Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อาการเป็นอย่างไร รักษาหายไหม?

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน สามารถเกิดได้ในผู้ป่วยอายุน้อยและผู้ป่วยสูงอายุ โดยจะเริ่มมีอาการปวดหลัง ซึ่งอาจเป็นอาการปวดหลังทั่วไป หรือเป็นอาการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทก็ได้ 

บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจว่า กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทเกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง รักษาหายไหม รวมถึงเป็นข้อมูลเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ และวิธีการป้องกันโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทให้มากขึ้น
 


สารบัญบทความ
 


กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท คือ
 

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท (Spondylolisthesis) เป็นโรคที่มักมีอาการหลักคือปวดหลังเวลาก้มหรือแอ่นหลัง หรือปวดสะโพกร้าวลงขา รวมถึงอาการชาร่วมด้วย อาจจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ 

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะสะโพกและต้นขา รวมถึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเดินลำบาก และการเสื่อมหรือพรุนของกระดูกสันหลังยังนำมาซึ่งกระดูกสะโพกหักอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วสาเหตุของการปวดหลังมักเริ่มจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรือฉีกขาด ซึ่งความสำคัญของหมอนรองกระดูกสันหลังนี้มีหน้าที่รับน้ำหนัก ใช้ในการขยับหลังเพื่อก้มหรือแอ่น เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมก็จะทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือมีอาการปวดหลังดังกล่าวตามมา  
 


กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนเกิดจากความไม่มั่นคงของแนวกระดูกสันหลัง มักเริ่มจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ฉีกขาด หรือมีความเสียหาย ตามด้วยข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการเคลื่อนไปด้านหน้ามากกว่าปกติ จนทำให้โพรงประสาทตีบแคบ (Lumbar Spinal Stenosis) นำมาซึ่งกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท 

โดยส่วนมากมักพบกระดูกสันหลัง L4-L5 เคลื่อน (ข้อที่ 4 และข้อที่ 5) เนื่องจากกระดูกสันหลัง L4-L5 จะรับน้ำหนักจำนวนมาก รวมถึงเป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากด้วยเช่นกัน หากมีการใช้กระดูกสันหลังหนัก หรือใช้งานผิดท่า รวมถึงเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา มีอาการชาที่ขา ชาที่เท้า ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้

นอกจากนี้โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทยังเป็นโรคที่เกิดจากอายุ ทั้งในผู้ป่วยอายุน้อยและผู้ป่วยสูงอายุได้อีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

สาเหตุในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย

ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมักมีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของชิ้นกระดูกสันหลังตั้งแต่เด็ก หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลัง หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันด้วย เช่น การยกของหนักหรือนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้อง น้ำหนักตัวที่มากเกินไป การเล่นกีฬาที่มีการกระทบต่อกระดูกสันหลัง รวมถึงออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น
 

สาเหตุในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ มักเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูกสันหลัง ทั้งหมอนรองกระดูกสันหลังและบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้แนวกระดูกสันหลังไม่มั่นคงและเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท ทั้งนี้ผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพประจำปีร่วมด้วย เพื่อคัดกรองและตรวจหาความคดเอียงของแนวกระดูกสันหลัง
 


ผู้ที่เสี่ยงเป็นกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หมอนรองกระดูกเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่นไป จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท และลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลก็เป็นตัวเร่งให้หมอนกระดูกเสื่อมได้เร็วขึ้น นอกจากจะโรคดังกล่าวจะมีสาเหตุมาจากวัยที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลแล้ว ยังมีข้อสังเกตว่าผู้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือ spondylolisthesis คือ
 

  • ผู้ประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ รับน้ำหนักหรือแรงกระแทกมากจนเกินไป จนไม่สามารถทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ผู้ทำงานก่อสร้าง หรือทำงานหนัก ใช้งานผิดท่า หรือยกของไม่ถูกต้อง ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสียหายหรือฉีกขาด
  • หนุ่มสาวออฟฟิศที่นั่งทำงานในท่าที่ไม่ถูกต้องต่อเนื่องเป็นประจำ
  • การเคลื่อนไหวผิดท่าแบบฉันพลัน
  • ผู้รับประทานอาหารมากจนเกินไป นอกจากทำให้อ้วนแล้ว ยังส่งผลต่อหมอนรองกระดูกจากน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นด้วย 
  • นักกีฬา ที่เล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงให้เกิดแรงกระแทกไปที่กระดูกสันหลัง ที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
     

อาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท อาการ
 

ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท อาการที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดคือ อาการปวดหลัง หรืออาการปวดร้าวลงขาอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมถึงปวดก้นกบ แต่ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทส่วนมากมักมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน อาจแตกต่างกันตรงที่บางคนมีอาการหลักเป็นอาการปวดหลัง ในขณะที่บางคนมีอาการหลักคือปวดร้าวลงขา 

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่ไม่มีการแสดงอาการใด ๆ สามารถตรวจพบเจอโรคโดยบังเอิญจากภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ได้ สำหรับอาการอื่น ๆ ที่มักพบในผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมีดังนี้
 

  • ปวดหลังบริเวณบั้นเอวส่วนล่างเวลาก้ม หรือแอ่นหลัง และอาการจะดีขึ้นหากได้นั่งหรือนอนพัก
  • เดินลำบาก หรือเดินได้ไม่ไกล 
  • มีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก และต้นขาด้านหลัง
  • มีอาการปวดร้าวลงขา ขาชาเท้าชา ปวดขาตอนกลางคืน กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง 
  • มีปัญหาในการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
     

การวินิจฉัยอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

วินิจฉัยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
 

สำหรับการวินิจฉัยอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทนั้น แพทย์จะต้องซักประวัติเพื่อหาสาเหตุเบื้องต้น รวมถึงตรวจร่างกาย และทำการวินิจฉัยเพื่อดูความรุนแรงของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท เช่น การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ การตรวจ CT Scan และการทำ MRI โดยมีรายละเอียดดังต่อต่อไปนี้
 

1. การตรวจเอกซเรย์ (X-ray)

การตรวจเอกซเรย์ (X-ray) ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทจะช่วยให้เห็นรอยหักของกระดูกสันหลัง ในชิ้นส่วนกระดูกที่เรียกว่า Pars Interarticularis ชัดเจนขึ้น และช่วยให้เห็นการเคลื่อนตัวออกจากกันของแนวกระดูกสันหลัง รวมถึงช่วยให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังเมื่อถ่ายภาพในท่าก้มและแอ่นหลัง 
 

2. การตรวจ CT Scan

การตรวจ CT Scan จะช่วยตรวจพบความผิดปกติของชิ้นส่วนกระดูกสันหลังได้ละเอียดกว่าการตรวจ X-ray ทั่วไป และจะช่วยแพทย์วางแผนการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้ละเอียดยิ่งขึ้น
 

3. การตรวจ MRI

การตรวจ MRI หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะสามารถมองเห็นส่วนประกอบที่เป็นเนื้อเยื่อบริเวณรอบกระดูกสันหลังได้ เช่น หมอนรองกระดูกสันหลัง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น การทำ MRI จะสามารถมองเห็นหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าเส้นประสาทเส้นใดหรือเส้นประสาทบริเวณใดถูกกดทับ
 


การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน รักษาหายไหม? การรักษากระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทนอกจากจะใช้การตรวจ X-ray การตรวจ CT Scan และการตรวจ MRI เพื่อตรวจดูความรุนแรงของโรคแล้ว หากอาการไม่รุนแรงแพทย์จะแนะนำให้รักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนด้วยการกายภาพบำบัด ร่วมกับการทานยาอย่างต่อเนื่อง 

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยแนวทางในการรักษาจะอธิบายอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป
 


แนวทางการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

สำหรับแนวทางการรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทแบบไม่ผ่าตัด หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยา ทำกายภาพบำบัด รวมถึงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันควบคู่กันไป โดยมีวิธีรักษาดังนี้
 

1. การรักษาแบบประคับประคอง

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท กายภาพบำบัด
 

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงแรงกดบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยการนอนพัก 2-3 วันแรก การปรับท่านั่งหรือท่าทางในการทำกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม รวมถึงงดกิจกรรมหรือกีฬาที่จำเป็นต้องใช้หลังอย่างหนักหรือใช้หลังนาน
  • การรับประทานยาแก้ปวด กลุ่ม NSAIDs (Nonsteroidal Anti – Inflammatory Drugs) ได้แก่ ยา Paracetamol, Ibuprofen, Diclofenac, Arcoxia และ Celebrex ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • การทำกายภาพบำบัด วิธีรักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อนโดยวิธีกายภาพบำบัด จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้อง ป้องกันข้อสะโพกเสื่อม และต้นขาด้านหลัง รวมถึงใช้การประคบร้อน-เย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน
  • การใช้อุปกรณ์พยุงหลัง (Lumbar Support) เพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอว
     

2. การรักษาแบบอินเตอร์เวนชัน

หมอนรองกระดูกเคลื่อน รักษาหายไหม
 

การรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทแบบอินเตอร์เวนชัน (Spinal Intervention Pain Management) จะเน้นไปที่รักษาโดยการใช้เข็ม อาจเป็นการฉีดยาหรือจี้ไฟฟ้าในบริเวณโดยรอบกระดูกสันหลัง เพื่อยับยั้งอาการปวดซึ่งเกิดจากการหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทหรือการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลัง 

 

  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง (Epidural Steroid Injection : ESI) หรือใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวด สามารถบรรเทาอาการปวดซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาทได้ ใช้สำหรับผู้ป่วยกลุ่มโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) เป็นการใช้จี้ไฟฟ้าคลื่นวิทยุความถี่สูงเพื่อทำลายเส้นประสาท ยับยั้งความรู้สึกปวดที่เกิดจากการอักเสบหรือความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง 
  • การฉีดสลายพังผืด หากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังซึ่งมาจากพังผืดทับเส้นประสาท การใช้เทคนิคฉีดสลายพังผืดจะช่วยลดการอักเสบของเส้นประสาท ลดพังผืดที่ไปกดทับบริเวณเส้นประสาทในช่องไขสันหลัง เพื่อให้เส้นประสาททำงานได้ดีขึ้น ลดการเจ็บปวดโดยไม่ทำลายโครงสร้างของกระดูกสันหลัง
     

การผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

ผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อน
 

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทโดยการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำในผู้ป่วยที่รักษาด้วยการทานยา ทำกายภาพบำบัด รวมถึงการรักษาแบบวิธีอินเตอร์เวนชันมาแล้วแต่ไม่ได้ผล โดยแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่มีแนวโน้มอาการดังต่อไปนี้

 

  • ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อนมาก หรือมีแนวโน้มจะเคลื่อนมากขึ้นในอนาคต
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเส้นประสาทกดทับอย่างรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น

สำหรับเป้าหมายของการผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ได้แก่

 

  • เพื่อขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบ (Decompression) ลดอาการปวดร้าวลงขา อาการชาที่ขาหรือเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง และปัญหาการควบคุมระบบขับถ่าย
  • เพื่อปรับสมดุลของแนวกระดูกสันหลัง (Realignment) ในกรณีผู้ป่วยที่มีการเสียสมดุลของแนวกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังโก่ง
  • เพื่อแก้ไขภาวะความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง (Restabilization) ลดอาการปวดหลังที่มาจากการเคลื่อนไหวของแนวกระดูกสันหลัง

โดยทางเลือกในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทจะมีทั้ง การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทอย่างเดียว และการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง มีรายละเอียดการผ่าตัดดังนี้
 

1. การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทอย่างเดียว (Decompression Alone)

การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทอย่างเดียว (Decompression Alone) คือการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการปวดร้าวลงขา อาการชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง 

โดยการผ่าตัดส่องกล้องขยายโพรงเส้นประสาทเป็นการรักษาที่คนไข้ฟื้นตัวเร็ว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก มีการแทรกซ้อนในการผ่าตัดน้อย เหมาะกับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่มีอาการปวดหลังน้อย หรือกระดูกสันหลังเคลื่อนไม่มาก เทคนิคการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทอย่างเดียว มีดังนี้

 

  • การผ่าตัดแบบเปิดกว้าง (Open Laminectomy) คือ การผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยการเปิดแผลผ่าตัดตรงกลางและทำการเลาะกล้ามเนื้อบริเวณรอบกระดูกสันหลัง จากนั้นเข้าไปตัดกระดูกสันหลังส่วน Lamina เพื่อทำการเปิดโพรงเส้นประสาทให้โล่ง วิธีนี้สามารถขยายโพรงเส้นประสาทได้กว้าง แต่มีข้อเสียคือทำให้มีการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบ เสียเลือดมาก รวมถึงมีโอกาสทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเสียความมั่นคง
  • การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็กโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Decompression) คือ การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ มีข้อดีคือเสียเลือดน้อย บาดแผลเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวไว เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดกว้าง 
  • การผ่าตัดโรคโพรงเส้นประสาทตีบแคบผ่านกล้องเอนโดสโคป (Endoscopic Decompression) เป็นเทคนิคที่มีแผลผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยแพทย์จะสามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ สามารถเลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก
     

2. การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Fusion Surgery)

การผ่าตัดเชื่อมข้อกกระดูกสันหลัง (Fusion Surgery) เป็นการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังที่เกิดการเลื่อนให้ยึดติดเป็นชิ้นเดียวกัน เพื่อลดอาการปวดหลังที่เกิดจากความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง โดยแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้กับผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทที่มีอาการปวดหลังมาก ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังแบ่งเป็น 2 วิธี ดังนี้

 

  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Posterolateral Fusion เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม โดยการเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่เพื่อใส่อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกสันหลัง และใส่ชิ้นกระดูกเพื่อกระตุ้นการเชื่อมข้อในบริเวณกระดูกสันหลังด้านข้าง การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้มีข้อเสียคือผู้ป่วยเสียเลือดมาก เนื่องจากเป็นแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ ฟื้นตัวช้า และอัตราความสำเร็จในการเชื่อมข้อกระดูกไม่สูงมากนัก
     
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Interbody Fusion เป็นวิธีการผ่าตัดเทคนิคใหม่ โดยนำหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมของผู้ป่วยออก และแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกเทียมและวัสดุกระตุ้นการเชื่อมกระดูก สำหรับผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อน อันตรายไหม? เทคนิคการผ่าตัดนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้มีอัตราการเสียเลือดน้อยกว่า ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว โดยเทคนิคการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยวิธี Interbody Fusion ยังแบ่งออกเป็นอีกหลายเทคนิค ดังนี้
     
    • PLIF (Posterior Lumbar Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดเพื่อเปิดโพรงเส้นประสาททางด้านหลังและใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมเพื่อทดแทนหมอนรองกระดูกเดิม สามารถทำการขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบได้ดี 
    • TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดเพื่อขยายโพรงเส้นประสาทและใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมจากด้านหลัง โดยการตัดข้อต่อกระดูกสันหลัง มีข้อดีคือสามารถขยายโพรงเส้นประสาทที่ตีบแคบได้ดี และไม่จำเป็นต้องมีการดึงรั้งเส้นประสาทระหว่างการผ่าตัด ทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทน้อยกว่า
    • ALIF (Anterior Lumbar Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมจากทางด้านหน้า เป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังผิดรูปได้ดี เนื่องจากสามารถหยิบเศษหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อมสภาพออกได้มากที่สุด 
    • DLIF (Direct Lateral Lumbar Interbody Fusion) เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมจากทางด้านข้าง โดยใส่อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดผ่านทางกล้ามเนื้อด้านข้าง เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดขนาดใหญ่ รวมถึงสามารถหยิบเศษหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อมสภาพออกมาได้มาก แต่มีข้อควรระวังคืออาจเกิดผลกระทบต่อเส้นประสาทบริเวณกล้ามเนื้อได้
    • OLIF (Oblique Lumbar Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมจากทางด้านข้าง เป็นวิธีที่สามารถหยิบเอาเศษหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสื่อมสภาพออกได้มากเช่นกัน และสามารถใส่อุปกรณ์กระดูกเทียมที่มีขนาดใหญ่ได้ การผ่าตัดเทคนิคนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดใหญ่ได้ รวมถึงยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกสันหลังคดร่วมด้วย
       

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

ปัญหาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อาจมีอาการกระดูกสันหลังคดร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยว่าอาการกระดูกสันหลังเคลื่อน รักษาอย่างไร สำหรับผู้ที่ต้องรักษาแบบผ่าตัดแพทย์จะวางแผนการผ่าตัดว่าจะผ่าตัดในรูปแบบไหน และแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงรายละเอียดการผ่าตัด โดยผู้ป่วยควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดดังนี้
 

  • ตรวจความสมบูรณ์ของร่างกายเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น การตรวจเลือด, ตรวจคลื่นหัวใจ, ตรวจปัสสาวะ, เอกซเรย์ ตลอดจนการตรวจพิเศษต่าง ๆ ตามที่แพทย์กำหนด
  • สำหรับผู้มีโรคประจำตัวที่มีการรับประทานยาประจำอยู่ โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาละลายลิ่มเลือดอย่าง Aspirin หรือ Warfarin จำเป็นจะต้องงดก่อนผ่าตัด 5 - 7 วัน
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา, วิตามิน หรือสมุนไพรอื่น ๆ ทุกครั้ง 
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง และงดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
  • ควรพาญาติมาในวันผ่าตัดด้วย เพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่และดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง
  • ใส่เสื้อที่มีกระดุมผ่าหน้า หรือเสื้อผ้าหลวมที่สวมใส่ง่าย
  • อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย เพราะหลังผ่าตัดอาจต้องหลีกเลี่ยงการถูกน้ำ
  • งดแต่งหน้า และใส่คอนแทกต์เลนส์ ตลอดจนฟันปลอม สำหรับผู้มีอาการฟันโยกควรแจ้งแพทย์ก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • หลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น สร้อยคอ, กำไล และแหวน เป็นต้น
     

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด

หลังจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมีข้อควรปฏิบัติ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
 

ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัด

หลังจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทควรงดการยกของหนัก หรือก้ม งอ แอ่นหลังภายใน 1 เดือนหลังการผ่าตัด สามารถขับรถได้ปกติหลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์ขึ้นไป 

ทั้งนี้เมื่อเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังไปแล้ว อาจมีการเคลื่อนซ้ำของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ ผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองให้ดี ปรับท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง
 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

เนื่องจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทอยู่จำนวนมาก จึงอาจมีความเสี่ยงที่เกิดผลข้างเคียงได้คือ การบาดเจ็บของเส้นประสาทจากการผ่าตัด แต่โดยปกติแล้วความเสี่ยงการบาดเจ็บของเส้นประสาทมีน้อยมาก เนื่องจากเทคนิคการผ่าตัดมีการพัฒนาขึ้นทำให้มีผลข้างเคียงน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
 

ข้อควรระวังเมื่อออกกำลังกายหลังผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมาแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-4 ไม่ควรออกกำลังกาย ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ก็สามารถขยับร่างกายอย่างช้า ๆ ด้วยการเดิน 10-15 นาที รวมถึงการนั่งไม่ควรนั่งเกิน 20 นาที เพราะอาจกระทบกระเทือนกับกระดูกสันหลังได้
 


วิธีป้องกันกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

วิธีป้องกันกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
 

แม้ว่าจะเคยผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทมาแล้ว แต่หากดูแลตนเองไม่ดีก็สามารถกลับไปปวดหลังซ้ำอีกได้ ฉะนั้นจึงควรดูแลตนเองให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหลัง โดยวิธีป้องกันกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ได้แก่
 

1. ปรับอิริยาบถให้เหมาะสม

 
  • ท่านอน การนอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท คือ ให้นำหมอนมารองบริเวณขา และเมื่อจะลุกจากที่นอนหรือลงจากเตียงควรทำในท่านอนตะแคง
  • ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรงพิงพนักพิง ไม่นั่งเอียง เท้าสองข้างวางราบกับพื้น เข่างอตั้งฉาก ต้นขาวางราบกับที่นั่ง ให้ข้อพับเข่าอยู่ห่างจากขอบที่นั่งของเก้าอี้ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการกดทับเส้นเลือดใต้เข่า หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถอยู่บ่อย ๆ 
  • ท่ายืน ควรยืนหลังตรงในท่าที่สบาย กางขาออกเล็กน้อยให้น้ำหนักตัวค่อนมาทางส้นเท้าทั้งสองข้าง แขม่วท้อง อกผายไหล่ผึ่ง และไม่ควรยืนท่าเดียวนาน ๆ ควรขยับหรือเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ หรือยืนลงน้ำหนักบนขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน 
     

2. หลีกเลี่ยงการยกของหนักเกินไป

การหลีกเลี่ยงการยกของหนักจะช่วยป้องกันกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้ หากหลังผ่าตัดจำเป็นต้องมีการยกของ ควรย่อตัวลง ยกสิ่งของให้ชิดตัวมากที่สุดแล้วลุกด้วยกำลังกล้ามเนื้อขา ไม่ใช้กำลังกล้ามเนื้อจากหลัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
 

3. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอาการ

ท่าบริหารหมอนรองกระดูกเคลื่อน และการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ป่วยอาการปวดหลัง หรือกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท คือ การออกกำลังกายแบบไอโซเมตริก (Isometric Exercise) 

โดยจะมีการเกร็งกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งสักครู่ แล้วคลายสลับกันโดยไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น การดันกำแพง การออกแรงบีบวัตถุ หรือออกแรงดึงเก้าอี้ตัวที่เรานั่งอยู่ การออกกำลังกายให้เหมาะสมและออกอย่างต่อเนื่องจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยป้องกันการเสื่อมก่อนวัยของหมอนรองกระดูกสันหลัง
 

4. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

หากร่างกายต้องรับน้ำหนักมากจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น ซึ่งปกติแล้วกระดูกสันหลังเป็นแกนกลางหลักของร่างกายที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวในทุกอิริยาบถ ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์จะช่วยป้องกันโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้
 


ข้อสรุปเรื่องกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

ปัจจุบันวิวัฒนาการการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทก้าวหน้าไปมาก ทำให้มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการผ่าตัดที่ทันสมัย ไม่ทำให้เกิดแผลใหญ่เหมือนในอดีต ทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น กระดูกทับเส้น รักษาหายไหม ขึ้นอยู่กับอาการและหากรักษาเร็วก็มีโอกาสกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริหารกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนจนเกินไป อย่านั่งท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ และหลีกเลี่ยงการกระแทกจากการกระโดด หรือทำให้กระดูกสันหลังผิดท่า เพื่อช่วยป้องกันภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง 

 

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท พร้อมด้วยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในรักษาและการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าเป็นการรักษาที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถติดต่อสอบถาม หรือนัดปรึกษาได้ที่ 

 


References

Moore K. (2018, September 29). Spondylolisthesis. Healthline. https://www.healthline.com/health/spondylolisthesis

Spondylolisthesis. (2022, September 22). WebMD. https://www.webmd.com/back-pain/guide/pain-management-spondylolisthesis

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม