Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ ภัยร้ายที่ต้องระวัง หากรักษาช้าเกินไป อาจส่งผลมากกว่าที่คุณคิด

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักมีอาการปวดสะโพก คือ มีอาการเจ็บร้าวตั้งแต่บริเวณสะโพกลงไปในเวลาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย บางคนอาจจะคิดว่า เป็นเพราะการดำเนินกิจกรรมประจำวัน เช่น การออกกำลังกายอย่างการวิ่ง การปั่นจักรยาน การขับรถเป็นระยะเวลานาน การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ เป็นต้น ซึ่งสามารถปล่อยไว้ ก็อาจจะหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปวดสะโพก คือ สัญญาณเตือนอาการบาดเจ็บภายในร่างกายที่ต้องการการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น กระดูกสะโพกหัก โรคข้อสะโพกเสื่อม กระดูกเชิงกรานหัก รวมถึงกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

โดยเฉพาะกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ ที่มีอาการปวดสะโพกร้าวลงไปถึงขา มักจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระดูกทับเส้น ซึ่งถ้าหากมีการวินิจฉัยโรคผิดก็จะทำให้ไม่ได้รับวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาจจะส่งผลให้เป็นกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเรื้อรังก็เป็นได้


สารบัญบทความ

 


กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ (Hip Tendonitis)

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ (Hip Tendonitis) มีชื่อเรียกอาการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เส้นเอ็นสะโพกอักเสบ เส้นประสาทสะโพกอักเสบ หรือ เส้นสะโพกอักเสบ คือ การอักเสบของเอ็น iliopsoas ของสะโพก ทำให้มีอาการเจ็บและระคายเคืองที่เส้นเอ็นบริเวณสะโพก ทำให้รู้สึกปวดหรือชาไปจนถึงข้อพับเข่าในแต่ละข้าง ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณดังกล่าว เพราะต้องมีการรองรับน้ำหนักตัวเอง รวมถึงแรงจากขาและสะโพก


กล้ามเนื้อสะโพก มีอะไรบ้าง

กล้ามเนื้อสะโพก

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ เกิดจากการอักเสบบริเวณสะโพก ดังนั้น เราจึงต้องมาทำความรู้จักกล้ามเนื้อสะโพกเสียก่อน ว่ามีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

กล้ามเนื้อสะโพก (gluteal muscles) ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการคงตัวของสะโพก ด้วยบทบาทที่เป็นส่วนช่วยพยุงน้ำหนักตัว และรักษาแนวกลางของลำตัว ช่วยควบคุมการทรงตัว และช่วยรักษาศูนย์กลางของมวลร่างกาย (center of mass) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทั้งการเดิน การลุกขึ้นยืน การนั่งลง เป็นต้น

กล้ามเนื้อสะโพก มีลักษณะทางกายวิภาคที่หนาและมีขนาดใหญ่ เรียงตัวกันแน่นเป็นชั้น ๆ ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อสำคัญ 3 มัด ได้แก่ 
 

  • กล้ามเนื้อสะโพกหลังมัดใหญ่ (gluteus maximus muscle) 
  • กล้ามเนื้อสะโพกหลังมัดกลาง (gluteus medius muscle) 
  • กล้ามเนื้อสะโพกหลังมัดเล็ก (gluteus minimus muscle) 
     

กล้ามเนื้อกลุ่มเหยียดสะโพก (Extensor group)

  • กล้ามเนื้อ Gluteus maximus เป็นกล้ามเนื้อสะโพกที่ใหญ่ที่สุด หนักที่สุด และใยกล้ามเนื้อหยาบที่สุด เมื่อเทียบกับกล้ามเนื้อสะโพกส่วนอื่น ๆ จะวางตัวอยู่ชั้นนอก คลุมกล้ามเนื้อทั้ง 2 มัดที่อยู่ด้านใน และเรียกได้ว่า กล้ามเนื้อ Gluteus maximus เป็นกล้ามเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ทำหน้าที่เหยียดข้อสะโพกและหมุนขาออกด้านนอก
     

กล้ามเนื้อกลุ่มกางสะโพก (Abductor group)

  • กล้ามเนื้อ Gluteus medius เป็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะคล้ายพัด และมีใยกล้ามเนื้อทอดในแนวเดียวกัน วางตัวอยู่ลึกต่อ Gluteus maximus ทำหน้าที่กางต้นขาและหมุนขาเข้าด้านใน
  • กล้ามเนื้อ Gluteus minimus เป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดากล้ามเนื้อสะโพก ทำหน้าที่กางขาและหมุนขาเข้าด้านใน เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ Gluteus medius

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ อาจจะเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งกิจวัตรประจำวันหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเฉียบพลันได้ง่าย หากไม่ระมัดระวัง
 

1. เคลื่อนไหวร่างกายผิดท่าฉับพลัน

ในขณะที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ หากเรามีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะส่วนล่างอย่างรวดเร็วฉับพลันและผิดท่า ก็อาจจะทำให้เป็นกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบได้
 

2. กระดูกอ่อนข้อสะโพกฉีกขาด

ในกิจกรรมที่ต้องใช้ขาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หรือกล้ามเนื้อตรงข้อต่อสะโพกมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดการฉีกขาดของกระดูกอ่อนที่บริเวณข้อต่อสะโพกได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ
 

3. อุบัติเหตุบริเวณสะโพก

หากเคยประสบอุบัติเหตุตรงบริเวณสะโพก เช่น ล้มก้นกระแทก อุบัติเหตุทางรถยนต์ ก็สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบขึ้นได้เช่นกัน


อาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

อาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ อาการเริ่มต้น คือ มีอาการปวดสะโพกเล็กน้อย ก่อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยที่ไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ อีก เช่น
 

  • กดเจ็บที่บริเวณสะโพก เนื่องจากเส้นเอ็นสะโพกอักเสบ 
  • รู้สึกสะโพกแข็งในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังจากที่ร่างกายอยู่นิ่งเป็นเวลานาน
  • รู้สึกไม่สบายตัว เมื่อมีการเกร็งกล้ามเนื้อสะโพก ทำให้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว
  • ลักษณะการเดินที่เปลี่ยนไป คือ มีการก้าวขาที่สั้นลง
  • เมื่อทำความอบอุ่นร่างกาย อาการจะทุเลาลงชั่วคราว ก่อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในภายหลัง
  • รู้สึกปวดสะโพกร้าวลงขา โดยมีอาการปวดและชาตรงบริเวณสะโพกหรือก้น จนร้าวไปยังขาทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับเข่า โดยจะมีอาการขาชา อาการปวดแบบแสบร้อน หรือแบบแปล๊บ ๆ และแข้งขาอ่อนแรงก็เป็นได้ 

ใครเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

กลุ่มเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ด้วยปัจจัยหนึ่งของการเกิดเส้นเอ็นสะโพกอักเสบ คือ อายุ ด้วยอายุที่มากขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้เส้นเอ็นมีความยืดหยุ่นน้อยลงและไวต่อการบาดเจ็บมากขึ้น แต่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ ได้แก่ 

 

  • นักกีฬาประเภทต่าง ๆ ได้แก่  นักว่ายน้ำ นักวิ่ง นักยิมนาสติก นักปั่นจักรยาน นักเทควันโด นักยกน้ำหนัก หรือ บุคคลที่เล่นเวท
  • กลุ่มคนที่มีอาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สะโพกอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การเต้นบัลเลต์ นักเต้น เป็นต้น 
  • บุคคลที่เข้าฝึกซ้อมร่างกาย ซึ่งปรับให้มีการฝึกที่เข้มข้นขึ้นและใช้ระยะเวลานานขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

นอกเหนือจากนั้น หากมีการใช้งานร่างกายอย่างหนัก โดยเฉพาะการใช้งานอวัยวะส่วนล่างอย่างสะโพก ไม่เพียงแต่เสี่ยงต่อการเป็นกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบในขณะนั้น ยังทำให้มีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมได้อีกด้วย


การวินิจฉัยอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

การวินิจฉัยอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

อาการของกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบมีความคล้ายคลึงกับอาการปวดสะโพก หรือโรคกระดูกทับเส้น ดังนั้น จึงควรเข้าพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายและวินิจฉัยอาการ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
 

1. การตรวจร่างกาย

แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย พร้อมทั้งประเมินลักษณะการเคลื่อนไหว ความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของข้อต่อ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่บริเวณสะโพก อย่างเช่น เส้นเอ็นฉีกขาด หรือ กระดูกสะโพกหัก 
 

2. การตรวจด้วยภาพเอกซเรย์ (X-Ray)

เป็นการเอกซเรย์ที่บริเวณสะโพก เพื่อตรวจสอบการเรียงตัวของข้อสะโพก และระบุว่า มีการแตกหักหรือข้ออักเสบหรือไม่
 

3. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) 

เป็นการใช้เทคโนโลยีในการสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติทางกายวิภาคและสรีรวิทยาของร่างกาย จึงวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
 

4. การตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ด้วยการปล่อย X-Ray ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพแบบ 3 มิติ เหมาะกับการตรวจหาความผิดปกติของกระดูก และข้อต่อต่าง ๆ เช่น การหัก การหลุด และการอักเสบ เป็นต้น


วิธีรักษาอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเบื้องต้น

เมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ หรือ เส้นเอ็นสะโพกอักเสบ ขึ้น เราสามารถรักษาอาการเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ในกรณีที่ยังมีอาการหรือปวดไม่มากได้ ดังนี้

 

  • งดกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพก หรือบริเวณที่ปวด
  • ทายาหม่อง ขี้ผึ้ง หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดสะโพก
  • ทานยาแก้ปวดยาแก้อักเสบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อ (ตามคำแนะนำของเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้าน)
  • นอนตะแคงในด้านที่ไม่ปวด หรือใช้หมอนมารองหลัง เพื่อยกสะโพกในส่วนที่อักเสบให้สูงขึ้น เลี่ยงการนอนทับในบริเวณที่ปวด
  • พยายามเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
  • แช่น้ำอุ่น หรือประคบน้ำแข็งบริเวณสะโพกที่มีอาการปวด เพื่อคลายกล้ามเนื้อสะโพก

แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเรื้อรังก็เป็นได้


วิธีรักษาอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบทางการแพทย์

หากเราลองรักษาอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้ว พบว่า อาการไม่ดีขึ้น จึงควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมีวิธีการรักษา ดังนี้
 

1. ทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

การทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวดบวม ลดการอักเสบ และลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ
 

2. ฉีดบรรเทาอาการปวด

ถ้าหากยังมีอาการปวดเรื้อรัง ทางแพทย์ก็อาจจะฉีดคอร์ติโซนเข้าที่บริเวณเส้นเอ็น iliopsoas เพื่อบรรเทาอาการปวดจากกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ
 

3. กายภาพบำบัด

เข้ารับการทำกายภาพบำบัดจากแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ โดยเน้นไปที่การยืดกล้ามเนื้อสะโพก และการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพก ก้น และแกนกลางลำตัว ซึ่งจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
 

4. การรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับการรักษาที่ผู้ป่วยไม่มีอาการดีขึ้น หรือเป็นกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเรื้อรัง โดยเป็นการผ่าตัดเส้นเอ็น iliopsoas เพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ขาด หรือกระตุ้นเส้นเอ็นด้วยเข็มขนาดเล็ก (ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการผ่าตัดสะโพก)


กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ กี่วันหาย

คำถามที่มักจะตามมาหลังจากที่ได้รับการรักษา คือ กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ กี่วันหาย ซึ่งถ้าหากเข้ารับการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด ก็จะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ เพื่อลดอาการปวดและฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อสะโพก
 

แต่ทั้งนี้ การรักษากล้ามเนื้อสะโพกอักเสบก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบุคคล ด้วยอาการปวดและอักเสบที่เกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกัน รวมถึงสาเหตุที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บก็มีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาของแต่ละคน


แนวทางการป้องกันอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

แนวทางการป้องกันอาการกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ทราบแล้วว่า กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเป็นอาการปวดที่ไม่พึงประสงค์ เพราะจะทำให้เกิดความลำบากในทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลากหลายสาเหตุ ดังนั้น จึงควรดูแลและป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นกล้ามเนื้อสะโพกอักเสบ เช่น

 

  • หากรู้สึกเจ็บหรือปวดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ในขณะที่ทำกิจกรรมใดอยู่ ควรจะหยุดทันที
  • ไม่ควรหักโหมออกกำลังกายในท่าที่มีการใช้สะโพก หรือบริเวณขามากจนเกินไป
  • หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหรือนอน เพื่อไม่ให้อยู่ในท่าเดินนานจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรืออุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระแทกบริเวณสะโพก เช่น การขับรถบนถนนขรุขระ การหกล้ม เป็นต้น          

ข้อสรุป

กล้ามเนื้อสะโพกอักเสบเป็นอาการปวดที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากกิจวัตรประจำวัน ถึงแม้ว่า เราจะสามารถดูแลและรักษาอาการเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากอาการปวดยังไม่ทุเลา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจและวินิจฉัย ซึ่งทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำและการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยสามารถติดต่อได้ทาง Line: @samitivejchinatown หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 02-118-7893 ตลอด 24 ชั่วโมง



References

Beaumont. (n.d.). Hip Tendonitis. https://www.beaumont.org/conditions/hip-tendonitis

BonSecours. (n.d.). Hip Tendonitis. https://www.bonsecours.com/health-care-services/orthopedics-sports-medicine/hip/conditions/hip-tendonitis

Gasnick, K. (2022, August 01). Tendonitis: Overview and More. https://www.verywellhealth.com/hip-tendonitis-5224464

Mercy Health. (n.d.). Hip Tendonitis. https://www.mercy.com/health-care-services/orthopedics-sports-medicine-spine/specialties/hip/conditions/hip-tendonitis#:~:text=Recovery%20from%20hip%20tendonitis,improve%20function%20of%20the%20hip.

Semciw, A. I., Green, R. A., Murley, G. S. & Pizzari, T. (2004). Gluteus minimus: an intramuscular EMG investigation of anterior and posterior segments during gait. Gait & Posture, 39(2), 822-826. https://doi.org/10.1016/j.gaitpost.2013.11.008


 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม