตามีความยาวมากกว่าปกติ จะส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบอยู่ที่ข้างหน้าเรตินา(Retina) ทำให้มองวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ไม่ชัดเจนนั่นเอง
 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะสายตาสั้น

 
  • สายตาสั้นกรรมพันธุ์ กล่าวคือ หากมีบุคคลในครอบครัวหรือบิดามารดามีปัญหาสายตาสั้น มีแนวโน้มในการเกิดปัญหาสายตาสั้นได้มากกว่าปกติ
  • สายตาสั้นสาเหตุอาจเกิดจากเชื้อชาติ คือ ชาวเอเชียมีโอกาสพบภาวะสายตาสั้นได้มากกว่า
  • การคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
  • การทำกิจกรรมที่ใช้สายตามากๆ อย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ หรือ การใช้สายตาจ้องสิ่งๆหนึ่งใกล้ๆเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่ไม่ค่อยทำกิจกรรมนอกบ้าน เนื่องจากแสงตามธรรมชาติมีส่วนช่วยกระตุ้นสาร Dopamine ในสมอง ทำให้การเจริญเติบโตของลูกตาไม่ผิดรูปไป ความเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตาสั้นของผู้ที่ทำกิจกรรมนอกบ้านจึงน้อยกว่า
 

อาการของภาวะสายตาสั้น

เรื่องของภาวะสายตาสั้นอาการโดยทั่วไป จะมีลักษณะที่เริ่มเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การอ่านป้ายสัญญาณจราจรหรือเห็นสัญญาณไฟจราจรมีความฟุ้งในขณะขับรถยนต์ การมองตัวหนังสือจากแผ่นป้าย กระดาน หรือโทรทัศน์ในระยะปกติได้ไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการเพ่ง หรี่ตา หรือขยับตัวเข้าไปมองในระยะที่ใกล้มากขึ้นจากเดิม เพื่อทำให้เห็นวัตถุนั้นได้ชัดเจน

ในบางราย อาจมีการเอียงศีรษะในขณะที่มองวัตถุในระยะไกล หรือมีการก้มหน้าชิดกับสิ่งๆหนึ่ง เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนขึ้น รวมไปจนถึงอาจมีอาการปวดหัวหรือเมื่อยตาอยู่บ่อยครั้ง
 

สายตาสั้นมีกี่ระดับ

สายตาสั้นมีกี่ระดับ? โดยปกติแล้ว ภาวะสายตาสั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับหลักๆ ดังนี้

  • สายตาสั้นระดับปกติ

ค่าสายตาจะอยู่ที่ช่วงระหว่าง -0.25 ถึง -3.00 ไดออปเตอร์ หรือผู้ที่มีค่าสายตาสั้นน้อยกว่า 300 ซึ่งสายตาสั้นระดับนี้ จะไม่มีการเกิดโรคแทรกซ้อน เพียงแต่จะเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากมองวัตถุระยะไกลได้ไม่ชัดเจน ซึ่งสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการมองเห็นได้เบื้องต้น เช่น การใส่แว่นตา การใส่คอนแทคเลนส์สายตาสั้น หรือการรักษาอื่นๆ เป็นต้น

โดยในเด็กที่มีภาวะสายตาสั้น อาจสังเกตได้จากอาการที่เด็กมักจะขยี้ตาหรือกะพริบตาบ่อยๆ มีการหรี่ตามองวัตถุที่อยู่ในระยะไกล ในขณะเรียนหนังสือจำเป็นต้องย้ายที่นั่งมาด้านหน้า เนื่องจากมองเห็นได้ไม่ชัดเจน และมีการพูดเกี่ยวกับอาการปวดหัว เมื่อยตา เป็นต้น

  • สายตาสั้นระดับมาก

 ค่าสายตาจะมีระดับที่มากกว่า - 6.00 ไดออปเตอร์ หรือผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า 600 ขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนทางสายตาอื่นๆ เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน จอประสาทตาหลุดลอก จอประสาทตาเสื่อม เส้นเลือดงอกผิดปกติที่จอตา เป็นต้น 

โดยสายตาสั้นระดับมาก อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด โดยในเด็กจะสามารถดูอาการได้จาก การเดินชนสิ่งกีดขวาง การหกล้มบ่อยๆ การก้มไปมองวัตถุใกล้ๆ และในเด็กเล็กอาจมีอาการตาเขได้

ส่วนในวัยผู้ใหญ่ สังเกตอาการได้จากความผิดปกติในการมองเห็น เช่น การเห็นจุดดำลอยไปมา หรืออยู่ตรงกลางภาพ มีแสงคล้ายฟ้าแลบ หรือภาพบิดเบี้ยวไป เป็นต้น

การเกิดสายตาสั้นระดับมาก จำเป็นต้องระมัดระวังและหมั่นสังเกตเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งแนะนำว่า ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือเข้ารับการรักษา เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

 


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะสายตาสั้น

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการเกิดภาวะสายตาสั้น มีดังนี้
 

  • ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น จะมีอาการตาล้า หรือปวดศีรษะ เนื่องจากจำเป็นต้องเพ่งมองวัตถุที่อยู่ในระยะไกล
  • อาจทำให้ความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและบุคคลรอบข้างลดลง เนื่องจากมองไม่เห็นรายละเอียดสำคัญหรือวัตถุที่อยู่ในระยะไกล เช่น การขับขี่รถยนต์โดยเฉพาะตอนกลางคืน การควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่างๆ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดความผิดพลาดขึ้นได้
  • ทำให้ภาระทางการเงินมากขึ้น เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำเลนส์ รักษาพยาบาล หรือค่าตรวจตา
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือปัญหาสายตาอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคจอประสาทตาลอก โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เนื้อเยื่อในดวงตาบางลง เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณดวงตา หลอดเลือดอ่อนแอ มีเลือดออกได้ง่าย เป็นต้น

 


การวินิจฉัยภาวะสายตาสั้น

โดยปกติแล้ว จะมีวิธีการวินิจฉัยภาวะสายตาสั้น จากการที่ผู้รับบริการเข้ารับการตรวจสุขภาพตา โดยจะมีการตรวจหลากหลายอย่าง ดังนี้
 

  • มีการวัดแรงดันภายในลูกตา
  • ตรวจวัดการประสานการทำงานของดวงตา
  • ตรวจวัดค่าสายตา กล่าวคือ แพทย์จะทำการวัดค่าสายตาจากการที่ผู้รับบริการอ่านตัวอักษรในแต่ละแถว ซึ่งจะมีขนาดตัวอักษรที่แตกต่างกันออกไป
  • การใช้วัดด้วย เรติโนสโคป (Retinoscopy) คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการฉายแสงผ่านดวงตาของผู้รับบริการ เพื่อดูปฏิกิริยาของดวงตาที่มีต่อแสง ซึ่งวิธีนี้จะสามารถวินิจฉัยจากการสะท้อนกลับของแสงได้ ว่าผู้รับบริการมีภาวะสายตาสั้นหรือสายตายาว
  • การตรวจวัดกำลังสายตา (Phoropter) กล่าวคือ แพทย์จะนำอุปกรณ์วัดกำลังสายตา มาใช้สำหรับการดูความผิดปกติของสายตา การหักเหต่างๆ ในระหว่างการทดสอบ รวมไปจนถึงยังสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลได้อีกด้วย

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น การทดสอบสายตาสั้น หรือการวัดค่าสายตา แสดงถึง กำลังหักเหแสงของเลนส์ ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกเป็นหน่วย ไดออปเตอร์(Diopter หรือ D)

หากผู้รับบริการตรวจวัดออกมาแล้ว พบว่า ตนเองมีค่าสายตาสั้นอยู่ที่ระหว่าง -0.25 ถึง -3.00 ไดออปเตอร์(Diopter) แสดงว่า สายตาสั้นระดับอ่อน หรือถ้าหากมีค่าสายตาสั้นมากกว่า - 6.00 ไดออปเตอร์(Diopter) ขึ้นไป แสดงว่า สายตาสั้นระดับมาก

การตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่ดีและค่อนข้างจำเป็น ซึ่งขอแนะนำระยะการเข้ารับการตรวจสายตาตามกรณีดังต่อไปนี้

กรณีกลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่มีโอกาสสูงในการเป็นโรคหรือภาวะต่างๆเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก ควรเข้ารับการตรวจตาทุกๆ 1-2 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี เป็นต้นไป ในบางรายอาจเป็นโรคที่สามารถส่งผลต่อดวงตาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นต้น ควรเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ และเข้าขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากเกิดอาการที่สังเกตแล้วพบถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์ทันที

กรณีกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ที่ไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา หรือไม่เคยมีการใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ และมีความเสี่ยงต่ำในการเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา ให้เข้ารับการตรวจตามระยะดังนี้
 

  • ควรเข้ารับการตรวจตาทุกๆ 2 - 4 ปี ในช่วงอายุระหว่าง 40 - 54 ปี
  • ควรเข้ารับการตรวจตาทุกๆ 1 - 3 ปี ในช่วงอายุระหว่าง 55 - 64 ปี
  • ตรวจตาทุกๆ 1 - 2 ปี หลังจากอายุ 65 ปี เป็นต้นไป

กรณีกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคตา และตรวจวัดการมองเห็น โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องเข้ารับการตรวจตามอายุ ได้แก่ ตอนอายุ 6 เดือน, 3 ปี, ก่อนเข้าเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือทุกๆ 2 ปี ในระหว่างปีการศึกษา

 


วิธีรักษาสายตาสั้น

หากคุณกำลังกังวลใจ ว่าการที่เราเกิดภาวะสายตาสั้นรักษาได้ไหม? ก็ขอให้คุณสบายใจได้เลยว่า ภาวะนี้สามารถรักษาได้ ซึ่งการรักษาสายตาสั้นมีหลากหลายวิธีมาก การเลือกแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทางทีมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยแนะนำทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ โดยปกติแล้ว การรักษาภาวะสายตาสั้น มีวิธีดังต่อไปนี้
 

การใส่แว่นสายตา


การใส่แว่นสายตา เป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่ายและปลอดภัยที่สุด โดยการที่ผู้เข้ารับบริการ ตรวจสุขภาพตาด้วยวิธีการต่างๆ จากนั้นเมื่อวัดค่าสายตาแล้ว จะสามารถทำเลนส์แว่นที่มีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้

ตัวเลนส์แว่นสายตา จะมีความหนาและน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับค่าสายตาของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังต้องมีการตรวจเช็คค่าสายตาเป็นระยะ หากค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลง ก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนเลนส์แว่นตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาในปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ตาม การใส่แว่นสายตาสามารถช่วยให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากเลนส์แว่นจะช่วยปรับให้จุดรวมแสงตกกระทบที่เรตินาพอดี แต่วิธีนี้จะไม่สามารถช่วยให้อาการสายตาสั้นดีขึ้น หรือทำให้ภาวะสายตาสั้นลดลงจนหายไปเป็นปกติได้

การใส่แว่นสายตา มีข้อจำกัด คือ บางกิจกรรมไม่เหมาะสมกับการใส่แว่นตา เนื่องจากจะทำให้ไม่สะดวกสบาย หรือเกิดการชำรุดของแว่นตาได้ เช่น การเล่นกีฬาต่างๆ การเต้น หรือบางคนอาจรู้สึกไม่สะดวกจากการที่เลนส์แว่นตามักจะขึ้นฝ้า หรือมัว อีกทั้งในบางรายอาจรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากกังวลเรื่องรูปลักษณ์ขณะใส่แว่นตานั่นเอง
 

การใส่คอนแทคเลนส์


การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นวิธีที่คล้ายคลึงกับการใส่แว่นตา กล่าวคือ ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ผู้รับบริการจะต้องรู้ค่าสายตาของตนเองเสียก่อน และต้องเลือกคอนแทคเลนส์สายตาสั้นที่มีค่าสายตาเหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แน่นอนว่า การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้ช่วยให้ภาวะสายตาสั้นลดลงแต่ประการใด แต่จะช่วยให้สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ข้อดีของการใส่คอนแทคเลนส์ที่คนมักนิยมเลือกใช้ คือ สามารถหาซื้อได้ง่าย มีลูกเล่นรายละเอียด สีสันต่างๆมากมาย มีรูปแบบคอนแทคเลนส์ให้เลือกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นคอนแทคเลนส์แบบแข็ง, คอนแทคเลนส์แบบนิ่ม คอนแทคเลนส์รายวัน และคอนแทคเลนส์รายเดือน เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจในการใส่แว่นสายตา หรือผู้ที่ต้องการทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์มีความสะดวกกว่าการใส่แว่นในหลายแง่มุม

ข้อเสียของการใส่คอนแทคเลนส์ที่จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมาก คือ ผู้ใช้จะต้องรักษาความสะอาดให้ได้มากที่สุด เนื่องจากจะต้องใส่คอนแทคเลนส์เข้าไปที่ดวงตา และระยะการใช้งานควรทำตามที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เพราะหากใช้คอนแทคเลนส์เกินกว่าอายุการใช้งานที่กำหนด หรือใช้งานไม่ถูกต้อง จะเกิดผลเสียกับดวงตา และเสี่ยงต่อการอักเสบ เกิดการติดเชื้อที่ดวงตา หรือเป็นแผลที่กระจกตาได้

อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตตนเองระหว่างใช้งาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เกิดอาการเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหลมากกว่าปกติ ฯลฯ ควรถอดคอนแทคเลนส์และเข้าปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
 

การผ่าตัดรักษาสายตาสั้น


ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นกลับมาปกติได้ไหม? การผ่าตัดรักษาสายตาสั้นสามารถช่วยแก้ไขความผิดปกติของดวงตาได้ ทำให้ความสามารถในการมองเห็นของคุณ กลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

1. การทำเลสิค (Laser-Assisted In-Situ Keratomileusis หรือ LASIK)

การทำเลสิค เป็นวิธีการที่ใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์(Excimer Laser)ในการปรับความโค้งของกระจกตาให้แบนลง เพื่อให้จุดรวมแสงตกกระทบที่บริเวณเรตินาพอดี ซึ่งตัวเลเซอร์ชนิดนี้ ไม่ก่อให้เกิดความร้อนขึ้น

จุดเด่นของการทำเลสิค คือ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดและพักฟื้นเรียบร้อยแล้ว ความสามารถในการมองเห็นจะกลับมาชัดเจนได้โดยไม่ต้องใส่แว่นตา และวิธีการนี้สามารถทำได้ทั้งผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง

ข้อจำกัด คือ หากค่าสายตาเกิดการเปลี่ยนแปลง การเข้ารับการผ่าตัดซ้ำจะสามารถทำได้ยาก จำเป็นต้องหาแว่นตามาใส่เพื่อช่วยในการมองเห็นแทน และหลังจากการทำเลสิค ในบางรายอาจมีอาการเห็นแสงฟุ้งกระจาย มีความไวต่อแสง หรือเกิดอาการตาแห้งได้

เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับการประเมินแล้วว่ามีกระจกตาที่หนาเพียงพอ เพราะหากกระจกตาบางเกินไป อาจได้รับผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ และค่าสายตาของผู้ที่เข้ารับบริการไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนักในปีที่ผ่านมา อีกทั้งสุขภาพดวงตาโดยรวมควรจะต้องดี ซึ่งผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรมีค่าสายตาอยู่ระหว่าง -14.00 ถึง +6.00 ไดออปเตอร์
 

2. รีแลกซ์สมายล์ (Relex Smile)

การทำรีแลกซ์สมายล์ เป็นการผ่าตัดแบบไร้ใบมีดที่มีการพัฒนามาจากเทคโนโลยีการทำแบบเลสิคดั้งเดิม มีการนำเลเซอร์เฟมโตเซเคิน(femtosecond laser) มาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งเลเซอร์นี้สามารถปลดปล่อยพลังงานในอัตราความเร็วสูงได้ โดยทางจักษุแพทย์จะนำเลเซอร์ชนิดนี้มาใช้แทนใบมีดในการแยกชั้นกระจกตา ซึ่งสามารถกำหนดเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ไม่เกิดความร้อน และไม่ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆได้รับความเสียหาย

จุดเด่นของการทำรีแลกซ์สมายล์ คือ สามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้น และสายตาเอียงได้ ลดภาวะแทรกซ้อน แผลที่ได้มีขนาดเล็กมาก ไม่รู้สึกเจ็บขณะทำการผ่าตัด และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งวิธีนี้ยังเป็นการรบกวนเส้นประสาทที่บริเวณกระจกตาน้อย สามารถได้ค่าสายตาที่แม่นยำ

ข้อจำกัด คือ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระจกตา เช่น โรคตาแห้งรุนแรง โรคกระจกตาย้วย จอประสาทตาเสื่อม หรือโรคที่ทำให้แผลหายยาก เช่น โรคภูมิต้านตนเอง โรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี รวมไปจนถึงผู้ที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร จะไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดในรูปแบบนี้ได้

เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นไม่เกิน 1,000 หรือ -10.00 ไดออปเตอร์ และสายตาเอียงไม่เกิน 500 หรือ -5.00 ไดออปเตอร์ มีค่าสายตาที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะ 1 ปี และได้รับการประเมินแล้วว่า มีสุขภาพตาที่แข็งแรง
 

3. เฟมโตเลสิค (Femto LASIK)

การทำเฟมโตเลสิค เป็นการผ่าตัดแบบไร้ใบมีด คือ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแยกชั้นกระจกตาที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้แสงเลเซอร์แทนใบมีดในการผ่าตัดด้วยเครื่อง femtosecond laser รุ่น Visumax ซึ่งมีความแม่นยำสูงในการสแกนไปตามความโค้งของกระจกตา อีกทั้งยังมีความเร็วระดับ 500 กิโลเฮิร์ต พลังงานต่ำ ไม่ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบได้รับความเสียหาย

จุดเด่นการทำเฟมโตเลสิค คือ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะไม่รู้สึกเจ็บปวด ใช้เวลาในการรักษาและฟื้นตัวน้อย สามารถลดความคลาดเคลื่อนในการแยกชั้นกระจกตาได้ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ข้อจำกัด คือ หลังผ่าตัดอาจมีอาการระคายเคือง ตาแห้งประมาณ 6 - 12 เดือน จำเป็นต้องมีการใส่ฝาครอบก่อนนอน และต้องหยอดยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมไปจนถึงการหยอดน้ำตาเทียม เพื่อลดอาการตาแห้งอีกด้วย อีกทั้งลักษณะแผลหลังผ่าตัดที่ได้ จะมีความยาวเกือบรอบดวงตา ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจกระทบดวงตาได้

เหมาะสำหรับผู้ที่มีลักษณะตาค่อนข้างเล็ก มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี และเป็นผู้ที่มีค่าสายตาสั้นอยู่ระหว่าง -1.00 ถึง -10.00 ไดออปเตอร์ (ค่าสายตาสั้นประมาณ 100 - 1,000) หรือสายตาเอียงได้ถึง -6.00 ไดออปเตอร์ (สายตาเอียงประมาณ 600)
 

4. พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy หรือ PRK)

พีอาร์เค (PRK) คือการที่จักษุแพทย์จะทำการกำจัดเซลล์ชั้นนอกหรือเยื่อบุผิวบนกระจกตา จากนั้นจะใช้ใบมีดหรือเลเซอร์ในการปรับเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาตามค่าสายตาที่ได้คำนวณไว้ ซึ่งแน่นอนว่าเยื่อบุผิวกระจกตา สามารถเจริญขึ้นมาใหม่เองได้

จุดเด่น การทำพีอาร์เค เป็นวิธีเดียวที่ได้รับการอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการสอบเป็นนักบินสามารถทำได้ โอกาสในการเกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้น และสายตาเอียงได้

ข้อจำกัด หลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว จะต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษประมาณ 2 - 3 วัน ใช้เวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย 1 เดือน อาจมีผลข้างเคียง คือการเกิดความขุ่นที่กระจกตา หรือมีรอยแผลที่กระจกตา และไม่สามารถรักษาผู้ที่มีภาวะสายตายาวได้

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งหรือกระจกตาบาง และต้องการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของดวงตา อีกทั้งยังต้องเป็นบุคคลที่ค่าสายตาไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรมีค่าสายตาสั้นได้ถึง 500 และสายตาเอียงได้ถึง 200
 

5. Implantable Collamer Lens หรือ ICL

การทำ ICL คือ การนำเลนส์เสริมชนิดถาวรมาใส่ในดวงตา ซึ่งวิธีนี้มีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก และลดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าการทำเลสิค โดยทางจักษุแพทย์จะเปิดแผลกระจกตา ประมาณ 3 มิลลิเมตร และนำเลนส์ที่มีลักษณะบาง พับได้ เข้าไปวางหน้าเลนส์แก้วตาของผู้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งไม่มีการเย็บแผล เนื่องจากบริเวณนั้นจะสมานตัวได้เอง

จุดเด่น คือ สามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้น และสายตาเอียงมากๆได้ ภาวะแทรกซ้อนน้อย การใช้สายตาในเวลากลางคืนไม่ก่อให้เกิดแสงกระจาย ความชัดเจนของภาพจะดีกว่าแบบเลสิค ใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 10 - 15 นาที และสามารถนำเลนส์เสริมออกได้ หากไม่พึงพอใจในผลลัพธ์ที่ได้

ข้อจำกัดของการทำ ICL คือ ในช่วงหลังผ่าตัดแรก อาจเกิดความดันตาแกว่งได้ในบางราย ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อยมาก เช่น การติดเชื้อ หรือ เป็นโรคต้อกระจกก่อนวัย และไม่สามารถรักษาในผู้ที่มีภาวะสายตายาวได้

เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติของสายตาสั้น และสายตาเอียงมาก ผู้ที่ไม่สามารถทำเลสิกได้ในบางกรณี ผู้ที่มีอาการตาแห้งมาก กระจกตาบาง อีกทั้งผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ควรจะมีค่าสายตาคงที่ และไม่มีประวัติเป็นโรคทางตา


 


วิธีป้องกันภาวะสายตาสั้น

ภาวะสายตาสั้น จะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากปัญหาสายตาสั้น เป็นลักษณะตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของดวงตาแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราก็ยังมีวิธีการที่จะช่วยชะลอไม่ให้สายตาสั้นลงอย่างรวดเร็วได้ ดังนี้
 

  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ
  • งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีผลต่อร่างกายรวมไปจนถึงเรื่องของดวงตา
  • หากเริ่มมีภาวะสายตาสั้น ควรเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตาของตนเองตามที่จักษุแพทย์ให้คำแนะนำ
  • ในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ การเล่นโทรศัพท์ ควรมีจังหวะในการพักสายตา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการตาล้า
  • เมื่อทำกิจกรรมภายนอกบ้าน ควรสวมแว่นตากันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต(UV)
  • ควรสวมใส่แว่นตาทุกครั้ง เมื่อมีการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายดวงตา เช่น การใช้สารเคมี เป็นต้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะในกลุ่มของพืชผักใบเขียว ผลไม้ รวมไปจนถึงอาหารที่มีกรดโอเมก้า3
  • การเกิดปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นแย่ลงได้ ควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
  • เมื่อใช้ชีวิตประจำวัน ในบางครั้งควรมีการสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การเกิดจุดดำลอยไปมาในดวงตา หรือเกิดจุดดำบริเวณกลางภาพ จู่ๆเห็นแสงคล้ายคลึงกับฟ้าแลบในดวงตา เป็นต้น หากเกิดความผิดปกติใดๆ ควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

 


FAQ ภาวะสายตาสั้น

มียาบํารุงสายตาสั้นหรือไม่ 

ปัจจุบัน เรื่องของยาบำรุงสายตาสั้น ยังไม่พบงานวิจัยที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า ยาบำรุงสายตาสั้นจะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสายตาสั้น หรือทำให้การสายตาสั้นน้อยลง หรืออาการหายไปได้ แต่การทานวิตามินต่างๆจะช่วยในแง่ของการป้องกันภาวะการขาดวิตามินที่อาจมีผลต่อดวงตาได้
 

สายตาสั้นเท่าไหร่อันตราย

หลายๆคนมักมีข้อสงสัยว่า แล้วแบบนี้สายตาสั้นเท่าไหร่อันตราย? จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น บุคคลที่มีค่าสายตาสั้นอยู่ที่ระดับที่มากกว่า - 6.00 ไดออปเตอร์ หรือผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า 600 ขึ้นไป จะทำให้มีโอกาสสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน จอประสาทตาหลุดลอก เป็นต้น
 

สายตาสั้นแล้วไม่ใส่แว่นได้ไหม

บางคนเมื่อเกิดภาวะนี้แล้ว อาจมีคำถามว่า สายตาสั้นแต่ไม่อยากใส่แว่นทำได้ไหม? ก็ต้องขอตอบเลยว่าสามารถทำได้

เพราะในความเป็นจริงแล้ว การใส่แว่นตาหรือไม่ใส่แว่นตา ไม่มีผลต่อค่าสายตาที่มากขึ้นหรือน้อยลง เพียงแต่การที่ไม่ใส่แว่นตา ทำให้เมื่อมีการมองวัตถุระยะไกล จะไม่สามารถมองได้ชัดเจน ต้องเพ่งสายตา หรือเข้าไปมองในระยะใกล้ๆ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ดวงตาเกิดอาการเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย ประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆจะลดลง เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน รวมไปจนถึงเรื่องของบุคลิกภาพอีกด้วย

จึงขอแนะนำว่า ทางที่ดีควรใส่แว่นตา หรือหากไม่ต้องการใส่แว่นตาจริงๆ ก็สามารถจะปรับเปลี่ยนไปใส่เป็นรูปแบบสายตาสั้นคอนแทคเลนส์ก็ย่อมได้เช่นเดียวกัน
 

สายตาสั้น ยาว เอียง พร้อมกัน เป็นไปได้ไหม 

สายตาสั้น ยาว เอียงพร้อมกัน สามารถเป็นไปได้ เพราะในดวงตาข้างเดียวกัน อาจมีบางมุมที่ค่าสายตาสั้นหรือยาวไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดสายตาสั้น ในรูปแบบของการทำเลสิค(Lasik) หรือ การทำแบบพีอาร์เค(PRK)

 


ข้อสรุป

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ภาวะสายตาสั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามลักษณะทางธรรมชาติของแต่ละบุคคล รวมไปจนถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในบางรายสามารถมีภาวะสายตาสั้นยาวพร้อมกันได้ โดยภาวะสายตาสั้นนั้น มีทั้งระดับน้อย และระดับมาก ซึ่งผู้ที่มีภาวะนี้ควรสังเกตตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะสายตาสั้นระดับมาก เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมาได้

นอกจากการดูแลตนเองที่ดีแล้ว หากเกิดภาวะสายตาสั้นที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ขอแนะนำว่า ควรเข้ารับคำปรึกษาการรักษาภาวะสายตาสั้นวิธีแก้ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมดูแลคุณด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน ให้คุณสามารถมั่นใจได้ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน
 

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 

เอกสารอ้างอิง
American Optometric Association. (n.d.). Myopia (nearsightedness).
https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/myopia?sso=y
Boyd, K. (2020, October 21). LASIK — Laser Eye Surgery. American Academy of
Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/treatments/lasik
Boyd, K. (2017, September 27). What Is Photorefractive Keratectomy (PRK)?. American
Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/treatments/
photorefractive-keratectomy-prk
Mayo Clinic. (2020, April 02). Nearsightedness. https://www.mayoclinic.org/diseases-
conditions/nearsightedness/symptoms-causes/syc-20375556

Roth, E. (2017, March 21). Nearsightedness (Myopia). Healthline.
https://www.healthline.com/health/nearsightedness
Turbert, D. (2021, December 17). Nearsightedness: What Is Myopia?. American Academy of
Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/diseases/myopia-nearsightedness
Turbert, D. (2021, May 27). What Is Small Incision Lenticule Extraction?. American Academy
of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/treatments/what-is-small-incision-
lenticule-extraction

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม