Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

สายตายาว (Hyperopia) คืออะไร อาการ สาเหตุ รักษาหายไหม ?

สายตาสั้นข้าง ยาวข้าง

หากใครมีอาการมองวัตถุระยะใกล้ๆเบลอ แต่มองระยะไกลๆกลับเห็นได้ชัดเจน หรือบางรายอาจมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ทั้งระยะใกล้และระยะไกล นี่อาจเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่า คุณกำลังเผชิญกับ “ปัญหาสายตายาว (Hyperopia)” โดยไม่รู้ตัว 

ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ปัญหาสายตายาว (Hyperopia) มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เริ่มมีอายุมาก หรือวัยผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

แล้วแบบนี้ ปัญหาสายตายาวคืออะไรกันแน่ อาการ สาเหตุเป็นอย่างไร? รักษาได้ไหม? ไปเรียนรู้พร้อมๆกันได้ในบทความนี้  
 


สารบัญบทความ
 

 


 

สายตายาว (Hyperopia)

สายตายาว (Hyperopia) คือ ปัญหาความบกพร่องทางสายตา ที่ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่กลับมองเห็นภาพในระยะไกลๆได้ชัดเจนปกติ หรือแม้กระทั่งบางรายอาจมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน ทั้งในระยะใกล้ๆหรือระยะไกลก็ตาม 

โดยในทางการแพทย์ ปัญหาสายตายาว มักจะเป็นชื่อเรียกสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตายาว ตั้งแต่ช่วงอายุที่ยังไม่ถึงวัยผู้สูงอายุ ส่วนผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเรียกว่าเป็นสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) แต่ถ้าหากผู้ที่เป็นตั้งแต่เด็กๆ หรือแรกเกิด จะเรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness)
 


 

สายตายาว เกิดจากสาเหตุใด

สายตายาว เกิดจาก

สายตายาว เกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งน้อยจนเกินไป หรือกระบอกตามีขนาดสั้นจนเกินไป ทำให้เมื่อแสงเข้าสู่ดวงตา การหักเหของแสงจึงน้อยลง ส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบที่ด้านหลังจอประสาทตา เหมือนดั่งรูปด้านขวา (Hyperopia) วัตถุในระยะใกล้จึงมองเห็นเบลอกว่าวัตถุระยะไกลๆ

โดยส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากลักษณะทางพันธุกรรม หากมีบุคคลในครอบครัวประสบกับปัญหาสายตายาว ก็มีโอกาสที่คุณจะมีปัญหาสายตายาวด้วยเช่นเดียวกัน 

นอกจากนั้น เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาสายตายาวได้ เช่น โรคเบาหวาน การเป็นมะเร็งรอบดวงตา โรคตาเล็ก (Microphthalmia) เป็นต้น แต่สาเหตุนี้ มักพบได้ไม่มากนัก

 


 

สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) 

รักษาสายตายาวด้วยวิธีธรรมชาติ
 

สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness) เป็นปัญหาสายตายาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก และมักจะเป็นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากวัยเด็ก เป็นวัยที่กล้ามเนื้อตามีความยืดหยุ่นได้ดี ทำให้มีส่วนช่วยในการเพ่งสายตา จึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อภาพที่เห็นมากนัก แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น กล้ามเนื้อตาค่อยๆเสื่อมลง ทำให้อาการสายตายาวโดยกำเนิด ค่อยๆปรากฏออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น 

แน่นอนว่า เด็กอาจไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร ผิดปกติหรือไม่ และไม่สามารถสื่อสารหรืออธิบายออกมาได้ดีเพียงพอ ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจและสังเกตพฤติกรรมเด็กอยู่เสมอ 

หากเด็กมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น มีอาการคล้ายตาเข เมื่ออ่านหนังสือ เขียน หรือวาดภาพไปสักระยะหนึ่งแล้ว เริ่มมีอาการปวดหัว ปวดตา ตาล้า ขาดความสนใจในการทำสิ่งต่างๆ หรือขยี้ตาบ่อยๆ ก็ควรเข้ารับการตรวจตา เพื่อวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้น

 


 

สายตายาวตามวัย (Presbyopia)

มองไกลไม่ชัด สายตาสั้นหรือยาว

สายตายาวตามวัย (Presbyopia) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สายตายาวตามอายุ เป็นความบกพร่องทางสายตาที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาเริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้เลนส์ตาแข็งตัวมากขึ้น ความยืดหยุ่นต่างๆลดลง ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการมองวัตถุระยะใกล้ๆ เช่น การเย็บผ้า เขียนคิ้ว ขับรถยนต์ เป็นต้น 

คุณสามารถสังเกตตนเองได้จาก ระยะของการอ่านหนังสือเบื้องต้น หากในระยะเดิมเริ่มมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ต้องมีการยื่นวัตถุให้ห่างจากตนเองออกไปมากขึ้น หรือพยายามเพ่งอย่างหนักจึงจะเห็นได้ชัดเจน หรือแม้กระทั่งการต้องถอดแว่นสายตาสั้น เพื่อมองในระยะใกล้ๆ ก็อาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังมีภาวะสายตายาวตามวัยแล้วนั่นเอง

 


 

อาการสายตายาวเป็นอย่างไร

อาการสายตายาวที่สามารถสังเกตเห็นได้ จะมีลักษณะดังนี้
 

  • ปวดศีรษะ ปวดตา จำเป็นต้องหรี่ตา หรือตาล้าง่าย เนื่องจากต้องทำงานในระยะใกล้ๆ
  • มองเห็นภาพซ้อน เพราะต้องเพ่งสายตาในการมองวัตถุอย่างหนัก
  • ตามีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ หรือเกิดอาการแสบตา
  • มีความยากลำบากในการมองเห็นตอนกลางคืน
  • ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก อาจมีอาการตาเหล่ ตาเขร่วมด้วย เพราะต้องเพ่งสายตาตลอดเวลา
  • ปัญหาสายตายาวในเด็ก อาจทำให้มีอาการขยี้ตาบ่อยครั้ง หรือมีปัญหาในการอ่านหนังสือได้
  • มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ เย็บผ้า ขับรถยนต์ แต่งหน้า ทำอาหาร ฯลฯ

 


 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากสายตายาว

บางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นจากภาวะสายตายาว โดยปัญหาสายตายาวในวัยผู้ใหญ่ อาจได้รับผลกระทบในเรื่องของคุณภาพการใช้ชีวิต ปวดตา ปวดศีรษะจากการหรี่ตาบ่อยๆได้ง่าย หรือทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้

แต่ในส่วนของเด็กที่มีปัญหาสายตายาว อาจส่งผลกระทบมากกว่านั้น ได้แก่…

 
  • ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy eye)

ภาวะตาขี้เกียจ เป็นภาวะที่มีดวงตาข้างใดข้างหนึ่งของเด็กคนนั้น มีการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน หรือไม่ดีเท่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดการสูญเสียทางการมองเห็นในข้างนั้นๆได้
 

  • ภาวะตาเหล่ (strabismus)

ภาวะตาเหล่ สามารถสังเกตเห็นได้จากการที่เด็กมีแนวของดวงตาที่ไม่ตรงตามธรรมชาติ อาจมีการตาเหล่เข้า ตาเหล่ออก ตาเหล่ในแนวบน-ล่าง ซึ่งในบางราย อาจปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่ในบางรายอาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสายตา เพื่อค้นหาความผิดปกติเพิ่มเติม
 

  • พัฒนาการล่าช้า

เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า จะมีลักษณะที่ทำสิ่งต่างๆได้ช้ากว่าพัฒนาการปกติ ตามช่วงอายุที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งผู้ปกครองควรสังเกตเด็กๆอยู่เสมอ หากพบลักษณะที่น่าสงสัย สามารถเข้ารับการตรวจวัดพัฒนาการเด็กเบื้องต้น เพื่อทำการประเมินและวินิจฉัยต่อไป
 

  • เกิดปัญหาทางการเรียนรู้

ปัญหาทางการเรียนรู้ (Learning disability : LD) เป็นความผิดปกติที่ส่งผลให้เด็กมีความยากลำบากในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เนื่องจากเกิดความบกพร่องทางด้านสายตา การได้ยิน หรือการรับรู้อื่นๆทางร่างกาย ซึ่งปัญหาทางการเรียนรู้ แบ่งออกได้หลากหลายด้าน เช่น ด้านการอ่าน ด้านการเขียน ด้านการฟัง ฯลฯ 

 


 

การตรวจวินิจฉัยสายตายาว

ตรวจสายตา
 
ก่อนที่จะเข้ารับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาว จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเสียก่อน เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัด ไปใช้ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละรายบุคคล โดยปกติแล้ว จะมีการตรวจดังนี้


1. ซักประวัติ

จักษุแพทย์จะทำการซักประวัติส่วนตัวของผู้เข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นอาการนำ ประวัติโรคประจำตัว ปัญหาสายตาหรือปัญหาโรคทางตาของสมาชิกภายในครอบครัว การรับประทานยาประจำตัว ฯลฯ 
 

2. ตรวจระดับการมองเห็น(Visual Acuity) 

การตรวจระดับการมองเห็น เป็นการประเมินความชัดเจนในการมองเห็นทั้งระยะใกล้ และระยะไกล โดยการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญจะให้คุณอ่านชุดตัวเลข 8 แถว ที่อยู่บนแผนภูมิ Snellen Chart สำหรับตรวจการมองเห็น ซึ่งตัวเลขในแต่ละแถวจะมีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆในแต่ละบรรทัด ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องวัดสายตาในแต่ละข้าง เพื่อนำข้อมูลค่าสายตาที่ได้ไปวิเคราะห์ต่อไป
 

3. การวัดค่าสายตา (Refraction)

การวัดค่าสายตา เป็นการประเมินผู้เข้ารับการตรวจว่า มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงหรือไม่ ค่าสายตาอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจ อ่านแผนภูมิวัดสายตาผ่านเครื่องมือ Phoropter ที่ผู้เชี่ยวชาญจะคอยกำกับดูแลในการปรับเลนส์ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อแก้ไขการหักเหแสงของดวงตาที่มีความผิดปกติไป 

เมื่อผู้เข้ารับการตรวจสามารถมองเห็นได้ชัดเจน จะได้ค่าสายตา หรือค่าเลนส์ที่สามารถนำไปอ้างอิงในการตัดแว่นสายตาหรือซื้อคอนแทคเลนส์ได้
 

4. การวัดความโค้งของกระจกตา (Keratometer)

ความโค้งของกระจกตา สามารถบ่งบอกได้ถึงการหักเหของแสงที่สะท้อนเข้าสู่ดวงตา ซึ่งเราจะทำการทดสอบ โดยใช้เครื่องมือเคอราโตมิเตอร์ (Keratometer) ส่องแสงเพื่อวัดความโค้งของกระจกตา ที่สามารถบอกได้ถึงปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีการตรวจการมองเห็นอื่นๆเพิ่มเติมอีก ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้เชี่ยวชาญ หากตรวจเบื้องต้นแล้วพบข้อสงสัย อาจได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุต่อไปในแต่ละกรณี

 


 

วิธีรักษาแก้ไขสายตายาว

วิธีการรักษาสายตายาว มีอยู่หลากหลายวิธี โดยการเลือกวิธีที่เหมาะสม จะต้องคำนึงถึงลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล โดยปกติจะมีวิธีดังต่อไปนี้
 

1. การใส่แว่นสายตา

 

การรักษาสายตายาวด้วยวิธีธรรมชาติ

การใส่แว่นสายตา เป็นวิธีรักษาสายตายาวที่สามารถทำได้ง่ายๆ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูงมากในการใช้งาน ซึ่งคุณสามารถทำได้ เพียงแค่ตรวจวัดสายตา จากนั้นนำค่าสายตา หรือค่าเลนส์ที่สามารถแก้ไขความผิดปกติในการหักเหแสงได้ มาตัดแว่นสายตาที่เหมาะสมกับตนเอง

ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถเป็นตัวช่วยในการหักเหแสงให้ตกกระทบที่จอประสาทตาพอดี ทำให้เวลาใส่แว่นตา คุณจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนดั่งปกติ และการตัดแว่นสายตา เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย สามารถเลือกรูปทรงหรือสีต่างๆได้ตามใจชอบ ตามกระแสแฟชั่นได้

ข้อจำกัด คือ ต่อให้มีการตัดแว่นมาใช้งานแล้ว ก็ยังต้องมีการตรวจเช็คค่าสายตาเป็นระยะ เพราะจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแว่นสายตาให้เหมาะสมกับปัจจุบัน อีกทั้งการใส่แว่นสายตานั้นไม่ได้เป็นตัวช่วยที่ทำให้สายตาดีขึ้น และบางครั้งอาจไม่เหมาะสำหรับกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นกีฬาต่างๆ การเต้น การว่ายน้ำ เป็นต้น

เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความปลอดภัย ราคาไม่แพงมาก สามารถถอดแว่นสายตาเข้า-ออกได้ตามใจชอบ  
 

2. การใส่คอนแทคเลนส์

 

สายตายาว หายได้ไหม

 
การเลือกใส่คอนแทคเลนส์ อันดับแรกเราจะต้องรู้ค่าสายตาของตนเองเสียก่อน จากนั้นเราจึงนำค่าที่ได้ ไปเป็นตัวอ้างอิงในการเลือกซื้อ ซึ่งปกติแล้ว รูปแบบคอนแทคเลนส์ มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ คอนแทคเลนส์แบบแข็ง แบบนิ่ม คอนแทคเลนส์รายวัน รายเดือน เป็นต้น

ข้อดี คือ สามารถเข้ามาช่วยทำหน้าที่แทนแว่นสายตาในบางกรณีที่ไม่สามารถสวมใส่ได้ เช่น การเล่นกีฬา การเต้น หรือการออกงานสังคมต่างๆ อีกทั้งยังมีสีสันสวยงาม หาซื้อได้ตามทั่วไป

ข้อจำกัด การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้สายตาของคุณดีขึ้นเช่นเดียวกัน และต้องพยายามปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์ หรือเงื่อนไขต่างๆอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย เช่น ความสะอาด หรือ ระยะเวลาการใช้งาน และต้องระวังในเรื่องของการติดเชื้อของดวงตาอีกด้วย

เหมาะสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ ต้องการทำกิจกรรมอย่างสะดวก ไม่ชอบใส่แว่นสายตา เป็นต้น

 

3. การรักษาสายตายาวโดยการผ่าตัด

 

ผ่าตัดสายตา
 
การรักษาสายตายาวด้วยวิธีการผ่าตัด จะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของรูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดจะมีดังต่อไปนี้
 
  • Femto LASIK

การทำ Femto LASIK สามารถแก้ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดได้ ด้วยการใช้เครื่อง femtosecond laser รุ่น Visumax ในการยิงแสงเลเซอร์ที่มีความถี่สูง พลังงานต่ำ ไปตามความโค้งของกระจกตาอย่างแม่นยำ

ข้อดี คือ มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ระยะเวลาในการผ่าตัดไม่นาน ผลข้างเคียงน้อย สามารถกำหนดความลึก หรือความหนาของชั้นกระจกตาได้

ข้อจำกัด แพทย์ที่เป็นผู้ผ่าตัด จะต้องมีความเชี่ยวชาญวิธีการนี้อย่างเพียงพอ หลังจากทำแล้วต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีลักษณะโค้งยาว อาจมีโอกาสที่จะเคลื่อนจนแผลเปิดได้ 

เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี กระจกตามีความแข็งแรง สุขภาพตาโดยรวมดี ไม่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระจกตา หรือโรคทางกายที่มีผลต่อการหายของแผล และผู้ที่ไม่สะดวกในการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์
 

  • MicrokeratomeLASIK

การทำเลสิควิธีนี้ สามารถแก้ไขปัญหาสายตายาวโดยกำเนิดได้ โดยวิธีการก็คือ จะมีการใช้ใบมีดแยกชั้นกระจกตาก่อน จากนั้นจึงใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer laser) ปรับแต่งรูปร่างความโค้งของกระจกตาตามที่ได้มีการคำนวณไว้ เมื่อทำได้อย่างที่ต้องการแล้ว จึงปิดกระจกตากลับสู่ที่เดิม 

ข้อดีของ MicrokeratomeLASIK คือ เกิดการระคายเคืองน้อย มีความแม่นยำสูง ปลอดภัย ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก กลับมามองเห็นชัดเจนได้อย่างรวดเร็ว

ข้อจำกัด คือ อาจเกิดอาการตาแห้งได้มากกว่ารูปแบบอื่นๆ บางรายมีอาการไวต่อแสง ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาบาง และวิธีนี้จะเข้าผ่าตัดซ้ำได้ยาก หากค่าสายตามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 

เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระจกตาหนาเพียงพอ ค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ได้รับการตรวจประเมินแล้วว่ามีสุขภาพตาโดยรวมดี และมีค่าสายตาไม่มากนัก

 


 

รักษาสายตายาวที่ไหนดี

การเลือกสถานที่เข้ารับการรักษาสายตายาว เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงจำเป็นต้องพิจารณาหลายๆปัจจัย เพื่อให้ได้ถึงตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยสิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณา มีดังต่อไปนี้
 

  • สถานพยาบาลจะต้องมีความเป็นมาตรฐาน
  • มีความสะอาด ปลอดภัย สามารถไว้ใจได้ว่าจะไม่ติดเชื้อหลังการผ่าตัด
  • มีอุปกรณ์ที่หลากหลาย มีการบำรุงซ่อมแซมเครื่องมืออยู่เสมอ
  • มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษาและการผ่าตัด
  • ระบบการประสานงาน การดำเนินการต่างๆ การจัดคิวเข้ารับบริการจะต้องมีความน่าเชื่อถือ เป็นระบบ มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นมืออาชีพ
  • ทีมแพทย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีใบประกอบวิชาชีพ มีประสบการณ์การรักษาในด้านที่ต้องการเข้ารับบริการ 
  • คุณภาพการบริการมีความคุ้มค่าสมกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป
 

ถึงอย่างนั้น หากใครที่ยังลังเล ไม่แน่ใจว่าจะเข้ารับการรักษาสายตายาวที่ไหนดี ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ขอเป็นหนึ่งตัวเลือกดีๆสำหรับคุณ ให้เราช่วยดูแลรักษาคุณ ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การรักษาปัญหาสายตายาว เพื่อให้คุณมั่นใจ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน 

 


 

FAQs สายตายาว

สายตายาว ป้องกันได้ไหม 

สายตายาว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถชะลอการเกิดปัญหาสายตายาวขึ้นได้ จากการดูแลถนอมดวงตาของตนเอง ดังนี้
 

  • พยายามสังเกตดวงตาและการมองเห็นของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติใดๆ ควรเข้ารับการตรวจสายตาเพิ่มเติม เพื่อค้นหาความผิดปกตินั้นๆ
  • มีการแบ่งระยะเวลาไว้พักสายตาจากการทำงาน
  • หากมีการสวมใส่แว่นสายตาอยู่แล้ว ให้หมั่นทดสอบสายตาเป็นระยะ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา และปรับเปลี่ยนให้เลนส์แว่นสายตามีความเหมาะสมกับค่าสายตาในปัจจุบัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว และผลไม้ต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่สามารถส่งผลต่อการมองเห็น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ฯลฯ ควรควบคุมดูแลตนเองเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ระดับอาการอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม
 

มีวิธีรักษาสายตายาวแบบวิธีธรรมชาติหรือไม่

ในปัจจุบัน ยังไม่พบงานวิจัยใดๆ ที่รองรับวิธีการรักษาสายตายาวแบบธรรมชาติ ที่ทำแล้วได้ผลหรือเปลี่ยนแปลงค่าสายตาได้  ดังนั้นหากเกิดปัญหาสายตายาวขึ้นแล้ว ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำปรึกษา และวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล จึงจะดีที่สุด
 

สายตาสั้นข้าง ยาวข้าง รักษาอย่างไร

บางรายอาจมีปัญหาสายตาสั้นข้างหนึ่ง และปัญหาสายตายาวอีกข้างหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ สามารถรักษาได้ โดยการผ่าตัดรักษาสายตา เช่น การทำFemto LASIK 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการใช้แสงเลเซอร์ ปรับความโค้งของกระจกตาตามที่ได้มีการคำนวณไว้ โดยจะทำให้ดวงตาข้างที่ถนัด หรือมักใช้งานบ่อยๆ สามารถมองเห็นระยะกลางๆ และระยะไกลๆได้ ส่วนดวงตาข้างที่ไม่ค่อยถนัด จะปรับให้สามารถมองเห็นระยะใกล้ๆ ไปจนถึงระยะกลางได้ 

 


 

ข้อสรุป

“ปัญหาสายตายาว” เป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อย และหลายๆคนมักจะเข้าใจผิด เพราะว่า ความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสายตายาว ถูกแบ่งออกเป็น ปัญหาสายตายาวทั่วไป สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุ ซึ่งถึงแม้ว่าชื่อจะดูคล้ายๆกัน แต่ก็จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป 

การรักษาสายตายาว ก็มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสวมใส่แว่นสายตา การใส่คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดรูปแบบต่างๆ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาตัวเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ความจำเป็นต่างๆของผู้เข้ารับบริการให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น หากคุณเริ่มมีความสนใจ ต้องการขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาสายตายาว รวมไปจนถึงแนวทางการรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ หรืออยากสอบถามรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การผ่าตัดแบบ ReLEx SMILE, PRK ฯลฯ สามารถติดต่อได้ที่  Line: @samitivejchinatown หรือ เบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สนใจปรึกษาทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตา และการผ่าตัดแก้ไขสายตา ด้วยประสบการณ์ทำเลสิคกว่า 10,000 เคส
มั่นใจด้วย 2 เทคโนโลยีนำเข้าจากเยอรมันล่าสุด (German Medical Technology 2021)

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม