Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

อาการลองโควิด (Long COVID) มีอะไรบ้าง รักษาหายไหม ป้องกันอย่างไร?

ลองโควิด

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน และได้รับการรักษาจนหายแล้ว แต่ยังมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ผมร่วง ผื่นแพ้ หลงๆ ลืมๆ หากคุณมีอาการเหล่านี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่าง ว่าเชื้อโควิดยังหลงเหลืออยู่และคุณกำลังเข้าข่ายภาวะ
ลองโควิด หรือ Long COVID แล้ว 


บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับภาวะลองโควิด (Long COVID) คืออะไร สาเหตุการเกิด อาการของภาวะ Long covid วิธีป้องกันและฟื้นฟูร่างกาย และตอบคำถามทุก ที่คุณสงสัยเกี่ยวกับอาการของภาวะลองโควิด เพื่อที่จะรู้ได้เท่าทัน และเตรียมพร้อมรับมือ ดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี
 



สารบัญบทความ
 

  
 

รู้จักภาวะลองโควิด (Long COVID)

ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือชื่ออื่นๆ ที่เรียก ได้แก่ Post-COVID Syndrome, Long COVID, Post-COVID Conditions, Post-acute COVID-19, Chronic COVID และ Long-haul COVID-19 เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโควิด-19 และรักษาจนหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น
 

  • อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เหนื่อยง่าย แม้ว่าจะหายจากโควิดแล้ว
  • ปวดหัว เวียนศีรษะ
  • ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ปวดตามตัว ตามข้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง
  • ไอเรื้อรังหลังจากหายโควิด
  • นอนไม่หลับ
  • สมองไม่สดชื่น หลงลืมบ่อย
  • จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
  • รู้สึกมีไข้ตลอดเวลา
  • ท้องเสีย ท้องอืด
  • ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล (Post-Traumatic Stress Disorder)

ซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เผยว่า ภาวะลองโควิดสามารถพบได้ถึง 30-50% และมักพบกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื้อลงปอด และมีโรคประจำตัวเรื้อรังร่วมด้วย รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีโรคกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ 

โดยภาวะลองโควิดมักเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อนาน 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป และส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรักษาเชื้อโควิด-19 หายแล้วก็ตาม
 


 

Long COVID เกิดจากสาเหตุใด

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้ แต่สันนิษฐานว่าภาวะลองโควิดอาจจะเกิดจากรอยโรคที่หลงเหลือจากการติดเชื้อต่ออวัยวะต่างๆภายในร่างกาย  ผลข้างเคียงโควิดหรือเชื้อไวรัสที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 แม้ว่าจะไม่ได้แสดงอาการออกมา แต่โดยธรรมชาติของร่างกายแล้วจะกระตุ้นภูมิคุ้มเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ 

ทั้งนี้หากมีอาการที่ส่งสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะเข้าข่ายภาวะลองโควิด ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อตรวจประเมินร่างกาย และรับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากภาวะลองโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และหากปล่อยไว้นานอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรหมั่นสังเกตและประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอหลังจากหายป่วย
 


 

ใครบ้างเสี่ยงเป็นภาวะลองโควิด

long covid

ภาวะลองโควิดเป็นภาวะที่เกิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30 - 50% นอกจากนี้ในบางงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยถึงครึ่งหนึ่งมีอาการของภาวะ Long COVID อย่างน้อยหนึ่งอาการ โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะลองโควิด มีดังนี้
 

  • ผู้ป่วยสูงอายุ
  • ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล
  • ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวด้านจิตใจ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก

ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงหรือเข้าข่ายในการเกิดภาวะลองโควิด ยังต้องคอยหมั่นสังเกตอาการและร่างกายของตนเอง เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายเสี่ยงภาวะลองโควิด สามารถเกิดภาวะลองโควิดได้เช่นเดียวกัน
 

 

 

กลุ่มอาการลองโควิดมีอะไรบ้าง

สำหรับผู้ที่สงสัยว่ากลุ่มอาการลองโควิดมีอะไรบ้าง อาการลองโควิดเป็นอย่างไร โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ อาการลองโควิดที่พบได้ทั่วไป ภาวะข้างเคียงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด และผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด-19
 

1. อาการลองโควิดที่พบได้ทั่วไป

 

ลองโควิด คือ

อาการลองโควิด (Long COVID) ที่สามารถพบได้ทั่วไป อาการลองโควิดเบื้องต้นที่พบได้มากที่สุด 13 อันดับ ได้แก่
 

  • อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย
  • เวียนศีรษะ
  • หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก
  • ใจสั่น
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดตามตัว ตามข้อ
  • จมูกไม่ได้กลิ่น หรือ ลิ้นไม่รับรส
  • ไอเรื้อรัง
  • มีไข้ตลอดเวลา
  • อาการท้องร่วง
  • นอนไม่หลับ
  • ท้องเสีย ท้องอืด
  • ความจำสั้น สมาธิสั้น ภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome)
  • ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล (Post-Traumatic Stress Disorder)

นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการที่อาจจะดูไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ได้แก่

1. ผมร่วงหลังโควิด-19

ผู้ป่วยบางคนหลังจากรักษาโควิด-19 หายขาดแล้ว อาจจะภาวะลองโควิดจากการผมร่วงทั่วทั้งบริเวณหนังศีรษะ โดยทั่วไปแล้วผมของมนุษย์มักจะร่วงที่ประมาณ 100 เส้นต่อวัน แต่อาการผมร่วงหลังติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีผมร่วงถึง 1,000 เส้นต่อวัน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะกว่าปกติ 

สาเหตุหลักของอาการผมร่วงหลังการติดเชื้อโควิด-19 สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ความเครียดทั้งจากการติดเชื้อโควิด-19 และการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อร่างกายในช่วงติดเชื้อ รวมไปถึงเชื้อไวรัสอาจจะทำปฏิกิริยากับร่างกาย ทำให้ร่างกายปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และส่งผลต่อระบบในร่างกายทำให้เส้นผมร่วงในที่สุด

2. ผื่นคัน หรือตุ่มแดง

แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจพบผื่นที่มีลักษณะเป็นผื่นแดง (Maculopapular) ผื่นผิวหนัง ผื่นลมพิษ คล้ายเส้นใยเล็กๆ อาจจะมีอาการบวมแดง มีตุ่มน้ำ หรือมีอาการคันคล้ายกับผื่นลมพิษร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบตามเวลานิ้วเท้า มือ และเท้า 

อาการผื่นแดงโควิด ผื่นลมพิษสามารถส่งผลกระทบต่อหลายอวัยวะในระยะยาวได้ (Multiorgan Effects) ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากอาการทางผิวหนังของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นภาวะลองโควิด แต่หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีไข้ หรือมีอาการผื่นคันร่วมด้วยควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกวิธี และเหมาะสมมากที่สุด

3. อาการหลงลืม สมาธิสั้น

ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 บางรายอาจจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือ มีปัญหาด้านความคิด สมาธิสั้นลง คิดช้า รู้สึกสมองล้าๆ รวมไปถึงปัญหานอนไม่หลับร่วมด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของลองโควิดที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยสันนิษฐานว่าเชื้อไวรัสอาจมีผลต่อระบบประสาทและสมอง และเชื้อไวรัสอาจทำลายเนื้อเยื่อตาข่ายป้องกันของสมอง 

นอกจากนี้การแข็งตัวของเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองขาดเลือด หากเกิดบริเวณไม่ใหญ่ อาการจะไม่แสดงออกชัดเจน อาการที่แสดงออกจะมีเพียง หลงลืม และสมาธิสั้นลง ไม่สามารถจดจ่ออะไรนานๆได้
 

2. ภาวะข้างเคียงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด

 

อาการลองโควิด

ภาวะข้างเคียงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ และสามารถส่งผลข้างเคียงต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย และอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ได้ดังนี้
 

  • ปอดอักเสบ เกิดพังผืดภายในปอด
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดอุดตัน กล้ามหัวใจอักเสบ
  • ตับอักเสบ
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ภาวะแทรกซ้อนทรงระบบประสาท


3. ผลข้างเคียงจากการรักษาโควิด


ภาวะลองโควิด
 
  • ผลข้างเคียงจากการนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

สามารถเกิดได้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาอยู่ห้อง ICU (Intensive Care Unit) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ

นอกจากนี้การนอนรักษาตัวเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายกว่าเดิม แผลกดทับ ภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล (Post - Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเกิดจากความเครียด ซึ่งเป็นเข้าข่ายภาวะ
ลองโควิด 
 

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาขณะเข้ารักษารักษาโควิด-19

ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่มักไม่พบอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้รักษาเชื้อไวรัส เนื่องจากเป็นการใช้ยารักษาในระยะเวลาสั้นๆ เพียงเท่านั้น

แต่ทั้งนี้สามารถพบอาการแทรกซ้อนได้กับยาที่ใช้รักษาอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่รักษาเชื้อโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มยาสเตียรอยด์ อาจจะทำให้รู้สึกเหมือนเป็นกรดไหลย้อน แสบกระเพาะ และค่าน้ำตาลไม่คงที่

 

ตรวจลองโควิด
 

 

อาการลองโควิดในผู้ที่มีโรคประจำตัว

ภาวะลองโควิด (Long COVID) สามารถส่งผลในระยะยาวกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวได้ โดยมีอาการ ดังนี้
 

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ

ผู้ป่วยโรคหัวใจมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป เมื่อร่างกายพยายามต่อต้านเชื้อไวรัส อาจจะทำให้ “เกิดภูมิต้านทานของตัวเองต่อกล้ามเนื้อหัวใจและต่อเยื่อหุ้มหัวใจ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง หากอยู่ในภาวะลองโควิดอาจจะมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
 

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ที่ตับอ่อน ที่มีหน้าที่สร้างอินซูลินให้แก่ร่างกาย โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนมากมักเกิดจากการขาดอินซูลินในร่างกาย เมื่ออินซูลินในร่างกายลดลงจะทำให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงมากกว่าเดิม 

ซึ่งอาการที่พบได้ในผู้ใหญ่จะมีอาการหิวน้ำบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะบ่อยขึ้น และในเด็กมักมีอาการหายใจเร็วขึ้น เหนื่อย และอาการหอบหายใจไม่ทัน
 

  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

เชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลโดยตรงกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ และเชื้อไวรัสทำให้เกิดการอุดกั้นในถุงลมซึ่งส่งผลต่อการเแลกเปลี่ยนและการลำเอียงออกซิเจน ซึ่งทำให้กระแสเลือดในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ 

นอกจากนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังทำให้เกิดรอยโรคแผลเป็นหรือพังผิดต่างๆ ในปอด ทำให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ดีเท่าเดิม ซึ่งอาการที่แสดงออกคือ หายใจได้ไม่เต็มปอด เป็นโควิดแล้วเหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น ไอเรื้อรังแม้ว่าจะหายจากโควิดแล้วก็ตาม
 

  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ภาวะลองโควิด (Long COVID) สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของตนเองว่าจะมีอาการรุนแรง แรงร้าย หรือมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่รักษาตัวในห้อง ICU สามารถเกิดอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง ได้ (Post-traumatic stress disorder : PTSD) 

โดยจากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยในต่างประเทศพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่หายจากโควิด จะพบความผิดปกติด้านจิตใจ ได้แก่ ภาวะวิตกกังวล ภาวะนอนไม่หลับ และปัญหาด้านอารมณ์ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจะพบหลายอาการร่วมกัน

 


 

ภาวะลองโควิดในเด็ก (Mis-c)

ลองโควิดในเด็ก

ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก ภาวะ
ลองโควิดในเด็ก ภาวะมิสซี (MIS-C) หรือที่การแพทย์เรียกว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่น ซึ่งแตกต่างจากภาวะลองโควิด (Long COVID) ทั่วไป 

โดยจะมีการอักเสบในระบบร่างกายทั่วทั้งร่างกาย และอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาที่ห้อง ICU นอกจากนี้สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

ภาวะลองโควิดในเด็ก หรือ อาการอักเสบหลายระบบในเด็กเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ โดยภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็กมักทำให้เกิดความผิดปกติในหลายระบบทั่วทั้งร่างกาย ได้แก่
 

  • จะมีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส เกิน 24 ชั่วโมง
  • ปวดศีรษะ เวียนหัว
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • ตาแดง ปากแห้ง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
  • ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน เลือดออกทางเดินอาหาร
  • ความดันต่ำ อาจจะทำให้เกิดการช็อกได้ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ
  • ปอดอักเสบ หายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • ไตวายฉับพลัน

ภาวะลองโควิดในเด็กมักพบหลังหายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 2 - 6 สัปดาห์ ซึ่งในประเทศไทยภาวะลองโควิดในเด็ก ยังไม่ค่อยพบมากนัก 

จากรายงานพบว่าภาวะลองโควิดในเด็ก และวัยรุ่นมีโอกาสเกิดเพียง 0.14% เท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย แต่อย่างไรก็ตาม เด็กที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ปกครองควรสังเกตอาการและดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาโดยทันที
 


 

การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันภาวะ Long COVID ได้ไหม

อาการลองโควิด รักษายังไง

ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสามารถช่วยป้องกันภาวะ
ลองโควิด (Long COVID) ได้ แต่มีรายงานพบว่าผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะลองโควิด มีอาการดีขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลองโควิด อาการความรุนแรงของภาวะลองโควิดได้ 

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 หรือเพิ่งหายจากภาวะลองโควิด สามารถเข้ารับวัคซีนได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้ดังนี้ 
 

ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 
 

  • หลังครบระยะกักตัว หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ สามารถเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ทันที

ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
 

  • สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ได้หลังจากครบระยะเวลา 3 เดือน นับหลังจากวันที่พบเชื้อ
  • สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ผู้ที่เคยป่วยโควิด-19 มาก่อน สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตามปกติ ไม่มีผลอันตรายเพิ่มขึ้นจากการรับวัคซีน แต่หากอยู่ในระหว่างระยะกักตัว ไม่แนะนำให้รับวัคซีน ควรรอให้พ้นระยะกันตัวไปก่อน
 


 

การดูแลตัวเองป้องกันภาวะลองโควิด

วิธีการป้องกันภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่ดีที่สุดคือการไม่ติดเชื้อโควิด-19 ควรฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 บรรเทาความรุนแรง และลดโอกาสการเกิดภาวะลองโควิด สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างทำความสะอาดมือบ่อยๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1.5 -2 เมตร  
 

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้ว คงเกิดข้อสงสัยว่าแล้วจะรักษาอาการลองโควิดได้ยังไง หากมีภาวะลองโควิดควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และรับการรักษาโดยทันที ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อบรรเทาอาการ
 


 

วิธีฟื้นฟูร่างกายเมื่อเป็นภาวะลองโควิด

อาการหลังติดโควิด

สำหรับผู้ที่มีอาการ
ลองโควิด (Long COVID) และได้รับการตรวจร่างกาย พร้อมทั้งการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาอาการรุนแรงที่เกิดขึ้น
 

1. ทานอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและบำรุง


เมื่อหายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ปลา ถั่วชนิดต่างๆ เพื่อซ่อมแซม และสร้างเสริม เนื้อเยื่อ เซลล์ต่างๆ ที่ถูกทำลาย 

นอกจากนี้การรับประทานอาหารประเภทแป้งไม่ขัดสี สามารถช่วยลดอัตราการดูดซึมน้ำตาลได้ เนื่องจากน้ำตาลมีส่วนเพิ่มทำให้การอักเสบรุนแรงกว่าเดิม ที่สำคัญผู้ป่วยภาวะลองโควิดควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายของตนเอง

 

2. ออกกำลังกายอย่างพอดี


สำหรับผู้ป่วยภาวะลองโควิด ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักหรือหักโหมมากเกินไป ทันทีหลังจากที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากปอดและอวัยวะอื่นๆในร่างกาย อาจยังมีส่วนที่เสียหายอยู่ และไม่พร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ การหักโหมออกกำลังกายมากเกินไปสามารถทำให้อาการต่างๆ แย่ลงได้ 

แนะนำสำหรับผู้ที่เพิ่งหายจากโควิด-19 หรือ ภาวะลองโควิด ควรเริ่มออกกำลังกายจากท่าเบาๆ เน้นการเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อให้ปอดไม่ทำงานหนักจนเกินไป และไม่ควรรีบหักโหมออกกำลังกายหนักโดยเด็ดขาด

 

3. ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม


ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบรรเทาอาการและฟื้นฟูร่างกายจากภาวะลองโควิด 

สำหรับผู้ป่วยที่ความเครียดอ่อนล้าจากการปัญหานอนไม่หลับสะสมตั้งแต่ติดเชื้อ สามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อพูดคุย ฟื้นฟูจิตใจ และหาทางออกให้สภาพจิตใจกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนหน้านี้
 

 

ตรวจภาวะลองโควิด..เพื่อร่างกายที่แข็งแรง

สำหรับผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ควรตรวจสุขภาพเพื่อเช็คว่าร่างกายได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือที่เรียกว่า ลองโควิด (Long COVID) เนื่องจากภาวะลองโควิดสามารถส่งผลเสียให้แก่ร่างกายในระยะยาวได้  โดยทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์มีโปรแกรมตรวจสุขภาพ Long COVID และ โปรแกรมฟื้นฟูร่างกายเสริมประสิทธิภาพให้ร่างกายโดยการเติมวิตามินให้ร่างกาย มีรายละเอียดดังนี้ 


1. โปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพและเสริมประสิทธิภาพร่างกายด้วยการให้วิตามินทางเส้นเลือด

โปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้ที่เคยโควิดเชื้อ-19 และรักษาหายดีแล้ว โดยโปรแกรมนี้เป็นการเติมวิตามินให้ร่างกายโดยผ่านทางเส้นเลือด ผู้ที่เคยติดโควิด-19 ที่รู้สึกไม่มั่นใจ และรู้สึกร่างกายไม่แข็งแรงเท่าตอนก่อนติดเชื้อโควิด–19 สามารถเติมวิตามินให้ร่างการเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง โดยมีรายละเอียดดังนี้

โปรแกรมตรวจลองโควิด


2. โปรแกรมตรวจสุขภาพ Long COVID 2022 

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายดีแล้ว หากต้องการตรวจสุขภาพเพื่อเช็คว่าร่างกายของคุณมีความผิดปกติที่เข้าข่ายภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือไม่ หรือหากมีอาการผิดปกติหลังจากที่รักษาโรคโควิด-19 หายดีแล้ว แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย หายใจได้ไม่เต็มปอด สมาธิสั้น และอาการอื่นๆ ที่เข้าข่ายภาวะลองโควิด

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีโปรแกรมตรวจสุขภาพ Long COVID 2022 นอกจากจะได้ตรวจสุขภาพเช็คร่างกายของคุณว่าเข้าข่ายภาวะลองโควิดหรือไม่? ยังจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาปกติโดยเร็ว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตรวจร่างกายหลังติดโควิด

 

 

คำถามที่พบบ่อย

อาการลองโควิดกี่วันหาย เป็นนานไหม

อาการลองโควิดนั้นอาจจะไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกคน ในผู้ป่วยบางรายเมื่อหายจากการติดเชื้อโควิดแล้วอาจจะไม่ลงเหลืออาการหลังโควิดไว้เลยก็ได้ แต่ในทางกลับกันผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการผิดปกติลงเหลืออยู่แตกต่างกันไปตั้งแต่ช่วง 1 - 3 เดือนก็เป็นไปได้
 

มียารักษาลองโควิดหรือไม่

การรักษาอาการลองโควิดนั้นไม่ได้มียาที่รักษาให้หายได้ทันที จะค่อย ๆ ฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยไปตามอาการที่ผู้ป่วยมี อย่างเช่น การรับประทานอาหารเสริม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หรือออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเสริมสร้างร่างกาย เพราะหลักสำคัญในการบรรเทาอาการลองโควิดก็คือการรักษาและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงดังเดิม

 

 

ข้อสรุป

ภาวะลองโควิด หรือ Long COVID คือ อาการที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ป่วยบางรายเมื่อรักษาหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการผิดปกติบางอย่างคงอยู่ ซึ่งเมื่อพบว่าตนเองเข้าข่ายภาวะลองโควิด ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และรับการรักษาโดยทันที เพื่อบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้น เนื่องจากภาวะลองโควิดส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน และหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดความรุนแรงได้ 

หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มปอด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสมองล้า หรือภาวะซึมเศร้าหลังจากติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อสอบถามกับทีมแพทย์และเข้ารับการตรวจภาวะลองโควิดที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ได้ผ่านทางไลน์ Line @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม