Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

ป้องกัน รักษา และเอาชนะมะเร็งลำไส้ใหญ่


 
  • ติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ ชนิด adenoma จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งในอนาคต โดยใช้เวลา 3-5 ปี หากตรวจพบเร็วสามารถตัดได้ก่อนพัฒนาเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคทันสมัย เช่น เทคนิค NBI (Narrow Band Image) สามารถตัดติ่งเนื้อจากลำไส้ใหญ่ผ่านกล้องได้ในทันที โดยไม่ต้องเปิดหน้าท้อง

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เซลล์ปกติในลำไส้ใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้งจนควบคุมไม่ได้ ระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

จากการศึกษาพบว่าการเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่  ในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยโรงพยาบาลสมิติเวช สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้มากถึง 60% ก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากสถิติค่าเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 25 %* การที่สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้เร็วขึ้น โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดจะมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้นำอายุของคนในเครือญาติใกล้ชิดที่เป็นมะเร็งลบด้วย 10 จะเป็นอายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากพ่อเป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อมีอายุ 30 ปี โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ

อาการของ มะเร็งลำไส้ใหญ่

หลายกรณีที่พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่แสดงอาการผิดปกติ  ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือบางครั้งอาการที่พบอาจคล้ายกับอาการของโรคลำไส้และทางเดินอาหารอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าไม่เป็นอันตราย  เช่น  ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง ท้องเสียสลับกับท้องผูก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลียอ่อนแรง ซีดจาง บางคนมีเลือดออกปนมาในอุจจาระ ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย ซึ่งเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะ 2-4 แล้ว  ดังนั้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติกับระบบทางเดินอาหารนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยหาเสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง

ระยะของโรค การเกิดโรคของมะเร็งลำไส้ใหญ่  แบ่งเป็น 4 ระยะคือ

 
  • ระยะแรก เป็นก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณผิวของผนังลำไส้ใหญ่
  • ระยะที่สอง เริ่มกระจายเข้าสู่ผนังลำไส้ใหญ่
  • ระยะที่สาม  ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่สี่ แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด และสมอง

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง NBI (Narrow Band Image)  EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection)  ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบ MIS (Minimal Invasive surgery) เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ช่วยให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการเปิดแผลที่หน้าท้อง  สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ลดระยะเวลาการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว  กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อน ปลอดภัย และที่สำคัญไม่มีแผลเป็นที่จะทำให้ต้องกังวลใจ

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ 90% ของการตรวจพบมะเร็งสำไส้ใหญ่จะเริ่มจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งติ่งเนื้อชนิด adenoma ถือว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง (pre-cancerous lesion) จะมีโอกาสดำเนินโรคในอนาคต โดยใช้เวลา 3-5 ปีก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง

ดังนั้นหากตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี ถ้าติ่งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรอาจตรวจทุก 1-3 ปี ส่วนผู้ที่ไม่พบติ่งเนื้อควรกลับมาตรวจอีกครั้งใน 5-10 ปี  (แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินอาจจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ของการตรวจขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายและปัจจัยการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ของแต่ละคน)

การเตรียมตัวส่องกล้องลำไส้ใหญ่

 
  • ก่อนเข้ารับการส่องกล้องต้องทำความสะอาดลำไส้โดยการงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • เมื่อมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะซักประวัติส่วนตัว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ
  • จากนั้นจะได้รับยาระบาย เพื่อให้ขับถ่าย จนสำไส้สะอาด (ขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง)
  • หลังจากทำความสะอาดลำไส้เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เข้ารับการตรวจส่องกล้องจะได้รับการฉีดยานอนหลับโดยแพทย์ (แต่หากเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาจจะใช้วิธีการดมยานอนหลับที่ชนิดไม่รุนแรงและหมดฤทธิ์ได้เร็วแทน)
  • แพทย์จะใช้เวลาในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 20 – 30 นาที แต่ถ้าหากพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติอาจจะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที

สรุปแล้ว การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งกระบวนการใช้เวลาประมาณครึ่งวันเท่านั้น
ประโยชน์ของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ คือ สามารถช่วยประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ และหากพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ทันก่อนที่โรคจะลุกลามนั่นเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม