Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

สายตาสั้นข้างเดียว สาเหตุเกิดจากอะไร อันตรายไหม มีวิธีรักษาอย่างไร ?

ตัดแว่นข้างเดียวได้ไหม

หลายๆคนมักจะเคยได้ยินเกี่ยวกับปัญหาทางสายตาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสายตาสั้น ปัญหาสายตายาว และปัญหาสายตาเอียง รวมไปจนถึงปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การที่มีปัญหาสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียง ปัญหาสายตาทั้งสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหาที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยได้ยิน หรือพบเจอเท่าไหร่นัก นั่นก็คือ “การที่มีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว” นั่นเอง 

สายตาสั้นข้างเดียว เกิดจากอะไร อันตรายไหม แล้วหากตรวจสายตาแล้ว เป็นสายตาสั้นข้างเดียว รักษาอย่างไรได้บ้าง ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันในบทความนี้
 


สารบัญบทความ
 

 


 

สายตาสั้นข้างเดียว 

“สายตาสั้นข้างเดียว (Monocular Myopia หรือ Unilateral Myopia)” เป็นปัญหาหนึ่งของภาวะค่าสายตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน (Anisometropia) โดยที่จะมีดวงตาข้างหนึ่งปกติ ส่วนอีกข้างหนึ่งกลับมีปัญหาสายตาสั้น ทำให้การมองเห็นภาพมีความผิดปกติไป 

ยิ่งมีค่าสายตาระหว่างดวงตาทั้งสองแตกต่างกันมาก ก็จะยิ่งมีโอกาสที่บุคคลนั้น มองเห็นภาพเล็ก (จากดวงตาข้างที่มีปัญหาสายตาสั้น) ซ้อนอยู่ในภาพใหญ่ (จากดวงตาข้างที่มีสายตาปกติ) ได้ ซึ่งปัญหานี้ มักจะพบในกลุ่มเด็กวัยเรียน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

 


 

สายตาสั้นข้างเดียว เกิดจากสาเหตุใด


สายตาสั้นข้างเดียว คอนแทคเลนส์
 

ปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว สาเหตุเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
 

  • ประวัติทางพันธุกรรม เช่น สมาชิกภายในครอบครัวมีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว หรือทั้งสองข้างมาก
  • เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง
  • มีความผิดปกติของเส้นประสาทตา เช่น จอประสาทตาเล็กผิดปกติ (optic nerve hypoplasia) ความบกพร่องของการหักเหแสงเข้าสู่ดวงตา
  • ความเสี่ยงต่างๆในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
  • สภาพแวดล้อม

 


 

สายตาสั้นข้างเดียว อันตรายไหม

ปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว อาจไม่ได้อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็เป็นปัญหาที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หากค้นพบว่าตนเองมีปัญหานี้อยู่ ก็ขอแนะนำให้คุณรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นข้างเดียวโดยเร็ว เพราะปัญหานี้ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆขึ้นมาได้ โดยที่คุณอาจแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิม

ระดับความรุนแรงของอาการสายตาสั้นข้างเดียวแต่ละคนไม่เท่ากัน บางรายที่มีค่าสายตาของทั้งสองข้างไม่แตกต่างกันมาก อาจไม่รู้ตนเองว่าเป็นปัญหานี้อยู่ เนื่องจากสมองสามารถรวมภาพจากดวงตาทั้งสองข้างให้กลายเป็นภาพเดียวได้ 

แต่แท้ที่จริงแล้ว บุคคลนั้นอาจมีการใช้ดวงตาข้างที่ชัดมองเป็นหลัก ส่วนดวงตาข้างที่ด้อยกว่า มองไม่ค่อยชัด กลับไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือไม่ใช้งานเลย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะทำให้มีโอกาสสูญเสียการมองเห็นของดวงตาข้างที่ไม่ได้ใช้งานไปได้

ดังนั้น หากต้องการรู้ว่าตนเองมีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียวหรือไม่ สิ่งที่จะบอกได้ดีที่สุด คือ การเข้ารับการตรวจสายตา เพื่อประเมินและค้นหาความผิดปกติทางสายตาที่เกิดขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 


 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากสายตาสั้นข้างเดียว

การมีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้
 

  • อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ปวดดวงตา ตาไวต่อแสง
  • มองเห็นภาพซ้อน (Diplopia)
  • โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia)
  • ตาเหล่ ตาเข (Strabismus)

 


 

จะรู้ได้อย่างไรว่าสายตาสั้นข้างเดียว


ตรวจสายตาสั้นข้างเดียว

ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว จะมีดวงตาข้างหนึ่งมองเห็นชัดเจนปกติ ส่วนอีกข้างหนึ่งจะมีการมองเห็นที่ค่อนข้างด้อยกว่า คล้ายคลึงกับบุคคลที่มีปัญหาสายตาสั้น คือ มีการมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ๆได้ไม่ชัดเจน 

เมื่อใช้ดวงตาทั้งสองข้างมองภาพ สมองจะรวมภาพที่เห็นจากตาทั้งสองข้างเข้าด้วยกันเป็นภาพเดียว ทำให้บางรายมีการมองเห็นเป็นปกติ แต่บางรายกลับมีอาการปวดศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน หรือจำเป็นต้องเพ่งสายตาเพื่อทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะสังเกตเรื่องของปัญหาสายตาสั้นข้างเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเท่าไหร่นัก จึงแนะนำว่า ควรเข้ารับการตรวจสายตา เพื่อให้แพทย์ทำการประเมินและวินิจฉัย โดยการตรวจสายตา มีดังนี้
 

  • ตรวจวัดค่าสายตา
  • วัดแรงดันภายในลูกตา
  • วัดการทำงานประสานกันของดวงตา
  • ตรวจดูปฏิกิริยาการตอบสนองของดวงตาที่มีต่อแสง ด้วยเรติโนสโคป (Retinoscopy)
  • ตรวจวัดกำลังสายตา (Phoropter) 

 


 

สายตาสั้นข้างเดียว รักษาได้ไหม

 

สายตาสั้นข้างเดียว ต้องใส่แว่นไหม
 

1. การใส่แว่นสายตา

หลายๆคนอาจสงสัยว่า กรณีที่มีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว ตัดแว่นสายตาดีไหม? หรือเราสามารถตัดแว่นข้างเดียวได้ไหม? หรือจำเป็นต้องใส่แว่นไหม?

กรณีนี้ส่วนใหญ่ที่พบเจอ ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นมากข้างเดียว ดวงตาอีกข้างมักจะมีค่าสายตาที่ปกติ เมื่อตัดแว่นสายตาที่เลนส์ข้างนึงไม่มีค่าสายตา ส่วนเลนส์อีกข้างมีการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นออกมา พอนำแว่นตามาใส่ จะทำให้การรวมภาพที่เกิดขึ้นกลายเป็นภาพซ้อน เนื่องจากดวงตาแต่ละข้างมีค่าสายตาที่แตกต่างกันมากจนเกินไป ทำให้มองเห็นขนาดและรูปร่างของภาพแตกต่างกัน(Aniseikonia) จนเกิดอาการต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดศีรษะ เมื่อยล้าตา เห็นภาพซ้อน ตาขี้เกียจ หรือตาเข

อย่างไรก็ตาม หากค่าสายตาของทั้งสองข้าง แตกต่างกันไม่เกิน 2 ไดออปเตอร์ ก็จะสามารถใส่แว่นตาได้โดยไม่มีอาการใดๆ เพียงคุณต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวสักระยะ เพื่อให้คุ้นชินกับแว่นสายตามากยิ่งขึ้น 

แต่ถ้าหากค่าสายตาแตกต่างกันเกินกว่า 2 ไดออปเตอร์ แนะนำว่าควรเปลี่ยนไปใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตาจึงจะดีกว่า
 

2. การใส่คอนแทคเลนส์

ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว คอนแทคเลนส์สามารถแก้ไขปัญหาสายตาได้ ซึ่งรูปแบบของคอนแทคเลนส์ มีดังนี้

 

  • เลนส์ RGP (Rigid Gas Permeable Contact Lens) 

เลนส์ RGP เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็งกึ่งนิ่ม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คอนแทคเลนส์แข็งที่ออกซิเจนผ่านได้ มีลักษณะรูปร่างคงที่ มีขนาดเล็กกว่าลูกตาดำ สามารถใช้งานได้นาน ช่วยลดโอกาสการเกิดภาพซ้อน(Aniseikonia)

แต่ในช่วงแรกที่ใส่ อาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว เนื่องจากเลนส์ชนิดนี้สามารถเคลื่อนที่ไปมาบนชั้นน้ำตาได้ และอาจไม่เหมาะกับบางกิจกรรมที่มีการใช้แรงกระแทก เช่น การต่อยมวย เป็นต้น
 

  • เลนส์กดตา หรือ เลนส์จัดตา (Orthokeratology)

เลนส์กดตา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Ortho-K Lens เป็นคอนแทคเลนส์กึ่งแข็งที่เอาไว้ใส่ขณะนอนหลับตอนกลางคืน โดยตัวเลนส์นี้ สามารถแก้ไขปัญหาสายตาแบบไม่ถาวรได้ โดยการปรับเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตาแบบชั่วคราว เพื่อช่วยชะลอสายตาสั้นและรักษาระดับการมองเห็นตามค่าสายตาที่ต้องการอย่างคงที่ จึงทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเวลาถัดไปนั่นเอง

หากต้องการใส่เลนส์กดตา จำเป็นต้องมีการเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการประเมิน ตรวจวัดสายตา และเลือกค่าเลนส์สายตา Ortho-K Lens ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล    


3. การรักษาโดยการผ่าตัด

หากใครต้องการรักษาด้วยวิธีการเข้ารับการผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดยประเภทการผ่าตัดที่สามารถรักษาสายตาสั้นข้างเดียวได้ มีดังนี้
 

  • Laser-Assisted In-Situ keratomileusis (LASIK)

การทำเลสิค เป็นการผ่าตัดโดยการใช้แสงเลเซอร์ หรือ ใบมีดผ่าแยกชั้นกระจกตา จากนั้นจึงใช้ Excimer Laser ปรับความโค้งของกระจกตาด้านในให้สามารถรวมแสงตกกระทบที่เรตินาได้พอดี เมื่อปรับแต่งเรียบร้อยแล้ว จึงปิดชั้นกระจกตากลับสู่จุดเดิม  
 

  • Photorefractive Keratectomy(PRK)

การทำ PRK คือการกำจัดเยื่อบุผิวบนกระจกตาข้างนอกออก จากนั้นใช้เลเซอร์ปรับแต่งที่ผิวกระจกตา และใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษไว้ประมาณ 5-7 วัน เพื่อให้ร่างกายสร้างเยื่อหุ้มครอบกระจกตาไว้อีกครั้ง

 


 

รักษาภาวะสายตาสั้นข้างเดียว ที่สมิติเวช ไชน่าทาวน์

หากคุณกำลังสนใจเข้ารับการรักษาแก้ไขปัญหาสายตาสั้นข้างเดียวอยู่หล่ะก็ ที่สถาบันจักษุสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้คำปรึกษาสำหรับทุกปัญหาที่คุณกำลังเผชิญอยู่ มีเครื่องมือในการตรวจสายตา และเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถเข้ามาช่วยในการรักษาแก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างครอบคลุม โดยเรามีโปรแกรมการรักษาสายตาสั้น และเอียงข้างเดียว ดังนี้
 

ประเภทการรักษา ราคาสำหรับข้างเดียว (บาท)
การรักษาแบบ PRK 25,000
การรักษาแบบ LASIK 30,000
การรักษาแบบ Femto LASIK 39,000
การรักษาแบบ ReLEx SMILE 55,000


ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดรักษาสายตาสั้นด้วยเลสิค, Relex, Femto Lasik หรือ PRK เราก็มีอย่างครบครัน เพื่อตอบโจทย์ให้เหมาะสมสำหรับทุกๆคนได้ โดยทั้งหมดนี้ ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ดูแลคุณตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ให้คุณสามารถวางใจและมั่นใจได้ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน

 


 

ข้อสรุป

“สายตาสั้นข้างเดียว” เป็นปัญหาที่สังเกตด้วยตนเองได้ยาก จึงมีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสายตา เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจวัด ประเมิน และค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น 

ปัญหาสายตาสั้นข้างเดียวนี้ ไม่ใช่ปัญหาที่อันตรายรุนแรงในทันที แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเรื่องของการมองเห็นได้ จึงแนะนำว่า หากตรวจแล้วค้นพบว่าเป็นปัญหาสายตาสั้นข้างเดียว ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษา และทำการรักษาสายตาสั้นโดยเร็ว

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้คำแนะนำสำหรับทุกปัญหาสายตาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้คุณสามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาได้โดยตรง อีกทั้งเรายังมีบริการตรวจสายตาด้วยเครื่องมืออย่างครบครัน มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการรักษาปัญหาสายตาให้คุณอย่างครอบคลุม โดยหากคุณสนใจและต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ Line: @samitivejchinatown หรือ เบอร์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง

สนใจปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตา และการผ่าตัดแก้ไขสายตา ด้วยประสบการณ์ทำเลสิคกว่า 10,000 เคส
มั่นใจด้วย 2 เทคโนโลยีนำเข้าจากเยอรมันล่าสุด (German Medical Technology 2021)

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม