Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

การรักษาฟื้นฟูแบบใหม่ในผู้ป่วยปวดหลังเรื้อรัง (Redcord Neurac approach)


อาการปวดหลัง (Backache) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย เป็นอาการปวดเมื่อย ตึง ร้าว หรือเจ็บที่หลัง สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณคอลงไปจนถึงก้นและอาจมีอาการร้าวไปที่ขา พบมากขึ้นโดยเฉพาะในคนวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ  ซึ่งหากปวดมากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ อาการปวดหลัง พบได้จากหลายสาเหตุ เช่น กิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน การยืน เดินหรือนั่งไม่ถูกท่า อุบัติเหตุ การยกของหนักเกินไป การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือเป็นผลมาจากโรคต่างๆ รวมถึงความเสื่อมที่พบเมื่ออายุมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำการกายภาพบำบัด

สาเหตุของอาการปวดหลัง
 
สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การอยู่ในท่าทาง อิริยาบถ การเคลื่อนไหวร่างกาย และการใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน (เช่น อาการปวดหลังแบบออฟฟิศซินโดรมในคนที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ด้วยท่านั่งหลังงอ ห่อไหล่ และก้มคอนานๆ หรือ งานที่ต้องยกของหนักโดยใช้การก้มหลัง) การตึงอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณหลังและโครงสร้างโดยรอบ การบาดเจ็บบริเวณหลังจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา หรือพยาธิสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลังเอง ทั้งปัญหาของหมอนรองกระดูก ปัญหาของกระดูกสันหลังและเส้นประสาท ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายและการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ผู้ที่ปวดหลังจึงจำเป็นต้องมีการทำกายภาพบำบัดในกรณีที่เกิดปัญหาเรื้อรังขึ้น

การวินิจฉัยอาการปวดหลัง
 
อาการปวดหลังโดยทั่วไปถ้าเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรืออาการเคล็ดขัดยอก ยังไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ในทันที แต่ถ้ารู้สึกว่ามีอาการรุนแรงก็สามารถไปพบแพทย์ได้เช่นกัน โดยปกติแพทย์จะวินิจฉัยรักษาอาการปวดหลังจากการซักประวัติการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาชีพ ไลฟ์สไตล์ อุบัติเหตุ โรคประจำตัว ลักษณะอาการปวดในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูว่าเริ่มมีอาการปวดหลังตั้งแต่เมื่อไหร่ มีอาการบริเวณไหน เคยปวดหรือเจ็บหลังมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และได้รับการรักษาอะไรมาก่อน ต้องทำการกายภาพบำบัดหรือไม่ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเฉพาะที่หลังเพียงอย่างเดียว หรืออาจมีอาการปวดหลังร้าวมาที่สะโพกหรือขา โดยจะปวดไปตามแนวการเลี้ยงของเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับหรือมีการอักเสบ ซึ่งลักษณะการปวดพบได้หลายแบบ และอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหน็บชาคล้ายนั่งทับขานานๆ ร่วมด้วย

สัญญาณเตือนของอาการปวดหลังที่ควรรีบพบแพทย์
 
  • อาการปวดหลังที่มีอาการ ขาอ่อนแรง ขาชา เคลื่อนไหวลำบาก หรือเกร็งกระตุกร่วมด้วย
  • อาการปวดหลังร่วมกับปวดร้าวลงสะโพก น่อง หรือเท้า
  • อาการปวดหลังร่วมกับควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ หรือผิกปกติไปจากเดิม
  • อาการปวดหลังที่เป็นเรื้อรังต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน
  • อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน จนไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม
  • อาการปวดหลังจากการได้รับอุบัติเหตุ หกล้ม หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • อาการปวดหลังที่มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
 
หากไม่แน่ใจว่าอาการปวดหลังที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือไม่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหลัง เพื่อทำให้ได้รับการรักษาอาการปวดหลังหรือกายภาพบำบัดอย่างถูกต้อง เหมาะสมและรวดเร็ว

การรักษาอาการปวดหลัง
 
เป้าหมายของการกายภาพบำบัดรักษาอาการปวดหลัง คือ เพื่อบรรเทาอาการปวด และให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติที่สุด โดยวิธีการรักษาอาการปวดหลังมีหลายวิธี อาทิ การกายภาพบำบัด ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดหลัง ระยะเวลาที่เป็น ระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัย และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมุ่งเน้นการรักษาที่ต้นเหตุของอาการ รวมถึงบรรเทาอาการเจ็บปวดให้เหลือน้อยที่สุด
 
วิธีการรักษาอาการปวดหลังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด และ การรักษาโดยการผ่าตัด  การรักษาโดยการผ่าตัด จะใช้เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น อาการปวดหลังเกิดร่วมกับอาการขาอ่อนแรง ชา เกร็ง เดินไม่ได้ การควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ  หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีความแตกต่างกันขึ้นกับข้อบ่งชี้และภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย กรณีที่ประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีสาเหตุของอาการปวดหลังที่สามารถให้การรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง สามารถให้การรักษาแบบประคับประคองได้ เช่น การรับประทานยา หรือทาครีมบรรเทาอาการปวด การฝังเข็ม การใช้อุปกรณ์พยุงหลัง และ การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัด
 
เป็นวิธีรักษาอาการปวดหลังที่มีความสำคัญและใช้กันอย่างแพร่หลายในการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดมีหลายประเภท เช่น การใช้ความร้อน โดยการประคบร้อน อัลตราซาวด์ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรือกายภาพบำบัดด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการปรับปรุงท่าทางการใช้งานหลังของผู้ป่วยในชีวิตประจำวัน หลังจากอาการปวดดีขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรฝึกตามมา คือ การบริหารและกายภาพบำบัดด้วยตัวเองเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื่อและเส้นเอ็นโดยการนวด ดัด ยืด และฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง สะโพก และหน้าท้อง ด้วยวิธีการออกกำลังกายของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เพื่อช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

การบริหารร่างกายแบบใหม่ด้วยวิธี  Neurac โดยใช้ Red cord suspension exercise
 
จากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า ความเจ็บปวด การหยุดใช้กล้ามเนื้อ รวมถึงการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างไม่เหมาะสมซ้ำๆ เป็นเวลานาน สามารถรบกวนกระบวนการส่งสัญญาณระหว่างสมองและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการประสานงานของกล้ามเนื้อต่างๆ บกพร่องไป รวมถึงการลดลงของกำลังกล้ามเนื้อและความมั่นคงรอบข้อต่อนั้นๆ ส่งผลให้เกิดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อมีความเครียด ตึงสะสม หรือมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นจนเป็นปัญหาเรื้อรัง เกิดเป็นวงจรแห่งความเจ็บปวด (Pain Cycle) ที่ยากต่อการแก้ไขได้
 
NEURAC (Neuromuscular Activation) เป็นชื่อเรียกการกายภาพบำบัดด้วยวิธีออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา โดยการกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้ทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อฟื้นฟูแก้ไขรูปแบบการทำงานและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บหรือปวดซ้ำๆ ที่กล้ามเนื้อหรือข้อต่อจุดเดิม โดย NEURAC จะเน้นไปที่การจัดระเบียบกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่อาจไม่เคยได้ใช้งาน หรือใช้งานน้อย ให้กลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นวิธีการกายภาพบำบัดแบบออกกำลังกายที่เหมาะสมในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและข้อชนิดเรื้อรัง เช่น ปวดเรื้อรังบริเวณ หลัง เอว หรือ สะโพก มีกำลังกล้ามเนื้อถดถอย หรือความสมดุลของร่างกายทั้งสองข้างไม่เท่ากัน  
 
การฝึก NEURAC จะใช้ Red cord slings ซึ่งเป็นอุปกรณ์การออกกำลังกายที่ใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงต้าน ร่วมกับมีการแขวนห่วงเชือกเพื่อช่วยพยุงร่างกายแต่ละส่วนไว้ให้อยู่ในลักษณะที่มีการทำงานอย่างสมดุล ทั้งกล้ามเนื้อแนวแกนลำตัวและกล้ามเนื้อรยางค์แขนขา การออกกำลังกาย NEURAC ผ่านการใช้  Red cord suspension exercise จะช่วยในการกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างจำเพาะเจาะจงและถูกหลักชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) ฟื้นฟู แก้ไข รูปแบบการทำงานและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติจนนำไปสู่การบรรเทาความเจ็บปวดได้ในที่สุด

ประโยชน์ของการฝึก NEURAC
 
  • วิเคราะห์ปัญหาที่เป็นสาเหตุหลักของอาการปวดหลังเรื้อรัง จากการทดสอบสมรถภาพของร่างกายด้วยวิธี NEURAC ก่อนทำการฝึก
  • กระตุ้นกล้ามเนื้อบางมัดอย่างจำเพาะเจาะจง เพื่อสร้างความมั่นคง แข็งแรง
  • เพิ่มความมั่นคงและความทนทานของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
  • มีการกระตุ้นการเคลื่อนไหวในหลายระนาบ
  • เพิ่มความสมดุลของร่างกายทั้งสองข้างให้สมดุลกัน ปรับอิริยาบถของร่างกายให้ดีขึ้น
  • มีการปรับระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ โดยสอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้ฝึกอย่างเหมาะสม โดยเน้นการเคลื่อนไหวไปในแต่ละทิศทางที่แน่นอน (Precise Progression)
  • ไม่กระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดใดๆ ในขณะที่ฝึกการเคลื่อนไหว (Painless Training)

ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัด

ผศ.นพ. วิศาล  คันธารัตนกุล
พญ. กันต์นิษฐ์  พงศ์พิพัฒไพบูลย์
กภ. ศุภราภรณ์ เสริมศรี
กภ. ชุณห์ บุญเรืองอมฤต
 
        

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม