Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

เอ็นไขว้หน้าขาด อย่าปล่อยไว้ รีบรักษาก่อนเข่าเสื่อมไม่รู้ตัว!

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

กิจกรรมที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นไม่ว่าทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตนั่นก็คือการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย แต่อย่างไรก็ตามการเล่นกีฬาบางอย่างหรือการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ และอาการบาดเจ็บที่มักพบบ่อย ๆ ในผู้ที่เล่นกีฬาโดยเฉพาะกีฬาที่มีการปะทะหรือใช้งานเข่ามาก ๆ ก็คือการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาดนั่นเอง

และหากการรักษาเอ็นไขว้หน้าขาดเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมยังสามารถส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้อีกด้วย ดังนั้นหากผู้ป่วยมีความสงสัยว่าเอ็นไขว้หน้าขาดควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาทันทีเพื่อให้เข่าสามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติอีกครั้งและยังลดโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกทาง

สารบัญบทความ
 

เอ็นไขว้หน้าขาด 

เอ็นไขว้หน้าขาด มักพบในนักกีฬา โดยเฉพาะกีฬาอย่างฟุตบอล รักบี้ แบตมินตัน บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ซึ่งเป็นกีฬาที่มีโอกาสการปะทะและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะลักษณะของกีฬาเหล่านี้มักจะต้องมีการวิ่งหลบหลีกฝ่ายตรงข้าม 

โดยการวิ่งจะทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากและการหลบหลีกฝ่ายตรงข้ามจะทำให้ต้องมีการหมุนข้อเข่าโดยอาศัยเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าในการควบคุม ซึ่งการวิ่งหลบหลีกอาจทำให้การบิดข้อเข่าเกิดไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดและเกิดอาการเจ็บข้อเข่าขึ้นได้

เอ็นไขว้หน้าขาดไม่ได้เกิดเฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น บางครั้งก็สามารถเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุอย่างการหกล้มข้อเข่าบิดผิดรูป หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ได้เช่นกัน 
 

เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament – ACL)

เอ็นไขว้หน้าเข่า สำคัญอย่างไร

เอ็นไขว้หน้าเข่า (Anterior Cruciate Ligament - ACL) เป็นหนึ่งในเส้นเอ็นขนาดใหญ่ที่อยู่ภายในเข่า โดยเอ็นไขว้หน้าจะยึดเกาะอยู่ด้านหน้าที่ปลายกระดูกต้นขากับต้นกระดูกหน้าแข้ง เอ็นไขว้หน้าเข่ามีหน้าที่หลักคือช่วยให้ข้อเข่ามีความมั่นคงและช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของหัวเข่า โดยเฉพาะการบิดหมุน เอ็นไขว้หน้าจะช่วยล็อคให้เข่ามั่นคงไม่เกิดอาการทรุด

และที่สำคัญเอ็นไขว้หน้ายังช่วยป้องกันไม่ให้มีการเหยียดข้อเข่าเกินองศาซึ่งจะทำให้ผิวข้อเข่าและกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังเกิดการบาดเจ็บขึ้น 
 

สาเหตุเอ็นไขว้หน้าขาด

เอ็นไขว้หน้าขาด สาเหตุ

เอ็นไขว้หน้าขาดเป็นอาการบาดเจ็บที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนี้
 

1. เอ็นไขว้หน้าขาดจากการปะทะ

เอ็นไขว้หน้าขาดจากการปะทะเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งการปะทะนี้เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น

  • การบิดข้อเข่าเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว
  • การหยุดกะทันหัน
  • การกระโดดที่มีการลงน้ำหนักไม่ถูกต้อง
  • การเคลื่อนไหวข้อเข่าในลักษณะที่รวดเร็วและรุนแรง เช่น การเตะลูกฟุตบอล
  • การเกิดอุบัติเหตุตกบันได หกล้มในลักษณะข้อเข่าบิดผิดรูป
 

2. เอ็นไขว้หน้าขาดเพราะขาดความยืดหยุ่น

เอ็นไขว้หน้าขาดจากการขาดความยืดหยุ่นเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยการขาดความยืดหยุ่นมักมาจากกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าอ่อนแอ ทำให้เอ็นไขว้หน้าเข่าต้องรับแรงกระแทกมากขึ้น ส่วนมากมักเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป
 

อาการเอ็นไขว้หน้าขาด

เมื่อเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดจะทำให้มีเลือดออกภายในข้อเป็นจำนวนมากและการที่มีเลือดออกนั้นจะทำให้เข่าบวม และรู้สึกเจ็บปวดข้อเข่ามาก ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าได้น้องลง ไม่ว่าจะเป็นการงอเข่าหรือเหยียดเข่าก็ทำได้ยาก ในบางครั้งหากอาการฉีกขาดรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินลงน้ำหนักที่เข่าได้เลย
 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บบริเวณเอ็นไขว้หน้าเข่า สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดอาการบาดเจ็บได้ดังนี้
 

  • งดการขยับข้อเข่าที่มีการบาดเจ็บ
  • สามารถประคบเย็นบริเวณที่มีการบาดเจ็บได้เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดไม่ให้ไหลเวียนไปบริเวณที่สงสัยว่าจะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็น
  • หลังจากนั้นสามารถลองขยับข้อเข่าแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสังเกตอาการบาดเจ็บอีกครั้ง 
  • หากมีอาการปวดเข่ามากจนไม่สามารถขยับได้ให้ดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มีลักษณะตรงและแข็ง
  • ถ้าข้อเข่าบิดผิดรูปห้ามดันหรือปรับเข้าที่ด้วยตนเองและรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
 

เอ็นไขว้หน้าขาดแบบไหนควรพบแพทย์

ไม่ใช่ว่าทุกการกระแทกที่ข้อเข่าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาด ผู้ป่วยสามารถสังเกตตนเองได้ในเบื้องต้นว่าหากพบอาการเหล่านี้อาจหมายถึงเอ็นไขว้หน้าขาด ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที
 

  • หลังได้รับบาดเจ็บมีอาการปวดเข่ารุนแรง ไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นได้
  • ข้อเข่าบวมขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากมีเลือดออกภายในเข่า
  • ในขณะเกิดการบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ หัวเข่ามีเสียง หรืออาจรู้สึกมีอะไรดีดในข้อเข่า
  • ปวดเข่าลึก ๆ ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้อย่างเดิม
  • ข้อเข่าไม่มั่นคง ข้อเข่าหลวม แม้จะหายจากอาการบาดเจ็บแล้วก็ตาม อาการข้อเข่าไม่มั่นคงนี้มักทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยทำได้ไม่ดี เช่น เดิน ๆ แล้วเข่าทรุด หรือออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่
 

การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาดควรได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้ส่วนอื่น ๆ ภายในข้อเข่าเกิดอาการบาดเจ็บเพิ่ม เช่น เอ็นไขว้หน้าขาดหมอนรองกระดูกฉีก กระดูกอ่อนผิวข้ออักเสบเรื้อรังจากการเสียดสี ซึ่งอาการบาดเจ็บทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่เร่งให้เกิดโรคข้ออักเสบหรือโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้ 

ซึ่งหากพัฒนากลายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว อาการข้อเข่าเสื่อมมักทำให้ผู้ป่วยเจ็บข้อเข่ามาก และที่รุนแรงที่สุดอาจทำให้ผู้ป่วยขยับข้อเข่าไม่ได้อีกเลยก็ได้
 

การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

วิธีตรวจเอ็นไขว้หน้าขาด

หากเกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่า แพทย์จะมีวิธีการตรวจวินิจฉัยอาการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าขาดดังนี้
 

1. การตรวจร่างกายเบื้องต้น

เมื่อผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ อันดับแรกแพทย์จะซักประวัติและสังเกตบริเวณที่มีการบาดเจ็บด้วยตาเปล่าก่อน เพราะอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาดเป็นอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดจากภายนอก 

หากผู้ป่วยบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เข่าบิด และเมื่อสังเกตบริเวณที่บาดเจ็บมีอาการบวมช้ำอย่างมาก แพทย์จะสามารถประเมินได้คร่าว ๆ ได้ว่ามีอาการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมต่อไป
 

2. การเอกซเรย์

ในบางครั้งอาการบวมของเข่าอาจมีการแตกหักหรือร้าวของกระดูกบริเวณเข่าร่วมด้วย การเอกซเรย์จะสามารถทำให้เห็นว่าอาการบวมของเข่าเกี่ยวข้องกับการแตกหักของกระดูกในข้อเข่าด้วยหรือไม่
 

3. การตรวจ MRI

สำหรับวิธีตรวจเอ็นไขว้หน้าขาดที่บอกได้ชัดเจนที่สุดคือการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI โดยเครื่อง MRI จะทำให้แพทย์เห็นโครงสร้างภายในเข่าชัดเจนมาก MRI จะแสดงให้เห็นถึงเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เส้นประสาทภายในข้อเข่า รวมทั้งเห็นถึงหมอนรองกระดูก ผิวกระดูกอ่อนได้ด้วย
 

รักษาอาการเอ็นไขว้หน้าขาดได้อย่างไร

การรักษาเอ็นไขว้หน้าขาดสามารถรักษาได้แบบประคับประคองหรือจะรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขเอ็นไขว้หน้าขาดเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ แนวโน้มหลังการรักษา และความต้องการของผู้ป่วย
 

การรักษาแบบประคับประคอง

กายภาพบำบัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

สำหรับผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาดเพียงเส้นเดียว ไม่มีเส้นเอ็นอื่น ๆ ขาดร่วมด้วย ไม่มีอาการบาดเจ็บที่ส่วนอื่น ๆ ภายในข้อเข่า และในชีวิตประจำวันไม่มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้ข้อเข่ามากนัก  เช่น ผู้สูงอายุ สามารถเลือกการรักษาแบบประคับประคองได้ โดยการรับประทานยาแก้ปวดเข่า ยาลดอาการปวดอักเสบและการกายภาพบำบัดได้

การกายภาพบำบัดอาจไม่ใช่วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าให้กลับมาเป็นปกติ แต่เป็นวิธีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อรอบหัวเข่ามีความแข็งแรงขึ้นเพื่อให้ไปทดแทนเอ็นไขว้หน้าที่ขาดไปได้และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
 

การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

เอ็นไขว้หน้าขาด ผ่าตัด

หากอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าขาดร่วมกับอาการบาดเจ็บที่อื่น ๆ ภายในเข่าอย่างเช่น หมอนรองกระดูกข้อเข่าแตก เอ็นเข่าอักเสบหรือเส้นเอ็นอื่น ๆ ฉีกขาดหลายเส้น ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้งานข้อเข่า เช่น ในผู้ป่วยที่อายุยังน้อย ผู้ป่วยที่มีลักษณะการใช้ชีวิตหรือมีกิจกรรมที่เน้นการใช้งานเข่าเยอะ ๆ เช่น นักกีฬา ตำรวจ ทหาร หรือในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าหากไม่รับการผ่าตัดก็อาจมีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นแพทย์มักจะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่า

วิธีผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าแพทย์จะทำการนำเส้นเอ็นส่วนอื่นที่มีสภาพดี โดยทั่วไปมักนำเอ็นจากสะบ้าเข่าหรือเอ็นโดยรอบมาทำเป็นเอ็นไขว้หน้าแทนเอ็นไขว้หน้าเก่าที่ขาดไป

โดยการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าในปัจจุบันมักใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องคือแผลผ่าตัดเล็ก และใช้เวลาพักฟื้นน้อย หากผู้ป่วยมีการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าร่วมด้วยก็จะทำให้สามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
 

วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้าหลังผ่าตัด

เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าได้ดีเหมือนก่อนหน้าที่จะเกิดการบาดเจ็บอีกครั้ง หลังผ่าตัดซ่อมเอ็นไขว้หน้าขาดไปแล้วสิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู 

การทำกายภาพบำบัดจะทำโดยการออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า ทั้งนี้เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อโดยรอบมีความแข็งแรงและทำหน้าที่คอยซัพพอร์ตข้อเข่าทดแทนเอ็นไขว้หน้าเข่านั่นเอง นอกจากนี้การกายภาพบำบัดให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงยังสามารถลดโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย
 

แนวทางการป้องกันไม่ให้เอ็นไขว้หน้าขาด

เอ็นไขว้หน้าเป็นส่วนที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่า หากเอ็นไขว้หน้าขาดอาจทำให้ข้อเข่าหลวม ความมั่นคงลดลงและนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บส่วนอื่น ๆ ภายในข้อเข่าง่ายขึ้น ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้เอ็นไขว้หน้าขาด ดังนี้
 

  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของร่างกายส่วนล่าง โดยเฉพาะส่วนกล้ามเนื้อข้อเข่าและกล้ามเนื้อขาเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความมั่นคงและแข็งแรง ลดโอกาสบาดเจ็บของเส้นเอ็นได้
  • การเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการกระแทกการปะทะให้เอ็นไขว้หน้าขาดควรจะมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดูแล รวมถึงฝึกสอนเทคนิคการเล่นกีฬาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น 
 

คำถามที่พบบ่อย

เอ็นฉีกขาดหายเองได้หรือไม่

การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่าไม่สามารถหายได้เอง แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับการผ่าตัดทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่าว่ามีความรุนแรงแค่ไหนและผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้งานเข่ามากหรือไม่ 

หากเอ็นไขว้หน้าขาดโดยสิ้นเชิง หรือมีการฉีกขาดบางส่วนแต่มีการบาดเจ็บบริเวณอื่นภายในเข่าอย่างเช่น หมอนรองกระดูกแตก ผิวข้อเข่าแตก ก็อาจหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยการผ่าตัดได้ยาก แต่หากระดับการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่าไม่มาก ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาลดอาการปวดหรือใช้การกายภาพบำบัดฟื้นฟูแทนการผ่าตัดได้เช่นกัน
 

เอ็นไขว้หน้าขาด เดินได้ไหม

ขึ้นอยู่กับระดับการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่า หากเอ็นไขว้หน้าขาดอย่างสิ้นเชิงผู้ป่วยจะมีอาการปวดจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้เลย แต่หากการฉีกขาดเพียงเล็กน้อยก็อาจสามารถเดินได้ แต่ก็มักจะมีอาการปวดอยู่ 

และถึงแม้ว่าหลังการบาดเจ็บไปสักพักจนอาการปวดเข่าหายไปแล้ว แต่การที่เอ็นไขว้หน้าขาดก็สามารถทำให้ความมั่นคงของข้อเข่าลดลงไป ผู้ป่วยจะสามารถเดินได้ แต่ก็ไม่สามารถเดินได้คล่องแบบปกติเนื่องจากข้อเข่าที่หลวมผู้ป่วยอาจมีอาการเข่าทรุดหรืออาการปวดเข่าจากการเสียดสีของกระดูกได้บ่อย ๆ
 

ข้อสรุป

เอ็นไขว้หน้าเข่าเป็นส่วนสำคัญภายในเข่าที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงและป้องกันการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หากเอ็นไขว้หน้าขาดมักจะทำให้ข้อเข่าสูญเสียความมั่นคงไป อีกทั้งยังทำให้ผิวข้อเข่าเกิดการเสียดสีง่ายขึ้น และทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมไวขึ้นอีกด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าอาการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าเข่าจะรุนแรงถึงขั้นผ่าตัดหรือไม่ก็ควรเข้ารับการวินิจฉัยโดยแพทย์ให้เร็วที่สุด 

หากผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บที่เข่าและสงสัยว่าเอ็นไขว้หน้าขาด ควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วเพื่อลดโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อม สามารถเข้ารับการตรวจได้กับโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ โดยสามารถติดต่อได้ตามช่องทางต่อไปนี้

โทรสอบถามที่ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์ : https://www.samitivejchinatown.com/th

Line : @samitivejchinatown

 

เอกสารอ้างอิง

Mary K. Mulcahey. (2022). Anterior Cruciate Ligament (ACL) Injuries. from https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/anterior-cruciate-ligament-acl-injuries/

Michael J. Alaia. (2022). ACL Injury: Does It Require Surgery?. from https://orthoinfo.aaos.org/en/treatment/acl-injury-does-it-require-surgery/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม