Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

สายตาเอียง (Astigmatism) สาเหตุ อาการ การรักษา วิธีทดสอบสายตาเอียง

สายตาเอียง100


ปัญหาสายตา เป็นหนึ่งในปัญหาที่คนจำนวนมากพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งสิ้น

ภาวะสายตาเอียง(Astigmatism) ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยนไป การมองวัตถุในระยะใกล้และระยะไกลไม่ชัดเจน รวมไปจนถึงเรื่องอื่นๆที่ได้รับผลกระทบตามมา ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นร่วมกับปัญหาสายตาสั้น และ สายตายาวได้อีกด้วย

ฉะนั้น ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกเรื่องของสายตาเอียง เกี่ยวกับคำถามที่หลายๆคนอยากรู้ ทั้งเรื่องการทดสอบสายตาเอียง อาการ สายตาเอียงรักษาอย่างไร? ทำเลสิคได้ไหม? มาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันเลย
 

สารบัญบทความ
 

 

สายตาเอียง คืออะไร

สายตาเอียง คือ ปัญหาสายตาที่ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้ มีการมองเห็นภาพเบลอทั้งในระยะใกล้และระยะไกล อีกทั้งยังเกิดเงาซ้อน ภาพบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง โดยส่วนใหญ่ ภาวะสายตาเอียงมักเกิดร่วมกันกับปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว

ปัญหาสายตาเอียง ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมองเห็นตัวอักษร ตัวเลขต่างๆ การขับขี่รถยนต์ การอ่านหนังสือ รวมไปจนถึงเรื่องของบุคลิกภาพ เนื่องจากในบางรายอาจมีการเอียงคอ ขยี้ตา เพื่อช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
 


สายตาเอียงเกิดจากสาเหตุใด

สายตาเอียงเกิดจากความผิดปกติของรูปร่างหรือความโค้งของกระจกตาที่ไม่โค้งเป็นทรงกลม ทำให้เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาของเรา เกิดการหักเหแสงผิดพลาด จนทำให้จุดโฟกัสที่ได้มีมากกว่าหนึ่งจุด และไม่ตกกระทบลงบนจอประสาทตา ส่งผลให้ภาพที่เห็นไม่ชัดเจนทั้งในระยะใกล้หรือระยะไกล และมีเงาซ้อนเกิดขึ้น

ในส่วนของภาวะสายตาเอียง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยส่วนมากแล้วมักเป็นโดยกำเนิด แต่อาจมีบางรายที่เกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นผลมาจากการเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงระดับเล็กน้อย อาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบหรืออาการต่างๆ แต่ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียง ร่วมกับปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว จะสามารถสังเกตเห็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
 

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะสายตาเอียง

 
  • ผู้ที่มีอาการตาเหล่
  • การมีรอยแผลเป็นบริเวณกระจกตา อันเนื่องมาจากการติดเชื้อหรือการอักเสบ
  • การประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
  • อาการบาดเจ็บหลังเข้ารับการผ่าตัดดวงตา
  • พันธุกรรม
  • ผู้ที่เป็นโรคกระจกตาย้วย(Keratoconus) ทำให้กระจกตาเปลี่ยนเป็นรูปทรงกรวย
 

อาการของสายตาเอียง

อาการของสายตาเอียง
 

โดยทั่วไป สายตาเอียงอาการจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
 

  • เกิดอาการตาล้า ปวดตา เมื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่มีการเพ่งสายตาหรือทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์
  • มีอาการตาเหล่
  • การมองเห็นพร่ามัว เบลอ ไม่ชัดเจน เกิดเงาซ้อน หรือภาพบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงในทุกระยะการมองเห็น
  • เกิดอาการปวดหัว ระคายเคืองตา เนื่องจากการใช้สายตา หรือภาพการมองเห็น
  • มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถยนต์ในตอนกลางคืน การอ่านป้ายจราจร การมองตัวเลข ตัวอักษร

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว ภาวะสายตาเอียงมักจะมาร่วมกับปัญหาสายตาอื่นๆ ดังนี้
 

สายตาเอียงพร้อมกับสายตาสั้น

 
ภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น คือ รูปร่างกระจกตาหรือความโค้งของกระจกตามีความผิดปกติ เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาแล้ว เกิดการหักเหจนทำให้จุดรวมแสงตกกระทบไม่ถึงจอประสาทตา และยังเกิดจุดโฟกัสขึ้นมากกว่า 1 จุด ส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะนี้ มองวัตถุในระยะไกลได้ไม่ชัดเจน และยังเกิดภาพเงาซ้อนขึ้นอีกด้วย

 

สายตาเอียงพร้อมกับสายตายาว

 
ภาวะสายตาเอียงที่มาพร้อมกับสายตายาว คือ เมื่อแสงสะท้อนเข้าสู่ดวงตาของเรา จะเกิดการหักเหผิดพลาด ทำให้จุดรวมแสงตกกระทบเลยจอประสาทตาไป และยังเกิดจุดโฟกัสมากกว่า 1 จุด ทำให้ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตายาว มองวัตถุระยะใกล้ๆได้ไม่ชัดเจน และอาจเกิดเงา ภาพเบลอ หรือบิดเบี้ยวไม่ตรงกับความเป็นจริงได้

 

สายตาเอียงแบบผสม

 
ปัญหาสายตาเอียงแบบผสม คือ ปัญหาที่มีความซับซ้อน เนื่องจากในดวงตาข้างเดียวกันอาจมีการหักเหแสงทั้งแบบสายตาสั้น และสายตายาว เมื่อแสงสะท้องเข้าสู่ดวงตา เกิดการหักเหให้จุดรวมแสงจุดหนึ่งตกกระทบที่บริเวณด้านหน้าจอประสาทตา ส่วนอีกจุดหนึ่งตกกระทบเลยจอประสาทตาไป ทำให้ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงแบบผสม มองเห็นได้ไม่ชัดเจน มีอาการปวดหัว วิสัยทัศน์ถูกบิดเบือนอย่างมาก

 


การวินิจฉัยสายตาเอียง

การวินิจฉัยสายตาเอียง จะต้องทำโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักทัศนมาตร(Optometrist)ด้วยการที่คุณจะต้องเข้ารับการทดสอบสายตาเอียง ซึ่งการตรวจวัดจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ดังนี้
 

การวัดค่าระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test)

 
การตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test) คือ การที่ผู้เชี่ยวชาญจะทดสอบระดับความชัดเจนในการมองเห็น ด้วยการให้ผู้เข้ารับการทดสอบอ่านตัวอักษรหรือตัวเลข ที่อยู่บนแผ่นภูมิวัดสายตาในระยะที่กำหนด ซึ่งตัวอักษรหรือตัวเลขในแต่ละแถวจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ

 

การวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test)

 
การตรวจวัดค่าความโค้งของกระจกตา (Keratometer Test) คือ แพทย์จะนำเครื่องมือที่ชื่อว่า เคอราโตมิเตอร์(Keratometer) มาตรวจวัดระดับความโค้ง รูปร่างพื้นผิวของกระจกตาที่แน่นอน รวมไปจนถึงการตรวจสอบดูค่าสายตาเอียงผ่านแสงสะท้อนที่ตกกระทบลงบนกระจกตา

 

การทดสอบความหักเหของแสงที่เข้าสู่ดวงตา

 
สุดท้ายคือ การทดสอบความหักเหของแสง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะนำเครื่องมือที่เรียกว่า โฟรอพเตอร์(Phoropter) มาวัดข้อผิดพลาดในการหักเหแสง โดยให้คุณมองผ่านเลนส์หลายๆชุดที่อยู่ข้างหน้าดวงตา แล้วอ่านหรือดูแผนภูมิ เพื่อวัดค่าเลนส์ การโฟกัสของดวงตาจากการตอบสนอง ซึ่งเมื่อปรับแต่งเสร็จสิ้นแล้ว จะได้ค่าเลนส์ที่สามารถแก้ไขความผิดพลาดในการหักเหแสงของแต่ละบุคคล

 


วิธีการทดสอบสายตาเอียงเบื้องต้น

หลายๆคนอาจมีข้อสงสัยว่า “เราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะสายตาเอียง?” ไม่ต้องกังวลใจไป เนื่องจากเราสามารถใช้วิธีการทดสอบสายตาเอียงเบื้องต้นด้วยตนเองได้ง่ายๆ ดังนี้

วิธีการนี้ จะเป็นการตรวจวัดสายตาเอียงทีละข้าง โดยการเริ่มวัดจากตาข้างซ้าย ให้คุณนำมือข้างหนึ่งปิดตาข้างขวาไว้ และมองมายังเส้นทุกเส้นที่อยู่ในภาพนี้

หากคุณมองเห็นว่าทุกเส้นมีความเข้มเท่ากัน ขอแสดงความยินดีด้วยว่า คุณอาจไม่มีค่าสายตาเอียง หรือมีในระดับที่น้อยมาก แต่ถ้าหากคุณมองแล้วพบว่า ทุกเส้นมีความเข้มไม่เท่ากัน หรือมีบางเส้นที่มีความเข้มมากกว่าเส้นอื่นๆอยู่ แสดงว่า คุณมีภาวะสายตาเอียงในข้างนั้นๆ

เมื่อคุณตรวจวัดสายตาข้างซ้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้คุณสลับไปยังข้างขวา และทำซ้ำอีกครั้ง เพื่อดูผลลัพธ์ที่ได้
 


วิธีการรักษาสายตาเอียง

สายตาเอียงรักษาอย่างไรได้บ้าง? วิธีการรักษาสายตาเอียงมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ดังนี้
 

การใส่แว่นสายตาสำหรับสายตาเอียง

 
การใส่แว่นตา เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาที่ได้ผลลัพธ์รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงในระดับปกติ โดยการนำค่าวัดสายตาที่ได้จากแพทย์ ไปสั่งตัดแว่นสายตาเอียงที่มีความจำเพาะกับแต่ละบุคคลได้

หลายๆคน เมื่อจะต้องตัดแว่นตา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใส่แว่นตาเป็นครั้งแรก อาจมีความสงสัยว่า ปกติแล้ว สายตาเอียงใช้เลนส์อะไร? เลือกยังไงได้บ้าง?

วิธีการเลือกแว่นสายตาเอียง คือ การตัดค่าสายตาตามที่ได้ใบสั่งจากแพทย์ ใช้เลนส์ทรงกระบอกพิเศษ เพื่อแก้ไขความโค้งที่ไม่พอดี และชดเชยกำลังเพิ่มเติมในส่วนต่างๆของเลนส์ ทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นเวลาสวมใส่แว่น อีกทั้งควรดูเรื่องของคุณภาพแว่นตา แนะนำว่า ควรเลือกทำแว่นตาที่มีคุณภาพดี หรือคุณภาพสูงไปเลยเสียดีกว่า เพื่อความสบายตา ลดอาการปวดหัว เป็นต้น
 

การใส่คอนแทคเลนส์สำหรับสายตาเอียง

 
การใส่คอนแทคเลนส์สายตาเอียง เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกดีๆที่ได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับการใส่แว่นสายตา เหมาะสำหรับผู้ที่ใส่แว่นตาไม่ได้ เนื่องจากเกิดอาการมึนศีรษะ หรือไม่ชื่นชอบในการใส่แว่นตา ต้องการมีมุมมองที่กว้าง และทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างอิสระ

คอนแทคเลนส์เป็นสิ่งที่ต้องถอดเข้าออกโดยสัมผัสกับดวงตาโดยตรง ดังนั้นหากคุณเลือกที่จะใช้คอนแทคเลนส์ จะต้องหมั่นรักษาความสะอาดให้ดี ใส่ในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การระคายเคืองตา หรืออันตรายอื่นๆที่อาจส่งผลต่อดวงตาได้

โดยปกติแล้ว บุคคลที่มีภาวะสายตาเอียงจะไม่สามารถใช้คอนแทคเลนส์แบบทั่วไปได้ ให้คุณเข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อปรึกษาถึงชนิดของคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตาแต่ละบุคคล ซึ่งคอนแทคเลนส์มีทั้งชนิดนิ่มพิเศษ(Toric) และชนิดแข็งที่ก๊าซซึมผ่านได้
 

การผ่าตัดรักษาสายตาเอียง

 
บางรายที่มีภาวะสายตาเอียงระดับรุนแรง หรือผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อีกแล้ว อาจเหมาะกับการแก้ไขความผิดปกติของสายตาโดยการผ่าตัดมากกว่า เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ทำให้อิสระในการทำสิ่งต่างๆกลับคืนมาอีกครั้ง โดยการผ่าตัดรักษาสายตาเอียง มีวิธีการมากมาย ดังนี้

 

  • การทำเลสิค

การทำเลสิคสายตาเอียง เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาเอียง โดยใช้ใบมีดในการเปิดชั้นกระจกตา จากนั้นใช้เลเซอร์ในการปรับความโค้งของกระจกตาให้เท่ากับที่มีการคำนวณค่าสายตาเอาไว้ ซึ่งวิธีเลสิคนี้สามารถพักฟื้นได้เร็ว กลับมามองเห็นได้เหมือนปกติ เกิดการระคายเคืองน้อย และราคาไม่สูงมากนัก
 

  • การทำ PRK

การทำ PRK(Photorefractive Keratectomy) เป็นวิธีการแก้ไขความผิดปกติของสายตา โดยไม่แยกชั้นกระจกตา แต่จะนำเยื่อบุผิวบนกระจกตาที่สามารถเจริญขึ้นมาใหม่ได้ออกก่อน จากนั้นใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer laser) ปรับรูปร่างของกระจกตาให้มีสัดส่วนความโค้งที่สมดุล

วิธีการนี้ เป็นวิธีเดียวที่มีการอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการสอบเป็นนักบิน หรือผู้ที่ต้องประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสามารถทำได้ และเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงน้อย ไม่มีการเย็บแผล ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงไม่เกิน 200 หรือผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น รวมไปจนถึงผู้ที่มีอาการตาแห้ง กระจกตาบาง สามารถทำด้วยวิธีนี้ได้
 

  • การทำ Femto LASIK

การทำ Femto LASIK หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การผ่าตัดแบบไร้ใบมีด คือ การผ่าตัดรูปแบบนี้ จะนำเครื่อง femtosecond laser รุ่น Visumax ซึ่งเป็นแสงเลเซอร์เข้าไปสแกนตามความโค้งของกระจกตาอย่างรวดเร็ว โดยเครื่องนี้จะทำให้แผลที่ได้มีความเรียบ ไม่ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังมีความแม่นยำสูง จึงเป็นวิธีการที่ลดความคลาดเคลื่อนในการแยกชั้นกระจกตา รวมไปจนถึงลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
วิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะสายตาเอียงไม่เกิน 600 หรือผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีลักษณะตาค่อนข้างเล็ก กระจกตาบาง ก็ยังสามารถทำได้
 

  • การทำ ReLEx SMILE

ReLEx SMILE เป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่มาจากการพัฒนาเลสิคแบบดั้งเดิมเข้ามาใช้ ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนจากการใช้ใบมีดมาเป็นแบบเลเซอร์ที่มีชื่อว่า Femtosecond Laser ซึ่งสามารถทำได้อย่างแม่นยำ ไม่ทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ
ทำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดในขณะผ่าตัด แผลที่ได้มีขนาดเล็กมาก ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็ว ผลข้างเคียงไม่มาก เหมาะสำหรับผู้ที่สายตาเอียงไม่เกิน 500 หรือผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น
 

  • การทำ ICL

การทำ ICL (Implantable Collamer Lens) เป็นการใช้เลนส์เสริมชนิดถาวรเข้ามาใส่ในดวงตาของเรา วิธีการผ่าตัดนี้จะไม่มีการเย็บแผลเช่นเดียวกัน แผลสามารถสมานตัวเองได้ และสามารถนำเลนส์เสริมออกได้ ในกรณีที่ไม่พึงพอใจในผลลัพธ์ที่ได้
วิธีการนี้ เป็นวิธีที่สามารถแก้ไขความผิดปกติสายตาที่มีระดับรุนแรงได้ อีกทั้งยังเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ไม่ก่อให้เกิดแสงกระจายในเวลากลางคืน บุคคลที่มีค่าสายตาเอียงไม่เกิน 600 หรือผู้ที่มีปัญหาตาแห้งมาก กระจกตาบาง ไม่สามารถทำเลสิคได้ในบางกรณี อาจใช้วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีได้
 


FAQ สายตาเอียง

สายตาเอียงเท่าไหร่ควรตัดแว่น

หลายๆครั้ง มักพบคำถามยอดฮิตว่า “สายตาเอียงเท่าไหร่ควรตัดแว่น?” ในความเป็นจริงแล้วการตัดแว่นไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่า ปัญหาสายตาเอียงที่คุณเผชิญอยู่นั้น รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณมากแค่ไหน?

หากคุณใช้ชีวิตประจำวัน แล้วค้นพบว่า ภาพที่คุณมองเห็นมีลักษณะเบลอ ไม่ชัดเจน มีเงาซ้อน ภาพเกิดการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป มีอาการปวดหัว ปวดตา ในขณะที่คุณทำงานหรือจำเป็นต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเรื่องของการขับรถ การใช้สายตาในตอนกลางคืน การอ่านป้ายหรือดูสัญญาณการจราจร ฯลฯ

อาจเป็นโอกาสที่ดีในการพิจารณาเรื่องของการตัดแว่นหรือการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัย หรือความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น
 

สายตาเอียงกับการขับรถในช่วงกลางคืน

เรื่องสายตาเอียงกับการขับรถตอนกลางคืน เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก เพราะผู้ที่สายตาเอียงมองไฟแล้วจะมีลักษณะไฟฟุ้งๆเป็นเส้น ไม่ชัดเจน อีกทั้งยังเห็นเงาซ้อนอีก ทำให้วิสัยทัศน์ในตอนกลางคืนค่อนข้างแย่

แน่นอนว่า เรื่องนี้ส่งผลเสียเป็นอย่างมาก และไม่ควรมองข้ามเลย เนื่องจากตอนกลางคืนมีแสงน้อย ผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจน จนประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง ส่งผลให้โอกาสที่จะเกิดอันตรายมีมากขึ้น ซึ่งขอแนะนำว่า ควรเข้ารับการรักษา หรือหาวิธีแก้ปัญหาสายตาเอียงที่เหมาะสมจึงจะดีที่สุด
 


ข้อสรุป

ภาวะสายตาเอียง เป็นภาวะที่ทำให้บุคคลนั้นมีประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง ไม่ชัดเจน เกิดภาพซ้อน หรือเกิดการบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งในส่วนใหญ่แล้ว ภาวะสายตาเอียงมักมาร่วมกับปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว หรือแม้กระทั่งการเป็นปัญหาสายตาเอียงแบบผสมก็เกิดขึ้นได้

การรักษาสายตาเอียงมีด้วยกันหลากหลายวิธี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเข้ารับคำแนะนำ หรือการรักษาสายตาเอียงที่มีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้การดูแลรักษาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีการนำวิทยาการทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการรักษา เพื่อให้คุณปลอดภัยและมั่นใจได้เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน

หากสนใจสามารถติดต่อเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ Line หรือ เบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สนใจปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตา และการผ่าตัดแก้ไขสายตา ด้วยประสบการณ์ทำเลสิคกว่า 10,000 เคส
มั่นใจด้วย 2 เทคโนโลยีนำเข้าจากเยอรมันล่าสุด (German Medical Technology 2021)

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์


เอกสารอ้างอิง 
Astigmatism. (n.d.). The Canadian Association of Optometrists. https://opto.ca/health-library/astigmatism
Astigmatism. (n.d.). American Optometric Association. https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/astigmatism?sso=y
Boyd, K. (2021, December 06). What is Astigmatism?. American Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-astigmatism
Boyd, K. (2017, September 27). What Is Photorefractive Keratectomy (PRK)?. American Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eye-health/treatments/photorefractive-keratectomy-prk
Brazier, Y. (2017, October 25). What is astigmatism and how is it treated?. Medical News Today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/158810
Mayo Clinic Staff. (2021, October 05). Astigmatism. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/astigmatism/symptoms-causes/syc-20353835

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม