Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

การตรวจหัวใจ มีอะไรบ้าง ตรวจก่อน รู้ก่อน รักษาก่อน

ตรวจหัวใจ

“หัวใจ” เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการสูบฉีดเลือด เพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารต่างๆไปสู่ส่วนอื่นๆของร่างกาย เราจึงจำเป็นจะต้องให้ความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากหัวใจไม่แข็งแรง หรือเกิดปัญหาความผิดปกติขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆในร่างกายได้เช่นกัน

“การตรวจหัวใจ” จึงเป็นโปรแกรมที่ดี ที่จะทำให้เราได้รู้ก่อนว่า มีแนวโน้มหรือเกิดความผิดปกติอะไรขึ้นบ้าง ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ส่งผลให้เราสามารถที่จะเลือกเข้ารับการรักษาก่อนที่โรคต่างๆจะถูกพัฒนาระยะอาการให้รุนแรงขึ้นได้

ดังนั้น การตรวจหัวใจ มีอะไรบ้าง? ราคาเท่าไหร่? และควรตรวจหัวใจที่ไหนดี? ไปดูพร้อมๆกันได้ที่นี่

 


สารบัญบทความ
 

 

การตรวจหัวใจ

การตรวจหัวใจ คือ การตรวจประเมินสุขภาพความแข็งแรงของหัวใจ รวมไปจนถึงค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจ ที่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะดังกล่าวทั้งสิ้น

การเข้ารับการตรวจหัวใจ เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะหัวใจเป็นอวัยวะหลักที่มีความสำคัญต่อร่างกายมาก หากเกิดความผิดปกติขึ้นมา นอกจากจะส่งผลกระทบไปยังระบบอื่นๆแล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

โดยปกติแล้ว การเป็นโรคหัวใจ มักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาก่อน เช่น อาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ เจ็บหรือแน่นบริเวณหน้าอก หน้ามืด ใจสั่น หายใจลำบาก คล้ายจะเป็นลม ฯลฯ แต่ในบางบุคคลก็อาจไม่เกิดสัญญาณเตือนอะไรขึ้นเลย ดังนั้นการเข้ารับการตรวจหัวใจ จะช่วยตรวจเช็คเรื่องเหล่านี้ ให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ และปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง

 


การตรวจหัวใจ มีอะไรบ้าง

“การตรวจหัวใจ มีอะไรบ้าง?” การตรวจหัวใจจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้
 

  1. การตรวจหัวใจแบบพื้นฐาน เป็นการคัดครองและตรวจหัวใจในเบื้องต้น ได้แก่ การซักประวัติ ตรวจสภาพร่างกายทั่วไป ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การเอกซเรย์ปอดและหัวใจ
  2. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ เป็นการใช้อุปกรณ์เฉพาะทางในการตรวจหัวใจแบบละเอียด ได้แก่ การตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจEKG การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง และการตรวจหัวใจแบบCT Calcium scoring (coronary)
 

 การตรวจหัวใจแบบพื้นฐาน

ตรวจเช็คหัวใจ

การตรวจหัวใจแบบพื้นฐาน เพื่อคัดกรองในเบื้องต้น จะมีการตรวจสอบร่างกาย ดังนี้
 

1. การตรวจร่างกายทั่วไป

การตรวจร่างกายทั่วไป จะเริ่มตั้งแต่การซักประวัติส่วนตัว ประวัติสมาชิกภายในครอบครัวว่าเคยมีการเป็นโรค หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจหรือไม่? ดูลักษณะทางกายภาพ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ว่าเข้าข่ายภาวะอ้วนเกินมาตรฐานหรือไม่ และสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงต่างๆ

อีกทั้งยังมีการตรวจวัดชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ มีการฟังเสียงหัวใจ เพื่อตรวจหาลักษณะเสียงผิดปกติ และตรวจวัดระดับความดันเลือด
 

2. การตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด คือการเจาะเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อนำไปประเมินค่าระดับน้ำตาล หรือปริมาณกลูโคสที่อยู่ในกระแสเลือด ว่ามีระดับปกติ สูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติเพียงใด

ระดับของน้ำตาลในกระแสเลือด จะสามารถบ่งบอกแนวโน้มของโรคต่างๆได้ เช่น หากบุคคลใดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ อาจเกิดเนื้องอกที่ตับอ่อน โรคที่ต่อมหมวกไต โรคหัวใจ ฯลฯ หรือถ้าหากบุคคลนั้นมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ ก็อาจเป็นโรคเบาหวาน ตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นที่หัวใจโดยตรง ก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณหัวใจได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น

วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด คือ คุณจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดยกเว้นน้ำเปล่า อย่างน้อย 8 ชั่วโมง จากนั้นจะได้รับการเจาะเลือดประมาณ 2 - 3 มิลลิลิตร ไว้ในหลอดเก็บเลือด และนำไปคำนวณเพื่อหาค่าระดับน้ำตาลที่แท้จริงออกมา

ในส่วนของการตรวจไขมันในเลือด คือ การตรวจประเมินองค์ประกอบของไขมันทุกตัวที่มีอยู่ในกระแสเลือด เพื่อดูว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ซึ่งโดยปกติจะมีการวัดค่าไขมัน 5 ชนิด ได้แก่ Total Cholesterol, Triglycerides, LDL-c, HDL-c และ VLDL-c

ระดับไขมันในเลือด จะสามารถบ่งบอกได้ถึงแนวโน้มต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจ เบาหวาน โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ฯลฯ

วิธีการตรวจระดับไขมัน คล้ายกับวิธีการตรวจระดับน้ำตาล คือ คุณจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่า ก่อนเข้ารับการตรวจ อย่างน้อย 12 - 14 ชั่วโมง จากนั้นคุณจะได้รับการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว เพื่อนำไปตรวจคัดกรองระดับค่าไขมันว่ามีความผิดปกติหรือไม่
 

3. การเอกซเรย์ปอดและหัวใจ

การตรวจเอกซเรย์ปอดและหัวใจ คือ วิธีตรวจหัวใจและปอด เพื่อประเมินความสมบูรณ์ โครงสร้างของอวัยวะภายใน ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ใช้ระยะเวลาไม่นาน โดยสามารถประเมินดูส่วนต่างๆได้ดังนี้

การประเมินดูอวัยวะปอด จะสามารถดูเรื่องของวัณโรค ถุงลม เนื้องอก มะเร็ง รวมไปจนถึงภาวะน้ำท่วมปอดได้ ส่วนเรื่องของหัวใจ จะสามารถดูความผิดปกติของหัวใจได้จากขนาด รูปร่าง รวมไปจนถึงหลอดเลือดแดงหรือดำ

 


การตรวจหัวใจด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษ

การตรวจหัวใจด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษ เป็นการตรวจประเมินหัวใจอย่างละเอียด ด้วยเครื่องตรวจหัวใจโดยเฉพาะ ที่มีความแม่นยำ ทันสมัย ทำให้สามารถประเมินผลลัพธ์ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งเมื่อตรวจพบความผิดปกติ ก็จะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุดอีกด้วย โดยการตรวจหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ มีแบ่งออกเป็นหลายวิธี ดังต่อไปนี้

 


1. การตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid Doppler)

การตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid Doppler) คือ การนำเครื่องมือที่เรียกว่า คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เข้ามาใช้ในการตรวจดูหลอดเลือดแดงที่อยู่บริเวณด้านข้างของคอทั้ง 2 ข้าง โดยตรวจดูทั้งเรื่องของผนังหลอดเลือด ความหนาของผนังหลอดเลือด คราบหินปูนที่อยู่บริเวณหลอดเลือด และการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง
 

ผู้ที่เหมาะกับการตรวจ Carotid Doppler

  • ผู้ที่มีประวัติสมาชิกภายในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจ
  • ออกกำลังกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกายเลย
  • มีพฤติกรรมชอบสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะเครียดบ่อยๆ
  • อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน(Overweight) หรือโรคอ้วน(Obesity)
  • ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • บุคคลที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • ตรวจพบว่ามีระดับไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีอาการเสี่ยง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชาเพียงครึ่งซีก วิงเวียนศีรษะ เริ่มตามัว มองเห็นภาพซ้อนกัน เป็นต้น
 

ขั้นตอนการตรวจ Carotid Doppler

การตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid Doppler) มีความคล้ายคลึงกับการตรวจอัลตราซาวด์ จึงทำให้ผู้เข้ารับบริการสามารถตรวจได้เลย โดยไม่ต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่ม แต่เพียงแค่คุณไม่สวมเครื่องประดับหรือทาแป้งบริเวณคอในวันที่เข้ารับการตรวจก็เพียงพอ
 

การตรวจหัวใจ Carotid Doppler บอกอะไรได้บ้าง

  • สามารถตรวจภาวะตีบแคบของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่อยู่บริเวณคอ
  • บอกอัตราความเร็วและทิศทางการไหลเวียนเลือดได้
  • คำนวณระยะอาการ ความรุนแรงของภาวะหลอดเลือดตีบแคบได้
 

2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

ตรวจโรคหัวใจ
 

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คือ การตรวจหัวใจเพื่อดูคลื่นไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมา ขณะที่หัวใจมีการหดตัวและคลายตัว โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า แผ่นอิเล็กโทรด ในการจับสัญญาณและพิมพ์ออกมาไว้บนกระดาษกราฟ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมาก
 

ผู้ที่เหมาะกับการตรวจ EKG

  • เริ่มมีอาการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอกบ่อยๆ รู้สึกหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียนศีรษะแบบไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย ฯลฯ
  • มีประวัติสมาชิกภายในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • มีภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ง่ายขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน
  • เริ่มอ่อนเพลียแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • สังเกตแล้วค้นพบว่า ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง
 

ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

  1. ผู้เชี่ยวชาญจะนำแผ่นอิเล็กโทรดมาวางไว้ที่บริเวณหน้าอกของผู้รับการตรวจ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจับสัญญาณ
  2. เมื่ออุปกรณ์สามารถจับสัญญาณของกระแสไฟฟ้าได้แล้ว จะมีการบันทึกโดยการพิมพ์ไว้ในกระดาษกราฟ
  3. ผู้เชี่ยวชาญจะนำกระดาษกราฟมาประเมินถึงรูปแบบสัญญาณที่เกิดขึ้น
  4. หากรูปแบบสัญญาณมีความสม่ำเสมอ แสดงว่า การทำงานของหัวใจมีความปกติดี แต่ถ้าหากมีบางจุดที่สัญญาณมีความแตกต่างออกไป อาจหมายความว่า มีบริเวณที่หัวใจได้รับการบาดเจ็บหรือผิดปกติ
 

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG บอกอะไรได้บ้าง

  • การตรวจหัวใจ ekg สามารถตรวจหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • ตรวจโรคหัวใจและค้นหาความผิดปกติจากคลื่นไฟฟ้าของหัวใจที่บันทึกได้ 
  • นำข้อมูลที่ได้ไปทำการวินิจฉัยโรคหัวใจวายได้
  • ตรวจดูเรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ
 

การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน EST

การตรวจหัวใจวิ่งสายพาน EST (Exercise Stress Test) คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยการให้ผู้เข้ารับการตรวจวิ่งออกกำลังกายอยู่บนสายพาน เพื่อดูอาการ หรือภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น มีการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ รวมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
 

ผู้ที่เหมาะกับการตรวจ EST

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น มีระดับไขมันในเลือดสูง หรือภาวะความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • มีประวัติสมาชิกภายในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรืออัมพาตมาก่อน
  • พบอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือแน่นหน้าอกบ่อยครั้ง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดภายในร่างกายอยู่ก่อนแล้ว
  • ผู้ที่จำเป็นต้องติดตามผลการรักษาเกี่ยวกับหัวใจ
 

ขั้นตอนการตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน EST 

ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรงดรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหารเบาๆอ่อนๆได้ และหากบุคคลใด มีการใช้ยาประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อผลการประเมินที่เที่ยงตรง โดยขั้นตอนการตรวจ มีดังนี้

  1. แพทย์จะนำแผ่นจับสัญญาณไฟฟ้าชุดหนึ่ง มาแปะไว้ที่บริเวณหน้าอกของผู้เข้ารับการตรวจ
  2. แผ่นที่แปะไว้จะจับสัญญาณและบันทึกในขณะที่ผู้เข้ารับการตรวจทำการวิ่งสายพาน
  3. ในขณะเดียวกัน แพทย์จะทำการสังเกตถึงอาการ การตอบสนองของร่างกาย ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นขณะวิ่ง เช่น อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
  4. แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากทั้งสองส่วน มาทำการประเมินและวินิจฉัยผลการตรวจหัวใจ
 

การตรวจหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน บอกอะไรได้บ้าง

  • เป็นเครื่องมือที่สามารถคัดกรองโรคทางหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือดหรือภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ค้นหาความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในองค์ประกอบของหัวใจได้ เนื่องจากบางรายอาจไม่มีอาการที่แสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจน
  • ประเมินประสิทธิภาพที่ทำได้มากที่สุดในการออกกำลังกาย
  • ตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของอาการนำบางอย่าง ว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจหรือไม่ เช่น อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
 

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) คือ การตรวจคลื่นหัวใจโดยส่งคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเข้าไปบริเวณหัวใจ คลื่นจะทำการสะท้อนกลับ ทำให้เกิดการแสดงผลเป็นเงาภาพของหัวใจที่อยู่ภายใน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงสามารถดูลักษณะความหนาของเนื้อเยื่อหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ รูปร่างหัวใจ รวมไปจนถึงการทำงานของลิ้นหัวใจได้ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำ ปลอดภัย ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
 

ผู้ที่เหมาะกับการตรวจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

  • ผู้ที่แพทย์แนะนำให้เข้ารับการตรวจ เพื่อค้นหาความผิดปกติและนำข้อมูลไปใช้ในการวินิจฉัยโรค
  • ผู้ที่ต้องติดตามอาการของโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด
  • เช็คประสิทธิภาพการรักษาและการผ่าตัด
  • ผู้ที่มีอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เช่น เสียงหัวใจผิดปกติ จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ ผลจาก EKG มีความผิดปกติ เป็นต้น
 

ขั้นตอนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

  1. การตรวจหัวใจ echo ผู้เชี่ยวชาญจะทำการแปะแผ่นอิเล็กโทรด หรือแผ่นที่ใช้จับสัญญาณไฟฟ้าไว้ที่บริเวณหน้าอกของผู้เข้ารับการตรวจ
  2. จากนั้นจะใช้หัวเครื่องตรวจ ทาเจลเย็น และตรวจดูที่บริเวณนั้น
  3. ในระหว่างที่ทำการตรวจ อาจมีการให้ผู้เข้ารับการตรวจหายใจออก หรือกลั้นหายใจไว้เป็นช่วง เพื่อที่จะถ่ายภาพที่คลื่นสะท้อนกลับมาได้อย่างชัดเจน
  4. แพทย์จะนำภาพที่ถ่ายไว้ มาทำการตรวจประเมิน และวินิจฉัยสิ่งที่เกิดขึ้น
 

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง บอกอะไรได้บ้าง

  • สามารถตรวจภาวะหัวใจต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจโต หัวใจพิการแต่กำเนิด ตรวจน้ำที่อยู่ด้านในเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะลิ้นหัวใจตีบ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ
  • ค้นหาสาเหตุของอาการเหนื่อยหอบ ใจสั่น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
 

การตรวจหัวใจแบบ CT Calcium Scoring (Coronary)

การตรวจหัวใจแบบ CT Calcium scoring (coronary) คือ การตรวจประเมินระดับแคลเซียมหรือหินปูนที่อยู่ภายในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อดูการสะสม หรือการเกาะตัวของหินปูน ตามบริเวณผนังหลอดเลือด เยื่อหุ้มหัวใจ หรือลิ้นหัวใจ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวก แม่นยำ สามารถเชื่อถือได้
 

ผู้ที่เหมาะกับการตรวจหัวใจด้วย CT Calcium Scoring (Coronary)

  • มีประวัติสมาชิกภายในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครียดบ่อย
  • กำลังอยู่ในภาวะความดันสูง หรือระดับไขมันในเลือดสูง
  • ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
 

ขั้นตอนการตรวจหัวใจด้วย CT Calcium Scoring (Coronary)

ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา คาเฟอีน และงดการสูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนในการตรวจมีดังนี้

  1. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ตรวจบริเวณหลอดเลือดหัวใจ
  2. จากนั้นเมื่อเครื่องทำการตรวจแล้ว จะมีการคำนวณผลตรวจออกมาเป็นค่าตัวเลข
  3. หากบุคคลใด มีค่าตัวเลขอยู่ในระดับสูง ก็จะแสดงว่า บุคคลนั้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมาก
 

การตรวจหัวใจด้วยCT Calcium Scoring บอกอะไรได้บ้าง

  • สามารถตรวจดูแนวโน้มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะแรกได้
  • ปริมาณแคลเซียมสามารถบอกโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้
  • ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการต่างๆ เช่น อาการเจ็บหน้าอก
 

ตรวจหัวใจ ช่วยวินิจฉัยโรคใดได้บ้าง

การตรวจหัวใจ สามารถช่วยวินิจฉัยโรคต่างๆได้ ดังนี้

 

ใครที่ควรเข้ารับการตรวจหัวใจ

รูปหัวใจ

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจหัวใจ มีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ หรือหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีการสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • คนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน
  • บุคคลที่ได้รับสัญญาณเตือนจากร่างกาย เช่น เหนื่อยง่ายผิดปกติ หายใจลำบาก หน้ามืด ใจสั่น เจ็บหน้าอก ฯลฯ
  • กลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องใช้พละกำลังในการแข่งขัน เช่น การแข่งวิ่ง เพื่อประเมินอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม
  • บุคคลที่มีอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจหัวใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
 

ตรวจหัวใจ ที่ไหนดี

“ตรวจหัวใจ ที่ไหนดี?” การเลือกสถานพยาบาลในการเข้ารับบริการที่ดี จะช่วยให้คุณลดความกังวลใจ และไว้วางใจได้มาก ดังนั้นทางเราจึงมีวิธีพิจารณาสถานที่เข้ารับบริการดีๆ ดังนี้
 

  • สถานที่นั้นจะต้องมีความสะอาด ได้รับการรับรองที่เป็นมาตรฐาน
  • อุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจมีความทันสมัย ครบครัน แม่นยำ และมีการบำรุงดูแลรักษาอยู่เสมอ
  • แพทย์ที่ทำการตรวจจะต้องมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์เพียงพอ มีความละเอียดรอบคอบ และมีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง
  • สถานที่นั้นจะต้องมีการบริการที่ดี ไม่ปกปิดข้อมูลหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ
  • สามารถเดินทางได้สะดวก ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และรถโดยสารอื่นๆ

หากคุณมีความสนใจเข้ารับการตรวจหัวใจ แต่ยังไม่มีสถานที่ในใจ ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราพร้อมให้การดูแลและตรวจหัวใจของคุณอย่างละเอียด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจหัวใจที่ทันสมัย แม่นยำ สะอาด ปลอดภัย ให้คุณสามารถมั่นใจได้ เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน
 


ค่าใช้จ่ายในการตรวจหัวใจ

หลายๆคน อาจมีความกังวลใจว่า “ตรวจหัวใจ ราคาเท่าไหร่? จะครอบคลุมไหม? ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ราคาแพงรึเปล่า?”

ทิ้งความกังวลใจเหล่านั้นไปได้เลย เพราะที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ มีโปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจที่ครอบคลุมการตรวจหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจการทำงานของไตและไทรอยด์ ตรวจหัวใจวิ่งสายพาน ฯลฯ

ทางเรามีเครื่องตรวจหัวใจที่ครบครัน ทันสมัย คุณสามารถจองคิวตรวจหัวใจได้ง่ายๆ ผ่านทางเว็บไซต์ และทาง LAZADA ซึ่งมีโปรโมชั่นดีๆ เตรียมไว้ให้สำหรับคุณโดยเฉพาะ รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอน
 


 

วิธีดูแลหัวใจให้แข็งแรง

เจาะเลือดตรวจโรคหัวใจ

ถึงแม้ว่าตอนนี้หลายๆ คนอาจยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ แต่เราก็ควรที่จะต้องหมั่นดูแลตนเองอยู่เสมอ ไม่ละเลยเรื่องสุขภาพ ฉะนั้น ก่อนจะจบบทความนี้ไป มาเรียนรู้กันดีกว่าว่า เราจะมีวิธีดูแลหัวใจให้แข็งแรงได้อย่างไรบ้าง?
  • หากิจกรรมและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
  • พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมของค่า BMI แต่ละบุคคล
  • การนอนหลับพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ ควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ใช้วิธีผ่อนคลายความเครียด ไม่เครียดมากจนเกินไป
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
  • ไม่ทานอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมมากจนเกินไป
  • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้เหมาะสม
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่ออัพเดทข้อมูลร่างกายว่าเป็นอย่างไร และค้นหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
  • หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย หายใจถี่ จังหวะหัวใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก ฯลฯ ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการค้นหาสาหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที
 

ข้อสรุป

ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น การตรวจหัวใจ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหัวใจเป็นอวัยวะหลัก ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ในบางบุคคลอาจมีสัญญาณเตือนของโรคหัวใจมาก่อน จึงทำให้สามารถรับรู้และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในบางรายกลับไม่มีอาการแสดงมาก่อนว่ากำลังจะเกิดโรคทางหัวใจขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ทางศูนย์หัวใจ สมิติเวช ไชน่าทาวน์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้คุณหันมาดูแลสุขภาพของตนเอง รวมไปจนถึงการไม่รีรอช้าที่จะเข้ารับการตรวจหัวใจ หรือตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆด้วยตัวคุณเอง หากคุณสนใจเข้ารับการ
ตรวจหัวใจ หรือต้องการสอบถามรายละเอียดอื่นๆ สามารถติดต่อได้ที่ Line: @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 


 

References

WebMD Editorial Contributors, (2022, February 28). Echocardiogram. https://www.webmd.com/heart-disease/diagnosing-echocardiogram

Mayo Clinic Staff, (2022, March 19). Electrocardiogram (ECG or EKG). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/ekg/about/pac-20384983

Electrocardiogram. (2023, February 28). Medlineplus. https://medlineplus.gov/lab-tests/electrocardiogram/

แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม