Hospital Hotline

02-118-7893

  เปลี่ยนภาษา
English ภาษาไทย 中文(简体)

บทความสุขภาพ

รู้ทัน โรคต้อกระจก (Cataract) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

ต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร

โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นต้อชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลนส์ตา (Lens) เกิดจากโครงสร้างโปรตีนในเลนส์ตาเปลี่ยนไป จนทำให้เลนส์ไม่ใสอย่างที่ควรเป็น เลนส์จะมีลักษณะเป็นไตแข็ง สีขุ่น บริเวณที่ขุ่นอาจจะอยู่ตรงกลางเลนส์ หรือบริเวณขอบเลนส์ก็ได้ ทำให้แสงผ่านเข้าไปจนถึงจอประสาทตาที่อยู่ด้านในได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยโรคต้อกระจกมีการมองเห็นที่ลดลง บางครั้งก็ทำให้การตกกระทบของแสงเปลี่ยนไปจนค่าสายตาเปลี่ยน อาจมองไกลไม่ชัด หรือทำให้เกิดภาพซ้อนได้ ซึ่งบางทีอาจจะมีอาการใกล้เคียงกับสายตาสั้น


สาเหตุของต้อกระจก

ต้อกระจกจะพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเพราะเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนต่างๆของร่างกายจะเริ่มเสื่อมไปตามวัย หากเลนส์ตาเสื่อมสภาพ จนโครงสร้างทางเคมีของโปรตีนในเลนส์ตาเสื่อม ก็จะเกิดเป็นโรคต้อกระจกขึ้นมานั่นเองหรือเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือโรคอ้วน

อีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถพบได้ คือการเป็นต้อกระจกโดยกำเนิด (Congenital cataract) อาจจะเกิดจากการเจริญผิดปกติในครรภ์ โรคทางกรรมพันธุ์ หรือเกิดจากการติดเชื้อบางอย่าง เช่น หัดเยอรมัน หรือไวรัสเริม เป็นต้น

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจก

นอกจากสาเหตุภายในร่างกายแล้ว ต้อกระจกยังเกิดจากพฤติกรรม หรือภาวะอื่นๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
 

  • จ้องแสงอัลตราไวโอเลต (UV) หรือแสงที่สว่างมากเกินไปเป็นเวลานาน เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากโทรศัพท์มือถือตอนกลางคืน แสงจากการเชื่อมเหล็ก
  • เคยเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตาจนกระทบกระเทือนดวงตามากๆ หรือมีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา เช่น เศษเหล็ก เศษหิน หรือสารเคมีอันตราย
  • เคยเกิดภาวะอื่นๆเกี่ยวกับตา เช่น การอักเสบ ติดเชื้อในตา หรือมีสายตาสั้นมากๆ
  • เคยผ่าตัดดวงตา
  • ใช้ยาชนิดต่างๆเป็นเวลานาน เช่น ยาหดม่านตา ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ส่วนยาที่มีผลทำให้เกิดต้อกระจกได้มากคือยากลุ่มสเตียรอยด์
  • เคยเข้ารับการฉายรังสี
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่จัด
 
 

อาการของต้อกระจก

อาการต้อกระจก
โรคต้อกระจกจะแบ่งอาการออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะเริ่มแรก (Early Cataract) ต้อกระจก อาการเริ่มต้นมักจะเริ่มมองภาพไม่ชัด ค่าสายตาเปลี่ยนไป โฟกัสสายตาได้ยาก อาจจะเกิดอาการปวดหัวขึ้น

2. ระยะก่อนต้อสุก (Immature Cataract) ระยะนี้เลนส์ตาจะเริ่มเป็นสีขาวขุ่น ส่วนใหญ่จะเริ่มขุ่นตรงกลางเลนส์ทำให้มีผลต่อการมองเห็นมากกว่าเดิม ผู้ป่วยจะเห็นภาพเป็นฝ้ามัวๆ คล้ายตามัวเหมือนมีหมอก มองเห็นไม่ชัดในที่สว่าง สายตาสั้นมากขึ้น

3. ระยะต้อสุก (Mature Cataract) คือ เลนส์ตาจะเริ่มขุ่นมากขึ้น จากที่ขุ่นแค่ตรงกลาง จะเริ่มขยายออกรอบๆจนขุ่นทั้งเลนส์ เริ่มมีผลกับการมองเห็นมากขึ้นจนใช้ชีวิตประจำวันได้ยาก ขับรถในตอนกลางคืนได้ยาก เป็นขั้นที่ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างยิ่ง เนื่องจากยังอยู่ในระยะที่ผ่าตัดต้อกระจกได้ง่าย

4. ระยะต้อสุกเกิน หรือสุกงอม (Hypermature Cataract) คือ เลนส์ตาขุ่นมากที่สุด เริ่มเป็นก้อนแข็ง ภาพมัวจนมีผลต่อการมองเห็น และการใช้ชีวิตอย่างมาก เป็นระยะที่รักษาได้ยากกว่าระยะต้อสุก และถ้าทิ้งไว้อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างการอักเสบในดวงตา เลนส์บวมจนเป็นต้อหิน หรือโปรตีนรั่วออกจากแก้วตา เกิดความผิดปกติจนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้

 


ต้อกระจกต่างจากต้อชนิดอื่นอย่างไร

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า โรคต้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกันไป แล้วแบบนี้ ต้อกระจกจะมีความแตกต่างจากต้อชนิดอื่นอย่างไรบ้าง?

“ต้อกระจก” เป็นการเสื่อมสภาพของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสีขาวขุ่น ตามัวเหมือนมีหมอก มองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน วิธีการรักษาจึงมีเพียงการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเท่านั้น แตกต่างจากต้อหินที่มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของขั้วประสาทตา ทำให้ความกว้างของลานสายตาค่อยๆ ลดลงจนสูญเสียการมองเห็นไป

ส่วนต้อลมและต้อเนื้อ มักเกิดจากเยื่อบุตาขาวที่เสื่อมสภาพลง โดยระยะเริ่มแรกจะเป็นต้อลม เกิดก้อนนูนที่บริเวณตาขาว ระคายเคืองตา เมื่อเกิดการอักเสบซ้ำหรือระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น ต้อลมก็จะกลายเป็นต้อเนื้อ มีลักษณะเนื้อเยื่อที่ยื่นเข้าสู่บริเวณพื้นที่ตาดำ ซึ่งหากเนื้อเยื่อเข้าไปบดบังรูม่านตา ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นต้อเนื้อจะไม่ได้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร เนื่องจากสามารถผ่าตัดลอกต้อออกได้ แต่ก็ยังคงสามารถมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำอีกได้เช่นกัน 
 

การตรวจวินิจฉัยต้อกระจก

ก่อนที่จะให้แพทย์วินิจฉัย คนไข้สามารถสังเกตและประเมินตัวเองเบื้องต้นได้ว่ามีอาการภาพมัว ค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย ตาเริ่มมีสีขาวขุ่นโดยที่ไม่เจ็บปวดใดๆเลยหรือไม่

หากมีอาการเหล่านี้หรือสงสัยว่ามีอาการคล้ายกับโรคต้อกระจกก็ควรเข้าพบจักษุแพทย์ ถ้ารักษาเร็วจะสามารถช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกสุกได้ หรือถ้าเจอในระยะที่เพิ่งเริ่มสุก ก็จะสามารถรักษาได้ง่ายกว่า

ส่วนการตรวจวินิจฉันโดยแพทย์นั้น แพทย์จะซักประวัติและตรวจทดสอบดวงตาหลายอย่าง เช่น วัดค่าสายตา ทดสอบการมองเห็น ทดสอบปฏิกิริยาต่อแสง วัดความดันลูกตา ดูการขยายของรูม่านตา

แพทย์จะตรวจให้แน่ใจว่าคนไข้เป็นต้อกระจกจริงหรือไม่ หรือเป็นโรคอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการตาพร่าได้เช่นเดียวกับโรคต้อกระจก เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุดต่อไป

 


วิธีรักษาต้อกระจก

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาต้อกระจกโดยไม่ต้องผ่าตัดเลย เพราะยังไม่มียาหยอดตา หรือยารักษาต้อกระจกรูปแบบอื่น ในช่วงแรกจะทำได้เพียงรักษาไปตามอาการ และหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคเพื่อไม่ให้อาการหนักขึ้นเท่านั้น หากอาการแย่ลง ต้อกระจกอยู่ในระยะต้อสุก มีผลต่อการมองเห็นมาก ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

รักษาต้อกระจก

วิธีรักษาต้อกระจกโดยไม่ผ่าตัด

ในระยะนี้แพทย์อาจะแนะนำให้ตัดแว่นเพื่อปรับค่าสายตา หรือใช้เลนส์ตัดแสง เพื่อรักษาไปตามอาการก่อน

การมองเห็นภาพไม่ชัด ไม่ได้มีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก อาการจะเหมือนผู้ที่สายตาสั้นตามปกติ ตราบใดที่อาการไม่แย่ลงมาก สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา
 

วิธีรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัด

แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจกก็ต่อเมื่อคนไข้มองเห็นภาพไม่ชัด จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือต้อกระจกเริ่มเป็นก้อนแข็ง เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ โดยการผ่าต้อกระจกมีทั้งหมด 2 วิธี ต่างกันตามวิธีนำเลนส์ตาเดิมออก คือ

1. การผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction)

เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดปากแผลที่ดวงตา ขนาด 6 - 10 มิลลิเมตร แล้วนำเลนส์ส่วนที่แข็งออกมา จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือดูดเนื้อเลนส์ตาที่เหลือออก ก่อนใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป วิธีนี้เป็นการรักษาแบบเก่าที่ได้ผลดี ใช้รักษาต้อกระจกระยะสุกหรือสุกเกิน แต่มีข้อเสียคือแผลค่อนข้างกว้าง ใช้เวลาผ่าตัดและพักฟื้นนาน

2. การผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification)

เป็นการรักษาต้อกระจกโดยใช้เครื่องมือเข้าไปสลายต้อที่เลนส์ตา ด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) แพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กเพียง 3 มิลลิเมตรเท่านั้น ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 30 - 60 นาที

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีนี้จะไม่ทิ้งรอย ไม่ต้องตัดไหม สามารถกลับบ้านได้เลยหลังผ่าตัด พักฟื้นเพียง 1 อาทิตย์ ก็สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ

ข้อดีอีกอย่างของการผ่าตัดต้อกระจกแบบนี้ คือเลนส์เทียมที่ใส่เข้าไปแทนเลนส์ตาเดิม เป็นเลนส์แบบพับที่สามารถแก้ไขค่าสายตายาวและเอียงได้ สามารถเลือกระยะเลนส์ให้เหมาะกับการใช้งานได้ เป็นการแก้ไขค่าสายตาพร้อมกับการรักษาต้อกระจกในคราวเดียว  โดยเลนส์เทียมที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัดต้อกระจกด้วยการสลายต้อ เป็นเลนส์พับที่สามารถแก้ไขค่าสายตายาว และสายตาเอียงได้ โดยไม่ต้องทำเลสิค
โดยราคาของเลนส์เทียมแต่ละชนิด สามารถดูได้จากในบทความนี้ : ผ่าตัดต้อกระจกด้วยวิธีการสมัยใหม่ที่ได้ผลลัพธ์อย่างชัดเจน

แต่การผ่าตัดต้อกระจกด้วยการสลายต้อ สามารถรักษาได้แค่ต้อกระจกในระยะแรกๆเท่านั้น หากเป็นหนัก ต้อสุกมาก หรือแข็งเกินไป คลื่นเสียงจะไม่สามารถสลายต้อได้หมด ทำให้รักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะต้องผ่าตัดด้วยวิธีใดก็ตาม ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะมีการประเมินดวงตาในหลายๆด้านก่อน เพื่อการผ่าตัดรักษาที่แม่นยำ
 


วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

หลังผ่าตัดต้อกระจกแล้วมองไม่ชัด

อย่างที่ทราบกันว่าโรคต้อกระจกยังไม่มียารักษา ทางรักษาเดียวคือการผ่าตัดเท่านั้น หากไม่อยากผ่าตัด ก็ควรป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจกด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • ระวังไม่ใช้สายตามากเกินไป ควรถนอมสายตาด้วยการพักสายตาบ้างหลังใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่มองแสงจ้าเป็นเวลานาน หากต้องอยู่ในที่แสงจ้า ควรใส่แว่นกันแดดหรือหมวกปีกกว้าง ถ้าทำงานที่ต้องจ้องแสง ควรมีเครื่องมือป้องกันดวงตาจากแสงด้วย
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารบำรุงสายตา เช่น วิตามินซี วิตามินอี และวิตามินเอ ไม่ต้องทานอาหารเสริมให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ว่าอาหารเสริมสามารถป้องกันต้อกระจกได้
  • ระวังการใช้ยา ไม่ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น แต่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ด้วย เพราะยาบางตัวจำเป็นต้องใช้ในระยะยาว
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง หากตามีปัญหาควรพบแพทย์ ให้แพทย์จ่ายยาเท่านั้น
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ทำให้ตนเองเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกับดวงตา
  • หมั่นตรวจสายตา หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พบโรคได้เร็ว
 

รักษาโรคต้อกระจกที่ไหนดี

ตาเป็นอวัยวะที่บอบบาง หากเสียไปแล้วก็ยากที่จะรักษาให้กับมาปกติดังเดิม ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับดวงตาก็ควรพบแพทย์ ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งหายได้เร็ว และถ้าตัดสินใจจะพบแพทย์แล้ว ก็ควรเลือกโรงพยาบาลที่ดีที่สุด และสบายใจจะพบแพทย์มากที่สุด

โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ เราดูแลคนไข้เหมือนเป็นเพื่อนบ้านของเรา ทำให้การหาหมอพบแพทย์เป็นเรื่องปกติ อีกทั้งทางโรงพยาบาลยังมีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายท่าน สภาพแวดล้อมดี สะอาด ปลอดภัย เครื่องมือได้มาตรฐาน พร้อมเทคโนโลยีการรักษาได้คุณภาพ
 


ข้อสรุป

ต้อกระจกส่วนใหญ่เกิดจากอายุที่มากขึ้นทำให้เลนส์ตาเสื่อมสภาพ อาการของโรคทำให้ผู้ป่วยมองภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน สามารถรักษาได้ด้วยการใส่แว่นตามค่าสายตา แต่ถ้าอาการหนักขึ้น การมองเห็นน้อยลง สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดต้อกระจก

หากรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ ผู้เข้ารับการรักษาสามารถเลือกเลนส์ เพื่อแก้ไขปัญหาสายตายาว และสายตาเอียงพร้อมกับการผ่าตัดต้อกระจกได้ในครั้งเดียว อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูแลคุณตลอดกระบวนการรักษา ให้คุณอุ่นใจได้เหมือนมีคุณหมอเป็นเพื่อนบ้าน สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อที่ Line: @samitivejchinatown หรือเบอร์ 02-118-7893 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง   

 


แอดไลน์ สมิติเวช ไชน่าทาวน์
 


เอกสารอ้างอิง

Boughton, B. (2009, April). Phaco and ECCE. American Academy of Ophthalmology. https://www.aao.org/eyenet/article/phaco-ecce
Moorfields Eye Hospital NSH Foundation Trust. (2020). Cataract. NSH.
National Institutes of Health. (2020). Cataract, What you should know. NIH

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม