Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

โรคตับแข็ง ป้องกันได้!



ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในช่องท้อง อยู่ที่บริเวณชายโครงขวาเลยมาถึงลิ้นปี มีหน้าที่สําคัญในการควบคุมสมดุลต่างๆ ของร่างกาย โดยทําหน้าที่หลายอย่าง เช่น ขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เชื้อโรค กําจัดเชื้อโรคออกจากเลือด สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทําให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดี ซึ่งมีหน้าที่ช่วยย่อยไขมันก่อนที่ จะมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือด นอกจากนี้ยัง เป็นที่สะสมธาตุเหล็ก วิตามิน และเกลือแร่หลายชนิด ตลอดจนสะสมพลังงานในรูปของน้ำตาล ตับยังเป็นแหล่งเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ที่สําคัญเปรียบเสมือนแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย

ตับแข็ง เป็นสภาวะตับเกิดแผลเป็นหลังจากมี การอักเสบหรือภยันตรายต่อเนื้อตับ เมื่อเนื้อตับที่ดีถูกทําลาย เนื่อตับที่หายจากการอักเสบ หรือถูกทําลายจะเกิดเนื้อเยื่อประเภทพังผืดรัด หรือกดเส้นเลือดในตับ เป็นผลให้เลือดไหลผ่านตับไม่สะดวก การทํางานของตับลดลง โรคตับแข็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก 25,000 คนต่อปี นับว่าเป็นสาเหตุการตายที่เกิด จากโรคอันดับที่ 8 นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สําคัญ และเกิดความทุกข์ทรมานในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งอีกด้วย

สาเหตุของโรคตับแข็ง

เกิดจากการเป็นตับอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน จนทําให้เนื้อตับตายลง เกิดแผลเป็น มีเนื้อเยื่อ พังผืดแทรกในตับ สาเหตุที่พบในประเทศไทย คือ

1. สุรา แอลกอฮอล์ในสุราจะทําให้เกิดความผิดปกติ ของการใช้ ของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ทําให้เกิดภาวะตับอักเสบจากสุราขึ้น เมื่อเป็นนานๆ จะเกิดภาวะตับแข็ง พบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 160 กรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดภาวะตับแข็งได้ง่าย หรือเปรียบเทียบได้เท่ากับการดื่มสุราวิสกี้ 480 ซีซีต่อวัน หรือไวน์ 1,600 ซีซีต่อวัน หรือเบียร์ 4,000 ซีซีต่อวัน

2. ไวรัสตับอักเสบ มีไวรัส 3 ตัว ที่ทําให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี ในประเทศไทยพบมากเฉพาะไวรัสบี และ ซี เท่านั้น ส่วนไวรัสตับอักเสบดีจะเกิดเฉพาะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ก่อนแล้วเท่านั้น (เพราะต้องอาศัยไวรัสบีในการแบ่งตัวเติบโตของไวรัสดี) พบมากเฉพาะในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี

3. ยา สารพิษและพยาธิบางชนิด ยาและสมุนไพรบางชนิด ถ้ากินขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจะทําให้เกิดอาการตับอักเสบเรื้อรังได้ และสารพิษบางชนิด เช่น สารหนู (Arsenic) ก็ก่อให้เกิดพังผืดในตับได้ รวมทั้งพยาธิบาง ชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ก็กระตุ้นให้เกิดตับแข็งได้

4. ภาวะดีซ่านเรื้อรังจากท่อน้ำดีอุดตัน ปกติตับจะสร้างน้ำดี ไหลมาตามท่อน้ำดีลงสู่ลําไส้เล็กส่วนต้น ส่วนที่ เหลือจากการไหลลงลําไส้จะไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ถ้ามีการอุดกั้นการไหลของน้ำดีบริเวณท่อน้ำดีจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น นิ่วอุดท่อน้ำดี หรือเนื้องอกอุดหรือเบียดท่อน้ำดีจนตีบตันเป็นเวลานาน น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปคั่งที่ตับก็สามารถทําลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้

5. ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ทําให้มีเลือดคั่งที่ตับ เลือดไหลเวียนในตับลดลง เนื้อตับเกิดภาวะขาดออกซิเจนตาย

6. โรคกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรควิลสัน มีการสะสมของทองแดงมากในตับทํ าให้เนื้อตับอักเสบและตาย เกิด ตับแข็ง โรค Hemachromatosis มีการสะสมของเหล็กมากในตับ Glycogen Storage Disease มีความบกพร่องของการใช้คาร์โบไฮเดรตบางประเภท

7. โรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง (Antoimmune Hepatitis) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันนั้นหันมาทําลายตับตนเอง พบมากในชาวยุโรป ส่วนในประเทศ ไทยพบน้อย

8. โรคตับอักเสบจากภาวะไขมันเกาะตับ ภาวะที่มีไขมันสะสมที่ตับจำนวนมาก อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นตับแข็งได้ ภาวะมีไขมันเกาะตับมากนี้ อาจพบร่วมกับโรคบางโรค เช่น เบาหวาน ทุพโภชนาการ อ้วน การใช้ยาบางชนิด เช่น Steroid เป็นเวลานาน ซึ่งในปัจจุบันสามารถตรวจวิเคราะห์ภาวะไขมันเกาะตับได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ แถมไม่ต้องเจาะหรือผ่าตัด ด้วยการตรวจหาภาวะไขมันเกาะตับพร้อมการวิเคราะห์ภาวะตับแข็งได้ในตัว ด้วยเครื่อง Fibro Scan อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับแข็ง

 
  1. มีประวัติที่นําไปสู่การเป็นตับแข็งได้ เช่น ดื่มสุราจัด มีประวัติป่วยด้วยโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี
  2. อาการที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นโรคตับแข็ง เช่น ตา ตัวเหลือง มีหลอดเลือดเล็กๆ ขยายตัวเป็นจุดแดงๆ มีแขนง ยื่นออกไปโดยรอบคล้ายใยแมงมุมที่ผิวหนังบริเวณหน้าอกและไหล่ คลําได้ว่าตับและม้ามโต
  3. เจาะเลือดพบโปรตีนในเลือดลดลง สารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวต่ำกว่าปกติ มีระดับสารน้ำดี (Bilirubin) สูง ในกรณีที่มีการอักเสบของตับ จะพบระดับเอนไซม์ 2 ตัว คือ SGOT (AST) และ SGPT (ALT) สูง นอกจากนี้การเจาะเลือดตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง ได้แก่ การตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี และซี การตรวจพบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น Anti-nuclear Antibody (ANA), Anti Smooth Muscle Antibody บ่งชี้ว่าเป็นโรคตับอักเสบจากภูมิคุ้มกันของตนเองในผู้ป่วยที่เป็นโรควิลสัน จะตรวจพบโปรตีนที่ทําหน้าที่จับทองแดง ชื่อ Ceruloplasmin ลดลง ในรายที่มีสาเหตุจากภาวะธาตุเหล็กสะสมมากเกิน (Hemo-chromatosis ) จะพบระดับธาตุเหล็กในเลือดสูงขึ้น
  4. การตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultra Sound) เพื่อประเมินสภาวะของตับโดยแพทย์
  5. การตรวจตับด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Spiral Computer Tomography)
  6. การตรวจตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ( MRI = Magnetic Resonance Imaging)
  7. การส่องกล้องตรวจภายในช่องท้อง (Peritoneo-scopy)
  8. การตรวจชิ้นเนื้อตับทางพยาธิวิทยา โดยการใช้เข็มพิเศษ (Liver Biopsy Needle ) เจาะผ่านผิวหนังดูดชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจ (ด้วยกล้องจุลทรรศน์)

โรคแทรกซ้อนจากตับแข็ง

1. ท้องมาน ผู้ป่วยจะมีท้องโตเนื่องจากมีน้ำคั่งภายในช่องท้อง มักมีขาบวมกดบุ๋ม 2 ข้าง เกิดจากตับสร้างโปรตีนที่เรียกว่าอัลบูมิน ในกระแสเลือดลดลง อัลบูมินมีหน้าที่ช่วยอุ้มน้ำไว้ในกระแสเลือด เมื่อปริมาณอัลบูมินในเลือดลดลงร่วมกับความดันหลอดเลือดดําในตับสูงขึ้น ทําให้ผู้ป่วยตับแข็งมีน้ำและเกลือแร่รั่วออกจากเส้นเลือดมาในช่องท้องและเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ทําให้เกิดภาวะท้องมานและบวม

1.1 การติดเชื้อภายในช่องท้อง เนื่องจากโปรตีนหลายตัวที่ทําหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันสร้างจากตับ เมื่อตับแข็ง จะทําให้การสร้างภูมิคุ้มกันต่ำลง เมื่อเกิดร่วมกับภาวะท้องมานมีน้ำในช่องท้อง ก็ทํา ให้เกิดการติดเชื้อภายในช่องท้องได้

1.2 น้ำท่วมในช่องปอด พบว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่วยท้องมานจากตับแข็ง จะมีน้ำท่วมในช่องปอด โดย 2 ใน 3 ราย มีน้ำท่วมในช่องปอดขวาข้างเดียว

1.3 ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือ ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยท้องมานจากตับแข็ง น้ำจะดันรูรั่วที่สะคือ สะดือนูนออกมาเป็นสะดือจุ่นขนาดโต โรคแทรกซ้อนที่พบคือผิวหนังบริเวณสะดือจุ่นเป็นแผลเกิดติดเชื้อ ถ้าผิวหนังโป่งและแตก จะมีน้ำจากมานรั่วออกและเกิดการติดเชื้อ กรณีนี้มีอัตราสูงถึงร้อยละ 50 บางรายมีลําไส้เลื่อนเข้ามาสะดือจุ่นและขอบรูที่ผนังหน้าท้องกดรัดจนไม่มี เลือดมาเลี้ยง ทําให้เกิดการเน่าอักเสบของลําไส้ ต้องรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาภาวะไส้เลื่อนที่สะดือ คือ พยายามควบคุมลดน้ำในท้องหรืออาจจําเป็นต้องผ่าตัดเย็บปิดรูที่สะดือ

2. ภาวะทางสมอง เนื่องจากตับขจัดสารพิษจากการสลายของโปรตีนไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ซึมลง ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการรุนแรงขึ้นจากการสลายโปรตีนของร่างกาย และจากการรับประทานอาหาร โปรตีนจึงจําเป็นต้องจํากัดโปรตีนในอาหารให้น้อยที่สุดระหว่างที่มีอาการอยู่ ทําให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ดังนั้นควรเสริมโปรตีนที่เป็นกรดอะมิโน ชนิดกิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนเพียงพอ นอกจากนี้ถ้ามีเลือดออก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร จะทําให้มีการสลายโปรตีนจากเลือดหรืออุจจาระที่ค้างในลําไส้ใหญ่ซึ่งมีปริมาณโปรตีนสูง (ในเลือด 100 ซีซี จะมีโปรตีนสูงถึง 60 กรัม) การสลายโปรตีนจะเพิ่มปริมาณสารพิษ เช่น แอมโมเนีย จนตับไม่สามารถกําจัดได้ทัน สารพิษเหล่านั้นจะไปยับยั้งการทํางานของสมอง ทําให้ผู้ป่วยซึมลงจนหมดสติได้

3. มีเลือดออกง่าย เพราะตับผลิตสารช่วยในการแข็งตัวของเลือดลดลง

4. ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดําของตับ (Portal Hypertension) ตับแข็ง เป็นสาเหตุทําให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระบบหลอดเลือด ดําที่ผ่านตับ เป็นผลให้เกิดเส้นเลือดดําโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารส่วนต้น 35-80 % ของผู้ป่วยตับแข็ง เส้นเลือดขอดนี้มีโอกาสแตก มีเลือดออกและหยุดยาก และมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 30-50

5. อาการไตวายเนื่องจากโรคตับ เชื่อว่าเป็นผลจากสารพิษที่ตับขจัดไม่ได้ ทําให้การไหลเวียนของเลือดที่ผ่านไตมีการกรองน้ําปัสสาวะออกจากเลือดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ภาวะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล แม้แต่การเข้าเครื่องไตเทียม นอกจากการเปลี่ยนตับเท่านั้น

6. โรคมะเร็งตับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับนาน ๆ มีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูง และทรุดเร็วกว่าปกติ

การดูแลและรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง

เมื่อเกิดตับแข็งแล้ว ขณะนี้ยังไม่มียารักษาแก้ไขภาวะพังผืดที่เกิดจากแผลเป็นในตับให้กลับมาปกติได้ นอกจากดูแลไม่ให้ตับมีการอักเสบ หรือถูกทําลายมากขึ้น ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็งคือ

• กําจัดสาเหตุที่ทําให้เกิดตับอักเสบ เช่น งดดื่มสุรา รักษาไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับบี และซี ในรายที่เป็นโรควิลสัน ให้ยากินขจัดทองแดง

• ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

• รับประทานอาหารให้ครบ รวมทั้งอาหารประเภทโปรตีน อย่างน้อยในปริมาณ 1 ถึง 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ในรายที่ขาดอาหาร ต้องเพิ่มโปรตีนสูงถึง 1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน ยกเว้นในรายที่เกิดอาการทางสมอง เนื่องจากตับขจัดสารพิษไม่ได้จําเป็นต้องลดการกินอาหารโปรตีนตามคําแนะนําของแพทย์

• ในรายที่มีขาบวม ท้องมาน ควรจํากัดการกินเกลือ ไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงดองเค็มเพื่อป้องกันไม่ให้บวมมากขึ้นจากภาวะมีเกลือคั่ง ในรายที่บวมมาก แพทย์อาจสั่งยาขับปัสสาวะ เพื่อลดภาวะท้องมานและอาการ

• การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นการรักษาที่ดีที่สุดแต่ยังมีข้อจํากัดในเรื่องค่าใช้จ่ายและตับที่มีผู้บริจาคมีจํานวนน้อย และผู้ป่วยเปลี่ยนตับยังจําเป็นต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ผลดี มีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 ภายในเวลา 5 ปี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม